Skip to main content
sharethis

ชุมชนเก้าบาตร ตั้งอยู่ในหมู่บ้านลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์  แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ที่มีการปะทะกันระหว่างทหารและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วง 2516 -2520  จึงมีการเปิดพื้นที่ให้ราษฎรเข้าไปทำกิน ตามนโยบาย “การทำลายทัศนียภาพที่บดบัง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวบ้านก็เข้าไปทำกิน และอยู่อาศัย ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านจะปลูกข้าวและมันสำปะหลังสลับกันไป จนกระทั่งการปะทะกันระหว่างกลุ่มคอมมิวนิสต์และทหารสงบลง ในช่วงประมาณปี 2520 จึงได้มีการอพยพชาวบ้านที่เข้าไปทำกินออกจากพื้นที่ และได้จัดสรรพื้นที่ให้กลุ่มชาวบ้านครอบครัวละ 15 ไร่ เป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 8,100 ไร่ ซึ่งยังคงเหลือพื้นที่อีกประมาณ 20,000 ไร่ ชาวบ้านจึงพยายามเจรจาต่อรองขอพื้นที่ทำกินเพิ่มแต่ก็ไม่สำเร็จ ต่อมาในช่วงปี  2531 -2537 มีบริษัทเอกชนเข้ามาขออนุญาตสัมปทานสวนป่ายูคาลิปตัสจากกรมป่าไม้ ซึ่งมีเอกชนได้รับอนุญาตรวมทั้งสิ้น 7 บริษัท คิดเป็นเนื้อที่ทั้งหมด 23,476 ไร่

หลังจากเอกชนหมดสัญญาสัมปทาน ชาวบ้านจึงพากันกลับเข้ามาทำกินในพื้นที่ดังกล่าวอีก  ในช่วงปี 2549 -2552 ตลอดระยะเวลาที่พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ มีการพยายามผลักดันให้ออกจากพื้นที่อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ อย่างไรก็ตามการผลักดันที่ผ่านมามีการพยายามประนีประนอมกันมาโดยตลอด ภายหลังรัฐประหาร การปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ประมาณวันที่ 28 มิถุนายน 2557 โดยเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของ คสช . ฉบับที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้

สถานการณ์ในพื้นที่ดูเหมือนจะตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ มีลำดับดังนี้

10 ก.ค.เพจสมัชชาคนจนรายงานว่า เวลาประมาณ 12.30 น. เจ้าหน้าที่ ร.พ.ส.ต. ลำนางรอง จำนวน 2 คน และหมอทหาร จำนวน 2 คน เข้าไปขอตรวจและถามสอบปัญหาสุขภาพชาวบ้านเก้าบาตร และเวลาประมาณ 13.30 น. ได้รับแจ้งจากชาวบ้านเสียงสวรรค์ว่า มีเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่อำเภอโนนดินแดง จำนวน 30 คน กำลังรื้อบ้าน จำนวน 3 หลัง ที่ยินยอมเซ็นชื่อในเอกสารที่เจ้าหน้าที่นำมาให้เซ็นเมื่อวานนี้

9 ก.ค. ช่วงเช้าทหารเข้าเชิญตัวนักข่าวประชาไทออกจากพื้นที่ จากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่อำเภอโนนดินแดง ประมาณ 50 นาย เข้าพื้นที่และยืนยันให้ชาวบ้านเก้าบาตรทุกคนเซ็นชื่อในเอกสารแบบคำร้องขอความช่วยเหลือจากทางราชการเพื่อแก้ไขปัญหาป่าดงใหญ่  โดยมีเนื้อความว่า ให้ชาวบ้านยอมรับว่าเป็นผู้บุกรุกป่าสงวน หากไม่เซ็นเจ้าหน้าที่ทหารจะจับกุม แต่ชาวบ้านไม่มีใครยินยอมเซ็นชื่อ เจ้าหน้าที่จึงถอนกำลังออกจากพื้นที่ไป เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.  และเดินทางต่อไปบ้านเสียงสวรรค์

เวลาประมาณ 15.30 น.  มีการตั้งด่านสกัดเพิ่มเป็นช้อน 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นด่านเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทำหน้าที่ตรวจบัตรประจำตัวประชาชนและจดบันทึกชื่อไว้  ชั้นที่สองเป็นด่านเจ้าหน้าที่ทหารทำหน้าที่ตรวจค้นสิ่งของทั้งหมดที่ผ่านเข้าออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้องถ่ายรูป  โทรศัพท์มือถือ  หากตรวจพบเจ้าหน้าที่จะทำการยึดไว้ก่อน  เมื่อกลับออกมาจึงจะคืนให้

