Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

วิกฤติการณ์การเมืองในอดีตที่ยุ่งเหยิงมากที่สุดของประเทศไทยซึ่งได้คลี่คลายมาอยู่กับ แนวคิดการปฏิรูปประเทศและสังคม โดยฝากความหวังไว้กับการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งตั้งอยู่บนสมมุติฐานแบบสูตรสำเร็จที่ว่า นักการเมืองไม่ดี การเลือกตั้งมีการซื้อสิทธิขายเสียงเข้ามา พรรคการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ภายใต้การบงการผูกขาดของนายทุนที่คุมพรรคการบริหารราชการเต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่น การพัฒนาประเทศขาดความสมดุลมีความเลื่อมล้ำในสังคม ระบบความยุติธรรมเป็นไปแบบสองมาตรฐานขาดความเป็นสากล การบริหารทรัพยากร และ พลังงาน ละเลยต่อความเป็นธรรม    สังคมมีความแตกแยกเป็นขั้วแบ่งสี แบ่งพวกเป็นกลุ่ม ๆ เป็นต้น ฯลฯ

การหลีกหนีให้พ้นจากสภาพการณ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องทำการปฏิรูปประเทศและสังคมกันเสียใหม่ตามมรรควิธีและคำมั่นสัญญาจากคณะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันมาแต่อดีตของสังคมการเมืองไทยด้วยการ “แก้รัฐธรรมนูญ” หรือ  “ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเสียใหม่” เพื่อเปลี่ยนโฉมการเมืองให้ดูดีมีอะไรใหม่ๆขึ้นมา โดยหันหัวประเทศฝากผีฝากไข้ไว้กับนักเทคนิคกลไกทางกฎหมายให้ช่วยเขียน ออกแบบมาตรการกลไกหรือหยิบยืมลอกเลียนแบบอะไรต่าง ๆ จากต่างประเทศมาใช้ คือกระแสความคิดนิยมที่ถูกทำให้เชื่อว่า “รัฐธรรมนูญ” คือคำตอบในทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อแทนคำว่า “การเปลี่ยนแปลง” “การปฏิรูป” การพัฒนาการเมืองสู่สิ่งใหม่ที่ “ดีกว่า” 

ผลที่ตามมาเลยทำให้ถนนทุกสายมุ่งไปที่กระบวนการร่างธรรมนูญ ที่พยายามเอาความต้องการของตนและกลุ่มตนเอง ไปแปะหรือเขียนให้เป็นบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการประกันว่าเรื่องที่ตนเองสนใจ ใส่ใจจะได้รับการแก้ไข ไม่วายเว้นแม้เครื่องมือและอาวุธลับของระบบทุนนิยมเสรี ในประเด็นเรื่อง ระบบการค้าเสรี (Liberalization) และหรือ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property rights) ก็ยังถูกนำไปบรรจุเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ไกลไปกว่านั้นยังสู้อุตส่าห์ประกันความเสียหายโดยรัฐแทนการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายจากบรรษัทนายทุนต่างชาติ (non state actor) ที่ให้บังคับเอาจากรัฐที่เป็นเงินภาษีอากรของคนในชาติอีกด้วย (รธน. พ.ศ.2550 มาตรา 190)

การนำคนไทยเดินตามตรรกะวิธีดังกล่าวถือเป็นมรดกตกทอดกันมาแต่อดีต ทำให้ผมคิดถึงสิ่งที่นักคิดทางสังคมการเมืองชอบใช้วิเคราะห์สังคม และ เครื่องมือทางสังคมที่คุ้นหูแทนด้วยคำว่า one and other things คล้าย ๆ กับคำที่เจ้าคุณพระธรรมปิฎกชอบใช้ว่า“ระบบย่อยในระบบใหญ่” หรือ บริบทย่อยในบริบทใหญ่ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าในสังคมประเทศหนึ่ง ๆ นั้น ระบบใหญ่จะประกอบไปด้วยระบบย่อย ๆ หลาย ๆ ระบบที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไม่มีอะไรที่สำคัญเหนือกว่ากันหากแต่มีความสัมพันธ์ต่อกัน ในหลากหลายลักษณะสอดคล้องบ้าง เป็นปรปักษ์โต้แย้งขัดแย้งถ่วงดุลซึ่งกันและกันบ้าง คุมกันไปกันมาฉันใดก็ฉันนั้น บางคนบอกว่านี่เป็น “กฎธรรมชาติ (Natural law)”ที่รักษาสมดุลของมนุษย์เอาไว้ แต่เป็นที่น่าสังเกตไว้ ณ ที่นี้ว่า ถ้าตรรกะความคิดดังกล่าวข้างต้นนี้ถูกต้อง เป็นเหตุเป็นผลจริง มาถึงเวลานี้ประเทศไทยคงจะเจริญก้าวหน้าและยิ่งใหญ่ในทุก ๆ ด้านกว่าประเทศอื่นใดในโลกเป็นแน่เพราะประเทศไทยผ่านกระบวนการร่างและใช้รัฐธรรมนูญมามากที่สุดกว่าประเทศใด ๆ ในโลกก็ว่าได้เมื่อผลเป็นในทางตรงกันข้าม ดังนั้นการมองความสัมพันธ์ภาพของรัฐธรรมนูญกับสิ่งอื่น ๆ จึงมีความสำคัญเสียยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก

ความในข้อนี้จึงมาอยู่ในประเด็นที่ว่า เราจะวางระดับความสำคัญของอะไร อย่างไร ก่อน ๆ ที่จะนำไปสู่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ในประการสำคัญกับการที่เราจำเป็นต้อง ถอดระหัส (decoded) ตีโจทย์สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ใน และ นอกสังคมการเมืองไทยในทุกๆ  บริบทให้ได้ให้เห็นอะไรเป็นส่วนใหญ่ และอะไรเป็นส่วนย่อย หรือ อะไรคือบริบทใหญ่และอะไรคือบริบทย่อยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันต่อกันอย่างไร ซึ่งถ้า “รัฐธรรมนูญ” เป็น one thing อย่างที่ว่า แล้ว other things หรือ สิ่งอื่น ๆที่อยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญซึ่งกว้างขวางออกไปนั้นมีอะไร “บ้าง” ที่สมควรและมีค่าต่อการพิจารณาจนได้ฉันทามติ

ด้วยเหตุนี้การหมกมุ่นอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้ขาดโอกาส และ ขาดข้อมูลที่มีนัยสำคัญ (disinformation) ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายสูงสุดที่จะเป็นเหตุและทำให้ประเทศสังคมการเมืองย่ำอยู่กับที่ เหมือนการวิ่งไล่เงาตัวเองและอาจจะทำให้ประเทศ  “หลงทาง” เดินเข้าสู่วิกฤติความขัดแย้งอันใหม่ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ลึกขึ้นก็ได้

แล้วอะไรคือสิ่งที่นักร่างรัฐธรรมนูญและนักปฏิรูปผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะ สมาชิกสภาปฏิรูป สปช. หรือ สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คสช. ในฐานะที่เป็นผู้ให้กำเนิดองค์กรข้างต้น ควรให้ความสนใจพึงได้ตระหนักที่สำคัญๆ ในตอนนี้บ้าง ซึ่งผมมีข้อคิดเห็นพอสรุปได้ว่า

หนึ่ง. พึงระลึกไว้ว่าประเทศในฐานะรัฐชาติสมัยใหม่ และ ความเป็นราชอาณาจักรไทย อันมีลักษณะเฉพาะ กำลังอยู่ท่ามกลางกระแสการต่อสู้ช่วงชิงความได้เปรียบกันในทาง “อำนาจ (power)” และ ภูมิรัฐศาสตร์ ( Geo Politics) ของโลก การต่อสู้เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเพื่อให้ได้อำนาจการควบคุมทางเศรษฐกิจ การเมือง แม้หลังยุคสงครามเย็น (cold war) ผ่านไปแล้วกระแสดังกล่าวยังไม่หมดไปจากโลก หากแต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมตามแนวคิดแบบจักรวรรดินิยม (Imperialism) โดยจัดรูปการบริหารในลักษณะกลุ่มรัฐบริวาร แบบ Empire ผ่านกระบวนการจัดระเบียบโลกใหม่หรือ New world order ตามแนวคิดที่คุ้นหูเช่น “ความเป็นสากล (Universal)” ก็ดี “ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnerships & Cooperation)” ก็ดี ความเป็น “ประชาธิปไตย (Democracy) และ สิทธิมนุษยชน (Human rights) ก็ดี ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสลับซับซ้อนซ่อนมีเงื่อนปมหลายชั้นหลายตอน ยากเกินกว่าที่ปุถุชนจะเข้าใจและสามารถเผชิญหน้าสามารถกุมสภาพรักษาผลประโยชน์ได้โดยง่าย

