Skip to main content
sharethis

สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในเวเนซุเอลาอยู่ในสภาพใกล้ล่มสลาย สินค้าอาหารและเครื่องใช้ประจำวันขาดแคลน ไฟฟ้าดับบ่อยแม้แต่ในโรงพยาบาล ทำให้ทารกแรกเกิดเสียชีวิตรายวัน เครื่องมือแพทย์เองก็ไม่พอใช้ ท่ามกลางปัญหาเหล่านี้ทำให้ประชาชนออกมาประท้วง แต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้นำก็เริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอ้างกลัวต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐฯ แทรกแซง

16 พ.ค. 2559 ในเวเนซุเอลามีการประท้วงในกรุงการากัสนับตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา (14 พ.ค.) โดยมีทั้งนักกิจกรรมฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ในขณะที่ประธานาธิบดี นิโกลาส มาดูโร พยายามยึดกุมอำนาจของตัวเองไว้ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและกล่าวว่า "มีต่างชาติและอิทธิพลภายนอกพยายามรุกรานเข้ามาในประเทศของพวกเขา"

มาดูโรประกาศอีกว่าเขาจะใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อ "เตรียมรับสถานการณ์" โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันพวกต่างชาติและ "พวกจักรวรรดินิยม" ที่จะเข้ามาแทรกแซงเวเนซุเอลา

หลังจากที่มาดูโรขึ้นเป็นประธานาธิบดีของเวเนซุเอลาก็เกิดปัญหาภายในประเทศหลายอย่างโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจอย่างการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานในชีวิตประจำวันรวมถึงไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ มีปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าซึ่งรัฐบาลบอกว่าเป็นเพราะภัยแล้งอย่างหนักทำให้ประเทศผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนักและอาชญากรรมเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า

เรื่องเหล่านี้ทำให้มีการประท้วงต่อต้านจากประชาชนหลายครั้งแต่มาดูโรก็มักจะใช้วาทกรรมกล่าวหาว่าเป็นการจัดฉากโดยต่างชาติอย่างเช่นสหรัฐฯ เพื่อโค่นล้มเขาเสมอ รวมถึงในการประท้วงแสดงความไม่พอใจของประชาชนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลสำรวจระบุว่าประชาชนชาวเวเนซุเอลาร้อยละ 70 ต้องการให้มาดูโรออกจากตำแหน่ง

ในรัฐสภาเวเนซุเอลาพรรคฝ่ายค้านของมาดูโรสามารถชนะการสนับสนุนจากรัฐสภาได้ในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้วซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี ที่พวกเขาสามารถแย่งการสนับสนุนในสภามาจากพรรคสังคมนิยมได้ ซึ่งซีเอ็นเอ็นระบุว่าน่าจะเป็นเพราะอิทธิพลจากความไม่พอใจของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

เหล่าผู้นำฝ่ายค้านกล่าวหาว่ามาดูโรประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อทำให้ประเทศขาดเสถียรภาพและปิดกั้นไม่ให้มีการทำประชามติขับเขาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี โดยที่การทำประชามติดังกล่าวมาจากกระบวนการล่ารายชื่อ 1.8 ล้านรายชื่อเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

ในวันเสาร์ที่ผ่านมา มาดูโรยังประกาศอีกว่าจะยึดโรงงานอุตสาหกรรมในเวเนซุเอลาและจับเจ้าของโรงงานเข้าคุกโดยอ้างว่าเพื่อให้เขาสามารถขยายอำนาจการจัดการวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศได้

ถึงแม้ว่าในช่วงก่อนเลือกตั้งมาดูโรจะได้รับความนิยมพอสมควรเนื่องจากถูกมองว่าเป็นผู้ที่นักประชานิยมอย่างฮูโก ชาเวซ ให้การสนับสนุน แต่ซีเอ็นเอ็นก็วิเคราะห์ว่าในขณะที่รัฐบาลสมัยของชาเวซมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงและทำรายได้ให้ประเทศจากน้ำมันราคาสูงซึ่งนำมาใช้ในโครงการสวัสดิการสังคมต่างๆ แต่มาดูโรไม่มีความเป็นประชานิยมแบบเดียวกับชาเวซและราคาน้ำมันในประเทศตกต่ำ ทำให้ต้องเผชิญกับความไม่พอใจของประชาชน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟระบุว่าเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาหดตัวลดลงร้อยละ 5.7 ในปี 2558 และลดลงอีกร้อยละ 8 ในปีนี้ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 700 ทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนได้ เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าสินค้าพื้นฐานอย่างน้ำตาล แป้ง และไข่ แต่การขาดแคลนงบประมาณของรัฐบาลทำให้รัฐบาลไม่สามารถนำเข้าสินค้าพวกนี้ได้มากพอกับความต้องการของประชาชน

