Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ชี้รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยไม่ได้ทบทวนความขัดแย้งในอดีต เรียกร้องทุกภาคส่วนและพรรคการเมืองเสนอมาตรการที่เป็นประโยชน์  พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลและ กกต. เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้ เล็งแถลงท่าทีร่างรธน.23 ก.ค.นี้

13 ก.ค. 2559 เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นำโดย อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการฯ และ เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการฯ และญาติวีรชนฯ ร่วมกันแถลงข่าวในหัวข้อเรื่อง “ความคิดเห็นทางการเมืองในแนวทางสมานสามัคคีเพื่อสร้างสันติสุขร่วมกัน” เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อบรรยากาศการลงประชามติและร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธ์”


(จากด้านขวา) อดุลย์ เขียวบริบูรณ์, เมธา มาสขาว และญาติวีรชน 35


อดุลย์ขอ คสช.ลดการใช้อำนาจลง - ชี้ประชาชนมีสิทธิความคิดเห็น

อดุลย์เรียกร้องให้ คสช.ทบทวนการใช้อำนาจต่อประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มที่เห็นต่าง เพราะถือเป็นเรื่องปกติตามระบอบประชาธิปไตย การที่ คสช.อ้างเรื่องความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง นักการเมือง และกลุ่มต่างๆ นั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะความขัดแย้งดังกล่าวลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะให้ลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 นี้ อดุลย์กล่าวว่า “คุณมีชัยผู้ที่เคยเขียนรัฐธรรมนูญ ปี 2534 จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และวันนี้ยังจะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งรอบใหม่ แล้วประชาชนจะเชื่อถือได้อย่างไร และช่วงก่อนการประชามติก็มีการออกมากล่าวหา-ข่มขู่ประชาชนที่เห็นต่างอีก ทั้งที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือเผด็จการ ก็ไม่เคยมีวิธีการเหล่านี้เพื่อสร้างความขัดแย้ง สิ่งที่ประชาชนต้องการรู้ตอนนี้ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาอย่างไร”

นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ทุกพรรคการเมืองเสนอมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและสังคมไทย เช่น แนวทางการปรามปรามการทุจริต และโดยเฉพาะการเสนอแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังคงอึมครึมจากการบริหารงานของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ใช่มืออาชีพ และการปิดกั้นคนเก่งและมีความสามารถไม่ให้แสดงความคิดเห็นหรือช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ถึงแม้ คสช. ไม่ต้องการก็ตาม

“ประเทศนี้ไม่ได้เป็นของ คสช.คนเดียว แต่เป็นของประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของประเทศ มีสิทธิจะห่วงใย มีสิทธิที่จะนำเสนอความคิดเห็นที่ถูกต้อง เพื่อให้รัฐบาลได้นำไปพิจารณาและปรับปรุงแก้ไข” อดุลย์กล่าว

นอกจากนี้ อดุลย์กล่าวชื่นชมพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อประชาชน รวมถึงยังมีความกล้าตรวจสอบอำนาจรัฐในบางเรื่อง และเรียกร้องให้พรรคที่เหลือรวมถึงพรรคเพื่อไทยแสดงท่าทีเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อพรรคของตัวเองและ คสช.เพียงอย่างเดียว
 

อดุลย์ชี้ประชามติครั้งนี้ “ผิดธรรมชาติ”

อดุลย์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ฝากไปยังรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ควรลดละท่าทีที่สร้างปัญหาแก่ประชาชนและผู้ที่รับฟังบางคน เพราะมันนำพาไปสู่ความขัดแย้งโดยไม่รู้ตัว หลายกลุ่มตกลงกันแล้ว แต่ความขัดแย้งส่วนใหญ่มาจากรัฐบาล โดยความขัดแย้งเกิดจากการใช้อำนาจอย่างเกินจำเป็น เพราะประชาชนดูพฤติกรรมจากอดีตและปัจจุบันแล้วเขาจะตัดสินใจได้ และตัดสินใจได้ตั้งแต่ต้นแล้ว การกระทำแบบนี้ไปกระตุ้นความไม่ถูกใจของประชาชน

อดุลย์ยังมองว่าการควบคุมการแสดงความคิดเห็นในช่วงประชามติ เป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ เพราะปกติแล้วมนุษย์มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นมาแต่กำเนิดแล้ว ไม่ควรจะฝืนธรรมชาติตรงนี้ ถ้าการทำประชามติเป็นไปในเชิงสมาฉันท์-สามัคคี ก็จะลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้

อดุลย์กล่าวแสดงความเห็นต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนจากสิ่งที่ดี ไม่จำเป็นต้องมาโฆษณาว่าดีกว่า แสดงว่าในรัฐธรรมนูญมีบางอย่างที่จำเป็นต้องโน้มน้าว เช่นการบอกว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นปราบโกง แต่จริงๆ แล้วตอนนี้ก็มีเกิดข้อครหาว่ามีการโกงก็ควรจะปราบโดยทันทีไม่ต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้”