หากประเทศไม่มีฐานความรู้ ความเข้าใจ และข้อมูลที่ถูกต้องที่เพียงพอการเข้าไปปฏิสัมพันธ์ของรัฐชาติแบบขาดความรู้ความเข้าใจที่ใช้ได้จึงมีทั้งคุณและโทษ ซึ่งจะเป็นต้นตอทำให้ฐานะและบทบาทของรัฐชาติหมดสิ้นมนต์ขลังและจิตวิญญาณของตัวเองในฐานะธรรมรัฐที่ดี เนื่องจากระบบการจัดการควบคุมได้ถูกถ่ายโยงไปสู่ระบบควบคุมของจักรวรรดิเสียแล้ว ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ท่านทราบหรือไม่ว่า เรากำลังนำรัฐชาติ แบบราชอาณาจักรไทยหากก้าวเดินเข้าสู่กับดักทางนโยบายของของจักรวรรดินิยม แบบ Empire แบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ หรือ สิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้พรมได้ตลอดเวลาหากท่านไม่ระมัดระวัง และ ขาดความรู้ที่เพียงพอ ทางข้างหน้าไม่ง่ายอย่างที่คิด

สอง. รัฐชาติสมัยใหม่ ถูกถักทอด้วยแนวคิด ทางรัฐศาสตร์ และ กฎหมาย อันเป็นการเฉพาะเพื่อสถาปนา “อำนาจ” การบริหารยุทธศาสตร์ของประเทศให้อยู่ในมือของ กลุ่มและคณะบุคคล ตราบเท่าที่ไม่สร้างหรือก่อปัญหาต่อ ความเป็นรัฐสมุนบริวารแบบ Empire States ที่ยิ่งเวลาผ่านทอดยาวไปเท่าใด จิตวิญญาณ หรือ Spirit ของรัฐชาติโดยเฉพาะอำนาจอธิปไตยของชาติ จะลดน้อยถอยลงจนหายไป สู่อำนาจปกครองแบบรัฐบาลโลก (World government) เป็นคณะผู้บริหารเดียว (single unite) ทิ้งไว้แต่ ความยากจน และ การตักตวง ทิ้งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอาไว้ ตัวอย่างปัญหาข้อถกเถียงในเรื่องการจัดการพลังงานของชาติ และ การต่ออายุสัมปทานรอศึกษาสำรวจขุดเจาะน้ำมันรอบที่ 21 ที่เกิดขึ้นเวลานี้ สะท้อนให้เห็นถึงการพังทลายในเป้าหมายและ spirit ของรัฐชาติที่ถูกเบี่ยงเบนไปจนหมดสิ้นอันเป็นปัญหาเชิงหลักการของรัฐชาติที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี รวมถึงปัญหาทางสังคม ฯลฯ  ให้คณะรัฐบาลท้องถิ่นแก้ไขแบบไปตายเอาดาบหน้าแบบตามมีตามกรรม ดูตัวอย่างการเผชิญปัญหาอีโบร่าในแอฟริกา

ขณะเดียวกันกับที่กลุ่มประเทศทุนนิยมเสรีกำลังหันหัวลง จากสภาพวิกฤติเศรษฐกิจ การล่มสลายของสถาบันการเงินและเผชิญต่อสงครามทางการเงินเช่นกัน อุทธาหรณ์ที่เกิดขึ้น จึงเท่ากับว่า  สภาพการณ์ปัญหาข้อผิดพลาดสะสมอยู่ภายรัฐชาติสมัยใหม่ ( Modern State) นั้นเอง พิเคราะห์ดูเอาเถิดรัฐชาติสมัยใหม่ที่ท่านกำลังเอารัฐธรรมนูญใหม่ไปวางก็กำลังมีปัญหาในตัวเอง จึงมีประเด็นน่าสนใจให้คิดใหม่ว่า รัฐชาติสมัยใหม่ที่จะปฏิรูปนั้น จะกำหนดสถานะ และควรตั้งวางอยู่กับอะไรที่เหลืออยู่ หรือ จะพัฒนาต่อยอดให้เป็นลักษณะเฉพาะทางเศรษฐกิจการเมือง (Sui generis) ของไทยได้อย่างไร

