Skip to main content
sharethis

เกิดประเด็นถกเถียงเรื่องการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากลัทธิล่าอาณานิคมตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อนซึ่งบางส่วนยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ โดยนักมานุษยวิทยาเขียนบทความชี้แนะว่าไม่เพียงแค่ค่าชดเชยเท่านั้นแต่ควรกำจัดทัศนคติและสัญชาติญาณแบบนักล่าอาณานิคมผู้ขูดรีดผลประโยชน์ให้หมดไปด้วย

29 พ.ย. 2558 บทความของเจสัน ฮิกเกิล นักมานุษยวิทยาจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) เผยแพร่ในเว็บไซต์เดอะการ์เดียนระบุถึงข้อถกเถียงเรื่องการชดเชยประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการล่าอาณานิคม โดยระบุว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาคือลักษณะการเล่าเรื่องในกระแสหลักของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมักจะเล่าผ่านทางสถาบันใหญ่ๆ อย่างธนาคารโลก โดยเล่าในทำนองปัดความผิดให้พ้นตัว เช่นการกล่าวโทษว่าประเทศกำลังพัฒนาเป็นประเทศยากจนเพราะพวกเขาขี้เกียจและสร้างปัญหาภายในกันเอง ส่วนประเทศตะวันตกร่ำรวยเพราะ "ทำงานหนัก"

นอกจากนี้ฮิกเกิลยังระบุอีกว่าถ้าหากมีกรณีที่ประเทศผู้เคยล่าอาณานิคมมาก่อนยอมรับว่าพวกเขาเคยกระทำการล่าอาณานิคมจริงก็มักจะยอมรับในแบบที่ทำให้มันไม่ถูกมองเป็นอาชญากรรม และมักจะเล่าในทำนองว่าการยึดอาณานิคมของพวกเขาเป็นบันไดที่ทำให้ประเทศนั้นๆ พัฒนาได้ แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน

บทความในเดอะการ์เดียนยกตัวอย่างกรณีวิดีโอของชาชิ ทารูร์ ส.ส.ประเทศอินเดียที่เคยกล่าวอภิปรายในสมาคมโต้วาทีออกซ์ฟอร์ดยูเนียนเรื่องที่ว่าอินเดียควรได้รับการชดเชยจากอดีตเจ้าอาณานิคมอังกฤษ การอภิปรายในครั้งนี้มีการเผยแพร่ผ่านยูทูบซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 3 ล้านวิว ทำให้ฮิกเกิลมองว่าประเด็นเรื่องการชดเชยประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการล่าอาณานิคมนั้นเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจมาก

อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องการชดเชยประเทศอดีตอาณานิคมก็ต้องคำนึงถึงวิธีการเล่าประวัติศาสตร์จากฝ่ายอดีตเจ้าอาณานิคมเองด้วย โดยฮิกเกิลมองว่าความยากจนที่เกิดขึ้นในประเทศแถบซีกโลกใต้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองแต่เป็นสิ่งที่ถูกทำให้เกิดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ และประเทศอดีตเจ้าอาณานิคมก็ไม่ได้เล่นบทเป็นผู้เสริมสร้างความเจริญแต่กลับเป็นบทบาทของ "ผู้ปล้นชิง" มากกว่า

ฮิกเกิลเปิดเผยถึงการที่ยุโรปเข้าไปยึดอาณานิคมแถบละตินอเมริกาในช่วงปี พ.ศ.2035 (ค.ศ.1492) ว่าเดิมทีพื้นที่เหล่านั้นมีจำนวนประชากรคนพื้นถิ่นราว 50-100 ล้านคน แต่ในอีกราว 100-200 ปีถัดจากนั้นมีประชากรคนพื้นถิ่นเหลืออยู่แค่ 3.5 ล้านคนเท่านั้นโดยส่วนใหญ่ผู้คนเสียชีวิตเนื่องมาจากโรคระบาดจากต่างประเทศ ถูกสังหารหรือไม่ก็ถูกใช้แรงงานทาสจนเสียชีวิต รวมถึงถูกขับออกนอกถิ่นจนอดตาย ซึ่งผู้เสียชีวิตมีมากกว่าจำนวนคนที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 7 เท่า

บทความของฮิกเกิลระบุต่อไปว่าชาวยุโรปในยุคนั้นล่าอาณานิคมแถบละตินอเมริกาเนื่องจากต้องการแร่เงินโดยระหว่างปี พ.ศ. 2046-2203 (ค.ศ.1503-1660) มีการส่งแร่เงินไปยังยุโรปมากถึง 16 ล้านกิโลกรัม มีจำนวนมากกว่าเหล็กในคลังของยุโรปถึง 3 เท่า และในอีก 100-200 ปีหลังจากนั้นก็มีการนำเอาทรัพยากรแร่เงินออกไปจากละตินอเมริกาถึง 100 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ามหาศาล พวกชาวยุโรปในยุคนั้นไม่เพียงแค่ใช้แรงงานทาสจากชนพื้นเมืองเท่านั้นแต่ยังมีการนำทาสจากแอฟริกาข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าไปด้วยทำให้มีแรงงานทาสอยู่เป็นจำนวนมาก

ในตอนนี้มีประเทศแถบแคริบเบียน 14 ประเทศกำลังอยู่ในขั้นตอนฟ้องร้องอังกฤษเรียกค่าเสียหายจากการใช้แรงงานทาสในอดีต โดยระบุว่าหลังจากที่อังกฤษเลิกทาสในปี พ.ศ.2377 (1834) มีการชดเชยให้แก่เฉพาะเจ้าของทาสแต่ไม่ได้มีการชดเชยให้ทาส แต่ฮิกเกิลชี้ว่าการเรียกร้องแค่ค่าเสียหายยังไม่เพียงพอเพราะเป็นการมองแรงงานทาสเป็นแค่สิ่งที่ถูกตีมูลค่าและละเลยความเจ็บปวดทุกข์ทรมานที่แรงงานทาสเคยได้รับ

ฮิกเกิลระบุว่าสิ่งที่เจ้าอาณานิคมได้รับจากความเจ็บปวดของพวกเขาคือบ้านเมืองที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม โดยฮิกเกิลยกตัวอย่างกรณีที่เบลเยียมในสมัยกษัตริย์เลออปอลที่ 2 ซึ่งเข้ายึดอาณานิคมของคองโกและเป็นเหตุให้มีชาวคองโกเสียชีวิต 10 ล้านคน นับเป็นประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของประชากร

ฮิกเกิลระบุว่าอาชญากรรมที่ชาติเจ้าอาณานิคมก่อไว้ยังมีอีกจำนวนมากซึ่งถือเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นระบบเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงเพียงคนจำนวนน้อยในขณะที่ทำลายคนส่วนใหญ่ แต่แนวการเล่าประวัติศาสตร์ของชาติที่เคยก่อเหตุเลวร้ายเหล่านี้ไว้กลับพยายามอ้างถึงเรื่องการพัฒนาซึ่งเป็นเรื่อง "เหลวไหล" และ "เป็นเท็จ" ในมุมมองของฮิกเกิล

อย่างไรก็ตามทารูร์มองว่าการจ่ายเงินชดเชยให้กับพวกเขาแม้แต่เพียงแค่ 1 ปอนด์ก็ถือว่าเป็นสิ่งแทนการยอมรับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่าเคยมีเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้เกิดขึ้น

แต่ฮิกเกิลเสนอให้ไปไกลกว่านั้นด้วยการที่ไม่ใช้แค่การให้แบบการกุศล แต่ต้องมีการขจัดสัญชาตญาณแบบนักล่าอาณานิคมทิ้งไปด้วย ถึงแม้ว่าในยุคปัจจุบันอาจจะไม่มีการกดขี่แบบอาณานิคมอย่างตรงตรงมาแบบในอดีตแต่ก็ยังคงมีการใช้วิธีการหาผลประโยชน์แบบขูดรีดอยู่ เช่น การรุกไล่ที่ดินทำกิน การหาประโยชน์ทางการเงินอย่างผิดกฎหมายและการทำสัญญาการค้าที่ไม่เป็นธรรม

ในประเด็นนี้แฟรงก์ บอยล์ เคยเขียนข้อความเชิงเสียดสีในบทความของเดอะการ์เดียนว่า "การให้ปลาหนึ่งตัวแก่คนๆ หนึ่งเขาจะมีกินไปหนึ่งวัน ถ้าเอาเบ็ดตกปลาให้เขาเขาจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่ว่าจะต้องไม่ไปทำให้แม่น้ำที่มีปลาของพวกเขาเน่าเสีย ไม่ลักพาตัวเทียด (พ่อแม่ของทวด) ของพวกเขาไปเป็นทาสแล้วก็โผล่หัวในอีก 400 ปีถัดมาเพื่อมาพูดอะไรบ้าๆ บอๆ เกี่ยวกับปลา"

 

เรียบเรียงจาก

Enough of aid – let’s talk reparations, Jason Hickel, The Guardian, 27-11-2015
http://www.theguardian.com/global-development-professionals-network/2015/nov/27/enough-of-aid-lets-talk-reparations

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net