Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

การใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐกลายเป็นเครื่องยนต์เดียวที่ยังมีพลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติ เพราะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆนั้นอาจจะเรียกได้ว่าดับหรือกำลังจะดับแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกหรือการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ก็คือ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐนั้นต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้อย่างมากมาก โดยเฉพาะในส่วนของงบการลงทุน ที่ประมาณการณ์เอาไว้ว่าจะใช้ให้ได้ถึงร้อยละ55 กลับใช้ได้เพียงร้อยละ 31.1 ต่ำกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 23.9

แน่นอนว่าการใช้จ่ายเงินงบลงทุนจะมีผลโดยตรงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากการใช้จ่ายงบประจำ เช่น เงินเดิอนข้าราชการ  เพราะการใช้จ่ายเงินเดือนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลและเงื่อนไขความมั่นใจอื่นๆอีกหลายด้าน  ในเมื่อการใช้จ่ายงบประจำต่ำกว่าประมาณการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลทำให้เงินไหลหมุนเวียนในตลาดยิ่งน้อยลงไปอีก ระบบเศรษฐกิจย่อมฝืดเป็นธรรมดา

การหาทางออกในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเงินจากภาครัฐ จึงหันเหไปสู่การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ เพราะหวังว่าจะทำให้เกิดการขยายตัวของการบริโภคเพื่อใช้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำลังฝืดนี้ให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งคงจะมีผลบ้างแต่ไม่น่าจะมากอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้

ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ ก็คือ ทำไมการใช้จ่ายเงินงบลงทุนจึงต่ำกว่าเป้าหมาย

นี่คือความ “ เขี้ยว” ของระบบราชการไทยครับ

ระบบราชการไทยมี “ช่องว่าง” ให้ผู้มีอำนาจในแต่ละหน่วยงาน  สามารถที่จะหา “เบี้ยบ้ายรายทาง”จากงบประมาณส่วนจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ว่าจะคอบรัปชั่นตรงๆ ( ก้อนใหญ่) หรือคอมมิตชั่นระดับต่างๆ  ( ก้อนเล็ก ) กระบวนการหารายได้จากงบประมาณด้านการลงทุนเป็น “ช่องว่าง” ที่ขยายตัวมากที่สุด ( ซึ่งขยายตัวมากกว่าการใช้อำนาจการตัดสินใจในการอนุมัติต่างๆ เพราะการใช้อำนาจตัดสินใจนั้นหากไม่ดูตาม้าตาเรือจะก่ออันตรายแก่ตัวผู้ใช้อำนาจมากกว่า )

ช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา   ถือได้ว่าการจัดความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยราชการกับผู้จะเข้ามารับงบประมาณด้านลงทุนลงตัว    จนทุกๆฝ่ายสามารถรับรู้ได้ว่าบริษัทอะไรจะต้องได้งบประมาณของหน่วยงานไหน หากมีการข้ามเส้นความสัมพันธ์นี้ก็ต้องเป็นผู้ที่ “ เส้นใหญ่” จริงๆเท่านั้น ซึ่งมักจะก่อความขัดแย้งขึ้นมาในระบบความสัมพันธ์จนฟ้องร้องกันในหลายกรณี

แม้พรรคการเมืองจะครองอำนาจได้นานมากหน่อย แต่หากนักการเมืองพรรคนั้นๆทอยากจะได้ส่วนแบ่งจากเงินงบลงทุนนี้ ก็จะต้องไปต่อรองเพื่อแบ่งบางส่วนมาจากระบบราชการ  ไม่สามารถใช้อำนาจรัฐบาล/พรรคการเมืองเอามาทั้งหมดได้ หากระบบราขการประเมินแล้วว่าพรรคนั้นๆจะอยู่ในอำนาจนานก็แบ่งส่วนแบ่งให้มากหน่อย

กล่าวได้ว่าสภาพการจัดความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยราชการกับผู้รับทำโครงการตามเงินงบประมาณการลงทุน(ผมไม่ค่อยอยากเรียกคนกลุ่มนี้ว่านักธุรกิจ )ทำให้กลายเป็นระบบของการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจและทำให้เรียกระบบราชการได้ว่าสังคมของการแสวงค่าเช่า (Rent seeking System and Rent seeking Society )

