Skip to main content
sharethis

หลังจากที่ศาลเฉพาะในอังกฤษตัดสินให้การสอดแนมข้อมูลของหน่วยงานข่าวกรองอังกฤษเป็นเรื่องผิดกฎหมายและผิดหลักการสิทธิมนุษยชน องค์กรด้านสิทธิความเป็นส่วนตัวก็นำเสนอโครงการให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถกรอกข้อมูลเพื่อเรียกร้องให้ GCHQ ยอมรับว่าได้เก็บข้อมูลการสื่อสารพวกเขาไว้หรือไม่


17 ก.พ. 2558 กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิความเป็นส่วนตัว ไพรเวซี อินเตอร์เนชันแนล มีโครงการให้ชาวเน็ตสามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อส่งให้กับศาลพิจารณาคดีละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวโดยรัฐผ่านเทคโนโลยีโดยไม่มีกฎหมายรองรับ (Investigatory Powers Tribunal หรือ IPT) เพื่อจะได้ทราบว่าตัวเราตกเป็นเป้าหมายของการสอดแนมโดยสำนักงานข่าวกรองอังกฤษ (GCHQ) ด้วยหรือไม่

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ศาล IPT ซึ่งเป็นองค์กรตุลาการอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อรับการร้องเรียนเกี่ยวกับการสอดแนมในอังกฤษได้ตัดสินให้การสอดแนมข้อมูลของประชาชนโดย GCHQ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายและอาจจะมีคำสั่งให้ลบข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการสอดแนมของประชาชน

โครงการของไพรเวซี อินเตอร์เนชันแนล มีแบบฟอร์มกรอกชื่อและข้อมูลส่วนตัวได้แก่ชื่อ นามสกุล และอีเมล ส่วนเบอร์โทรศัพท์มือถือจะระบุด้วยหรือไม่ก็ได้ เพื่อจะส่งให้ศาล IPT โดยจะมีการเรียกร้องกับ GCHQ ให้ออกมาเปิดเผยตัวเองว่ามีการสอดแนมบุคคลตามรายชื่อเหล่านี้หรือไม่ จากนั้นจะแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ทราบผ่านทางอีเมล

"มีความเป็นไปได้ที่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การสื่อสารข้อมูลของพวกคุณถูกดักเก็บโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ จากนั้นทางสำนักงานก็จะแชร์ข้อมูลร่วมกับสำนักงานข่าวกรองรัฐบาลอังกฤษโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อไม่นานมานี้ศาลตัดสินว่าการสอดแนมข้อมูลที่พวกเขาแชร์ร่วมกันนี้ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าข้อมูลของพวกเขาจะถูกดักเก็บและแชร์ร่วมกันอย่างผิดกฎหมายจนถึงตอนนี้!" ไพรเวซี อินเตอร์เนชันแนล ระบุในหน้าโครงการ

IPT ระบุว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลของประชาชนด้วยวิธีการสอดแนมขัดกับมาตราที่ 8 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของยุโรป (European Convention on Human Rights) ซึ่งระบุถึงการปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวและชีวิตครอบครัว นอกจากนี้ยังถือว่าขัดกับมาตราที่ 6 ของอนุสัญญาเดียวกันว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการได้รับการไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้โครงการสอดแนมที่ทำร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯอย่าง PRISM และ Upstream ก็ถือว่าผิดกฎหมายเพราะมีการปกปิดวิธีการสอดแนมเป็นความลับ

ก่อนหน้านี้มีการเปิดโปงโครงการสอดแนมของสหรัฐฯ และอังกฤษ โดยอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ในเอกสารที่เขานำมาเปิดโปงระบุว่าโครงการสอดแนมอย่าง PRISM และ Upstream มีการเปิดระบบทำงานแบบตั้งค่าอัตโนมัติทำให้เป็นไปได้ที่ GCHQ จะเก็บข้อมูลของผู้คนไว้หลายล้านคน

"สาธารณชนมีสิทธิรู้ว่าพวกเขาถูกสอดแนมอย่างผิดกฎหมายอยู่หรือไม่ และ GCHQ จะต้องสารภาพให้หมดว่าพวกเขามีข้อมูลของใครบ้าง โดยที่เป็นข้อมูลที่พวกเขาไม่ควรจะมีอยู่แล้วตั้งแต่แรก" อิริค คิง รองผู้อำนวยการไพรเวซี อินเตอร์เนชันแนลกล่าว

"มีโอกาสเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่ประชาชนจะสามารถท้าทายสิ่งที่ดูเหมือนรัฐสอดแนมตามอำเภอใจได้โดยตรง แต่ในตอนนี้บุคคลทั่วไปมีโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ที่จะสามารถทำให้ GCHQ ต้องรับผิดชอบกับการกระทำที่ผิดกฎหมายของพวกเขา" อิริค คิง กล่าว


เรียบเรียงจาก

Privacy watchdog launches 'Did GCHQ spy on you?' campaign to allow citizens to find out if they were under surveillance, The Independent, 16-02-2015
http://www.independent.co.uk/life-style/gadgets-and-tech/news/privacy-watchdog-launches-did-gchq-spy-on-you-campaign-to-allow-citizens-to-find-out-if-they-were-under-surveillance-10049284.html

GCHQ spying on British citizens was unlawful, secret court rules in shock decision, The Independent, 06-02-2015
http://www.independent.co.uk/life-style/gadgets-and-tech/news/gchq-spying-on-british-citizens-was-unlawful-secret-court-rules-in-shock-decision-10028306.html

DID GCHQ ILLEGALLY SPY ON YOU?, Privacy International
https://www.privacyinternational.org/illegalspying

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net