Skip to main content
sharethis

กระทรวงเกษตรฯ เผยเขตประสบภัยแล้ง 27 จังหวัด 206 อำเภอ เที่ยวบินฝนหลวง 1 มี.ค. - 15 มิ.ย. ปฏิบัติการแล้ว 2,728 เที่ยวบิน ขณะที่ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เผยปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักพื้นที่ภาคกลาง เขื่อนภูมิพล 31% เขื่อนสิริกิติ์ 37% เขื่อนแควน้อย 14% เขื่อนป่าสัก 9% โดยยังคงขอความร่วมมือให้ชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อน รอจนกว่าฝนจะตก

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำวันที่ 16 มิ.ย. ด้วยว่า มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว 27 จังหวัด 206 อำเภอ ขณะที่ประกาศยุติสถานการณ์แล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี สุพรรณบุรี สตูล มหาสารคาม กาฬสินธุ์ พังงา จันทบุรี เพชรบุรี กระบี่ สุโขทัย แม่ฮ่องสอน และ ลำปาง

โดยจังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง ประกอบด้วย เชียงใหม่ พิษณุโลก พิจิตร ตาก กำแพงเพชร แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ขอนแก่น อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู สุรินทร์ ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท ราชบุรี กาญจนบุรี สระบุรี สระแก้ว ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง นครศรีธรรมราช

สรุปผลการปฏิบัติการฝนหลวง ระหว่าง 1 มีนาคม ถึง 15 มิถุนายน 2558 มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง 104 วัน 2,728 เที่ยวบิน มีฝนตกจากปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 92.1 ของการขึ้นปฏิบัติการ

ขณะเดียวกัน ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (16 มิ.ย. 58) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 4,172 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 372 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 3,562 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 712 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 134 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 91 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี  มีปริมาณน้ำ  85 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 82 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ  1,257  ล้านลูกบาศก์เมตร

สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา  ยังคงมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากทางตอนบนฝนยังไม่ตกชุกกระจายเท่าที่ควร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อยตามไปด้วย ซึ่งปริมาณน้ำที่มีอยู่จะใช้สนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ อย่างไม่ขาดแคลน รวมทั้ง พื้นที่ปลูกข้าวนาปีที่ทำการเพาะปลูกไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอความร่วมมือให้ชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อน รอจนกว่าฝนจะตกชุกกระจาย ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ไว้ว่าฝนจะมาปกติในช่วงประมาณกลาง-ปลายเดือนกรกฎาคมนี้

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันทั้งลุ่มน้ำ กรมชลประทาน จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในพื้นที่ตอนบนและตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนให้มากที่สุด สำหรับเก็บไว้ใช้ในยามขาดแคลนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net