ก้าวใหม่ของสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสัมพันธ์ (โฮยา ลำพูน)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พนักงานโฮยากลาสดิสก์ ลำพูน ได้ลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงานและสวัสดิการที่ดีขึ้นหลังจากได้รับแรงกดดันจากบริษัท นำมาสู่การจัดตั้งสหภาพแรงงานในเดือนธันวาคม 2550 มีพนักงานจำนวนมากกว่า 3,000 คนเข้าร่วม

แต่การจัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ได้เดินบนเส้นทางที่โรยด้วยดอกกุหลาบ บริษัทโฮยาฯ ตอบโต้พนักงานทันทีโดยการเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานจำนวน 90 คน ในปี 2551  นี่แสดงให้ทัศนคติของนายทุนที่ไม่ได้เห็นถึงคุณค่าของการรวมกลุ่ม เป็นแค่เพียงลมปากของนักลงทุนเท่านั้นที่บอกว่ายินดีหากมีสหภาพแรงงาน

การเรียกร้องหาความยุติธรรมของกลุ่มแกนนสหภาพแรงงานได้เริ่มขึ้น โดยได้เดินตามกระบวนการร้องทุกข์ภายในประเทศไทย การเดินทางตามกกระบวนกฎหมายไทย แต่ด้วยภาวะกดดันอย่างสูงที่ต้องเผชิญหน้ากับทุน การดำเนินการภายในประเทศอาจไม่ได้มีแรงกดดันมากนัก รวมทั้งกระบวนการกฎหมายไทยบ้างขั้นตอนต้องใช้เวลานานอย่างเช่นศาลแรงงาน หรือแม้แต่ว่าจะมีคำสั่งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พนักงานตรวจแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ ศาล ให้บริษัทรับแกนนำทั้งหมดกลับเข้าทำงาน ก็ใช่ว่าบริษัทจะกระทำตาม โดยเห็นได้จากหลายกรณีที่เกิดขึ้น บริษัทเองก็ต้องการยื้อเวลาออกไป เนื่องจากกฎหมายก็เปิดให้ทั้งสองฝ่ายได้ใช้สิทธิเช่นเดียวกัน

ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าจะมีหน่วยงานใดที่ต้องเข้ามามีบทบาทในด้านแรงงาน คำตอบที่ได้รับก็คือลูกค้าของบริษัท แต่จะทำอย่างไรให้ลูกค้ามีส่วนรับผิดชอบปัญหาด้านแรงงาน เพราะลูกค้าคงไม่เดินเข้ามาถามและเข้ามาช่วยอย่างง่ายๆแน่นอน แรงกดดันเท่านั้นที่จะทำให้ลูกค้าเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบและแก้ไขปัญหา แล้วแรงกดดันนั้นจะมาจากไหน แรงกดดันมาจากหลายภาคส่วนทั้งองค์กรด้านแรงงานในประเทศและต่างประเทศที่ทำงานด้านอิเลคทรอนิคส์และการบังคับใช้จรรยาบรรณทางการค้า ซึ่งลูกค้าเองก็มีพันธกิจสาธารณะว่าจะดูแลเรื่องแรงงาน

จากการดำเนินการเรียกร้องตามกระบวนการภายในประเทศไทยและระหว่างประเทศ รวมถึงการผลักดันให้ลูกค้าเข้ามาร่วมรับผิดชอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จนนำมาสู่การรับแกนนำสหภาพแรงงงานทั้งหมดกลับเข้าทำงาน    แม้ว่าในช่วงแรกการกลับเข้ามาทำงานของแกนนำสหภาพแรงงานยังคงถูกฝ่ายจัดการของบริษัทกลั่นแกล้งไม่มอบงานให้ทำ แต่สุดท้ายด้วยแรงกดดันจากองค์กรพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ฝ่ายจัดการบริษัทจึงได้เปลี่ยนท่าทีโดยการสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีกับสหภาพแรงงาน รวมทั้งมีการจัดประชุมพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา

ดูเหมือนว่าแรงงานสัมพันธ์จะดีขึ้นตามลำดับ แต่ใครจะทราบว่านั้นคือหลุมพรางที่บริษัทได้ขุดไว้เพื่อหลอกล่อตัวแทนสหภาพแรงงาน  ในเวลานั้นก็ต้องยอมรับกันว่าตัวแทนสหภาพแรงงานได้ก้าวสู่หลุมพรางนั้นเสียแล้ว  แม้ว่าจะเห็นเหยื่อตกหลุมพราง บริษัท (นายพราน) ก็ยังให้ความเอ็นดูกับเหยื่อนั้น เสมือนว่าจะเลี้ยงดูกันไปเช่นนั้นตลอดไป แต่ใครจะรู้ล่ะว่าบริษัท (นายพราน) คนนี้จะลงมือเชือดเมื่อไร และวันก็มาถึงเมื่อปล่อยเวลาให้เหยื่อไว้ใจโดยใช้เวลาถึงสามปี บริษัท (นายพราน) ก็ลงมือเชือดทันที โดยการปิดโรงสองในเดือนมกราคม 2555 คนงานจำนวนกว่า 1,600 คนถูกเลิกจ้างซึ่งคนงานส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรวมทั้งกรรมการสหภาพแรงงาน บริษัท (นายพราน) ได้ใช้ระยะเวลาสามปีที่ปล่อยให้เหยื่อไว้ใจทำการโยกย้ายกรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกสหภาพแรงงานไปทำงานที่โรงสอง นี่เป็นกลวิธีล้างบางสหภาพแรงงานอย่างถอนรากถอนโคน

สามปีที่ผ่านเลยไปโดยไม่มีกิจกรรมสหภาพแรงงานให้เพื่อนๆ ได้เห็น แต่นั้นอาจเป็นเพราะเหลือประธานรักษาการเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ยังคงทำงานโดยพยายามทำหนังสือขอเข้าคุยกับบริษัท แต่เมื่อไม่มีสมาชิกที่เป็นฐานแล้ว ไฉนฝ่ายจัดการบริษัทจะให้ความสนใจ ทางฝ่ายจัดการของบริษัทจึงดำเนินการเลือกตัวแทนจากแผนกต่างๆ และจัดประชุมกับตัวแทนลากตั้งเหล่านั้นแทนสหภาพแรงงานโดยให้เหตุผลว่ามันกว้างกว่า

ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่เริ่มได้รับการกดดันจากบริษัทมากขึ้น ทั้งการแจกใบเตือนโดยมีความผิดหรือไม่มีความผิด เพียงแค่ยืนพักเพียงชั่วครู่ หรือสนทนากับเพื่อนก็โดนใบเตือนเสียแล้ว และการออกใบเตือนก็ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบของบริษัทแต่เดิมกลับมีการลดลัดขั้นตอน เรียกคนงานเข้าห้องเย็น (ห้องฝ่ายบุคคล) เพื่อกดดันให้คนงานเซ็นต์ใบเตือน นี่ก็เพื่อจะตอบสนองนโยบายของบริษัทว่าหัวหน้าทุกคนต้องให้ใบเตือนลูกน้องวันละสามคน นอกจากนี้ยังข่มขู่คนงานว่าหากได้ใบเตือนครบสามใบเมื่อนั้นก็จะถูกเลิกจ้างทันทีโดยไม่สนใจว่าเป็นการทำผิดซ้ำคำเตือนหรือไม่

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ณ วัดศรีบุญยืน สหภาพแรงงานจัดประชุมใหญ่สามัญประจำ 2558 ซึ่งเป็นการก้าวใหม่ของคนงานกลุ่มเล็ก ๆ ที่ต้องการขับเคลื่อนให้สหภาพแรงงานเป็นองค์กรที่คอยพิทักษ์สิทธิของพวกเขาแม้ว่าการก้าวใหม่ในครั้งนี้จะเป็นไปแบบเรียบง่ายแต่ก็หวังไว้เป็นอย่างยิ่งว่าการก้าวใหม่ในครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความมั่นคง และยั่งยืน และที่สำคัญยิ่งคือต้องเรียนรู้กับบทเรียนของแกนนำสหภาพแรงงานรุ่นแรกเพื่อจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังเช่นที่ผ่านมา.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท