Skip to main content
sharethis

วงเสวนาหนังสือ The Lemon Tree วิทยากรชี้เราอยู่ร่วมกันได้ความแตกต่างหลากหลาย บนพื้นฐานความเข้าใจ และการสบตากันในฐานะมนุษย์

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ได้มีงานเสวนา “The Lemon Tree สันติวิธี มิตรภาพ และความขัดแย้ง: จากตะวันออกกลางถึงสามจังหวัดภาคใต้”  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัวหนังสือ The Lemon Tree: An Arab, a Jew, and the Heart of the Middle East เขียนโดย Sandy Tolan ฉบับแปลไทย โดย ไพรัช แสนสวัสดิ์ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Way of Book  โดยเป็นหนังสือเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอล เล่าผ่านชายชาวปาเลสติเนี่ยนวัย 25 ปี ซึ่งกลับมายังบ้านเก่าในพื้นที่อิสราเอลที่หลังบ้านมีต้นเลมอนอยู่ ที่เขาได้จากไปเป็นเวลา 19 ปี และพบกับนักศึกษาชาวอิสราเอลอาศัยอยู่ ความสัมพันธ์จึงได้เริ่มต้นขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศ  ร่วมเสวนาโดย ชูเกียรติ พนัสพรประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้เขียนหนังสือ Global Report

โดยงานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลหนังสือกรุงเทพครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 19 กรกฎาคม ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร หนังสือ The Lemon Tree ฉบับแปลไทยสั่งซื้อได้ที่สำนักพิมพ์ Way of Book

ไพรัช แสนสวัสดิ์ ผู้แปลหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงสาเหตุในการแปลหนังสือเล่มนี้ ว่ามาจากในสมัยที่ทำงานหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ มีหน้าที่ต้องคัดเลือกเนื้อหาข่าวต่างประเทศมาตีพิมพ์ ทำให้ได้ผ่านตากับข่าวจากโลกตะวันออกกลาง ที่มีมาไม่เคยขาด และส่วนตัวก็มีประสบการณ์การอ่านหนังสือเกี่ยวกับปมความขัดแย้งนี้มาก่อน ทั้งวรรณคดีเรื่อง Exodus ของ Leon Uris ในวัยเด็ก หนังสือเรื่องยิว ของคึกฤทธิ์ ปราโมช  ต่อมามีเพื่อนที่ทำงานแนะนำให้อ่านเรื่องนี้ ตอนแรกก็ไม่อยากอ่าน เพราะเห็นว่าผู้เขียนเป็นคนอเมริกัน ก็คงจะเข้าข้างตะวันตก และเขียนเข้าข้างการก่อตั้งอิสราเอล แต่เมื่อได้อ่านก็รู้สึกประทับใจ ได้เห็นแง่มุมความเป็นมนุษย์ของตัวเอกทั้งสอง และนำมาผูกโยงกับความหวังในการแก้ปัญหา สร้างสันติภาพและอยู่ร่วมกัน โดยมีต้นเลม่อนเป็นสัญลักษณ์

ผู้เขียน-ผู้อ่าน บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์

ชูเกียรติ กล่าวถึงประเด็นปมความขัดแย้งตะวันออกกลางและอาหรับ – ปาเลสไตน์ ว่ามีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องตะวันออกกลางจำนวนมาก แต่เวลาอ่านก็ควรต้องตรวจสอบว่าคนเขียนเป็นใคร มีอคติหรือเขียนเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่  ที่แนะนำคือ The Middle East in World Affairs โดยผู้เขียน George Lenczowski เพราะเป็นหนังสือเชิงประวัติศาสตร์และให้ข้อมูลได้แน่น รอบด้าน  

