Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />

กรุงเทพในปี 2014 ต้องเรียกได้ว่าเป็นสถานที่ที่ไม่สัมฤทธิผลด้านการสื่อสารเลย

ความพยายามในการเจรจาระหว่างขั้วความคิดที่เเตกแยกในสังคมไทยซึ่งเกิดขึ้นมาเกือบทศวรรษได้เเตกหักลง  เเละดูเหมือนว่าความพยายามครั้งเเรกเเละครั้งเดียวที่เกิดขึ้นในการนำทั้งสองฝ่ายมานั่งบนโต๊ะเจรจากลายเป็นกลลวงที่ทหารใช้เพื่อจับกุมทุกคนในนั้นเเล้วทำการรัฐประหาร  เฟซบุ๊กกลายเป็นสนามรบของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งเป็นแหล่งที่ประชาชนเฝ้าจับผิดเพื่อนร่วมชาติด้วยการรายงานเจ้าหน้าถึงความคิดเห็น/พฤติกรรมที่่ต้องสงสัย

ในเวลาเดียวกัน ประเทศไทยทำลายสถิติด้วยสถานที่ที่มีการถ่ายรูปลงอินสตาแกรมมากที่สุดในโลก (ภาพโพสท์ถ่ายจากห้างหรูชื่อ พารากอน) คนไทยกลายเป็นชาติที่เข้าใช้อินสตาแกรมมากที่สุดในโลก เเละสาวไทยคนหนึ่งได้รับการขนานนามว่าถ่ายรูปตัวเอง หรือ Selfie โพสท์ขึ้นมากที่สุด ถึง 12,000 รูป  ปรากฏการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าคนไทยจำนวนมากใช้เวลาจดจ้องจอภาพเล็กๆ บนมือถือมากกว่ามองหน้าคนรอบข้าง ถ่ายรูปตัวเองเเล้วโพสท์ขึ้นบนอินเทอร์เนต ทำให้ตัวเองพอใจว่าเป็นคนสังคม

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนรู้สึกโล่งใจเมื่อ ลีนา อีริคสัน เเละ วาร์ชา นายร์ ให้ดูงาน Monday2Monday ของพวกเขา ซึ่งเป็นงานชุดต่อเนื่องในการการสื่อสารที่ทั้งสองทำมาตั้งเเต่ปี ค.ศ. 2011

งานในวันจันทร์ชิ้นหนึ่ง (จันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557) เป็นภาพจากกล้องถ่ายรูปรูเข็มตรงมุมถนนใกล้กับสตูดิโอของอีกคนแล้วอธิบายว่า “รูปภาพมีส่วนที่มืดมากเกินไป” “เเต่ยังมีจิตวิญญาณเเม้ในความมืด”

สัปดาห์ต่อมาอีกคนพิมพ์ภาพถ่ายนั้นออกมา เเล้วเจาะรูเข็มลงบนกระดาษ นำไปใส่กรอบเเขวนบนผนัง  รวมทั้งไปเดินดูรอบบริเวณที่ใช้ถ่ายรูปนั้นเเล้วเขียนตอบกลับว่า “ฉันวนเวียนไปเฝ้าดูมุมถนนตรงที่เธอถ่ายรูปนี้ และได้เห็นมันในมิติใหม่  ถึงเเม้ตรงนี้จะวุ่นวายมาก เเต่ความนิ่งจากภาพของเธอ--"พลัง" ของความมืดได้เข้าแทนที่”

 

สัปดาห์ต่อมาเป็นรูปวาดงานตั้งจอแล้วฉายหนัง (ป๊อปอัพ ซีเนมา) ในลานจอดรถ

อีกฝ่ายโต้ตอบด้วยวิดีโอการทำป๊อปคอร์น (ข้าวโพดคั่ว) แล้วเขียนว่า “สำหรับที่นี่ ตั้งเเต่มีคนเห็นผู้ประท้วงชายถูกยิงด้วยปืนที่ซ่อนอยู่ในถุงเม็ดข้าวโพดสำหรับทำป๊อปคอร์น  ป๊อปคอร์นก็ไม่ได้สื่อถึงความสนุกสุขใสๆ ในการขบเคี้ยวระหว่างดูหนังอีกต่อไป กลับกลายเป็น “ปัจจัย” ที่ออกไปทางด้านมืด”

