Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

เมื่อไม่นานมานี้อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งได้กล่าวข้อความในทำนองว่าความพยายามที่จะเป็นชนชั้นนำของคนที่มิใช่ชนนั้นนำทำให้เกิดคอร์รัปชัน ไม่ว่าท่าทีการมองประชาชนของผู้พูดจะเป็นอย่างไรคำพูดของเขาได้ชี้ความจริงประการหนึ่งของคอร์รัปชันนั่นคือ คอร์รัปชันนั้นเกี่ยวข้องกับชนชั้นนำ

ตามข้อเท็จจริง ‘คอร์รัปชัน’ เป็นสมมติร่วมกันประเภทหนึ่ง ไม่ใช่กฎเกณฑ์สากลแน่นอนสม่ำเสมอ เป็นต้นว่าในสมัยอยุธยาเจ้าเมืองสามารถเก็บส่วยจากราษฏร หักไว้เองส่วนหนึ่งและนำที่เหลือบางส่วนส่งให้หลวงได้โดยไม่ถือเป็นความผิด แถมจำนวนที่ส่งให้หลวงมากน้อยขึ้นอยู่กับกำลังและการต่อรองระหว่างเจ้าเมืองกับส่วนกลาง พฤติกรรมเช่นนี้ในปัจจุบันย่อมถือเป็นการคอร์รัปชัน

คอร์รัปชันจึงเป็นนิยามที่ไม่คงที่การกระทำต่างกรรมต่างวาระต่างบุคคลอาจถูกจัดเป็นคอร์รัปชันหรือไม่เป็นก็ได้

ในทางรัฐศาสตร์ สมาชิกของสังคมใช้คอร์รัปชันเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขดัดแปลงรัฐให้อำนวยประโยชน์แก่ตน ซึ่งการแก้ไขดัดแปลงรัฐนี้ยังมีมาตรการอื่น ๆ อีกลำดับตามมาตรการจากเบาไปหาหนักได้แก่ การเขียนกฎหมาย การใช้เครือข่าย การประท้วง การจ่ายสินบน และการใช้กำลัง ทั้งนี้การใช้กำลังนั้นรวมถึงการทำรัฐประหารด้วย

ดังนั้นคอร์รัปชันจึงมีด้านที่ไม่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมด้วย หรืออาจจะพูดอีกอย่างหนึ่งคือคอร์รัปชันนั้นอาจเป็นการกระทำของคนละโมภที่ต้องการผลประโยชน์ที่มากขึ้นหรืออาจจะเป็นการกระทำของผู้ที่รัฐไม่สนใจดูแลก็ได้

คอร์รัปชันในความหมายที่สองนี่แหละคือความพยายามที่จะเข้าถึงอำนาจรัฐของบุคคลที่อยู่นอกโครงสร้างทางกฎหมาย นอกเครือข่ายและไม่มีกำลัง ซึ่งตรงกับที่อาจารย์ท่านนั้นว่าไว้คือ  “คนที่เกิดมาไม่ใช่ชนชั้นนำพยายามที่จะเป็นให้ได้”

คงจะมีแต่ชนชั้นนำและพวกเท่านั้นที่ศาลจะวินิจฉัยและพิพากษาให้พ้นจากความผิดที่กระทำได้โดยให้คำอธิบายว่า ‘ไม่มีเจตนา’

คงจะมีแต่ชนชั้นนำและพวกเท่านั้นที่ถูกเชิญให้เป็นบอร์ดของบริษัทและรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่กินเงินเดือน เบี้ยประชุมและผลประโยชน์โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ความชำนาญในธุรกิจใด ๆ

และคงจะมีแต่ชนชั้นนำและพวกเท่านั้นที่สามารถใช้กำลังยึดอำนาจรัฐ เขียนกฎหมายให้ตนเองและพรรคพวกพ้นผิดก่อนที่จะใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายที่ตนเองเขียนขึ้นแก้ไขดัดแปลงรัฐตามอำเภอใจ