วิกฤตในเวเนซุเอลายังส่งผลถึงการสาธารณสุขด้วยโดยที่ประเทศกำลังขาดแคลนวัสดุพื้นฐานทางการแพทย์ร้อยละ 80 ทำให้ในบางกรณีต้องใช้อุปกรณ์รักษาฉุกเฉินแม้แต่ในกรณีคนถูกโจรยิง คนทำงานในโรงพยาบาลบางคนถึงขั้นเชื่อว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ของพวกเขาถูกคนนำไปขายต่อในตลาดมืดเพราะการปันส่วนยาจากรัฐบาลเวเนซุเอลาทำให้แม้แต่ยาพื้นฐานที่สุดอย่างยาบรรเทาความเจ็บปวดยังหายาก

ปัญหาของเวเนซุเอลายังส่งผลถึงพลังงานไฟฟ้าไม่พอใช้จนทำให้มีการสั่งปิดโรงเรียนและมีการลดเวลาทำงานของข้าราชการเหลือสองวันต่อสัปดาห์เพื่อลดการใช้พลังงานด้วย

สถานการณ์ด้านสาธารณูปโภคและการแพทย์ในเวเนซุเอลาอยู่ในระดับที่เลวร้ายมากจนถึงขั้นทำให้ทารกแรกเกิดเสียชีวิตถึง 3 รายภายในเช้าวันเดียวจากรายงานข่าวของนิวยอร์กไทม์ ในรายงานข่าวยังระบุอีกว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญกับสภาพขาดแคลนเครื่องมือในขณะที่พยายามผดุงชีวิตน้อยๆ ของทารกเอาไว้ตลอดทั้งวัน แต่พอไฟฟ้าดับก็ทำให้เครื่องช่วยหายใจหยุดทำงานจนทำให้พวกเขาต้องปั๊มอากาศเข้าปอดของทารกด้วยมือเป็นเวลาหลายชั่วโมง จนกระทั่งถึงตอนกลางคืนก็มีทารกเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 4 ราย จนทำให้ศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลแห่งชาติในกรุงการากัสเปิดเผยว่าในโรงพยาบาลมีเหตุทารกเสียชีวิตเกิดขึ้นทุกวัน

นิวยอร์กไทม์รายงานต่อไปว่าโรงพยาบาลในเวเนซุเอลาอยู่ในสภาพที่เปรียบเสมือนเป็นเบ้าหลอมของความล่มสลายทุกสิ่งทุกอย่างในเวเนซุเอลามารวมกัน ในบางโรงพยาบาลไม่มีแม้แต่ถุงมือและสบู่ ยารักษาโรคมะเร็งก็มีอยู่แต่ในตลาดมืดเท่านั้น นอกจากนี้ในโรงพยาบาลแอนเดสที่เมืองเมริดาซึ่งเป็นเมืองแถบเทือกเขายังประสบปัญหาไม่มีน้ำมากพอจะใช้ล้างเลือดออกจากเตียงผ่าตัด ศัลยแพทย์ต้องใช้น้ำโซดามาล้างมือแทน


เรียบเรียงจาก

Dying Infants and No Medicine: Inside Venezuela’s Failing Hospitals, New York Times, 16-05-2016
http://www.nytimes.com/2016/05/16/world/americas/dying-infants-and-no-medicine-inside-venezuelas-failing-hospitals.html

President orders military exercises as Venezuela braces for state of emergency, DW, 15-05-2016
http://www.dw.com/en/president-orders-military-exercises-as-venezuela-braces-for-state-of-emergency/a-19258724

Venezuela's 'state of emergency': How the country slid into crisis, CNN, 16-05-2016
http://edition.cnn.com/2016/05/15/americas/venezuela-slide-into-crisis/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net