สาม. ราชอาณาจักรไทย กำลังจะก้าวเดินไปไหน ความในข้อนี้หมายถึง “ทิศทาง (Direction) หรือ ตำแหน่ง (Positioning) มีใครสามารถตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำได้บ้าง อะไรคือจุดร่วมของชาติไทย เรายังไม่มีโอกาสถกเถียงหรือหาข้อสรุปเหล่านี้เลย อันเป็นคนละเรื่องกับ ยุทธศาสตร์และนโยบาย ที่พรรคการเมืองผลิตไปเสนอกันในตลาดทางการเมือง อันมีลักษณะที่ฉาบฉวย ประชาชนพลเมืองในยุคการจัดระเบียบโลกใหม่ จะสามารถฝากความหวังและโอกาสไว้ได้  เช่นเดียวกันคงไม่สามารถเอามาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญในหมวดแนวนโยบายของรัฐที่มักเขียนขึ้นบนพื้นฐานสังคมวิทยาทางการเมืองตามยุคสมัยแต่ละยุค  ให้สามารถเป็นหลักชัยจริง ๆ จัง ๆ ของประเทศได้โดยแท้  ทั้งนี้เพราะทิศทาง หรือ ตำแหน่ง ของประเทศมีลักษณะที่กว้างขวาง ก้าวไกลเกินกว่าการหาข้อสรุปเพื่อการตอบโจทย์ทางการเมืองในลักษณะช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เป็นการเฉพาะเท่านั้น

กล่าวโดยจำเพาะที่ตราบใดเรายังจำกัด วกวน วนเวียน การปฏิรูปประเทศ อยู่เพียงแค่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น เราไม่มีทางที่จะแสวงหา ทิศทาง หรือ ตำแหน่งของประเทศโดยนัยข้างต้นนี้ได้ เมื่อพิจารณาจาก การจะได้มาซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้ได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะนั้น จำต้องใช้ชุดความคิดที่มีลักษณะเป็นระบบความคิด (Knowledge system) ที่จะเข้าใจปัญหา และ ข้อมูล (Information) ที่รอบด้านในทุกด้านมากกว่า ซึ่งจะแตกต่างกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ทำนองเดียวกันกับข้อจำกัดของ คณะบุคคล คุณสมบัติ ที่จะมาทำหน้าที่นี้ได้อย่างเหมาะสม จึงเป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ เราไม่รู้ว่าชาติของเรากำลังก้าวเดินไปไหน มีทิศทางอย่างไร ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า มีหลักประกันอะไรที่การทำรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จะไปตอบสนอง ทิศทาง และ ตำแหน่งของประเทศ ในฐานะของชาติ ได้

ที่กล่าวมาทั้งหมด ขออย่าได้เข้าใจหรือตีความหมาย ทึกทักว่าผมไม่ให้ความสำคัญกับความหวังที่จะได้รัฐธรรมนูญที่ดีของประเทศ บอกตรง ๆ ว่ารัฐธรรมนูญที่ดี เป็นสิ่งจำเป็นที่จะเป็น “กติกา” ของสังคมและประเทศ แต่คำถามและประเด็นของผมอยู่ที่ อะไรคือ รัฐธรรมนูญที่ดี หรือ ความดีหรือ ไม่ดีเราตรวจสอบดูจากอะไร หรือ เราจะพิจารณารัฐธรรมนูญแบบโดด ๆ หรือสัมพันธ์กับอะไร เฉพาะอย่างยิ่งการร่างรัฐธรรมนูญ ของคณะร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาจากโจทย์และคำถามจากอะไร     ถ้าเพียงเพื่อตอบคำถามจะเลือกตั้งอย่างไร นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมาจากไหน อย่างวิวาทะที่พูดกันเวลานี้  ผมไม่เห็นด้วย และ บอกได้คำเดียวว่าเสียใจ ผิดหวัง และ เศร้าใจ ที่ในท้ายที่สุดหากประเทศชาติ กำลังหันหัวเรือเข้าไปสู่รัฐชาติแบบ Empire State ตามกระแสการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ซึ่งผมอยากกระซิบข้างหูนักร่างรัฐธรรมนูญได้ทราบว่า ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อยู่ปลายจมูกท่านแล้ว อาจจะมีสนธิสัญญาเบาว์ริง (Browring Treaty)  ภาคสองให้คนไทยปวดกระดองใจขึ้นมาอีกในไม่นานก็ได้ แล้ววันที่ ชาติ และประเทศ เผชิญกับเครื่องมือทาง  นโยบาย และระเบียบโลกใหม่ โดยท่านไม่สามารถปกป้องชาติและประชาชนคนไทยได้ จากสถาบันการเมืองทั้งหมดที่รัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างขึ้นนี้กำหนดขึ้น  แม้จะมี คสช. ภาคสองภาคสามต่อไปอย่างไรก็คงไม่เป็นผลอีกแล้วเพราะ ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) จะสำแดงเดชให้ท่านเห็น    ประเทศเป็นอันย่อยยับกัน ทั้งหมดคือความห่วงใยของความเรียงนี้ ขอให้ความพยายามและตั้งใจจริงของท่านบรรลุผล


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net