Skip to main content
sharethis

โรม ขบวนการประชาธิไตยใหม่ ระบุคนล้อเลียนไม่ใช่อาชญากร การล้อเลียนไม่ใช่อาชญากรรม จี้ คสช. หยุดเล่นงานคนคิดต่างด้วยเรื่องความมั่นคง พร้อมขอหยุดใช้ ม.112 ตีความเกินขอบเขต

ล้อ FREE DAY SAY FREEDOM ร้องเพลงเพื่อมวลชน-แสงดาวแห่งศรัทธา

ฟลุ๊ก เดอะสตาร์ ร้องเพลง Imagine

รังสิมันต์ โรม กล่าวกับผู้สนับสนุน

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2559 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ได้จัดกิจกรรม "ล้อ FREE DAY SAY FREEDOM" โดยรังสิมันต์ โรม ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อต้องการยืนยันว่า การล้อเลียนนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า การล้อเลียนไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรม ขอให้ คสช. แยกแยะให้ออกว่าสิ่งใดเป็นการล้อเลียน สิ่งใดเป็นการยุยงปลุกปั่น และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นกับแม่จ่านิว หรือพัฒน์นรี ชาญกิจ รังสิมันต์เห็นว่า การออกหมายจับในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้น เป็นเรื่องทางการเมือง เพราะได้เห็นหลักฐานรายละเอียดคดีความแล้ว ซึ่งมีเพียงการตอบกลับว่า "จ้า" เท่านั้น ไม่ควรเข้าข่ายกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

รังสิมันต์ ระบุต่อว่า จากกรณีดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีก่อนหน้านี้ มีการกระทำความผิดในลักษณะใด และถูกตีความการกระทำอย่างไร ซึ่งในหลายๆ กรณียังไม่สามารถเข้าถึงหลักฐานได้

สำหรับกรณีการขายเสื้อ Vote NO ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสั่งห้ามไม่ให้ขาย รังสิมันต์ เห็นว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องเข้าเเจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ก่อน หากเห็นว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจะสามารถดำเนินการสั่งห้ามขายได้ โดยการเข้าแจ้งความนั้นจะต้องมาจากมติการประชุมของ กกต.

3 พ่อผู้ต้องขังกรณีทำเพจ "เรารักพลเอกประยุทธ์" ขึ้นเวทีล้อ FREE DAY SAY FREEDOM ขอทหารปล่อยลูกๆ

ช่วงหนึ่งของการปราศัย นาวาอากาศโทอาคม มั่งคั่งสง่า พ่อของโยธิน มั่งคั่งสง่า ระบุว่า ตนเองเป็นทหาร พ่อของตนเองเป็นทหาร พ่อตาของตนก็เป็นทหาร ฉะนั้นโยธินก็โตมาในครอบครัวของทหาร ขอวอนพี่น้องหากจะด่าทหาร อย่าด่าว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน

"เพราะผมสอนลูกตลอด สอนให้เขาเป็นประชาธิปไตย" นาวาอากาศโทอาคม กล่าว


บทสัมภาษณ์สั้น: ชูเวท วงสามัญชน หนึ่งในผู้ร่วมงาน

"ที่เล่น (เพลงบทเพลงแห่งสามัญชน) ก็เพราะว่า มันนึกถึงช่วงเวลาที่เราแต่งเพลง ตอนนั้นมีคนถูกจับไปทีละคน ทีละคน คืออยากจะให้คนจับมือกันก้าวข้ามความกลัวที่เกิดขึ้นอยู่นี้ไปด้วยกัน"

ชูเวท วงสามัญชน เขาเรียนจบจากคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันกำลังเรียนต่อที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เขาออกมาร่วมงานกับ NDM ในงาน "ล้อ FREE DAY SAY FREEDOM" ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าทุกคนหายกันไปหมด พื้นที่ซึ่งเราจะได้แสดงออกก็จะหายไปด้วยเหมือนกัน และเขาออกมาทำในสิ่งที่เขาถนัดคือ การเล่นดนตรี

ชูเวท เชื่อว่าเพลงมีอิทธิพล มีพลังต่อการรับรู้ มีพลังที่จะส่งผ่านเรื่องราวต่างๆ แรกสุดเขาเชื่อว่าเพลงเป็นรูปแบบการสื่อสารที่จดจำง่าย ตัวชี้วัดที่พอมีให้เห็นเขาชี้ว่า แม้แต่ คสช. เองก็เลือกใช้เพลงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับการสื่อสารกับประชาชน

ต่างกันก็เพียงนั้นเป็นบทเพลงแห่งรัฐ แต่นี่คือบทเพลงของสามัญชน

หนุ่มวัย 24 ปี บอกเราว่า วันนี้เขาเล่นเพลงไปทั้งหมด 4 เพลง บทเพลงแห่งสามัญชน, แสงดาวแห่งศรัทธา, นิทานหิ่งห้อย และโซลิดาริตี้ ทั้ง 4 เพลงที่ถูกเลือกมีเหตุผล มีเรื่องราวที่จะสื่อสารโดยตัวมันเอง

หากจัดประเภทอย่างหยาบๆ มี 3 เพลงที่เราได้ยินแล้วถูกใช้ในการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อยครั้ง เห็นจะมีเพลงเดียวที่น้อยครั้งจะได้ยิน นั่นคือ นิทานหิ่งห้อย

ชูเวท บอกว่า เพลงนี้ฟังสบาย เบาๆ แต่ความหมายดีมาก เป็นเพลงของวงเฉลียง แม้ตอนนี้สมาชิกวงหลายคนจะยืนอยู่ในฟากการเมืองอีกฝั่งหนึ่ง แต่ความหมายของเพลงก็ยังคงอยู่

"เพลงมันเล่าเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่จะไปจับหิ่งห้อย มาขังไว้ใต้หมอน เพราะเชื่อตัวเองจะนอนฝันดี แต่ในความเป็นจริง เราขังความงาม เราขังความจริงไม่ได้หรอก และยิ่งถ้าคุณจับความจริงมาขังไว้ใต้หมอน ไม่มีทางที่จะนอนหลับฝันดี มีแต่จะนอนผวา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net