Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


มหาวิทยาลัยไทยมีสถานะค่อนข้างจำเพาะคือเป็นสถาบันทางสังคมประเภทหนึ่งและมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองที่ยึดโยงกับ “ชาวบ้าน” อย่างมาก มหาวิทยาลัยแรกคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเดิมคือโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน มีภารกิจในการผลิตบุคคลเข้ารับราชการที่กำลังขยายตัวจากการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินและการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 คนที่มีโอกาสเข้ารับการศึกษาส่วนใหญ่เป็นชนชั้นเจ้านาย แทบจะไม่มีลูกหลาน “ชาวบ้าน” กระทั่งเกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ที่เปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยจึงเกิดการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอีกสองปีต่อมา มีเป้าหมายเพื่อสร้างพลเมืองที่มีความรู้ทั้งการเมือง การปกครอง กฎหมาย และสังคม มารับใช้ประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้คำขวัญ “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา” เพราะเหตุนี้ ลูกหลาน “ชาวบ้าน” จึงสามารถเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้เหมือนเช่นเจ้านายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย 

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มหาวิทยาลัยมีพันธกรณีหรือว่าภาระหน้าที่กับ “ชาวบ้าน” อย่างเด่นชัด นักศึกษาเดินทางไปยังพื้นที่ชนบทเพื่อเผยแพร่ความรู้ประชาธิปไตยพร้อมกับเรียนรู้ปัญหา “ชาวบ้าน” และหาทางแก้ไข โครงการพัฒนาชนบทและองค์กรพัฒนาเอกชนแรกๆ เช่นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลองของอาจารย์ป๋วยมีที่มาจากมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งการเติบโตและขยายตัวขององค์กรพัฒนาเอกชนในช่วงกลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาก็มีองค์ประกอบหลักเป็นอดีตนักศึกษาที่ออกจากป่ารวมถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ประการสำคัญ “ขบวนการชาวบ้าน” ที่เติบโตและขยายตัวตั้งแต่กลางทศวรรษ 2530 เป็นต้นมาต่อเนื่องต้นทศวรรษ 2540 ก็มีนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเป็นตัวเชื่อมหรือข้อต่อสำคัญ แม้ว่าในระยะหลังจะลดบทบาทลงไปบ้างส่วนหนึ่งเพราะความที่ “ชาวบ้าน” เติบโตและแข็งแรงขึ้นมาก ไปนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดขององค์กรกึ่งรัฐที่เพิ่งตั้งขึ้นมาจำนวนมาก

มหาวิทยาลัยแทบจะไม่เหลือพันธกิจหรือภารกิจเพื่อชาวบ้านแล้วหากไม่เกิดวิกฤตการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็เพราะว่า “ชาวบ้าน” ที่เติบโตและแข็งแรงขึ้นมาในทางการเมืองรวมทั้งในทางเศรษฐกิจได้ถูกกดทับปิดกั้นโดยรัฐประหารทั้งสองครั้งอย่างสำคัญ รัฐประหาร 2549 ส่งผลให้การเมืองรัฐสภาที่ได้พัฒนามาในลักษณะที่มีนัยและความหมายต่อ “ชาวบ้าน” ในระดับนโยบายหยุดชะงัก สิทธิเสียงของ “ชาวบ้าน” ในการเลือกพรรคการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าดำเนินนโยบายสอดรับกับปัญหาและความต้องการของพวกเขาถูกริบไป ในขณะที่ขบวนการชาวบ้านที่เติบโตขยายในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ก็อยู่ในภาวะซบเซาจนถึงขั้นถดถอยด้วยสาเหตุหลายประการ นักวิชาการส่วนหนึ่งในมหาวิทยาลัยจึงเข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องกับ “ชาวบ้าน” ที่ถูกริบสิทธิเสียงทางการเมืองเหล่านี้อีกครั้ง

แต่ปัญหาก็คือว่าวิกฤติหรือความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้ลงลึกและไปไกลกว่าจะเป็นเพียงแค่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน เพราะทั้งผู้อยู่ในหรืออิงอำนาจรัฐและประชาชนต่างได้แตกออกเป็นฝักฝ่ายและยึดโยงไขว้ข้ามกันไปมาจนกว่าจะแยกเป็นคู่ตรงข้ามได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยซึ่งแตกออกเป็นฝักฝ่ายเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าขณะที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งหนุนเสริม “ชาวบ้าน” กลุ่มที่ถูกริบสิทธิเสียงทางการเมือง นักวิชาการในมหาวิทยาลัยเดียวกันเลือกที่จะเดินในอีกลักษณะ เริ่มจากการคัดค้านการผ่าน พรบ.นิรโทษกรรม ที่แม้จะมีความชอบธรรม แต่เมื่อประกอบเข้ากับเงื่อนไขและปัจจัยรอบข้างก็กลายเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่รัฐประหาร 2557 ในที่สุด