หัวข้อการสนทนาจึงกลับไปที่ความมืดอีกครั้ง

การเเลกเปลี่ยนโต้ตอบดังกล่าวทำให้ผู้เขียนนึกถึงงานดั้งเดิมประเภทหนึ่งของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า เร็งงะ (กลอนร้อยต่อ) เร็งงะเป็นบทกลอนมีที่มาจากกวีหลายคน  เริ่มต้นด้วยกลอน 3 บาท ประกอบด้วยคำ 5-7-5 คำ โดยกวีคนที่หนึ่ง  กวีคนที่สองแต่งต่อด้วยกลอน 2  บาท ประกอบด้วยคำ 7-7 คำ  กวีคนที่สามตอบโต้ด้วยกลอน 3 บาทเหมือนคนเเรก คนที่สี่อีก 2 บาท เเละต่อไปเรื่อยๆ  เร็งงะมีหลายเเบบ เเละหลายชนิดมีกฎว่าต้องเเต่งจนถึงร้อยบท บางแบบถึงหมื่นบท  ถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่ง เมื่อผู้จัดตัดสินใจจัดงานแล้ว ต้องเลือกสถานที่ที่เงียบเเละมีบรรยากาศที่ช่วยสร้างเเรงบันดาลใจ จากนั้นจึงเชิญนักกลอนเข้าร่วมงาน เมื่อกลอนบทแรกถูกอ่านขึ้นถือเป็นการเริ่มต้น  เร็งงะมีมาตั้งเเต่ศตวรรษที่ 14 มีกฎกติกาที่ค่อนข้างซับซ้อน ไม่เฉพาะแต่จำนวนตัวอักษรหรือบรรทัดเท่านั้น เเต่รวมถึงความสัมพันธ์ของเเต่ละบทด้วย  ตัวอย่างเช่น กลอนบทที่สองต้องเกี่ยวโยงกับบทที่หนึ่ง เเต่บทที่สามต้องสร้างความแปลกแยกออกไป  เนื่องจากต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอดรายการสภาพความเกี่ยวโยงและความแปลกแยกของแต่ละบทต้องนำมาพิจารณา  เเต่ละบทจะถูกเขียนลงบนกระดาษพับเเบบญี่ปุ่น  รวมทั้งการวาดความเชื่อมโยงของหัวข้อ คำ (และโลกกว้าง) ในกลอนก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย  ดูเหมือนกับการวาดวงรูปจักรวาล (Mandala) ด้วยคำกลอน

บทต่อไปนี้เป็นบทเริ่มต้นเร็งงะที่ขึ้นชื่อ “Three Poet at Minase” (Minase sangin hyakuin) แต่งโดยกวีพระเซนในศตวรรษที่ 15

1. โซกิ (Sogi):   หิมะเกาะหน้าผา
     บนเขาบดบังด้วยสายหมอก
     ในยามเย็น

2. โชฮากุ (Shohaku):  ไกลห่าง สายน้ำไหล
     ผ่านหมู่บ้านอบอวลด้วยกลิ่นพลัม

3. โซโช (Socho):   ต้นหลิวเกาะเกี่ยว
     ลู่ลมลำธาร
     ยามฤดูใบไม้ผลิมาเยือน

การโต้ตอบแบบนี้มีไปจนถึงร้อยบท บทเเรกได้ทางมาจากกลอนชิ้นเดิมอยู่เเล้ว ใช้คำ 3 คำที่สื่อถึงพื้นที่ปิดอับแสง (หิมะ, สายหมอก เเละยามเย็น) แต่ละตัวเเสดงให้เห็นแต่ละช่วงชีวิตที่เศร้าหมองของคนๆ หนึ่ง  ในขณะเดียวกันแต่ละคำก็เเสดงให้เห็นว่าไม่ได้เลวร้ายไปกว่ากัน  และยังหวังว่าแสงจะมาเยือน  ความแตกต่างอยู่ที่เมื่อไรเท่านั้นเอง  “สายน้ำไหล” ในบทที่สองเกี่ยวข้องกับ “ภูเขา” ในบทเเรก ทำให้เกิดภาพรวมขึ้นถึงขนาดได้กลิ่นอาย  “สายน้ำไหล” ยังเเสดงถึงความเชื่องช้าและเวลายาวนานซึ่งขัดเเย้งกับน้ำที่ไหลจากผา  ส่วนบทที่สามเป็นการเริ่มภาพใหม่ คราวนี้เราเห็นต้นหลิวลู่ลมบ่งบอกถึงฤดูใบไม้ผลิ  ว่ากันว่าต้นหลิวเป็นสัญลักษณ์ของเขตเเดน ดังนั้นส่วนของกลอน 100 บทนี้เป็นเรื่องของภาพปริศนาที่นักเดินทางเห็น เร็งงะไม่มีการจำกัดหัวข้อแต่มีรายละเอียดของกฎเกณฑ์ในการส่งต่อหัวข้อจากบทหนึ่งไปอีกบทหนึ่งเท่านั้น

