Skip to main content
sharethis

12 ธ.ค.2557 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดสัมมนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกับอนาคตการพัฒนาประเทศ มีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประมาณ 500 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน สถาบันวิชาการ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ และสื่อมวลชน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ในปี 2583 ผู้สูงอายุไทยจะมีจำนวนสูงถึง 20.5 ล้านคน หรือร้อยละ 32 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือเพียง 35.18 ล้านคน จากปี 2553 ที่มีจำนวน 42.7 ล้านคน จำนวนวัยแรงงานที่ลดลงดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ และอาจจะส่งผลต่อภาระทางการคลังในอนาคต ดังนั้น สศช.โดยการสนับสนุนของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและแผนประชากร สศช. ซึ่งมีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นประธาน จึงได้วางกรอบแนวคิดแผนประชากรในการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี ขึ้น ซึ่งขณะนี้ สำนักงานฯ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอกรอบแนวคิดแผนประชากรฯ ระยะยาว ต่อคณะรัฐมนตรี ในขั้นต่อไปสำนักงานฯ จะนำกรอบแนวคิดดังกล่าวมาจัดทำรายละเอียดของแผนประชากร

ดังนั้น โจทย์ของการสัมมนาในวันนี้ คือเราจะร่วมกันกำหนดอนาคตและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างไร ภายใต้ความท้าทายจากโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ใน 2 เรื่อง ได้แก่ การสื่อสารให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร และร่วมกันเผยแพร่ให้สังคมไทยตระหนักรู้ ถึงความจำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อมรับกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และการรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปจัดทำรายละเอียดของแผนประชากรฯ ระยะยาว ต่อไป

ในการอภิปรายนำเสนอองค์ความรู้ ข้อค้นพบจากงานวิจัย และบทเรียนจากต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรไทยกับอาเซียน และผลกระทบในแง่มุมต่างๆ โดยมีนางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการ สศช. เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย และมีผู้นำเสนอองค์ความรู้และข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัย

รศ.ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร: ไทยกับประเทศอาเซียน” ประชากรอาเซียนมีรูปแบบและโครงสร้างทางประชากรที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยสิงคโปร์ ไทย มีโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วและกำลังจะเผชิญกับการขาดแคลนวัยแรงงานในอนาคต และประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่อัตราการเติบโตของประชากรติดลบ โดยจะเริ่มลดลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 2025-2030 ขณะที่ ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา มากกว่าหนึ่งในสามของประชากรยังอยู่ในวัย 10-24 ปี ดังนั้น ลักษณะการผสมผสานของโครงสร้างประชากรในภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นทั้งโอกาสและข้อท้าทายสำหรับประเทศไทย

รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม” การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงอายุ ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในทุกระดับ โดยเฉพาะกำลังแรงงานในตลาดแรงงานที่จะหดตัวอย่างมากในอนาคต และส่งผลต่อเนื่องต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากกำลังแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิตในการสร้างผลผลิตและรายได้ของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือในทุกระดับ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว พื้นที่ และภาครัฐ

ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “ไลฟสไตล์ แผนการดำเนินชีวิต กับแนวคิดการมีบุตรของคนเจเนอเรชันวาย” ประชากรเจเนอเรชันวาย มีสัดส่วนถึง 27% ของประชากรไทยทั้งหมด และเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูงต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เนื่องจากอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ และเป็นกลุ่มวัยแรงงาน ซึ่งต่อไปจะเป็นทั้งผู้สร้างประชากรรุ่นใหม่ๆ และดูแลประชากรวัยชราที่มีสัดส่วนสูงขึ้น ดังนั้น รูปแบบการดำเนินชีวิตของคน Gen Y ที่มีความเป็นอิสระ ส่วนตัวสูง เน้นความสำเร็จด้านการเรียน การงาน การมีทรัพย์สิน ทำให้ชะลอการแต่งงาน ลดการมีบุตรลง ซึ่งกิจกรรมที่มีมากในช่วงอายุ 25-35 ปี ทำให้ลดทอนระยะเวลาการเจริญพันธุ์ของคนกลุ่มนี้

ช่วงสุดท้ายของการสัมมนา นายโฆสิต กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกับอนาคตการพัฒนาประเทศ” ว่าประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย จากสัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานเริ่มลดลง ประชากรวัยสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศยังมีระดับรายได้ระดับปานกลาง จึงเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาประเทศในอนาคต การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จะก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญ ทั้งศักยภาพการเติบโตของประเทศที่ชะลอตัว เนื่องจากกำลังแรงงานที่ลดลง ซึ่งจำเป็นต้องทดแทนด้วยคุณภาพของประชากร การออมครัวเรือนที่มีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนความมั่นคงทางการเงินของครอบครัวไทย และความอยู่เย็นเป็นสุขของครอบครัวไทย โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ของครอบครัวที่ลดหายไป รวมถึงทัศนคติและรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนรุ่นเจเนอเรชันวาย ที่ชะลอการแต่งงาน และมีบุตรก็มีผลต่ออัตราเจริญพันธุ์ของไทยในอนาคต ความท้าทายดังกล่าว จึงนำไปสู่บทสรุปของการวางกรอบแนวคิดทิศทางนโยบายประชากรในการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี ที่ครอบคลุม 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

การเพิ่มศักยภาพประชากรไทยให้สนับสนุนต่อการเจริญเติบโตของประเทศที่เพียงพอ

การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและหลักประกันทางสังคมให้กับประชากรไทย

การสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับครอบครัวไทย

ในขั้นต่อไปจะต้องมีการจัดทำรายละเอียดของแผนที่ต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลองค์ความรู้ที่ทันกับการเปลี่ยนแปลงมารองรับ เพื่อให้สามารถนำความรู้ ข้อค้นพบมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดรายละเอียดมาตรการได้อย่างรอบคอบ มีความถูกต้องน่าเชื่อถือ ความเห็น ข้อเสนอแนะ ที่ได้รับจากการสัมมนา จะเป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำรายละเอียดของแผนประชากรในการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี เพื่อให้แผนประชากรฯ ดังกล่าว เป็นแผนที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการร่วมกำหนดอนาคตประเทศ เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net