Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา ดร.สามชาย ศรีสันต์ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอบทความเรื่อง "มโนทัศน์การพึ่งตนเองของชาวชนบท: การลดทอนความหมายให้เป็นหมู่บ้านในนิทาน"  ในการประชุมวิชาการเรื่อง "ชุมชนพึ่งตนเอง: ทางออกหรือความฝันของนักพัฒนา" ณ ห้องบรรยาย สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ชั้น 6 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

บทความชิ้นนี้มีความพยายามคลี่คลายให้เห็นถึงมโนทัศน์ “การพึ่งตนเอง” ซึ่งถูกนำมาใช้ผ่านแนวคิด ทฤษฎีการพัฒนาชนบทในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง และส่งผลต่อการสร้างภาพที่บิดเบือนความหมายที่คนในสังคมมีต่อชนบทและคนชนบท ภาพบิดเบือนที่มีต่อชนบทดังกล่าวมีใน 3 ลักษณะ ลักษณะแรกคือ การที่ชนบทเป็นพื้นที่บริสุทธิ์ตัดขาดจากโลกภายนอก ลักษณะที่สองคือ การที่ผู้คนในชนบทใสซื่อ ไม่ประสาทางการเมือง และไม่มีการเมืองในพื้นที่ชนบท ลักษณะที่สามคือ ความทันสมัย การเปลี่ยนแปลงตามโลกตะวันตกคือความเลวร้าย ซึ่งลักษณะทั้ง 3 ประการจะมีอยู่ก็แต่ในนิทานเท่านั้น  

สำหรับการคลี่คลายมโนทัศน์ดังกล่าวใช้วิธีการดึงชุดมายาคติออกมาจากอีกมุมหนึ่งโดยเน้นเฉพาะการถอดรหัส (coding) ที่ถูกยัดใส่ลงไปในความหมายของชนบทไทย ดังตัวอย่างในเพลงชื่อ “หมู่บ้านในนิทาน” แต่งโดย นิติพงศ์ ห่อนาค ซึ่งเป็นเพลงในอัลบั้ม เต๋อ1 ที่โด่งดังในช่วงปี 2526 เนื้อเพลงได้ให้ภาพแทนต่อชนบทที่มีความอุดมสมบูรณ์ สวยงาม ผู้คนมีจิตใจเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ซึ่งดูจะเป็นความหมายที่คนไทย โดยเฉพาะชนชั้นกลางมี “มโน”  ต่อชนบทมาในทุกยุคสมัย และไม่เพียงแต่ในโลกทางสังคมเท่านั้น แต่โลกทางวิชาการสาขาว่าด้วยการพัฒนาชนบท ก็นำชุดความคิดดังกล่าวบรรจุไว้ในฐานะที่เป็นรหัสของการผลิตแนวคิดทฤษฎีการพัฒนาด้วย ดังเช่น การผลิตสร้างความหมายของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้ถูกประกอบสร้างขึ้นภายใต้ความเชื่อที่ว่า คนชนบท พื้นที่ชนบทไทยสามารถพึ่งพาตนเองและดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง เพลง “หมู่บ้านในนิทาน”มีเนื้อหาว่า

             ก่อนยังมีแดนห่างไกล                  ไกลนักแต่มีคนพักอาศัย

             บางคนที่เคยไป                           ยังติดใจหนักหนา

             มีชาวบ้านชาวนา                         กินอยู่มานมนาน

             มีทุ่งนาป่าเขียวสดงาม                 มีน้ำใสเย็นอยู่ในลำธาร

             ผู้คนเลยชื่นบาน                           ไม่มีใครร้าวราน

             หมู่บ้านในนิทาน                          สุขสันต์ตลอดมา

             ไม่มีแสงสีล่อใจ                           ไม่มีรถขวักไขว่ล้นถนน

             ไม่มีคนหลอกลวงคน                    มีแต่คนจริงใจ

             มีก็แบ่งกันไป                               มีอะไรก็เจือจาน

             คนกับคนไม่จนจิตใจ                    มากไปน้อยไปให้กันเป็นทาน

 

