มาตรา44กับการคืนความสุขให้คนท้องถิ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

                                                                                                                                                

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชาได้ประกาศใช้อำนาจตามมาตรา44ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557[1] เพื่อระงับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นที่กำลังจะหมดวาระในปี พ.ศ. 2558 ประมาน 1000 คน หากย้อนกลับไปในช่วงเดือนกรกฎาคมจะพบว่าพลเอกประยุทธ ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้ออกประกาศ คสช ฉบับที่ 85-86 อันเกี่ยวเนื่องกับการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นในกรณีที่ตำแหน่งนั้นๆว่างเว้นลง โดยได้กำหนดเงื่อนไขต่างๆเช่น ต้องเป็นข้าราชการระดับ8ขึ้นไปหรือสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี เป็นต้น[2] หากพิจารณาเนื้อหาในประกาศ คสช. ฉบับที่ 85-86 และคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ถูกนำมาใช้เป้นครั้งแรกนั้นจะพบว่ามีเนื้อความที่ขัดหรือแย้งกันอย่างชัดเจน โดยที่ประกาศ คสช ฉบับที่ 85-86 นั้น ให้ทำการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่นจากการกำหนดคุณบัติไว้ตามประกาศแต่การประกาศล่าสุดโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา44ของรัฐธรรมนูญฯ กลับให้สมาชิกที่ครบวาระทำหน้าที่รักษาการณ์ต่อไปโดยห้ามจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกชุดใหม่

ความลักลั่นเกิดขึ้นเมื่อมีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่นขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 85-86ไปแล้วว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อ ในทางกลับกันหากอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ กลับให้สมาชิกที่ครบวาระรักษาการณ์ต่อไป จะเห็นได้ว่าแนวทางทางกฎหมายไม่ชัดเจนว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องปฏิบัติเช่นไรเพราะประกาศ คสช. ฉบับที่ 85-86 ก็ยังไม่ถูกยกเลิกและคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญนั้นมีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายเทียบเท่ากับประกาศ คสช ฉบับที่ 85-86 หรือไม่?

รัฐธรรมนูญมาตรา 44 บัญญัติว่า

“ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่งหรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”

ตามมาตรา 44 จะพบว่าการใช้อำนาจตามมาตรานี้มีเงื่อนไขคือ1.เพื่อความจำเป็นหรือประโยชน์ในการปฏิรูป 2. ส่งเสริมความสมานฉันท์ของประชาชน 3.ป้องกันปราบปรามการกระทำที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง

จากเงื่อนไขทั้ง3ประการข้างต้นเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าพลเอกประยุทธ์ใช้เงื่อนไขด้านใดในการงดเว้นการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่น หากอ้างความจำเป็นด้านการปฏิรูปหรือปรองดองรัฐบาลควรที่จะแสดงความจริงใจในการให้ประชาชนได้ใช้สิทธิตามกฎหมายในการเลือกตั้งผู้แทนท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ต้องการให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อเสนอต่อ สปช. ไม่ใช่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สกัดการแสดงออกของประชาชนโดยเฉพาะการแสดงออกผ่านการเลือกตั้ง หากพิจารณาเงื่อนไขประการที่2 ได้แก่เพื่อส่งเสริมความสมานฉันท์ของประชาชน นั่นยิ่งแสดงให้เห็นทัศนคติของรัฐบาลและ คสช.ได้เป็นอย่างดีว่า รัฐบาลและ คสช. มองว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นความเลวร้ายและก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่าแท้จริงแล้วรัฐบาลและ คสช.ไม่มีความจริงใจในการไปสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือกล่าวให้ถึงที่สุดคือ รัฐบาลและคสช. เองไม่ได้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยเลยแต่กลับมองว่าระบบราชการต่างหากที่สามารถเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนรัฐไทยไปได้ ส่วนเงื่อนไขประการสุดท้ายคือเพื่อความมั่นคง ต้องถามกลับไปยังรัฐบาลและ คสช. ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงอย่างไร?

จากประวัติศาสตร์ของกฎหมายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับมาตรา44 ได้แก่ มาตรา17 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ หรือมาตรา21 ในสมัยพลเรือเอกสงัด ซึ่งทั้งสองมาตราดังกล่าวเป็นการให้อำนาจเด็ดขาดแก่หัวหน้าคณะรัฐประหารเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและไม่ปรากฎว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ผ่านมาใช้อำนาจเผด็จการตามมาตราดังกล่าวเพื่อเข้าแทรกแซงการบริหารราชการในระดับท้องถิ่น หากแต่ใช้ในการรักษาความมั่นคงเท่านั้นเช่นใช้อำนาจตามมาตรา17 เพื่อประหารชีวิตผู้ค้ายาเสพย์ติดรายใหญ่เป็นต้น

เราไม่อาจกล่าวได้ว่านโยบายคืนความสุขของ คสช.นั้นเป็นการคืนความสุขที่แท้จริงเพราะคสช.ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการคืนสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนหากแต่ยิ่งลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรต้องเข้าใจก่อนว่าการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นนั้นเป็นสิทธิทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดเพราะประชาชนสามารถเลือกผู้แทนจากคนในท้องถิ่นเพื่อเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรในแต่ละท้องถิ่นได้ แต่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในคราวนี้แม้ว่าจะเป็นการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่นเดิมรักษาการณ์แทนไปก่อนก็ตามแต่นั่นหมายความว่าถ้าประชาชนในท้องถิ่นมีความตั้งใจที่จะไม่เลือกผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นชุดเดิมก็จำต้องทนรับสภาพเพราะรัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา44เพื่อระงับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นไว้โดยไม่มีท่าที่ว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อใด หากอ้างอิงตามการร่างรัฐธรรมนูญจะพบว่าประชาชนในระดับท้องถิ่นจำต้องทนรับความสุขที่ คสช. มอบให้ไปจนถึงประมานกลางปี พ.ศ. 2559 ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเสียก่อนจึงจะได้รับสิทธิในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นคืนมา ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นประชาชนคงจะสำลักความสุขจาก คสช.ไปเสียแล้ว

ความสับสนของรัฐบาลและ คสช.เอง ในแง่ของกฎหมายกล่าวคือตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 85-86 ที่กำหนดให้มีการสรรหาแต่ล่าสุดกลับบอกให้รักษาการณ์ต่อกรณีเช่นนนี้สร้างความสับสนแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่นค่อนข้างมากว่าสุดท้ายแล้วจะต้องปฏิบัติเช่นไรและประกาศ คสช.ฉบับที่ 85-86 ยังมีผลทางกฎหมายหรือไม่และหากเกิดการขัดกันจะใช้กฎหมายฉบับใดเป็นบรรทัดฐาน แต่หากมองในแง่ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยย่อมต้องตอบว่าทุกการกระทำทางกฎหมายของ คสช.นั้นไม่มีความชอบธรรมตามกฎหมายอยู่เลยเพราะเป็นผู้ทรงอำนาจที่มาจากการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน แต่ในเมื่อประชาชนไม่อาจต้านทานอำนาจของ คสช.ได้ก็คงได้แต่ก้มหน้ารับเอาความสุขที่ได้รับคืนมาให้อย่างเสียไม่ได้

 

 

[1] http://news.voicetv.co.th/thailand/137132.html

[2] http://prachatai.org/journal/2014/07/54590

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท