Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2558 เว็บไซต์อียูรีพอร์ทเตอร์รายงานว่าองค์การสหประชาชาติออกแถลงการณ์วิจารณ์การปราบปรามคนเห็นต่างในรัฐบาลทหารของไทยว่าเป็นการทำให้ "พื้นที่ของประชาธิปไตยลดลง" บันคีมุนเลขาธิการสหประชาชาติยังกล่าวเน้นย้ำว่าทางการไทยควรทำให้เกิดซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมในประเทศตน

แถลงการณ์ของยูเอ็นออกมาหลังจากที่ผู้นำรัฐบาลจากการรัฐประหาร พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการไปเยือนสหรัฐฯ ครั้งแรกของพล.อ.ประยุทธ์ หลังจากที่ถูกชาติตะวันตกรวมถึงยูเอ็นประณามการรัฐประหารและแสดงความกังวลต่อเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไทย

อียูรีพอร์ทเตอร์ระบุอีกว่าในการกล่าวสุนทรพจน์ของพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ไม่มีการกล่าวถึงการใช้กำลังทหารก่อรัฐประหารแต่พูดแบบพยายามเน้นย้ำว่าจะ "คุ้มครองสิทธิมนุษยชน" และอ้างว่าไทย "ให้ความสำคัญกับการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน"

อย่างไรก็ตามชาร์ลส์ ซานติอาโก ประธานสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) เรียกร้องให้ประชาคมโลก "ยืนยันหลักการ" สนับสนุนให้มีประชาธิปไตยในไทยและต่อต้านการกระทำของพล.อ.ประยุทธ์ โดยระบุว่าการไม่ดำเนินมาตรการอย่างจริงจังต่อเผด็จการในไทยอาจจะเป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ต่อภูมิภาคอาเซียน ซึ่งซานติอาโกมองว่าหลังจากการรัฐประหารมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตยมากขึ้นรวมถึงมีการพยายามยื้อเวลาอยู่ในอำนาจของตัวเองโดยไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนง่ายๆ ซึ่งถือว่าไทยละเมิดพันธะต่อประชาคมโลก

นอกจากคำวิจารณ์จากสหประชาชาติแล้วส.ส.จำนวนหนึ่งจากสหภาพยุโรปก็ยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการทหารไทยด้วย เช่นเดวิด มาร์ติน ส.ส.อียูจากพรรคแรงงานของอังกฤษกล่าวว่า "การที่ประยุทธ์ไม่พูดถึงกำหนดการทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยถือเป็นเรื่องน่าผิดหวัง และถึงแม้ว่าเขาจะให้สัตย์ปฏิญาณเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแต่น่าเศร้าที่สถานการณ์ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับที่เขาพูด"

ชาร์ลส์ แทนน็อก ส.ส.อียูจากพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ และคณะกรรมาการยุโรปฝ่ายกิจการต่างประเทศกล่าวว่า "ประยุทธ์และเพื่อนผู้นำทหารของเขากำลังบ่อนทำลายบรรทัดฐานของประชาธิปไตยอย่างช้าๆ แต่แน่นอน การลิดรอนเสรีภาพยังเป็นการทำลายการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ระบบยุติธรรมที่บิดเบี้ยวเช่นนี้ยังเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการที่กลุ่มผู้นำทหารในไทยนำเครื่องมือแห่งอำนาจมาใช้ในทางที่ผิด"

แทนน็อกบอกอีกว่ายุโรปควรเป็นห่วงสถานการณ์ในไทยวึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศไทยเองแต่ยังส่งผลต่อภูมิภาคตะวันออกในวงกว้างด้วย

ทางด้านฟราเซอร์ คาเมรอน จากศูนย์อียู-เอเชีย กล่าวว่า สหภาพยุโรปจะรู้สึกผิดหวังต่อสุนทรพจน์ของประยุทธ์ซึ่งไม่มีการกำหนดเวลาการเลือกตั้งและหลีกเลี่ยงไม่ตอบข้อกังวลของนานาชาติเรื่องการลิดรอนสิทธิมนุษยชนในประเทศตัวเอง

ในการจัดประชุมสมัชชาสหประชาชาติปีนี้มีหัวข้อว่า "70 ปีสหประชาชาติ ถนนสู่สันติภาพ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน" มีผู้ประท้วงต่อต้านผู้นำเผด็จการทหารไทยแสดงความกังวลประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทย ถึงแม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะกล่าวในงานถึงเรื่องการทำให้ประเทศเข้มแข็งขึ้นในหลายๆ ด้านก่อนมีประชาธิปไตยแต่การห้ามประท้วง การดำเนินคดีกับผู้ต่อต้านในศาลทหารและการพยายามระงับสิทธิ์ธุรกรรมการเงินก็รวมถึงการยังไม่มีกำหนดเวลาเลือกตั้งครั้งถัดไปแน่นอนก็เป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม

 

เรียบเรียงจาก

Thailand junta: ‘Prayuth displays flagrant disrespect for human rights, democratic norms, and Thailand’s international legal obligations’, EU Reporter, 30-09-2015

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net