นอกจากนี้อดุลย์ยังแสดงความเห็นในกรณีนักศึกษากับนักข่าวถูกจับกุมล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่า ส่วนตัวไม่รู้รายละเอียดหรือหลักฐานว่าไปถึงขั้นใด แต่ก็เห็นชัดแล้วว่าเมื่อ กกต.ระบุชัดเจนว่าการรณรงค์ไม่ผิด เหตุใดถึงถูกจับกุมเพราะมีความผิด ถ้าบอกว่าจับกุมเพราะชุมนุมเกิน 5 คนก็ไม่ใช่ เพราะอีก 1 คนเป็นนักข่าว ซึ่งการใช้คำวินิจฉัยหรืออำนาจแบบนี้สร้างความสับสนให้สังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งคดีที่ต้องขึ้นศาล ก็มาจากการที่ฝ่ายความมั่นคงใช้อำนาจอย่างไม่จำเป็น

“ผมไม่อยากให้กงล้อประวัติศาสตร์หมุนกลับมาเกิดความสูญเสีย รัฐบาลควรให้ประชาชนตัดสินใจ เพราะสังคมยุคนี้คือปี 2559 ความคิดความอ่านในด้านเศรษฐกิจและการเมืองพัฒนาไปมาก ต่างจากปี 2535 เขารู้ว่าเขาควรตัดสินอย่างไร เมื่อปล่อยให้กระบวนการต่างๆ เป็นอิสระ เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านก็จะไม่เป็นข้อขัดแย้ง ถ้าหากรัฐบาลยังใช้อำนาจแบบนี้จะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต” อดุลย์กล่าว

 

เมธาผิดหวัง รธน.มีชัย ไม่ใช้เหตุการณ์ในอดีตเป็นบทเรียนในการร่าง

เมธาระบุว่าก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการฯ เคยออกมาแสดงความกังวลใจกรณีที่มีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยระบุว่าคนที่จะนั่งเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญควรเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งนายมีชัยเคยมีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญหลัง รสช. ยึดอำนาจ แล้วเปิดช่องทางสืบทอดอำนาจให้ พล.อ.สุจินดาขึ้นเป็นนายกฯ คนนอก จนกลายเหตุการณ์นองเลือด “พฤษภาทมิฬ” เมื่อปี 2535

เมธาระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา นายมีชัยร่างได้ไม่ดีนัก เพราะร่างโดยไม่ได้ทบทวนจากความขัดแย้งในอดีต โดยเฉพาะประเด็นการเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอก หรือการให้มี ส.ว.สรรหา ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และบางกลุ่มก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยเช่นกัน โดยได้มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะโดยสรุปด้วยกัน 3 ข้อ

1. คณะกรรมการฯ เสนอว่ารัฐบาลและ กกต. ควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน รัฐบาลและ กกต.ไม่ควรสร้างบรรยากาศให้เกิดความตึงเครียดเพราะประชาชนควรมีทางเลือก และรัฐบาลควรตอบให้ชัดว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการประชามติจะมีขั้นตอนอย่างไรต่อไป จะนำรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้เมื่อไหร่อย่างไร เพื่อให้ประชาชนเห็นอนาคตที่ชัดเจน

2. คณะกรรมการฯ ขอให้ยุติการดำเนินคดีหรือจับกุมตัวผู้ต้องหาในคดีเกี่ยวกับการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัยโดยบริสุทธิ์ใจ อีกทั้งการรณรงค์เป็นสิ่งที่ทำได้ทั้งในทางนโยบายและทางปฏิบัติ รัฐบาลและ กกต.ควรยุติคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้จุดประกายความขัดแย้งต่อไป หากมีการควบคุมหรือกลั่นแกล้งทางการเมืองอาจส่งผลเสียหายต่อการประชามติครั้งนี้เสียเอง

3. คณะกรรมการฯ ผิดหวังกับรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยที่ไม่ใช้เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” เมื่อปี 2535 ที่มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายมากมาย มาเป็นบทเรียนในการร่างรัฐธรรมนูญให้ดียิ่งขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคล้ายกับการร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2534 ซึ่งประธานร่างก็คือนายมีชัยนั่นเอง

นอกจากนี้เมธายังถามหาความรับผิดชอบจากทุกฝ่าย รวมไปถึงนายมีชัยและรัฐบาลช่วยสรุปบทเรียนให้สังคม และช่วยหาข้อยุติในเรื่องผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นเวลาถึง 24 ปีมาแล้วให้แก่ญาติที่แก่เฒ่าที่สูญเสียวีรชนพฤษภา ’35 ไป โดยที่ไม่รู้ว่าพวกเขาหายไปและถูกทิ้งไว้ที่ไหน และขอให้คืนอัฐิวีรชนฯ เพื่อญาติจะได้นำกลับไปทำพิธีทางศาสนาต่อไป

“ญาติวีรชนผู้เสียขอแค่นี้จริงๆ เพื่อความจริงกระจ่างชัดและไม่ติดค้างอีกต่อไป อยากถามว่าคุณมีชัยมีคำตอบให้หรือไม่ สุดท้ายนี้ขออย่าให้เรา(ประชาชน)ลืมบทเรียนในอดีตจนนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงเหมือนเก่า คณะกรรมการญาติวีรชน 35 หวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะเร่งดำเนินการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งโดยเร็วและหาข้อยุติที่ดีให้แก่สังคมต่อไป” เมธากล่าว

นอกจากนี้คณะกรรมการฯได้ระบุว่าวันที่ 23 ก.ค. 59 นี้จะมีการแถลงข่าวมติที่ประชุมของคณะกรรมการฯ ในประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งและร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการอีกด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net