Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินสอบ รมว.-ปลัดพลังงาน ลงโฆษณาบิดเบือน แจงตัวเลขความต้องการใช้ปิโตรเลียมของคนไทยสูงเกินจริง

16 ต.ค. 2557 เวลาประมาณ 13.00 น. นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เดินทางไปที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ดำเนินการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศ โดยมี นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับหนังสือแทน

เนื้อหาในหนังสือร้องเรียนระบุว่า หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557 หน้า 16 (หน้ากีฬา) ได้ตีพิมพ์ภาพและข้อความประชาสัมพันธ์ ชื่อ "รู้จริง สัมปทานปิโตรเลียมไทย" พลังงานไทยเราเข้าใจ เราช่วยกัน ของกระทรวงพลังงาน

โดยข้อความในย่อหน้าที่ 6 ปรากฏข้อความว่า "หากคิดปิโตรเลียมทุกประเภทข้างต้นเป็นหน่วยบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบจะได้ว่า ไทยผลิตอยู่ที่ 870,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ความต้องการใช้ปิโตรเลียมของคนไทยมีมากกว่า 2,000,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ประเทศไทยจึงผลิตปิโตรเลียมได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้...”

จากการตรวจสอบรายงานประจำปีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปี 2556 หน้า 24 (เอกสารแนบหมายเลข 2 หรือดาวน์โหลดได้ที่ http://www.dmf.go.th/resources/ annualReport/annual/th/annualReport_th_2013.pdf) ได้แสดงข้อมูล "ดุลยภาพ ปิโตรเลียม มกราคม - ธันวาคม 2556" ซึ่งแสดงข้อมูลตัวเลขการจัดหาปิโตรเลียม การกลั่นและแยกปิโตรเลียม การบริโภคในประเทศและการส่งออก ไว้อย่างละเอียดชัดเจน สามารถตรวจสอบ ได้ดังนี้

ในปี 2556 ประเทศไทยมีการจัดหาปิโตรเลียมจากภายในประเทศได้รวมทั้งสิ้น 868,600 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน (ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลที่ปรากฏในโฆษณาจึงอาจประมวลได้ว่าเนื้อหาในโฆษณาชิ้นนี้ใช้ฐานตัวเลขข้อมูลของปี พ.ศ.2556) แต่จากเนื้อหาในโฆษณา ที่รายงานว่า "ความต้องการใช้ปิโตรเลียมของคนไทยมีมากกว่า 2,000,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน" นั้น เป็นเท็จ ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เนื่องจากตาราง "ดุลยภาพปิโตรเลียม มกราคม - ธันวาคม 2556" ที่ปรากฏอยู่ในรายงานประจ้าปีของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปี 2556 ได้แสดงข้อมูลอย่างชัดเจนว่า

ในปี 2556 มีการบริโภคในประเทศ ในรูปของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ แอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) แก๊สโซลีน (เบนซิน) เคโรซีน น้ำมันเครื่องบิน ดีเซล น้ำมันเตา บิทูเมน รวม 786,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มีการบริโภคก๊าซธรรมชาติ 800,800 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน รวมกันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,587,100 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อ วัน มิใช่มากถึง 2,000,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันอย่างที่กระทรวงพลังงานกล่าวอ้างในโฆษณา

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลสำคัญที่โฆษณาของกระทรวงพลังงานควรแจ้งให้ประชาชนทราบอย่างครบถ้วนแต่มิได้แสดง คือ ในปี 2556 ธุรกิจพลังงานภายในประเทศไทย ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ แอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) แก๊สโซลีน (เบนซิน) เคโรซีน น้ำมันเครื่องบิน ดีเซล น้ำมันเตา บิทูเมน รวม 214,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งทั้งหมดได้มาจากการแปรรูปน้ำมันดิบที่จัดหาจากภายในประเทศและจากการนำเข้า และยังมีการส่งออกน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากในประเทศอีก 26,100 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน รวมปิโตรเลียมที่ถูกส่งออกทั้งสิ้น 240,200 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย ในปี 2556 ว่า มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตได้จากโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศสูงเป็นอันดับที่ 3 ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมด มีมูลค่ารวม 386,002 ล้านบาท มีการส่งออกเม็ดพลาสติกของ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิต มีมูลค่ารวม 270,792 ล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 6 ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย และมีการส่งออกน้ำมันดิบอีก รวมมูลค่า 35,014 ล้านบาท

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดหาพลังงานปิโตรเลียมของประเทศไทยที่ผ่านมาทั้งจากการจัดหาภายในประเทศและจากการนำเข้า เป็นไปเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และเพื่อธุรกิจการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไปยังต่างประเทศด้วย

นายอิฐบูรณ์ ร้องเรียนเพิ่มเติม ว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของกระทรวงพลังงานตามข้อความดังกล่าว เป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ถูกต้อง บิดเบือนข้อเท็จจริงต่อประชาชน ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า การบริโภคพลังงานของคนไทยมีความฟุ่มเฟือยบริโภคพลังงานมากกว่าที่จัดหาได้ภายในประเทศ เป็นเพียงปัจจัยสำคัญปัจจัยเดียวเท่านั้นที่ทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินตราเพื่อซื้อพลังงานจากต่างประเทศอย่างมหาศาล และก่อให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านพลังงานแก่ประเทศชาติ อันนำไปสู่การวางแผน นโยบายพลังงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลต่อไปหลายประการ อาทิ การกำหนดแผนการจัดหาพลังงานที่สูงเกินจริงอันเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนโดยตรงในรูปของค่าเชื้อเพลิงพลังงานที่สูงขึ้น หรือการเร่งรีบให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่โดยไม่แสวงหารูปแบบการให้สิทธิการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมที่มีความเป็นธรรมต่อประเทศชาติมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น

โดยที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 ข้อ 6 ได้กำหนด ค่านิยมหลักของข้าราชการการเมืองไว้ว่า ข้าราชการการเมืองมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยจะต้องยึดมั่นในค่านิยมหลักดังนี้...

(7) ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ประมวลจริยธรรมของข้าราชการเมือง ได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการการเมือง ในข้อ 25 ไว้ว่า ข้าราชการการเมืองต้องไม่ใช้หรือบิดเบือน ข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเพื่อผลประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่น ส่วนประมวลจริยธรรมของข้าราชการพลเรือนก็ได้กำหนดในประเด็นนี้ไว้ในทำนองเดียวกัน

“โฆษณาชิ้นนี้แสดงตราสัญลักษณ์และชื่อของกระทรวงพลังงานไว้อย่างชัดเจน จึงย่อมเป็นความรับผิดชอบของ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่จะต้องดำเนินการตามมาตรฐานจริยธรรม ของข้าราชการการเมืองและข้าราชการพลเรือนในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่าง ครบถ้วน ถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง อย่างเคร่งครัดแต่กลับมิได้ดำเนินการ” นายอิฐบูรณ์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net