สำหรับหนังสือ The Lemon Tree เล่มนี้ ชูเกียรติกล่าวว่า ผู้เขียนได้ดึงเอามิติความเป็นมนุษย์มาผูกกับความหวังในการแก้ไขปัญหาทางสันติวิธี  ซึ่งค่อนข้างมีน้อยโดยเฉพาะนักเขียนตะวันตก แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ก่อนได้ฉบับแปลไทยมา ได้ไปตามหาต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ร้านคิโนะคุนิยะ  พบว่าไม่มีและต้องสั่งนำเข้า ใช้เวลาร่วมเดือน  ทำให้ได้เห็นว่าประเด็นอิสราเอล – ปาเลสไตน์นี้เป็นเรื่องที่คนไทยไม่ได้ให้ความสนใจ ไม่อยู่บนชั้นหนังสือ  ชูเกียรติกล่าวว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ Reactive คอยรับและมีปฏิกิริยากับสถานการณ์ ไม่ใช่ Proactive  บวกกับประเด็นความขัดแย้งนี้มีความคลาสสิค และซับซ้อนมาก เกี่ยวข้องกับทั้งการเมืองภายในอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา  สังเกตว่าเวลาเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาใช้หาเสียง แต่ถ้าฝั่งไหนแสดงออกว่าสนับสนุนสันติวิธี ก็มีโอกาสที่จะเสียคะแนนเสียงจากชาวอเมริกันเชื้อสายยิว เป็นต้น  นอกจากนี้ยังเกี่ยวพันกับอีกมิติไม่ว่าจะ มิติทรัพยากร มิติดินแดน เชื้อชาติ ศาสนา ภูมิรัฐศาสตร์ และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนับแต่ก่อตั้งประเทศอิสราเอลเมื่อราว 70 ปีก่อน  และ ผู้เล่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็มีมากขึ้น และไม่สามารถมองเห็นทางออกของความขัดแย้งได้ กลายเป็นเรื่องคลาสสิค น่าเบื่อ  ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า หนังสือเล่มนี้จะทำให้สังคมไทยเห็นทางออกมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาสังคมไทยคอยตามกระแสไม่ว่าจะ ไอเอสหรืออาหรับสปริง แต่เพียงอย่างเดียว

งามศุกร์ มองว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวลในสังคมของเราคือ เราไม่สามารถเชื่อมโยงกับเรื่องพวกนี้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  งามศุกร์กล่าวว่า ในโลกปัจจุบัน โจทย์ของสันติวิธีคือการอยู่ร่วมกันในความหลากหลาย แต่เรากลับไม่รู้จักมุสลิม ไม่รู้จักคนยิว ไม่รู้จักคนปาเลสไตน์ หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งได้  แต่อย่างน้อยก็ทำให้สัมผัสถึงความเป็นมนุษย์ของคนอื่นๆ  อย่างที่จุดเปลี่ยนในเรื่อง The Lemon Tree อยู่ที่ตัวละครเอกทั้งสองมาคุยกัน ได้ยินเสียงและสัมผัสความเป็นมนุษย์ของกันและกันจริงๆ

งามศุกร์กล่าวด้วยว่า ปัญหาความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างไม่ยากเท่าความขัดแย้งในเชิงอัตลักษณ์และคุณค่าของวัฒนธรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่หาจุดลงตัวยากกว่า Sensitive ละเอียดอ่อนกว่า และนำไปสู่การฆ่ากันได้ง่าย  ดังนั้นแล้วสิ่งที่ท้าทายสำหรับมนุษย์คือเราจะทดกับความขัดแย้งและจัดการมันได้อย่างไร สุภาษิตไทยไม่ให้ขัดแย้ง ก็กลบไป แต่ต้องเข้าใจกันว่าวิถีชีวิตมุสลิมต่างกับเราอย่างไรบ้าง ในประวัติศาสตร์ก็เคยมีเหตุการณ์ช่วงจอมพลป. ที่พยายามจะไม่ให้มุสลิมนุ่งโสล่ง ฮิญาบ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการทำลายอัตลักษณ์ของเขาอย่างหนึ่ง