การพึ่งตนเอง ลดภาระของรัฐเพิ่มบทบาทภาคเอกชน

สามชาย ได้อธิบายการปรากฏตัวของมโนทัศน์การพึ่งตนเอง ผ่านการสำรวจมโนทัศน์การพึ่งตนเอง (self-reliance) ในกลุ่มประเทศแอฟริกา โดยพบว่าเป็นหนึ่งในมโนทัศน์ที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในประเทศกลุ่มแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า (Sub-Saharan Africa) มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาแก้ปัญหาความยากจนที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในประเทศแถบนี้ การพึ่งตนเองได้กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของแนวทางการพัฒนาที่เน้นการพัฒนารากฐานทรัพยากรของท้องถิ่น ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ศักยภาพของประชากร และวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยการพัฒนาท้องถิ่นในที่นี้ เป็นการพัฒนาในระดับชุมชน ที่คนในชุมชนสามารถจะช่วยตนเองได้ด้วยการค้นหาศักยภาพที่มีอยู่ภายในชุมชน ตัดสินใจ และลงมือดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเอง มโนทัศน์นี้ต่อต้านการพัฒนาที่มาจากส่วนกลาง หรือแบบบนลงล่าง (top-down) เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับทักษะ ความสามารถ ความรู้ และภูมิปัญญาของท้องถิ่น แต่การพัฒนาจะต้องมาจากคนในชุมชนเองที่ใช้ความรู้ที่มีอยู่ และลงมือดำเนินการพัฒนาด้วยตนเอง

ขณะที่ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ให้ความหมายของการพึ่งตนเองว่า เป็นการพัฒนาชุมชนที่ผู้ได้รับการพัฒนามีส่วนในการตัดสินใจ วางแผน และรับความช่วยเหลือในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนของการพัฒนา ไม่ใช่ผู้รับผลการพัฒนา การพึ่งตนเองจะสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง และช่วยส่งเสริมศักยภาพความสามารถของชุมชนให้มีพลัง (empowerment) เพื่อการพัฒนา

จากการสำรวจมโนทัศน์การพึ่งตนเองในการพัฒนาของประเทศในกลุ่มแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า สามชายชี้ให้เห็นว่า มีลักษณะสำคัญร่วมกันในหลายประเทศ นั่นคือ การพยายามตัดลดงบประมาณการให้ความช่วยเหลือในด้านสวัสดิการทางสังคมจากภาครัฐ และส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จัดหาเงินกู้ในรูปของสถาบันการเงินขนาดเล็ก พร้อมไปกับการส่งเสริมให้เกิดรายได้จากภาคการเกษตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของท้องถิ่น รัฐทำหน้าที่ในการให้ความรู้ จัดฝึกอบรม และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของประชาชนในท้องถิ่นที่จะครอบครองทรัพยากร และมีพลังความสามารถในการตัดสินใจ กำหนด และควบคุมการพัฒนาด้วยตัวของตัวเอง ดังที่แนวคิดการพึ่งตนเองได้กล่าวอ้างถึง

นอกจากนั้น มโนทัศน์การพึ่งตนเองยังมีลักษณะเป็นวาทกรรมทางการเมือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เช่น ในเอกสารวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ที่มีต่อการพึ่งตนเองของประเทศอัฟกานิสถาน พบว่าเนื้อหาในเอกสารดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะพึ่งตนเอง อีกทั้งไม่ปรากฏชัดเจนว่าอัฟกานิสถานพึ่งพาสินค้า บริการ และความช่วยเหลือจากต่างประเทศในด้านใดบ้าง และอะไรคือแนวทางที่จะลดการพึ่งพาเหล่านั้นลง การพึ่งตนเองถูกนำมาใช้เป็นเป้าหมายที่มีลักษณะเป็นนามธรรม

 

