Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์ชาวญี่ปุ่นชี้แม้การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุในญี่ปุ่นและการลดลงของประชากรในวัยทำงานจะถูกมองเป็นปัญหาทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตได้น้อยลง แต่นั่นเป็นการมองปัจจัยด้านเดียวโดยที่ไม่ได้มองด้านนวัตกรรมและจำนวนทุนต่อคนด้วย


15 ธ.ค. 2557 ฮิโรชิ โยชิคาวะ ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโตเกียวเขียนบทความลงในเว็บไซต์อีสเอเชียฟอรัมเรื่องปัญหาด้านประชากรของญี่ปุ่นที่กำลังประสบอยู่ในตอนนี้อาจจะถูกพลิกให้กลายเป็นโอกาสของญี่ปุ่นเองได้

ประเทศญี่ปุ่นยังคงประสบปัญหาการลดลงของประชากรและมีประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้อัตราการเกิดของประชากรญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.39 แต่ก็ยังถือว่าไม่น้อยมากเมื่อวัดจากมาตรฐานสากล มีการประเมินว่าจำนวนประชากรของญี่ปุ่นจะลดลง 40 ล้านคนภายในอีกราว 100 ปีข้างหน้าจากจำนวนประชากรปัจจุบันที่มีอยู่ราว 120 ล้านคน ขณะที่จำนวนประชากรผู้สูงวัยจะมีเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 40 ภายในปี 2613 จากปัจจุบันมีอยู่ร้อยละ 25

โยชิคาวะระบุว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงวัยจะทำให้เกิดปัญหาภาวะหนี้สินของรัฐญี่ปุ่น เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับประกันสังคมเพิ่มขึ้นทำให้รัฐญี่ปุ่นต้องพยายามหาเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้มีการขึ้นอัตราภาษีมุลค่าเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ในปีนี้ และมีแผนจะขึ้นเป็นร้อยละ 10 ในปีหน้า นอกจากนี้ยังจะเกิดปัญหากับกลุ่มชุมชนที่เป็นเมืองเล็กๆ ที่อาจจะลดลงไปเนื่องจากขาดประชากร

โยชิคาวะระบุอีกว่าการลดลงของประชากรและการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุทำให้คนมองอนาคตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในแง่ลบทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน มีคนมองว่าจำนวนประชากรวัยทำงานลดลงซึ่งหมายถึงจำนวนแรงงานลดลงจะทำให้เศรษฐกิจยุบตัวลงไปด้วย ซึ่งโยชิคาวะระบุว่านี่เป็นการมองแบบด้านเดียวเพราะระบบเศรษฐกิจไม่ได้ถูกประเมินจากปัจจัยจำนวนของผู้ใช้แรงงานแต่อย่างเดียวเท่านั้น

แต่ในบทความที่นำเสนอในเว็บไซต์อีสท์เอเชียฟอรัมระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจนอกจากจะมาจากปัจจัยจำนวนแรงงานแล้วยังมาจากจำนวนทุนต่อคน (capital per worker) เช่นการใช้รถตักดินแทนการใช้พลั่ว รวมถึงด้านนวัตกรรม นอกจากนี้ผลกระทบจากจำนวนประชากรจะไม่ส่งผลในแง่ลบต่อเศรษฐกิจในเชิงปริมาณถ้าหากการวัดความเจริญทางเศรษฐกิจมาจากอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อบุคคล

โยชิคาวะยกตัวอย่างการเปรียบเทียบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกับอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรวัยแรงงานในญี่ปุ่นช่วงคริสตทศวรรษที่ 1950-1960 ที่ถือเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 10 ต่อปี แต่อัตราการเติบโตของจำนวนประชากรวัยแรงงานอยู่ที่ร้อยละ 1 ต่อปีเท่านั้น

ในด้านอุปสงค์ มีนักธุรกิจของญี่ปุ่นหลายคนมองว่าตลาดความต้องการภายในประเทศลดลงจนต้องหาทางขยายตลาดภายนอกประเทศเช่นจีน หรืออินเดีย แต่โยชิคาวะมองว่าขนาดของตลาดจะขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรหรือกำลังซื้อแต่เพียงสองอย่างนี้ก็ต่อเมื่อมีการขายสินค้าแบบเดิม แต่ถ้ามีสินค้าและบริการแบบใหม่ก็สามารถเพิ่มมูลค่าทางตลาดได้ ซึ่งสินค้าและบริการแบบใหม่นี้มักจะเกิดในประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนาจึงตั้งคำถามว่าญี่ปุ่นควรเลิกสนใจตลาดภายในประเทศจริงหรือไม่

"ปัญหาประชากรผู้สุงอายุเพิ่มขึ้นไม่ได้มีแต่ในญี่ปุ่นแต่ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านยานยนต์ บริการสาธารณสุข ระบบการกระจายสินค้า และทัศนคติของส่วนรวมในแง่การพัฒนาเมือง ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่" โยชิคาวะระบุในบทความ


เรียบเรียงจาก

Japan’s demographic challenges are also an opportunity, Hiroshi Yoshikawa, East Asia Forum, 09-12-2014
http://www.eastasiaforum.org/2014/12/09/japans-demographic-challenges-are-also-an-opportunity/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net