Skip to main content
sharethis

“รอยเท้าของเรา” หนังสั้นของ"ต้าควา" ผู้กำกับหนังชาวปกาเกอะญอบ้านบางกลอย ที่ร่วมมือกับชาวปกาเกอะญอจากลุ่มน้ำบางกลอย-เมย-สาละวิน-แม่แจ่ม-แม่ขาน กับเพื่อนชาวไทย สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึง 'บิลลี่' พอละจี รักษ์จงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชาวปกาเกอะญอบางกลอยที่หายไปหากรอยเท้าของเขายังคงปรากฎอยู่บนผืนดิน

24 ส.ค. 2558 - “รอยเท้าของเรา” ภาพยนตร์โดย ต้าควา ผู้กำกับหนังสั้นชาวปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยง เป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่างชาวปกาเกอะญอจากลุ่มน้ำบางกลอย-เมย-สาละวิน-แม่แจ่ม-แม่ขานกับเพื่อนชาวไทยของเขา พยายามบอกเล่าถึงวิถีการดำรงอยู่และการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของแต่ละชีวิต บนดอย ของพี่น้องชุมชนปกาเกอะญอ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 23 สิงคาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในงานเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 19 มีการประกาศผลรางวัลและภาพยนตร์เรื่อง “รอยเท้าของเรา” ได้รับรางวัลชมเชย รัตน์ เปสตันยี จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นปีพ.ศ. 2558

เนื้อเรื่องของภาพยนตร์สั้นเรื่อง “รอยเท้าของเรา” นี้ หลายคนดูแล้ว อาจบอกว่าดูเนิบๆ ช้าๆ และดูสิ้นหวัง แต่ในความนิ่งๆ เชยๆ นั้นก็บาดลึก และสะเทือนใจ โดยเฉพาะเมื่อ "ส่าดู้" สมาชิกชุมชนคนหนึ่งหายตัวไป หากรอยเท้าของพวกเขายังคงปรากฎอยู่บนผืนดินแห่งนั้นไม่มีวันถูกลบเลือนหาย

ต้าควา ผู้กำกับหนัง เรื่องนี้ กล่าวว่า จริงๆ เรื่อง “รอยเท้าของเรา” นี้ ก็เหมือนเป็นภาคต่อ จากเรื่อง “วิถีชีวิต” และเป็นการระลึกถึง “บิลลี่” หรือนายพอละจี รักษ์จงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชาวกะเหรี่ยง่บางกลอย ที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยเขาตัดสินใจจำลองชื่อตัวละครเสียใหม่ และเลือกสถานที่การถ่ายทำที่หมู่บ้านสบลาน อำเภอสะเมิง เชียงใหม่ แทน

เมื่อถามว่าทำไมไม่ถ่ายทำที่บางกลอย แล้วทำไมไม่ใช้ชื่อบิลลี่?

ต้าควา กล่าวว่า ในระยะหลัง ชุมชนบางกลอยเหมือนถูกบีบ ทำอะไรก็ไม่ถนัด จึงเลือกพื้นที่บ้านสบลานแทน และถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนชื่อตัวละครเป็น “ส่าดู้” ที่หายไป แต่ในใจของทุกคนก็สัมผัสรับรู้ได้ว่า รอยเท้านั้นก็คือ “รอยเท้าของบิลลี่ที่หายไป” นั่นเอง

ต้าควา ถือเป็นผู้กำกับหนังสั้น ชาวปกาเกอะญอ ที่ส่งผลงานเข้าประกวดเทศกาลหนังสั้น แล้วได้รับรางวัลติดต่อกัน 2 เรื่องด้วยกัน โดยเรื่องแรกนั้น คือ “วิถีชีวิต” หนังสั้น ที่สะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ของพี่น้องปกาเกอะญอบ้านบางกลอย โดยฉากหนังได้บอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิตของผู้คนที่นั่นต้องเปลี่ยนไป เมื่อเสียงเฮลิคอปเตอร์ดังใกล้เข้ามา พวกเขาต้องพรากจากผืนดินที่อยู่และทำกินมาแต่บรรพบุรุษ

ภาพยนตร์โดยกลุ่มชาวปกาเกอะญอบางกลอยเรื่อง “วิถีชีวิต” นี้ สร้างจากเรื่องจริงของคนบางกลอยในผืนป่าแก่งกระจาน โดยมีพอละจี "บิลลี่" รักจงเจริญ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จ "วิถีชีวิต" ได้รับประกาศนียบัตรชมเชย รัตน์ เปสตันยี ควบคู่กับรางวัลพิราบขาวสำหรับภาพยนตร์ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 18 ปีพ.ศ.2557

ด้าน พรสุข เกิดสว่าง มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ผู้ผลักดันให้ชาวบ้านซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการเกี่ยวก้อย เพื่อผลิตภาพยนตร์สั้น หรือหนังสั้น ขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับสังคมทั่วไปได้รับรู้ จนกระทั่ง ได้ส่งเข้าประกวดในเทศกาลหนังสั้น มาอย่างต่อเนื่อง กล่าวภายหลังมีการประกาศรางวัลเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 19 ปี 2558 นี้ว่า รู้สึกยินดีด้วยกับต้าควา และชาวปกาเกอะญอจากลุ่มน้ำแม่แจ่ม แม่ขาน เมย-สาละวินและบางกลอย ที่ “รอยเท้าของเรา” ได้รับรางวัลชมเชย รัตน์ เปสตันยี จากเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 19 ปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลที่สองของต้าควา ผู้กำกับหนังสั้นชาวปกาเกอะญอคนนี้

และทำให้ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ เป็นอีกหนึ่งสื่อที่สะท้อนให้คนให้หันกลับมานึกถึง “บิลลี่” ที่หายตัวไปอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสดงความกังวลอีกครั้งต่อการไร้ความคืบหน้าในการสืบสวนกรณีที่ นายพอละจี รักษ์จงเจริญ หรือที่รู้จักกันว่าบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชาวกะเหรี่ยงถูกบังคับให้สูญหาย

โดยวันที่ 17 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบหนึ่งปีการหายตัวไปของบิลลี่ผู้มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยงในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในจังหวัดเพชรบุรี

มีผู้พบเห็นบิลลี่ครั้งสุดท้ายระหว่างการเดินทางกลับจากการประชุมกับตัวแทนชุมชนเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับคดีการเผาบ้านเรือน และทรัพย์สินของชาวบ้านกะเหรี่ยงโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ ในปี 2553 และปี 2554 ไม่มีใครทราบว่าชะตากรรมของบิลลี่เป็นอย่างไรและตอนนี้อยู่ที่ไหนตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือการหายสาบสูญโดยไม่สมัครใจได้ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด ณ ปัจจุบันข้อมูลที่รัฐบาลไทยมอบแก่คณะทำงานฯ กรณีบิลลี่ไม่เพียงพอที่คณะทำงานฯ จะวินิจฉัยชะตากรรมและสถานะของบิลลี่ได้ ดังนั้นคดีนี้ยังคงอยู่ในการตรวจสอบของคณะทำงานฯ

แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ระบุว่าการรายงานข่าวความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนคดีนี้มีข้อมูลใหม่ชี้ว่าบิลลี่ไม่ได้ถูกปล่อยตัวจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หลังถูกจับในข้อกล่าวหาว่ามีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองอย่างผิดกฎหมาย ข้อมูลนี้ขัดแย้งกับคำให้การก่อนหน้านี้ของอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติฯ ที่กล่าวว่า บิลลี่ถูกควบคุมตัวเพียงระยะเวลาสั้นๆ

ตามข้อมูลใหม่ที่ได้มานี้ สำนักข้าหลวงใหญ่ฯ เรียกร้องรัฐบาลไทยในฐานะที่ได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ จัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ และเสริมสร้างความพยายามในการสืบสวนสอบสวนอย่างโปร่งใสและละเอียดรอบด้านในคดีนี้ นอกเหนือจากนี้รัฐบาลไทยควรจะมีมาตรการที่รับรองว่าพยานที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนจะได้รับการคุ้มครองจากการถูกข่มขู่ คุกคาม และแก้แค้น สำนักข้าหลวงใหญ่ฯ ยังเสนอแนะให้รัฐบาลไทยแจ้งผลการสืบสวนสอบสวนล่าสุดแก่ครอบครัวของบิลลี่และคณะทำงานของสหประชาชาติฯ อีกด้วย

การหายตัวไปของบิลลี่ได้คุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ โดยเฉพาะบุคคลที่ทำงานประเด็นสิทธิที่ดิน สิทธิชุมชน และสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการคุ้มครองอย่างเต็มที่เพื่อให้บุคคลและกลุ่มบุคคลนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเหล่านี้สามารถดำเนินงานและกิจกรรมได้อย่างปลอดภัย

 

ข้อมูลประกอบ

1.ผลการประกวดเทศกาลหนังสั้นปี พ.ศ.2558 http://thaifilm.com/awardsDetail.asp?id=107

2.โครงการเกี่ยวก้อย : ลบเส้นพรมแดนด้วยสื่อภาพยนตร์ http://www.friends-without-borders.org/holdinghand.php

3.สนง.ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน จี้รัฐบาลไทย ตรวจสอบการหายไปของ ‘บิลลี่’,ประชาไท,16 เมษายน 2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net