ชูเกียรติ กล่าวเสริมประเด็นเรื่องความขัดแย้งในอัตลักษณ์ในตะวันออกกลาง ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากวิธีคิดของคนอาหรับด้วยกันเอง ที่จะแบ่งคร่าวๆ ได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นรักสันติ moderate เดินสายกลาง มุ่งให้มีการผ่อนปรนและเจรจา ในขณะที่อีกกลุ่มเป็นพวกหัวรุนแรง radical ต้องใช้กำลัง  เหตุที่แตกออกเป็นสองกลุ่มหากมองในทางรัฐศาสตร์ก็เป็นเพราะคุณลักษณะแห่งชาติไม่เหมือนกัน ทำให้มีการแก้ไขปัญหาไม่เหมือนกัน  ซึ่งประเทศในกลุ่มแรกเมื่อไปเจรจาก็จะถูกมองว่าทรยศต่ออัตลักษณ์ความเป็นอาหรับ เกิดเป็นปัญหาภายในกลุ่มประเทศอาหรับเองด้วย

จากตะวันออกกลาง สู่สามจังหวัดชายแดนใต้

งามศุกร์ กล่าวถึงความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้  ที่เริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ที่ได้มีการลุกลามมาสู่เขตเมือง ความขัดแย้งชัดเจนขึ้นและมีผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนไทยพุทธ ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองถูกขับไล่  ในขณะที่สังคมทั่วไปเกิดคำถามว่างบประมาณที่ลงไปไม่ช่วยลดปัญหาความรุนแรงเลยหรือ?  ต่อมาในช่วงสองสามปีหลังมีการพูดคุยกันบ้าง คนในพื้นที่ก็เกิดมีความหวัง แต่ตอนนี้ความรุนแรงได้สร้างบาดแผลไว้ เกิดความไม่ไว้วางใจกันในสังคม  เธอกล่าวด้วยว่าอีกส่วนหนึ่งที่อาจมีส่วนที่ทำให้การเจรจาล้มเหลวก็คือ คนในระดับล่างไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยด้วย

เมื่อถูกถามถึงสันติวิธีในภาพใหญ่ งามศุกร์กล่าวว่า ถ้ามองในภาพใหญ่อาจทำให้ไม่มีความหวัง ตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายยังต้องการ ‘take all’ ต้องการประวัติศาสตร์ชุดเดียว  และไม่ยอมรับว่าประวัติศาสตร์ทั้งสองวางอยู่คู่กันได้ อย่างในกรณีภาคใต้ก็คือเราไม่ยอมรับประวัติศาสตร์ของรัฐปัตตานี เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว เราจึงต้องเริ่มการประณีประนอม เริ่มพูดคุยกันในฐานะปัจเจกบุคคล ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มมีมากขึ้น เพราะคนในพื้นที่รู้แล้วว่าต่อไปก็ต้องทำงานด้วยกัน และการเริ่มจากคนเล็กๆ จะทำให้เห็นปัญหาในภาพย่อยอีกด้วย ทั้งเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ปัญหายาเสพติด ความขัดแย้งในหมู่มุสลิมด้วยกันเอง  เปรียบเทียบเป็นกองไฟ ที่ไม่สามารถทำให้ดับทีเดียวได้ แต่ต้องค่อยๆ รื้อออกมา   

