Skip to main content
sharethis


10 มี.ค. 2559 ในงานเสวนา "ตามประสาคนพิพิธภัณฑ์กับ Museum In Focus 2: Thursday Talk ครั้งที่ 5" โดย สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการอิสระบรรยายเรื่อง "ที่ทางของพิพิธภัณฑ์ในยุคดิจิทัล" ที่ห้องคลังความรู้ ตึกสำนักงาน มิวเซียมสยาม

สฤณี อธิบายรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ในยุคดิจิทัลไว้ว่า พิพิธภัณฑ์ที่ดีควรสร้างประสบการณ์ร่วมจากการทำสื่อดิจิทัลที่สามารถเผยแพร่ให้ทุกคนสามารถเข้าได้จากทุกมุมโลก

จับต้องและสัมผัสได้
สฤณียกตัวอย่างว่า ในอดีต เอกสารเก่าสำคัญหรือวัตถุโบราณที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์มักจะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ผู้มาเยือนทำได้เพียงยืนมอง รวมถึงต้องใช้ความพยายามในการอ่านเพื่อจับใจความสำคัญของวัตถุโบราณ เหล่านั้น แต่ปัจจุบันเมื่อเอกสารเก่าถูกทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล การเข้าถึงก็จะขยายไปสู่สาธารณชนได้มากขึ้น ทุกคนสามารถเห็นและเปิดอ่านได้ เป็นการเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างพิพิธภัณฑ์กับผู้มาเยือน ทำให้ตอบโจทย์ได้ดีกว่า

นอกจากนี้ สฤณียกตัวอย่างงาน A History of the World in 100 objects หนึ่งในนิทรรศการของ The British Museum ที่เล่าถึงประวัติความเป็นมาของวัตถุโบราณ 100 ชิ้น จากการสำรวจประวัติศาสตร์ทั่วโลก ตลอดสองล้านปีที่ผ่านมา โดยนำเสนอผ่านเว็บไซต์ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการเดินทางของผู้มาเยือน

รูปธรรม-นามธรรม
เธอชี้ว่า พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เพียงแค่การสะสมของเก่าและการจัดแสดงวัตถุสิ่งของหายากที่ถูกหวงห้ามอีกต่อไป แต่จะเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถนำมาแสดงให้เห็นผ่านการจัดระบบข้อมูล เช่น การให้ผู้ชมดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน แล้วนำมาส่อง QR code จากนั้นจะปรากฏภาพเสมือนจริงบนหน้าจอ หรือที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่อย่าง MoMA (Museum of Modern Art) หยิบยกสิ่งที่มองไม่เห็นมาอธิบาย เช่น เครื่องหมาย @ (แอดซายน์) ที่เป็นสัญลักษณ์แทนการแบ่งแยกระหว่างชื่อกับที่อยู่ในอีเมลแอดเดรส มาเล่าถึงประวัติความเป็นมาและความสำคัญ

แบ่งปัน
เธอเล่าถึง GitHub.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการที่เก็บซอร์สโค้ดของซอฟต์แวร์ ซึ่งคนทั่วไปสามารถเข้ามาดูได้ โดยผู้ที่ต้องการปิดข้อมูลบางส่วนไว้เป็นส่วนตัวก็ต้องมีค่าใช้จ่าย การเปิดโอกาสให้โยนข้อมูลไว้ในเซิร์ฟเวอร์เช่นนี้ ทำให้คนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันสามารถแชร์ข้อมูลกันได้ หรือสถาบันหอจดหมายเหตุ สมิธโซเนียน (Smithsonian Institution Archives) ที่เปิดพื้นที่ออนไลน์ ให้ผู้ที่มีความสนใจจะแชร์รูปหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ถือเป็นการเปิดให้คนทั่วไปให้การศึกษาแก่พิพิธภัณฑ์ด้วย

ปฏิสัมพันธ์สร้างการเรียนรู้
สฤณี เล่าต่อถึงนิทรรศการ MoMA unadulterated ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ MoMA ที่บันทึกเสียงของเด็กอายุ 3-10 ปี ถึงความรู้สึกต่องานศิลปะที่จัดแสดง โดยให้ผู้ชมที่เข้าร่วมสามารถฟังเรื่องราวที่เด็กๆ เหล่านั้นต้องการถ่ายทอด ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้ความรู้สึกของเด็กสะท้อนผ่านงานศิลปะ

ในงานนี้ มีผู้ร่วมฟังเสวนาตั้งคำถามว่า ถ้าเกิดว่ารูปแบบดิจิทัลเข้ามา ความเป็นพิพิธภัณฑ์แบบเดิมจะหายไปหรือเปล่า และคนทำงานจะยังมีอยู่ไหม เมื่อความเป็นพิพิธภัณฑ์แบบดั้งเดิมหายไป

สฤณี ตอบคำถามว่า ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลหรือแบบเดิม พิพิธภัณฑ์ก็ต้องมีกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ทำให้ต้องมีคนทำงาน ด้วยลักษณะของความรู้และรูปแบบเรื่องราวต่างๆที่ถูกบอกเล่ามันทำให้พิพิธภัณฑ์สามารถอยู่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องราวของดิจิทัลไม่ได้ทำให้แบบเดิมหายไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net