ในด้านหนึ่งของระบบการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจเช่นนี้ทำให้เงินงบประมาณไหลเวียนสะดวกและรวดเร็วและมีผลทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงานและ/หรือการบริโภค  แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลับเป็นการบั่นทอนการสร้างศักยภาพโดยรวมของผู้ประกอบการทั่วไป  หากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ก็คือ สังคมไทยเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาได้ก็เพราะระบบการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกินนี่แหละ (เพราะคนไทยขี้โกง จึงทำให้เศรษฐกิจเติบโต) แต่ก็ทำให้เกิดความชงักงันเมื่อถึงเวลาที่จะต้องให้ผู้ประกอบการแข่งขันกับคนอื่นในโลก เพราะการอยู่กับค่าเช่าทางเศรษฐกิจทำให้คนที่พัวพันอยู่ทั้งสองฝ่าย “ไม่ฉลาด”และ “ไม่สามารถ “เลย

แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารและมีรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมา  คณะทหารก็มักจะอ้างความชั่วร้ายของการแสวงหาค่าเช่านี้ว่าเป็นสาเหตุของการยึดอำนาจ  และจะต้องแสดงความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหานี้  ซึ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ความไม่ชอบธรรมในการรัฐประหาร ( กรณีการขอคืนพื้นที่ป่าก็เป็นเช่นเดียวกัน คนจน/คนตัวเล็กตัวน้อยก็กลายเป็นเหยื่อให้แก่การสร้างความชอบธรรมจอมปลอมนี้  จะขอเขียนในคราวต่อไป )

ความพยายามจะแสดงความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาระบบการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อระบบราชการทั้งหมด  เพราะระบบราชการรู้ดีว่าหากทำมาหากินแบบเดิมก็มีโอกาสที่ “ เชือดคอไก่ ให้ลิงดู”  ขณะเดียวกันก็ตระหนักดีว่าคณะทหารไม่สามารถจะครองอำนาจได้นานนัก  ดังนั้น  การงดใช้จ่ายเงินงบประมาณลงทุนชั่วคราวเพื่อรอรัฐบาลใหม่ที่ไม่กล้าเล่นเรื่องนี้หรือเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ได้ง่ายกว่าเป็นทางเลือกที่ใช้กัน  เพราะอย่างไรก็ต้องลงทุนอยู่แล้ว แม้ในระบบราชการทหารเองก็คือแบบเดียวกันนี้  (รอไปอีกสักปีก็แล้วกันนะพรรคพวก )

ยิ่งรัฐบาลคณะทหารแสดงความแข็งกร้าวในการจัดการกับการโกงกินเท่าไร ระบบราชการก็จะยิ่ง “ นิ่ง” มากขึ้นในการใช้จ่ายงบประมาณการลงทุน

ผมเชื่อว่ารัฐบาลคณะทหารก็ตระหนักดีในเรื่องนี้ จึงพยายามหาทางออกด้วยการเพิ่มเงินเดือนในงบประมาณประจำ  แต่รัฐบาลคณะทหารจะแสดงความไม่ใส่ใจเรื่องนี้ก็ไม่ได้  เพราะต้องแสดงความชอบธรรมให้ปรากฏแก่สาธารณะ  (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Dilemma) ดังนั้น ผมคิดว่าจากนี้ไป ระบบราชการจะ “ เกียร์ว่าง” มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อรอรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในการสานต่อระบบการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจต่อไป ( ควรจะฮาหรือ “โฮ”ดี)

ดังนั้น หากสังคมจะคิดเรื่องการยุติ/ปราบระบบการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในระบบราชการทุกระดับก็ต้องคิดทางอื่นครับ หากหวังพึ่งคณะทหารผ่านการรัฐประหาร ก็จะพบว่ายิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจทรุดตัวลงไป  คงต้องคิดถึงการตรวจสอบจากมุมอื่นๆให้มากขึ้นแล้วค่อยๆทำให้การตัดสินใจใช้งบประมาณในมุมมืดนั้นสว่างมากขึ้นๆ 

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน “ใต้กระแส” กรุงเทพธุรกิจ 29 พฤษภาคม 2558
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net