Skip to main content
sharethis

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และชาวคลองไทร สุราษฎร์ฯ จัดงานรำลึกการต่อสู้ของเกษตรกรไร้ที่ดิน และรำลึกถึงสมาชิกที่ถูกยิงเสียชีวิต




อนุสรณ์สถานนักต่อสู้สามัญชน 


สุรพล จงรักษ์


สุนี ไชยรส

 

28 ก.ย. 2558 ที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จัดงานเปิดอนุสรณ์สถานนักต่อสู้สามัญชน เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน และรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้

โดยในช่วงเช้าเวลาประมาณ 09.00-10.00น. เป็นการจัดพิธีการทางศาสนา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสมาชิกชุมชนคลองไทรฯ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต จำนวน 4 คน ได้แก่ นายสมพร พัฒภูมิ เสียชีวิตเมื่อปี 2553 นางปราณี บุญรักษ์ และนางมณฑา ชูแก้ว เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2555 และนายใช่ บุญทองเล็ก เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถจับตัวผู้ก่อเหตุได้

ต่อมาในเวลา 10.30น. ได้มีพิธีเปิดอนุสรน์สถานฯ โดย สุรพล จงรักษ์ กล่าวถึงความหมายของอนุสรณ์สถานว่า ขดเกลียวคล้ายสปริงสีแดง แทนความหมายของวิวัฒนาการการต่อสู้ของประชาชน หลายครั้งมีการมองว่าการต่อสู้ของภาคประชาชนมักจะเป็นเดินทางเป็นวงกลม คือเดินกลับมาที่เดิมไม่ไปไหน แต่แท้จริงแล้วการต่อสู้ของประชาชนเดินทางเป็นวงกลมแบบขดสปริง คือเดินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และบนยอดของขดสปริงมีดาวอยู่สามดวง คือดาวเขียว แทนความอุดมสมบูรณ์ของการเกษตร ดาวแดง แทนการต่อสู้ และดาวเหลือง แทนคุณธรรม

ด้านสุนี ไชยรส อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้กล่าวเปิดอนุสรณ์สถานฯ โดยระบุถึงการต่อสู้ของเกษตรกรและชาวนา ว่ามีการต่อสู้ในเรื่องที่ดินที่ทำกินมายาวนาน ตั้งแต่สมัย 14 ตุลาคม 2516  โดยมีการเรียกร้องร่วมกันระหว่างชาวนา เกษตรกร และนักศึกษา ให้มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร ซึ่งถือเป็นการมองเห็นปัญหาของประเทศร่วมกันว่า เราไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีการปฏิรูป ไม่มีการแก้กฎหมายเพื่อเกษตรกร อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐมีมุมมองว่าที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเป็นสินทรัพย์ของรัฐ รัฐมีสิทธิที่จะให้ใครก็ได้ สามารถที่จะจัดสรรให้กับเกษตรกรไร้ที่ทำกินได้ แต่สิ่งที่เห็นส่วนมากรัฐกลับนำที่ดินไปให้นายทุนเช่าใช้ประโยชน์

ขณะเดียวกันตัวแทนเครือข่ายต่างๆ อาทิ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง, เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน, สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล, เครือข่ายปฏิรูปสังคมและการเมือง, เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอันดามัน, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ยืนยันในหลักการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน และสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร

 

 
ข้อมูลชุมชนคลองไทรพัฒนา
 
ชุมชนคลองไทรพัฒนาตั้งอยู่ในพื้นที่ของ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ชาวบ้านเริ่มเข้ามาอยู่ตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมีเกษตรกรอาศัยอยู่ 69 ครัวเรือน แต่เดิมพื้นที่นี้มีบริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด เข้าใช้ประโยชน์ โดยการยึดครองพื้นที่ป่าสงวน ป่าปากหมาก ป่าปากพัง ตั้งแต่ปี 2528 ต่อมาได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในปี 2537 แต่ สปก. ไม่สามารถนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรได้ เนื่องจากบริษัทไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ จนกระทั่งมีการฟ้องคดีความโดย สปก. เป็นโจทย์ฟ้องบริษัท ให้ออกจากพื้นที่ และชนะคดีในศาลชั้นต้นเมื่อปี 2550 โดยศาลสั่งให้บริษัทออกจากพื้นที่ของ ส.ป.ก. แต่บริษัทยื่นอุทธรณ์ โดยขณะนี้คดีสิ้นสุดแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ศาลให้บริษัทออกนอกพื้นที่ แต่ถึงปัจจุบันยังไม่การบังคับคดีให้บริษัทออกไป
 
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ส.ป.ก.ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยระบุให้เร่งดำเนินการบังคับคดีกับบริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา และบริวาร พร้อมด้วยสมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนา เนื่องจากเป็นผู้บุกรุก โดยระบุความจำเป็นว่า ต้องการจัดการพื้นที่อย่างเป็นธรรมเพื่อเกษตรกรรายอื่นๆ ด้วย 
 
ความชอบธรรมการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่
 
1. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 71 / 52 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของ เครือข่าย ปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย สั่ง ณ วันที่ 9 มีนาคม 2552 ลงนามโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติเห็นชอบให้ผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดิน ตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อนจนกว่าจะแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ
 
 2. มติคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหา ของ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) วันที่ 11 มีนาคม 2553 ส.ป.ก. ได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการมายัง ส.ป.ก.ให้ผ่อนผันให้ชุมชนต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้จนกว่ากระบวนการฟ้องขับไล่บริษัทและนายทุนจะแล้วเสร็จ
 
3. มติคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มี โฉนดชุมชน (ปจช.) ให้ชุมชนคลองไทรพัฒนาเป็นพื้นที่ นำรองโฉนดชุมชน วันที่ 6 ตุลาคม 2553 (สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นเป็นประธาน ปจช.)
 
 4. บันทึกขัอตกลง (MOU) ข้อ 1,3 ระหว่าง พีมูฟ กับ ตัวแทนรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2556
 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net