ข้อที่ควรพิจารณาก็คือผู้มีส่วนในการสร้างเงื่อนไขจนนำไปสู่รัฐประหารเหล่านี้จำนวนมากเชื่อว่ารัฐประหารจะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ รวมไปถึงปัญหา “ชาวบ้าน” ได้ โดยเฉพาะที่ผ่านสิ่งที่พวกเขาและคณะรัฐประหารเรียกว่า “การปฏิรูป” ทว่าสภาวการณ์ในปีกว่าที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นความเพ้อฝันและไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ภายใต้ระบอบอำนาจที่ปิดปาก ปิดหู ปิดตาผู้คนเช่นนี้ ดังจะเห็นได้จากการที่ชาวบ้านที่เคยต่อสู้เคลื่อนไหวกันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าไม้ที่ดิน เหมืองแร่ หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตอนนี้ได้ถูกเก็บกดปิดกั้นด้วยกฎหมายเผด็จการนานาชนิดจนแทบจะทำอะไรไม่ได้ ซึ่งพวกเขาจะมาเล่าให้พวกเราฟังต่อไปในวันนี้ ไม่นับรวมปัญหาเกษตรกรและปัญหาปากท้องที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันเพราะความที่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในการรับมือกับปัญหาอันสลับซับซ้อนของประเทศได้ “ชาวบ้าน” กลุ่มต่างๆ จึงถูกบีบให้เข้าตาจนเข้าทุกที

คำถามจึงถูกโยนกลับมาว่าแล้วมหาวิทยาลัยจะเข้าไปหนุนเสริม “ชาวบ้าน” ที่กำลังประสบปัญหาฉกรรจ์อยู่ในตอนนี้ได้อย่างไร ที่ผ่านมานักศึกษาได้กลายเป็นพลังหรือว่าหัวหอกของการเคลื่อนไหวอีกครั้งเพราะความที่สภาวการณ์เปิดช่องให้ขณะที่กลุ่มและองค์กรทางการเมืองเดิมถูกกำราบและอยู่ในสภาวะซบเซา และพวกเขาสามารถเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้ากับปัญหา “ชาวบ้าน” ได้ระดับหนึ่ง ดังกรณีกลุ่มดาวดินที่ร่วมกับกลุ่มนักศึกษาในกรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อขบวนการประชาธิปไตยใหม่ แต่ก็ยังต้องใช้ความระมัดระวังในการเคลื่อนไหวอยู่มากเพราะความที่ยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติอยู่ 

ขณะที่ในส่วนของอาจารย์ที่ผ่านมาแม้พอจะมีสถานะทางสังคมอยู่บ้างแต่ก็ยังสามารถเคลื่อนไหวได้จำกัด จำนวนหนึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศ จำนวนหนึ่งถูกคำสั่งไม่ให้เคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างจากรัฐบาล ขณะที่จำนวนหนึ่งได้พยายามเคลื่อนไหวภายใต้เงื่อนไขและความเป็นไปได้ โดยเฉพาะกรณีการลงชื่อในแถลงการณ์ให้ปล่อยตัวนักศึกษาโดยไม่มีเงื่อนไขที่เป็นการรวมตัวกันในจำนวนมากที่สุดของอาจารย์ตั้งแต่เกิดวิกฤติการเมืองมา คือ รอบแรก 281 คน รอบสองอีก 90 กว่าคน เบ็ดเสร็จเกือบ 400 คนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ทว่าแม้การร่วมลงชื่อในแถลงการณ์จะเป็นพลังหรือเหตุผลสำคัญที่ช่วยให้นักศึกษาได้รับการปล่อยตัว ทว่าต่อมาคณาจารย์ที่ร่วมลงชื่อเหล่านี้กว่ายี่สิบคนถูก “ข่มขู่คุกคาม” ในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกตัวไปพบที่ค่ายทหารหรือสถานที่ราชการอื่น การไปหาที่มหาวิทยาลัย หรือว่าการโทรศัพท์มาคุยด้วย ล่าสุดคือกรณีการเรียกอาจารย์ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์คนหนึ่งไปพบที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งพร้อมผู้บังคับบัญชา และบังคับให้อาจารย์คนดังกล่าวรับปากว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งให้เลิกเล่นเฟซบุ๊คและไลน์ที่มีนัยของการคัดค้าน คสช. ซึ่งนับเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ ที่ส่งผลต่อการมีพันธกรณีและภารกิจของนักวิชาการต่อปัญหา “ชาวบ้าน” โดยตรง

แต่ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดหรือว่าถูกข่มขู่คุกคามอย่างไรผมก็เห็นว่ามหาวิทยาลัยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยืนยันในหลักการที่จะยืนเคียงข้าง “ชาวบ้าน” ที่ถูกริบสิทธิเสียงหรือว่าประชาชนคนตัวเล็กที่เสียเปรียบและถูกรังแก ขณะเดียวกันก็ไม่มีช่วงเวลาไหนอีกแล้วที่พันธกรณีหรือว่าภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัยต่อ “ชาวบ้าน” เช่นที่ว่านี้จะมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่าในเวลานี้เพราะเป็นช่วงเวลาที่ “ชาวบ้าน” กำลังถูกบีบให้เข้าตาจนอย่างที่สุด และมหาวิทยาลัยก็เป็นเพียงพื้นที่ทางสังคมหรือพื้นที่สาธารณะเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถใช้ในการดำเนินกิจกรรมหนุนเสริมชาวบ้านเหล่านี้ได้ การจัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อการมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชนในสถานการณ์ปัจจุบันเช่นในวันนี้ถือเป็นกลวิธีหนึ่งที่มหาวิทยาลัยสามารถปฏิบัติพันธกรณีและภาระหน้าที่ต่อ “ชาวบ้าน” ได้ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ ควบคู่ไปกับกิจกรรมในลักษณะอื่น ด้วยความหวังว่าสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ก้าวขึ้นมาอยู่ด้วยกันอย่างเสมอหน้าคงจะมาถึงสักวัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net