งามศุกร์กล่าวถึงสาเหตุของความขัดแย้งในฐานะปัจเจกบุคคล ว่าเกิดจากการแบ่งอัตลักษณ์ที่ชัดเจน เช่นทางการเมืองแบ่งเป็นสีเหลืองกับสีแดง อาหรับกับยิว ซึ่งจะทำให้ไม่เห็นความคลุมเครือของมนุษย์สองกลุ่มนี้ ไม่เห็นจุดร่วม และจะเกิดความขัดแย้งทันที มองไม่เห็นอย่างอื่นอีก งามศุกร์เสนอให้เราต้องมองเห็นในมิติอื่นๆ ของกันและกัน  และตั้งเป้าหมายคือการอยู่ร่วมกัน  ปัญหาคือ คนเราอยากให้คนอื่นพูดในสิ่งที่เราอยากได้ยิน แต่การอยู่ร่วมกัน เราต้องทนฟังในสิ่งที่เราไม่ต้องการได้ยินได้  งามศุกร์กล่าวว่าความเป็นไทยที่เราถูกสร้างมาเป็นตัวบล็อกเราอย่างมาก  จริงๆ แล้วมนุษย์มีความเลื่อนไหลแต่ถูกกำหนดให้มีอัตลักษณ์เพียงหนึ่ง ทั้งที่เรายังมีอีกมากที่มีจุดร่วมกัน  อย่างมุสลิมมีอย่างอื่นอีกมากนอกจากไม่กินหมูและมีเมียได้สี่คน เราก็ไม่เข้าใจ ส่วนคนมุสลิมก็ไม่เข้าใจคนพุทธ

ศาสนา กับการ(ไม่)ตั้งคำถาม

ซึ่งการจะเริ่มทำความเข้าใจ อาจจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองก่อนว่าเรากลัวอะไร เราคิดอะไรกับฝ่ายตรงข้าม เราตัดสินไปว่าอะไร สิ่งที่เรารับรู้ข้อมูลเรารับมาจากไหน ต้องกลับมาคุยกับตัวเองก่อนว่าทำไมเราถึงมีทัศนคติด้านลบกับคนอื่นเหลือเกิน  แต่ทำยังไงให้เราเกิดความสงสัยกับตัวเองก่อน

ชูเกียรติ เสริมว่า จากประสบการณ์ที่สอนหนังสือมา 28 ปี พบว่ากระทั่งนิสิตจุฬาก็ไม่ค่อยมีความคิดที่ critical หรือวิพากษ์ไม่ว่าจะกับตัวเองหรือกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ส่วนตัวคิดว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมไทยและศาสนาพุทธส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนไทยมีความ submissive

งามศุกร์กล่าวว่า จริงๆแล้วศาสนาก็ยังมี หลักกาลามสูตรที่สอนให้เราตั้งคำถาม แต่เรามักหลงลืมไป หรือหลักศีลห้าที่เป็นหลักการพื้นฐานของสันติวิธี แต่ก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญ

กรรณิการ์ เสริมจากประสบการณ์ส่วนตัว ว่าเคยเจอคนอิสราเอลที่เป็นอาหรับกับอิสราเอลเชื้อสายยิว  และเข้าไปที่สนามบิน ชาวอิสราเอลเชื้อสายยิวแปลกใจและตกใจมากที่ชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับโดนตรวจกระเป๋าอย่างละเอียด เปิดไฟล์คอมพิวเตอร์ตรวจสอบ  ซึ่งชาวอาหรับกล่าวว่าตนเจอเป็นประจำ ในขณะที่ชาวยิวไม่เคยพบมาก่อน  และส่วนตัวของเธอก็ได้พบว่าชาวอิสราเอลก็มีเชื้อสายอาหรับอยู่ด้วย  กรรณิการ์สรุปว่า การได้เห็นสิ่งอื่นๆ ที่กว้างมากกว่าเราก็อาจจะมีส่วนทำให้เราเกิดตั้งคำถามกับตัวเองก็ได้

งามศุกร์ กล่าวทิ้งท้ายเรื่องสันติวิธี  ว่าคุณูปการของหนังสือเล่มนี้คือ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์จากปัจเจกบุคคล จากคนตัวเล็กตัวน้อย และกล่าวว่า สันติวิธีไม่ได้มีอะไรตายตัว แค่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่จะสร้างสรรค์ยังไงก็ได้ สิ่งที่สำคัญคือเราตระหนักรู้ว่าเราและเพื่อนของเราจะอยู่อย่างไม่ปลอดภัย ถ้าเราไม่ช่วยกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net