คนที่มีกฎหมาย เครือข่ายและกำลังเป็นพวกไม่จำเป็นต้อง ‘คอร์รัปชัน’ คอร์รัปชันจึงเป็นเรื่องของ “พวกที่ไม่ใช่ชนชั้นนำ”เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม อำนาจรัฐนั้นไม่ได้วางอยู่เฉย ๆ บนพาน ผู้ที่ต้องการอาศัย “อำนาจรัฐ” จำเป็นจ่ายกับ “มือ” ที่ถืออำนาจ ซึ่งหากสาวไปจนสุดก็จะพบว่าปลายทางของมือคือ “ชนชั้นนำ”

คำถามที่ตามมาคือ ถ้าหากชนชั้นนำเป็นต้นตอของการคอร์รัปชันแล้วเหตุใดพวกเขาจึงเสียงบประมาณและเวลาจำนวนมากไปกับการรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชัน?

คำตอบของคำถามนี้อาจสังเกตได้จากวิธีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของไทยที่ผ่านมา เช่น  “แผนแม่บทการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน” 5 แนวทางในงานเสวนา “ปฏิรูปการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน...อย่างเห็นผลและยั่งยืน” ที่จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ประกอบด้วย หนึ่ง ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เสนอให้ “เอาผิดผู้ให้สินบนมากขึ้น” สอง ด้านการสร้างความมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนและสังคม เสนอให้ “สร้างความแข็งแกร่งภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน สาม ด้านการรณรงค์คุณธรรมฯ เสนอให้ “ปฏิรูปการศึกษาให้เรื่องคุณธรรมจริยธรรม...เป็นพื้นฐานในการสร้างคน” สี่ ด้านมาตรการเรื่องความโปร่งใส เสนอให้เพิ่มอำนาจประชาชนในการตรวจสอบควบคู่กับการผลักดัน “ข้อตกลงคุณธรรม” ห้า การปฏิรูปด้านการสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐ เสนอให้ “สร้างความเข้มแข็งแก่หน่วยงานฯ ทั้งในด้านงบประมาณและบุคลากร” (เอกสารแผนแม่บทปฏิรูปการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน...อย่างเห็นผลและยั่งยืน, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน  ประเทศไทย),http://www.anticorruption.in.th/reform-plan/)

โดยสรุปข้อเสนอเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันของไทยที่มุ่งประเด็นจริยธรรม เน้นเพิ่มโทษ “ผู้ให้สินบน” เพิ่มงบประมาณ เพิ่มอำนาจ “ผู้ตรวจ” หรือเสนอใช้หลัก “ความโปร่งใส” “ธรรมภิบาล” ที่ไม่มีรูปธรรมชัดเจนเป็นการลดทอนคอร์รัปชันในฐานะกระบวนการเข้าถึงอำนาจรัฐที่สัมพันธ์กับนานาปัจจัยลงให้กลายเป็นประเด็นทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคลที่เห็นแต่ “ตัวโกง” หรือ “อุดมคติ” แต่ไม่เห็น “ละครทั้งฉาก” และ “ความเป็นจริง” ที่ผู้อยู่หลังฉากมิใช่ใครอื่นนั่นคือชนชั้นนำ

การรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันประเภทนี้ไม่เพียงแต่ไม่สามารถเปิดโปงและลดการคอร์รัปชันที่ชนชั้นนำมีส่วนร่วมแต่ยังเป็นเครื่องมือที่ขาดเสียมิได้ของชนชั้นนำในการกีดกันและกักตุนโอกาสที่จะยึดพื้นที่บริหารจัดการ “คอร์รัปชัน”

ชนชั้นนำนั้นยึดพื้นที่ดังกล่าวไว้ด้วยเครื่องมืออย่างน้อยสองชนิด คือ กฎหมายกับศีลธรรม พวกเขาเป็นผู้เขียนกฎหมายและสร้างศีลธรรมกำหนดว่าสิ่งใดใช่และมิใช่การคอร์รัปชัน กฎหมายจึงกลายเป็นใยแมงมุมสำหรับพวกเขาและเป็นตะแกรงเหล็กสำหรับผู้อื่น การเบียดบังประโยชน์สาธารณะเพื่อ ‘นาย’ ได้รับการยกย่องเป็นคุณธรรมประการหนึ่งได้

