Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 

 

 
ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ที่กำลังรอการพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ขณะนี้ เดิมทีมีการกำหนดอัตราโทษของการกระทำความผิดในกรณีต่างๆ ไว้สูงมาก เช่นในร่างแรกๆ กำหนดโทษการสอนผิดจากพระไตรปิฎกด้วยการจำคุก 10-25 ปี ต่อมาลดลงเหลือ 1-7 ปี ล่าสุดมหาเถรสมาคมตัด “บทกำหนดโทษ” ออก
 
แต่ก็ยังมีการกำหนดโทษในบางกรณีเช่น การไม่ให้ความร่วมมือหรือขัดขวางการทำหน้าที่ของพระวินยาธิการ (ที่เรียกกันในภาษาชาวบ้านว่า “ตำรวจพระ”) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น
 
เนื้อหาสำคัญของร่าง(ล่าสุด) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้ความอุปถัมภ์พุทธศาสนา โดยกำหนดว่า “ให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนา” เช่น ให้มีคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาระดับชาติ ที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงหลักๆ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ให้มีคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
 
ดูจากโครงสร้างดังกล่าว สะท้อนความเป็น “รัฐพุทธศาสนา” อย่างเป็นทางการชัดเจนขึ้น แต่ก็เป็นรัฐพุทธศาสนาที่คับแคบแร้นแค้นมาก เนื่องจากพุทธศาสนาที่รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์ตามร่างกฎหมายนี้หมายถึงพุทธศาสนาที่อยู่ในเขตอำนาจปกครองของมหาเถรสมาคมเท่านั้น
 
ภาวะย้อนแย้งทางศาสนาระหว่าง “ความเป็นหนึ่งเดียว” กับ “ความเป็นอื่น”   
 
เป็นธรรมชาติของศาสนาหลักๆ ในโลกก็ว่าได้ ที่ในแง่หนึ่งก็ยืนยัน “ความเป็นหนึ่งเดียว” ของมนุษยชาติ แต่อีกแง่หนึ่งก็สร้าง “ความเป็นอื่น” เบียดขับและขจัดคนที่เชื่อต่างจากตัวเอง เช่นศาสนาเอกเทวนิยมที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว ต่างประกาศว่ามนุษยชาติเป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะเป็นบุตรของพระเจ้าองค์เดียวกัน แต่ประวัติศาสตร์ของศาสนาเอกเทวนิยมก็คือประวัติศาสตร์แห่งการเบียดขับและขจัดศาสนาพหุเทวนิยมที่นับถือเทพหรือพระเจ้าหลายองค์ ในขณะที่ศาสนาเอกเทวนิยมด้วยกันต่างก็ถือว่าพระเจ้าของฉันเท่านั้นที่สัมบูรณ์สูงสุด
 
ในแง่หนึ่งพุทธศาสนาก็ยืนยันความเป็นหนึ่งเดียวว่า “สรรพสัตว์ต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์” ในแง่กฎแห่งความเป็นเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) เราต่างอิงอาศัยกันและกัน ไม่มีใครเป็นอื่น เราควรแผ่เมตตาหรือความรักไปยังสรรพสัตว์ทุกผู้ โดยไม่แบ่งแยกเป็นเขาเป็นเรา แต่ในแง่หนึ่งก็พิพากษาทัศนะ ความเชื่อทางศาสนาที่ต่างจากตัวเองว่าเป็น “มิจฉาทิฐิ” แม้ชาวพุทธด้วยกันเองที่แยกนิกายต่างๆ ออกไป แต่ละนิกายก็กลายเป็นอื่น หรือถูกทำให้เป็นอื่นจากกันและกัน
 
นี่คือภาวะย้อนแย้ง (paradox) ในธรรมชาติของศาสนาหรือความเป็นศาสนา ที่ในแง่หนึ่งก็สร้างจินตนาการความเป็นหนึ่งเดียว ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นฐานอ้างอิงเพื่อการแบ่งแยก สร้างความเป็นอื่น เบียดขับ และขจัดทำลายล้าง ประวัติศาสตร์ศาสนาจึงมีทั้งด้านที่อ้างศาสนาเพื่อสันติภาพและสงคราม
 
ศาสนาผูกกับรัฐ = ความรุนแรงในนามความดี
 
อันที่จริงภาวะย้อนแย้งดังกล่าวไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากนัก หากศาสนาไม่ได้ผูกกับรัฐ แชร์อำนาจกับรัฐ หรือสถาปนารัฐให้เป็นรัฐศาสนา เมื่อศาสนามีอำนาจรัฐในมือ อำนาจนิยามความเป็นอื่นก็เกรี้ยวกราดมากขึ้น การเบียดขับ กำจัดคนที่เป็นอื่นก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น และมักตามมาด้วยความรุนแรงในนามของความดีเสมอไป
 
มันไม่มีความรุนแรงอะไรที่จะอำมหิตเลือดเย็นเท่ากับความรุนแรงในนามความดีอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกีดกัน ละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนต่างศาสนาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในที่ต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเฆี่ยนตี ขังคุก ฆ่า ก่อการร้าย สงครามในนามศาสนา หรือในนามความดีงามใดๆ ที่ถูกทำให้สูงส่งศักดิ์สิทธิ์และแตะต้องไม่ได้
 
