Skip to main content
sharethis

เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ แจงข้อเท็จจริง ระบุแม้ รร.รับเด็กเข้าเรียนแล้ว ก็ต้องถูกตรวจสอบกรณีบังคับตรวจเลือด หา HIV ก่อนรับเข้าเรียน จี้ ศธ. เร่งเยียวยาแก้ปัญหา พร้อมย้ำ ศธ.ไม่มีนโยบายตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีของเด็ก

15 มี.ค. 2559 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรณีเด็กวัย 4 ขวบถูกโรงเรียนบังคับตรวจเลือดเอชไอวีก่อนเข้าเรียน โดยระบุว่า กรณีที่ ปลัด ศธ. ได้รับรายงานซึ่งอ้างว่าผู้ร้องเรียน (แม่ของเด็ก) เป็นผู้เข้ามาขอให้ทางโรงเรียนประสานงานกับโรงพยาบาลเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจเลือดนั้น ข้อเท็จจริงจากด้านผู้ร้องเรียน คือ ผู้ร้องมิได้เป็นผู้ที่ต้องการพาลูกไปตรวจเลือดเองตั้งแต่ต้น เนื่องจากลูกของผู้ร้องเคยตรวจเลือดยืนยันผลแล้วว่าไม่มีเชื้อเอชไอวี แต่โรงเรียนให้เธอพาลูกไปตรวจเลือดมาใหม่และนำผลการตรวจที่เป็นปัจจุบันมายืนยัน

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา โรงเรียนได้มาพบผู้ร้องเรียนที่บ้านและแจ้งว่าจะรับลูกของเธอเข้าเรียน และต้องการให้จบเรื่องนี้ โดยบอกให้เธอร่างหนังสือและเซ็นยินยอมว่าที่นำลูกไปตรวจเลือดนั้น เกิดจากความสมัครใจของแม่เอง โดยทางโรงเรียนไม่ได้บังคับแต่อย่างใด

แถลงการณ์ชี้ว่า แม้โรงเรียนจะรับลูกของผู้ร้องเข้าเรียนแล้ว ซึ่งนั่นเป็นสิทธิที่เด็กมีและพึงได้รับมาตั้งแต่ต้นโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขเรื่องการตรวจเลือด แต่สิ่งที่โรงเรียนควรจะต้องถูกตรวจสอบคือ การให้เด็กไปตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีก่อนสมัครเข้าเรียน ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นลูกของผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ก็ตาม ที่โรงเรียนปฏิบัติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นการกระทำที่ผิดต่อทั้งนโยบายกระทรวงศึกษาธิการและนโยบายของประเทศ ทั้งนี้ ศธ.ควรเยียวยาและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนในกรณีนี้ ไม่ใช่ซ้ำเติมปัญหา ด้วยการปกป้องหน่วยงานภายใต้สังกัดของตน จนละเลยในการสืบหาข้อเท็จจริง

อนึ่ง ข้อมูลจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุว่า โอกาสเสี่ยงของการรับเชื้อเอชไอวี ขึ้นกับองค์ประกอบ 3 ข้อ หากจะเสี่ยงต้องมี 3 องค์ประกอบครบถ้วนคือ
a. ต้องได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี เข้าสู่ร่างกาย โดยต้องมาจากแหล่งที่มีปริมาณเชื้อมากพอที่จะทำให้ติด ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด

b. เชื้อที่จะทำให้ติดต่อได้นอกจากเรื่องปริมาณแล้วเชื้อต้องมีคุณภาพและแข็งแรง เช่น ในเลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด มีสภาพที่พอเหมาะที่จะทำให้ เชื้อเติบโตได้แต่ถ้าไปอยู่ในน้ำลาย น้ำตา เชื้อไวรัสจะอยู่ในสภาพที่เป็นกรด เป็นด่าง ทำให้ไม่มีคุณภาพ เติบโตไม่ได้ หมดความสามารถที่จะทำให้ติดต่อได้

c. ต้องเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการสัมผัส ส่งต่อเชื้อได้โดยตรง เช่น การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน หรือการร่วมเพศ ซึ่งเป็นการส่งต่อเชื้อกันโดยตรงเช่นในกรณีการร่วมเพศ ถ้าฝ่ายชายมีเชื้ออยู่ เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุช่องคลอด หรือถ้าผู้หญิงมีเชื้ออยู่ เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุที่ปลายและเยื่อบุในท่อปัสสาวะขององคชาติ
และต้องดูโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริงด้วย

แถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
กรณีเด็กวัย 4 ขวบถูกโรงเรียนบังคับตรวจเลือดเอชไอวีก่อนเข้าเรียน

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์


จากกรณีที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร้องเรียนปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมาตรการเด็ดขาดกับสถานศึกษาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน บังคับตรวจเลือดก่อนเข้าเรียน ดังที่มีรายงานข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมานั้น

เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า จากการที่ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. ได้รับรายงานซึ่งอ้างว่าผู้ร้องเรียน (แม่ของเด็ก) เป็นผู้เข้ามาขอให้ทางโรงเรียนประสานงานกับโรงพยาบาลเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจเลือดนั้น ข้อเท็จจริงจากด้านผู้ร้องเรียน คือ ผู้ร้องมิได้เป็นผู้ที่ต้องการพาลูกไปตรวจเลือดเองตั้งแต่ต้น  เนื่องจากว่าลูกของผู้ร้องนั้นเคยตรวจเลือดยืนยันผลแล้วว่าไม่มีเชื้อเอชไอวี แต่ในขั้นตอนการรับสมัครเข้าเรียน โรงเรียนบอกกับเธอว่าต้องการให้เธอพาลูกไปตรวจเลือดมาก่อน เธอได้พยายามสอบถามกับโรงเรียนว่าใช้ผลเลือดฉบับเก่าได้หรือไม่ แต่ทางโรงเรียนปฏิเสธ โดยบอกให้เธอพาลูกไปตรวจเลือดมาใหม่และนำผลการตรวจที่เป็นปัจจุบันมายืนยัน

ดังนั้น เพื่อให้ลูกของเธอได้เข้าเรียน เธอจึงแจ้งกับครูว่า ทางโรงพยาบาลคงไม่ตรวจให้ เนื่องจากเคยตรวจหาการติดเชื้อฯ แล้วและไม่พบว่ามีเชื้อเอชไอวี แต่หากโรงเรียนต้องการผลเลือดครั้งใหม่ ทางโรงเรียนก็ต้องทำหนังสือถึงโรงพยาบาล ซึ่งการกระทำดังกล่าวของผู้ร้องนั้นถือเป็นการถูกบังคับให้ยินยอมด้วยเหตุการณ์เฉพาะหน้า เพื่อให้ลูกของเธอมีสิทธิเข้าเรียนหนังสือเหมือนเช่นเด็กคนอื่นๆ เนื่องจากไม่มีทางเลือก และโรงเรียนไม่ยอมรับผลเลือดฉบับเก่า

พร้อมกันนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา โรงเรียนได้มาพบผู้ร้องเรียนที่บ้านและแจ้งว่าจะรับลูกของเธอเข้าเรียน และต้องการให้จบเรื่องนี้ โดยบอกให้เธอร่างหนังสือและเซ็นยินยอมว่าที่นำลูกไปตรวจเลือดนั้น เกิดจากความสมัครใจของแม่เอง โดยทางโรงเรียนไม่ได้บังคับแต่อย่างใด

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยเห็นว่า แม้โรงเรียนจะรับลูกของผู้ร้องเข้าเรียนแล้ว ซึ่งนั่นเป็นสิทธิที่เด็กมีและพึงได้รับมาตั้งแต่ต้นโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขเรื่องการตรวจเลือด แต่สิ่งที่โรงเรียนควรจะต้องถูกตรวจสอบคือ การให้เด็กไปตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีก่อนสมัครเข้าเรียน ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นลูกของผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ก็ตาม ที่โรงเรียนปฏิบัติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นการกระทำที่ผิดต่อทั้งนโยบายกระทรวงศึกษาธิการและนโยบายของประเทศ

นอกจากนี้ ศธ.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสถานศึกษาทั่วประเทศ ก็ไม่ควรรีบสรุปเรื่องราว หรือฟังความข้างเดียว โดยไม่สอบถามข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้รอบด้าน ซึ่งบทบาทของ ศธ.ควรจะช่วยเยียวยาและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนในกรณีนี้ ไม่ใช่ซ้ำเติมปัญหา ด้วยการปกป้องหน่วยงานภายใต้สังกัดของตน จนละเลยในการสืบหาข้อเท็จจริง

อีกทั้ง ศธ.ควรเน้นย้ำโดยมีหนังสือไปยังสถานศึกษาทุกแห่งว่า ศธ.ไม่มีนโยบายในการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีของเด็ก ทั้งก่อนและระหว่างเข้าเรียน โดยด่วนที่สุด เนื่องจากเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net