การป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันในไทยจึงสามารถทำได้เพียงไล่จับตัวโกงเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือถ้าเป็นรายใหญ่ก็เป็นรายใหญ่ที่ท้าทายตำแหน่งของเจ้าที่โดยไม่แตะโครงสร้างสำคัญที่อำนวยให้เกิดการคอร์รัปชันนั่นคือ การกระจุกตัวของอำนาจและความโปร่งใสอย่างไม่ทั่วถึง

การกระจุกตัวของอำนาจและความโปร่งใสอย่างไม่ทั่วถึงนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญของการคอร์รัปชันด้วยเหตุที่ว่าคอร์รัปชันคือความพยายามเข้าถึงอำนาจรัฐ ยิ่งอำนาจกระจุกตัวผลประโยชน์และต้นทุนในการเข้าถึงอำนาจรัฐจะยิ่งสูง รายงานเกี่ยวกับรายจ่ายในการให้สินบนข้าราชการของธุรกิจเอกชนบ่งชี้ว่าในยุคประชาธิปไตยค่าหัวคิวนั้นถูกกว่ายุคเผด็จการ (“เอกชนเผยหลังปฏิวัติใต้โต๊ะยังกระฉูด 50%,” มติชน, 12 พฤศจิกายน 2557) ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในไทยก็ระบุว่ารัฐบาลเผด็จการมีแนวโน้มคอร์รัปชันมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (“ผาสุกชี้ ‘รัฐประหาร’ ไม่ช่วยลดคอรัปชัน,” http://news.voicetv.co.th/thailand/177459.html)

การกระจุกตัวของอำนาจนี้ได้รับการสนับสนุนให้อำนาจตกอยู่ในคนกลุ่มเดิมง่ายขึ้นเมื่อใช้การรณรงค์เรื่องความโปร่งใสประกอบ โดยการนำหลักการดี ๆ ไปปฏิบัติอย่างไม่เสมอหน้า ทำให้มีผลกีดกันคู่แข่งด้วยการให้แบกต้นทุนในการถูกตรวจสอบเพิ่มในขณะที่ ‘คนดี’ มักปฏิเสธการถูกตรวจสอบหรือได้รับการยกเว้นไม่ถูกตรวจสอบ

การมีข่าว “คาว” น้อยจึงไม่ได้หมายความว่าไม่มีเรื่อง “คาว ๆ”

อันที่จริงวิธีการที่สามารถลดปัญหาการคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการลดอำนาจรวมศูนย์และทำให้อำนาจอยู่ในที่แจ้งโดยถ้วนหน้าซึ่งน่าแปลกใจว่าทำไมเครือข่ายผู้ต่อต้านการคอร์รัปชันไม่พยายามส่งเสริมวิธีการนี้ให้เป็นรูปธรรมมากกว่าการส่งเสริมพิธีกรรมท่องคาถารวมหมู่อย่าง “จริยธรรม” “การมีส่วนร่วม” “การสร้างความเข้มแข็ง” ฯลฯ ที่ไม่เคยมีผลในทางที่ช่วยให้คอร์รัปชันลดลง

จะเห็นได้ว่าปัญหาคอร์รัปชันก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่แยกไม่ออกจากปัญหาประชาธิปไตยเพราะเผด็จการชนชั้นนำและอำนาจรวมศูนย์นั้นสามารถทำให้ “ข่าว” คอร์รัปชันน้อยลงได้แต่ไม่เคยทำให้คอร์รัปชันน้อยลง

ถึงที่สุดแล้วอาจจะมีแต่ประชาธิปไตยที่สามารถส่องให้เห็นพฤติกรรมของเครือข่ายคอร์รัปชันที่มีมากกว่าผู้ให้และผู้รับสินบนแต่ยังรวมไปถึงพวกที่ “รวยได้โดยไม่ต้องโกง” ด้วย

อาจจะด้วยเหตุนี้เอง ประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับชนชั้นนำของไทยแต่ไหนแต่ไรมา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net