แต่เราไม่ได้เห็นความรุนแรงเช่นนั้นในศาสนาที่ไม่ได้ผูกกับรัฐ เช่นเราไม่ได้เห็นการลงโทษอย่างรุนแรงในกรณีที่มีคนทำผิดกฎศาสนาในหมู่ชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เราได้ข่าวการลงโทษรุนแรงในการทำผิดกฎศาสนาในรัฐอิสลามบางประเทศเท่านั้น
 
พุทธศาสนาไทยที่ผูกกับรัฐมากขึ้น ก็มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงในนามความดีมากขึ้นเช่นกัน ดังมีความพยายามจะออกกฎหมายลงโทษรุนแรงแก่การสอนผิดจากพระไตรปิฎกเป็นต้น
 
ในที่สุดก็มาถึงการสร้างพลเมืองพุทธชั้นสอง
 
ที่น่าเศร้าอย่างยิ่งคือ ในภาวะย้อนแย้งของพุทธศาสนาไทยที่ขึ้นกับการอุปถัมภ์และคุ้มครองของรัฐมากขึ้นๆ นั้น ภาวะความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ เช่นจิตวิญญาณที่มองคนเท่ากัน มองเพื่อนมนุษย์เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ มองการดำรงอยู่อย่างเกื้อกูลกัน ปัญญาที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ และเมตตากรุณานับวันจะแห้งแล้งเหือดหายไป แต่ภาวะแร้นแค้นทางปัญญาและจิตวิญญาณได้เข้ามาแทนที่ จึงมีแต่การสร้างความเป็นอื่น เบียดขับ ขจัดคนที่คิดต่าง เชื่อต่างออกไป แม้จะเป็นชาวพุทธด้วยกันแท้ๆ
 
เช่น กรณีที่เจ้าคณะจังหวัดแห่งหนึ่งออกคำสั่งขับไล่สามเณรีให้ออกจากวัดภายใน 3 วัน โดยอ้างว่าการบวชสามเณรีและภิกษุณีขัดมติมหาเถรสมาคม ทั้งๆที่สามเณรีรูปนั้นเคยเป็นแม่ชีรับใช้พระในวัดแห่งนั้นมาก่อน ทั้งๆที่สามเณรีรูปนั้นขออาศัยวัดชั่วคราวเพื่อจะได้ดูแลแม่ที่กำลังป่วยหนัก เมตาธรรม มนุษยธรรมไม่มีแล้วภายใต้ “อำนาจ” คณะสงฆ์แบบทางการ
 
ทำนองเดียวกัน ขณะที่เราเห็นการออกมาเคลื่อนไหวปกป้ององค์กรมหาเถรสมาคม แต่ไม่มีใครรู้สึกรู้สาต่อกรณีที่พระในชนบทอีสานถูกไล่ออกจากสำนักสงฆ์ ชาวบ้านโดยรอบถูกเจ้าหน้าที่รัฐยึดที่ทำกิน ยึดรถไถนา น้ำมันรถ อุปกรณ์ทำนา ถูกบังคับให้เซ็นต์เอกสารยอมรับเงื่อนไขการอพยพออกจากพื้นที่ ทั้งๆที่ชาวบ้านทำนา ทำไร่บริเวณรอบๆ สำนักสงฆ์มากว่า 50 ปี พระสงฆ์ก็พาชาวบ้านปลูกป่าฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมจนเป็นป่าสมบูรณ์มากขึ้น ปัญหาเช่นนี้มหาเถรสมาคมและกลุ่มชาวพุทธปกป้องพุทธศาสนา (องค์กรปกครองสงฆ์) ไม่เคยพูดถึงเลย
 
และในที่สุดก็มาถึงการพยายามออกกฎหมายที่ทำให้ชาวพุทธด้วยกันกลายเป็นอื่น คือเป็น “พลเมืองชั้นสอง” เพราะนิยามคำว่า “คณะสงฆ์” ในร่างกฎหมายดังกล่าว หมายถึง “คณะสงฆ์ตามกฎหมายคณะสงฆ์” แปลว่าสันติอโศกก็ไม่ใช่คณะสงฆ์ ภิกษุณีก็ไม่ใช่คณะสงฆ์ กิจการใดๆ ที่สันติอโศกและภิกษุณีดำเนินการ เช่นการเผยแผ่ การปฏิบัติธรรม หรือกิจกรรมสังคมสงเคราะห์อื่นๆ ที่เข้าข่ายการได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐแบบเดียวกับคณะสงฆ์ตามกฎหมายคณะสงฆ์ สันติอโศกและภิกษุณีย่อมไม่ได้รับความอุปถัมภ์เช่นเดียวกันนั้น
 
ยังไม่ต้องถามว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อศาสนาอื่นๆ หรือไม่ แม้แต่ชาวพุทธด้วยกันก็เป็นการเลือกปฏิบัติแล้ว รัฐมีความชอบธรรมอะไรในการออกกฎหมายเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองเช่นนี้!
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net