8 ก.ค.  2557  เวลาประมาณ 9.00 น.ทหารนำหน่วยพยาบาลเข้ามาในพื้นที่เพื่อตรวจสุขภาพและรักษาพยาบาลแก่ชาวบ้าน ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. ได้มีทหารสังกัดกองพันทหารราบที่4 กรมทหารราบที่ 23 จังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ นำทหารมาสมทบกับหน่วยพยาบาล โดยมี นายพจน์ วิจิตตริยพงศ์ ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดบุรีรัมย์ สังกัด กอ.รมน. เข้ามาพูดคุยเจรจากับชาวบ้านชุมชนเก้าบาตร โดยได้อธิบายถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานของหน่วยงานถึงมาตรการในการจัดการกับปัญหา โดยเริ่มต้นจะเป็นการเข้าไปประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการคัดกรองเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านต่อไป โดยจะแบ่งชาวบ้านออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่อื่นก็ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน และอีกกลุ่มคือกลุ่มคนที่ยากจนจริงๆ ไม่มีที่ดินทำกิน ก็จะให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่พักชั่วคราวที่ได้จัดหาไว้ ทั้งนี้ยังไม่มีมาตรการใดมารองรับในระยะยาว และหลังจากชาวบ้านอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ก็จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพป่า

พจน์กล่าวว่า  “ยืนยันว่าจะไม่มีการให้สัมปทานของเอกชนเข้ามาอีกอย่างแน่นอน  มีแนวทางเดียวคือฟื้นฟูสภาพป่า”        

ตลอดช่วงที่มีการอธิบายแนวทางการดำเนินงานของ กอ.รมน. ชาวบ้านไม่ได้ให้ความสนใจมากนักและไม่มีใครยอมลงชื่อในเอกสารคัดกรองที่เจ้าหน้าที่นำมา

ต่อมาเวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารระบุว่าพบไม้พะยูงจำนวน 38 ท่อน ในบริเวณป่าสักซึ่งห่างจากศาลากลางหมู่บ้านที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 50 เมตร  

15.00 น. เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำการขนไม้พะยูงที่ตรวจพบและถอยรถที่บรรทุกไม้พะยูงมาจอดบริเวณหน้าหมู่บ้าน มีการถ่ายรูปไม้พะยูงที่ตรวจพบกับป้ายหมู่บ้านเก้าบาตร จากนั้นมีทหารนายหนึ่งเดินเข้ามาบอกชาวบ้านว่าอยู่ในป่าก็ต้องช่วยกันรักษา ดูแลป่า ไม่ใช่ให้ใครมาตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ชาวบ้านโกรธมาก โดยชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงพากันร่ำไห้และก่นด่าสาปแช่งทหาร เพราะพวกเขาเชื่อว่าเป็นการใส่ร้ายว่าพวกเขาเป็นคนตัดไม้พะยูงเหล่านั้น ก่อนหน้าการทำพิธีสาปแช่งของชาวบ้านซึ่งเป็นพิธีกรรมทางศาสนา ในขณะที่มีการทำพิธีเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารได้ยืนมองอยู่บริเวณรอบนอกและทำการบันทึกภาพแต่ไม่มีการเข้ามาห้ามการทำพิธีกรรมแต่อย่างใด

เวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารได้เดินทางออกจาหมู่บ้านไป

ทั้งนี้ วันที่ 8 ก.ค.เป็นวันทหารกำหนดเส้นตายให้ชาวบ้านรื้อถอนบ้านเรือนและอพยพออกจากพื้นที่ โดยทหารได้แจ้งเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ว่า หากชาวบ้านไม่รื้อ ทหารจะมารื้อเอง ทำให้ชาวบ้านขนของออกจากบ้านและไปอาศัยอยู่รวมกันที่บริเวณศาลากลางหมู่บ้านหลังวันที่ 5 ก.ค.เป็นต้นมา เนื่องจากไม่กล้าอาศัยอยู่ในบ้านของตนเอง ปัจจุบันในบริเวณศาลามีชาวบ้านรวมกันประมาณ 40 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net