Skip to main content
sharethis

26 ม.ค. 2564 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษายกฟ้องสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการแสดงความเห็นว่า "คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ใต้เท้าของใครบางคน…" เนื่องจากวิญญูชนตีความได้แตกต่างหลากหลาย ไม่แน่ว่าจำเลยหมายถึงพระมหากษัตริย์หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ประมาณ 10.50 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 907 ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีที่สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นักเขียนและนักแปลวัยย่าง 81 ปี ที่ราษฎรอาจคุ้นเคยจากภาพชายชรานั่งขายเสื้อและถุงผ้า สกรีนข้อความ "ความเป็นธรรมย่อมอยู่เหนือทุกสถาบัน" ตามที่ชุมนุม ท่ามกลางผู้สังเกตการณ์จากสหภาพยุโรป สถานทูตสวีเดน สหราชอาณาจักร  สเปน ฝรั่งเศส โปแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ขณะที่บัณฑิตมี 'แหวน' ณัฏฐธิดา มีวังปลา พยาบาลอาสาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีอาการความดันโลหิตสูง

'แหวน' ณัฏฐธิดา มีวังปลา พยาบาลอาสาคอยดูแลสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์
เนื่องจากมีอาการความดันโลหิตสูง (ภาพโดย Banrasdr Photo)

สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ถูกจับกุมเมื่อปี 2559 และฟ้องคดีโดยอัยการทหารในศาลทหารกรุงเทพเมื่อปี 2560 จากการแสดงความเห็นว่า "คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ใต้เท้าของใครบางคน…" ในงานเสวนารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ... ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2558 ก่อนคดีจะถูกโอนย้ายมายังศาลอาญา

ศาลอ่านคำพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันและเวลาตามฟ้องมีการจัดงานเสวนารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ... โดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีผู้เข้าร่วมหลายคน และมี พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เบิกความว่า จำเลยกล่าวคำว่า "คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ใต้เท้าของใครบางคน…"

คดีมีเหตุต้องพิจารณาว่าจำเลยทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพยานผู้จับกุม เบิกความว่า วันเกิดเหตุที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีงานเสวนาที่มีจาตุรนต์ ฉายแสง, ปิยบุตร แสงกนกกุล, รังสิมันต์ โรม, และเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ร่วมการเสวนา เมื่อถึงช่วงแสดงความเห็น จำเลยแสดงความเห็นหลายข้อ และกล่าวว่า “คุณค่าความเป็นคนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน ต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองใต้ตีนของคนบางคน” พ.ต.ท.สมยศ ทำบันทึกภาพและเสียง ก่อนนำตัวจำเลยไปยัง สน.ชนะสงคราม ถอดเทปบันทึกคำพูดและทำประวัติจำเลย จำเลยลงลายมือชื่อว่าเป็นคนพูดถ้อยคำดังกล่าวจริง

เมื่อพิจารณาคำพูดของจำเลยประกอบความเห็นของปิยะพร หาดทราย พยานโจทก์ผู้ให้ความเห็น ให้การต่อศาลว่า เข้าใจว่าผู้พูดหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพราะเป็นคำศัพท์เฉพาะหมายถึงพระมหากษัตริย์ อ้านข้อความโดยรวมแล้วเห็นว่า เป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ และถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

อย่างไรก็ตาม พยานตอบคำถามค้านของทนายความว่า ฝุ่นละอองเป็นคำทั่วไป ต่างจากใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ถ้อยคำของจำเลยไม่ได้ระบุถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไม่มีถ้อยคำหยาบคาย คนอื่นอาจตีความต่างไปได้ เมื่ออ่านข้อความแล้ว พยานไม่ได้รู้สึกดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ความเห็นของพยานเป็นเพียงข้อคิดเห็นเท่านั้น

พยานยังให้ความเห็นกลับไปกลับมาว่า การจะดูว่าเป็นการดูหมิ่นหรือไม่ต้องดูบริบท ต้องพิจารณาภาพรวมทั้งหมด รวมถึงโอกาสและสถานที่ที่จำเลยสื่อถึง การใส่ความต้องดูว่าพูดถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่ออ่านโดยตลอดแล้วไม่มีความตอนใดระบุถึงรัชกาลที่ 9 ซึ่งข้อความที่ทำให้ผู้ใดถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ต้องพิจารณาจากความรู้สึกของวิญญูชนเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ร.ต.อ.หญิงชมพูนุช ได้สอบคำให้การของนักวรรณศิลป์ชำนาญการ จากราชบัณฑิตยสภา ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ให้การว่า ไม่อาจตีความ หรือให้ความเข้าใจในภาพรวมได้ จำเลยไม่ได้ใช้คำราชาศัพท์ และไม่ได้เอ่ยชื่อว่าหมายถึงผู้ใด ถ้อยคำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทหมายถึงตัวผู้พูด ไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์

พยานโจทก์นายตำรวจซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุยังเคยให้การถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกให้การว่าคำพูดของจำเลยไม่เป็นความผิด ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2559 ให้การว่าฟังแล้วหมิ่นเหม่ว่าจะเป็นความผิดหรือไม่ และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2559 พยานเห็นว่าถ้อยคำของจำเลยเปรียบเปรยหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ

ศาลเห็นว่า พยานโจทก์คนเดิม พิจารณาข้อความเดิม ในสถานที่เดิม คือ สน.ชนะสงคราม เพียงแต่ต่างเวลากัน แต่ให้ความรู้สึกต่างกัน วิญญูชนจึงอาจให้ความเห็นต่างกันได้ พยานโจทก์ทั้งสองให้การคล้ายกัน ไม่อาจตีความอย่างแน่แท้ได้ว่า จำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

จำเลยเข้ามาอาศัยในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2490 ถึงปัจจุบัน จำเลยเบิกความว่า ที่จำเลยกล่าวเพื่อต้องการสื่อว่า อยากให้คุณค่าของความเป็นคนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคน ต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นใต้เท้าของใครบางคน เพราะจำเลยเคยอ่านหนังสือของ ดร.เดือน บุนนาค ที่บอกว่า คนจีนเป็นคนเห็นแก่ตัว เวลาจะเอาประโยชน์จากใครจะเรียกคนไทยว่า “ใต้เท้าๆ” ไม่ได้สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

พยานโจทก์มีข้อสงสัยตามสมควรว่าหมายถึงรัชกาลที่ 9 หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

ก่อนฟังคำพิพากษา สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นำหนังสือ "บ้านนี้มีรัก" ที่เขียนจากประสบการณ์ชีวิตแจกจ่ายให้ผู้สังเกตการณ์ในห้องพิจารณา และให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลังฟังคำพิพากษาว่า ไม่คาดคิดว่าคดีของตนจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากเท่านี้มาก่อน และไม่คิดจะฟ้องกลับเพราะไม่นิยมค้าความ จากนั้นจึงเดินทางไปรักษาความดันโลหิตสูงต่อ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net