Skip to main content
sharethis

สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นหนังสือและรายงานถึงคณะกรรมาธิการการสื่อสารฯ ให้มีการตรวจสอบการทำงาน กสทช. ที่ปล่อยปละละเลยให้บริษัทโทรคมนาคมมีการควบรวมทั้งกรณีกิจการอินเทอร์เน็ตบ้านและมือถือ หวั่นผู้เล่นน้อยรายอาจเกิดการผูกขาด ทำค่าบริการพุ่ง แต่คุณภาพแย่ลง

 

21 มี.ค. 2567 ยูทูบ The reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (21 มี.ค.) ที่รัฐสภา สัปปายะสภาสถาน ฝั่งสภาผู้แทนราษฎร สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการตรวจสอบการทำงานของ กสทช. จากการปล่อยปละละเลยให้บริษัทโทรคมนาคมควบรวม ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในการขาดทางเลือกใช้บริการ และปัญหาด้านคุณภาพและค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่อาจย่ำแย่ลง โดยมี ธีรรัตน์ ตั้งสำเร็จวาณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิก เป็นผู้มารับมอบหนังสือด้วยตัวเอง

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวหลังยื่นหนังสือว่า โดยปกติ กสทช.เป็นหน่วยงานตามกฎหมาย ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องผู้บริโภค และก็สภาองค์กรของผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องทำรายงานเมื่อหน่วยงานรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรก และหน่วยงานที่โดนคือ กสทช. และปัญหาใหญ่คือการปล่อยให้มีการควบรวมของบริษัทโทรคมนาคม ซึ่งมีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาเยอะ เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทางเลือกจากการควบรวมไม่ว่ากิจการมือถือ หรืออินเทอร์เน็ตบ้าน

(ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

สุภิญญา กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงาน กสทช. แล้วแต่ไม่มีความคืบหน้าเท่าไร ทำให้มองว่าตอนนี้ต้องพึ่งพาฝ่ายนิติบัญญัติ ในการทำงานอย่างเข้มแข็งในการตรวจสอบรัฐบาล และหน่วยงานอื่นๆ

สุภิญญา กล่าวว่า สำหรับจุดประสงค์ของวันนี้ต้องการฝากกรรมาธิการฯ ตรวจสอบหน่วยงาน กสทช.เรื่องการทำงานและการรับผิดชอบ ไปจนถึงกระตุ้นฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างองค์กรกำกับดูแลอิสระ เนื่องด้วยตอนนี้ประชาชนกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และโครงข่ายโทรคมนาคมถือเป็นกระดูกสันหลังสำคัญของสังคมยุคดิจิทัล และถ้าประชาชนไม่มีทางเลือกที่มากพอ ผู้บริโภคจะถูกจำกัดและเป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในโครงข่ายพื้นฐานในประเทศที่เรามีโครงข่ายที่มากเท่าไร มันจะเป็นหลักประกันด้านราคาและคุณภาพเมื่อเทียบกับการที่โครงข่ายอยู่ในมือเอกชนแค่น้อยราย 

ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวต่อว่า ในระยะยาวอาจจะมีการเสนอปรับแก้ไขกฎหมายให้มีการเปิดเสรีการแข่งขันโทรคมนาคมมากขึ้น บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่มีโครงข่าย (MVNO) ผลักดัน NT รัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของชาติขึ้นมาเป็นทางเลือกที่สามให้ประชาชน หรืออื่นๆ ซึ่งพวกเธอไม่ทราบแล้วว่าจะพึ่งพาใคร เพราะดูเหมือน กสทช.จะเพิกเฉย เพราะฉะนั้น คงต้องฝากฝ่ายนิติบัญญัติในการทำงานเรื่องนี้ต่อไป และทางสภาฯ ยินดีให้ข้อมูลและให้ความร่วมมือ 

สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวเสริมว่า ทางสภาฯ ได้มีร้องเรียนทุกช่องทางเท่าที่ทำได้แล้ว และมองว่าค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน และอินเทอร์เน็ตมือถือ ถ้าไม่มีการแข่งขันด้านธุรกิจเลย จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยค่าบริการอาจพุ่งสูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ เพราะงั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงให้ความสำคัญมาก เพราะผู้บริโภคควรมีสิทธิที่จะเลือก 

สารี อ๋องสมหวัง (ที่มา: สหภาพคนทำงาน)

ธีรรัตน์ ตั้งสำเร็จวาณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ทาง กมธ.เห็นปัญหาอย่างเดียวกัน มองว่าทุกคนประสบปัญหาร่วมกันในการเข้าไม่ถึงสิทธิการเลือกใช้บริการขั้นพื้นฐานโทรคมนาคม ซึ่งประชาชนทุกคนควรได้รับจากภาครัฐ และมองว่าเรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว

ธีรรัตน์ กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าโครงสร้างของ กสทช.มีปัญหาจริงๆ และต้องร่วมมือกันหลายฝ่ายทั้งนิติบัญญัติ และภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็งมากๆ ในการบอกถึงปัญหาของผู้บริโภค และในส่วนของฝ่ายบริหาร และข้าราชการ ต้องฟังคำแนะนำของ กมธ.อย่างจริงใจ ไม่ใช่รับแล้วปล่อยผ่านไป แต่ต้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาตามมา 

ประธาน กมธ. รับปากว่าจะนำรายงานที่สภาองค์กรของผู้บริโภคนำมายื่นให้ไปศึกษาต่อ และคิดว่าตอนนี้มีข้อมูลปัญหามากเพียงพอเรื่องปัญหาและการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยการร่วมมือกันทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล และมั่นใจทาง กมธ.เห็นพ้องต้องกันว่า ผู้บริโภคควรได้รับสิทธิในการดูแลจากทางภาครัฐให้เหมาะสมและยุติธรรมที่สุด และสิทธิในการมีตัวเลือกการบริการโทรคมนาคมที่หลากหลาย 

อีกหนึ่งตัวแทน กมธ. ระบุถึงความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบเรื่องการควบรวมของบริษัทโทรคมนาคม โดยมีการเรียกตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล 2 ครั้ง และมีการฝากการบ้านไปยัง กสทช.ให้ไปหาคำตอบให้ กมธ. ซึ่งคาดว่าไม่นานจะได้รับคำตอบ และจะมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ นอกจากนี้ รายงานที่ได้รับมา ทาง กมธ.รับปากว่าจะนำไปประกอบการพิจารณาด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net