ปัจจัยหลักที่แยกคนทำงานด้านวัฒนธรรมอย่างกวีและศิลปินออกจากคนที่ไม่ได้อยู่ในสายงานนี้คือ พวกแรกจะรับรู้เรื่องที่ไม่สอดคล้องกันได้มาก รู้สึกถึงความเเตกต่างในทุกขณะ ไม่ว่าพวกเขาจะเเตกต่าง คิดต่าง หรือทำอะไรที่ต่างไปจากคนอื่น  เขาเห็นโลกต่างจากคนอื่น  หรือทำโลกให้ต่างไปจากที่คนอื่นนิยาม  จากหลักการดังกล่าวคนทำงานสายวัฒนธรรมเลือกใช้สื่อที่แตกต่างไปในการเเสดงออกถึงเรื่องที่ไม่สอดคล้องกัน

ศิลปะการสื่อสารใช้วิธีการที่ผู้คนสื่อสารกันเป็นปัจจัยในการผลิตงานศิลปะ (ต้องแยกระหว่างคำว่า “สื่อด้านการสื่อสาร” (communication media) กับ “ศิลปะการสื่อสาร” (communication art)  ที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในงานออกเเบบเเละโฆษณา มันเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสื่อสังคมปัจจุบัน ที่หลายๆ ครั้งการสื่อสารไม่ได้รับการเหลียวแล ถูกใช้ไปในทางที่ผิด หรือใช้เพื่อเเสวงหาผลประโยชน์

ในฐานะภัณฑรักษ์ด้านวิดีโอ ผู้เขียนเคยจัดงานฉายวิดีโอตลอดคืนครั้งหนึ่ง เป็นงานวิดีโอจดหมายโต้ตอบระหว่างศิลปินชาวญี่ปุ่นสองท่าน  บอกได้เลยว่าเป็นการสานต่อวิธีการดั้งเดิมของเร็งงะเพียงเเต่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่  ศิลปินใช้ทุกแง่มุมของการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการคาดคะเน เข้าอกเข้าใจ การโต้ตอบ ความเป็นอิสระ การให้ความเคารพ เเล้วทดลองกับสิ่งเหล่านี้ด้วยทัศนคติที่มุ่งมั่นอย่างมีศิลปะ  โดยรวมเเล้วสิ่งที่ทั้งสองทำและสิ่งที่กวีเร็งงะได้ทำเป็นอย่างนี้ การใช้ความเข้าอกเข้าใจเป็นฐานเพื่อคิดว่าอีกฝ่ายเห็นเเละมองโลกอย่างไร การคาดคะเนช่วยให้ขั้นตอนเป็นไป เเละมีปฏิสัมพันธ์กับโลกอีกด้านด้วยการผลิตภาพขึ้นมาใหม่  วิธีการเช่นนี้ศิลปินถักทอภาพที่ซับซ้อนของโลกต่างๆ ขึ้นในภาพนั้น  รวมทั้งสร้างมวลความนึกคิดในเนื้อหานั้นๆ  การมีความอิสระเเละเป็นตัวของตัวเอง เคารพความเป็นอิสระ จินตนาการ เเละความคิดสร้างสรรค์ของผู้อื่น มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่องานศิลปะที่ทำร่วมกัน

ศิลปินในปัจจุบันจะใช้ทวิตเตอร์เเละไลน์ (พร้อมสติ๊กเกอร์!) เป็นตัวกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์พร้อมกับคงความมีศิลปะไว้ได้หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องรอดูต่อไป  ในตอนนี้ประเทศไทยยังตกอยู่ในหมอกเเละความมืดดำ  เเต่ขอให้เราดีใจว่ายังมีคนทำงานศิลปะที่เห็นคุณค่าของการสื่อสารอย่างจริงจัง  ในกรณีงาน Monday2Monday ของลีนา อีริคสัน เเละ วาร์ชา นายร์  จะต้องให้ความสนใจเรื่องการสื่อสารผ่านต่างวัฒนธรรมเป็นพิเศษ  ทั้งสองยังอาศัยอยู่ในสภาพเเวดล้อมที่เเตกต่างกันด้วย--คนหนึ่งอาศัยอยู่ในประเทศที่มีความมั่นคง เจริญ เเละสงบสุขที่สุดในโลก ซึ่งในเเง่ของศิลปะเเล้วมันอาจเป็นอุปสรรคได้เช่นกัน  ในขณะที่อีกฝ่ายอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศซีกโลกใต้  ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ามีความวุ่นวายทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ด้านหนึ่งอาจสร้างแรงบันดาลใจให้ได้เเต่อีกด้านก็อาจมากเกินไป  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่จะดูว่าการโต้ตอบของพวกเขาพัฒนาอย่างไรในงานที่ไม่มีกรอบจำกัด  อย่างไรก็ดี ศิลปะการสื่อสารเรียกร้องให้ต้องมีความอดทนเเละความสามารถที่จะรักษาแรงกดดันทางศิลปะทั้งของศิลปินเเละผู้ชม  ยังมีเฟซบุ๊กสำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์จะเกี่ยวข้องกับการสื่อสารเเบบนี้
  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net