ชนบทไทยยากจนจึงต้องพึ่งตนเอง

สำหรับประเทศไทย สามชายชี้ว่า นับแต่ปี 2525 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) เป็นต้นมา ได้ปรากฏเอกสารทางวิชาการจำนวนมากที่ส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับการพึ่งตนเองของชาวชนบท โดยแนวคิดเหล่านี้สอดแทรกอยู่ในงานการศึกษาของกลุ่มนักวิชาการและคนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนที่รู้จักกันในชื่อว่า “วัฒนธรรมชุมชน” ซึ่งถือเป็นแนวคิดการทำงานพัฒนาในระดับชุมชนหมู่บ้านที่ทรงอิทธิพลมากในสังคมไทย โดยถูกยกชูให้เป็นอุดมการณ์ทางสังคม ส่องแสงสว่างนำทางการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมชุมชน  ถูกเสนอเป็นทางการครั้งแรกในการสัมมนาเรื่อง วัฒนธรรมไทยกับการพัฒนาชนบท เมื่อ 23 - 24 ตุลาคม 2524 ที่สวางคนิวาส จ.สมุทรปราการ ทั้งนี้ พื้นฐานการพัฒนาตามแนววัฒนธรรมชุมชนมีฐานคิดที่สำคัญอยู่ว่า ชนบทนั้นดีอยู่แล้ว มีความเพียบพร้อมสมบูรณ์ทั้งด้านจิตใจของผู้คน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณี สิ่งนี้เป็นความพยายามที่จะสร้างขึ้นผ่านงานเขียนที่มีเป็นจำนวนมากในช่วงระหว่างปี 2525 – 2535 นักวิชาการแนววัฒนธรรมชุมชนยอมรับต่อเรื่องนี้ว่า เป็นความจำเป็นที่จะสร้างภาพ “ในจินตนาการ” ให้กับสังคมชนบท เนื่องจากเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ เพื่อผลักดันแนวคิดการพัฒนาที่จะทำให้สังคมหันกลับมามองคุณค่าของคนชนบท พื้นที่ชนบท

การพึ่งตนเองที่เริ่มปรากฏชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5  ปรากฏอยู่ในแผนการแก้ปัญหาความยากจน โดยเป็นแผนงานในระดับหมู่บ้านที่ต้องการ “สนับสนุนการพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น โดยเน้นการพึ่งตนเองและความร่วมมือของประชาชนในท้องถิ่น ในรูปการรวมกลุ่มให้เข้มแข็งเป็นหลักสำคัญ”

หลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” จากพระราชดำรัสนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจพอเพียงก็คือ ความสามารถในการพึ่งตนเอง โดยมีรูปธรรมเน้นไปที่ภาคการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน จากนั้นมา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้กลายเป็นแนวทางสำคัญของการพัฒนาชนบท ซึ่งสามชายสรุปว่า แนวทางการพัฒนาชนบทไทยนับแต่เริ่มมีแผนพัฒนาชนบทอย่างจริงจังจนถึงปัจจุบัน ยังคงตกอยู่ภายใต้มโนทัศน์ “การพึ่งตนเอง” เป็นหลัก ซึ่งมันได้สร้างความหมาย และรูปแบบปฏิบัติที่ทำให้ชนบทกลายเป็นอื่นที่แตกต่าง ห่างไกล และต้องควบคุมไว้ด้วยการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเอง

  

ชนบท - เมือง เราต่างพึ่งพากัน

ผู้เขียนเห็นว่าบทความของสามชายได้พยายามเสนอ "ทางลอง" ในการวิพากษ์ "ทางเลือก" ของกระแสการพัฒนาชนบทที่ถูกยึดกุมจนเป็น "ทางหลัก" ในปัจจุบัน เขาเสนอว่า ความสำเร็จในการสร้างเรื่องราวของหมู่บ้านที่สงบสุข อุดมสมบูรณ์ ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ที่กระทำผ่านงานเขียน และการสร้างพื้นที่ศึกษาดูงาน ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “ศูนย์เรียนรู้” เหล่านั้น ไม่ใช่ภาพทั้งหมดของหมู่บ้านชนบท  ในทางตรงกันข้ามความสำเร็จที่แสดงให้เห็นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับครัวเรือนเกษตรกรที่ยากจน ขาดแคลนแหล่งน้ำ ไม่มีที่ดินทำกิน   นอกจากนั้น ในพื้นที่ชนบท ชาวบ้านที่ดำเนินชีวิตโดยการทำการเกษตรผสมผสานก็มีอยู่เพียงไม่กี่ครัวเรือนในหมู่บ้าน

การสร้างภาพชนบทให้เป็นดั่งหมู่บ้านในนิทาน นำไปสู่ภาพบิดเบือนที่มีต่อชนบทว่า ตัดขาดจากโลกภายนอก บริสุทธิ์ ไม่มีการเมือง และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย ขณะที่สามชายมองว่า ในโลกความเป็นจริง ชนบทมีการติดต่อสัมพันธ์ และมีภาระหน้าที่ตอบสนองต่อสังคม ทั้งสังคมไทย และสังคมโลก ไม่มีชนบทที่แยกตัวอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป ดังเช่น การเคลื่อนย้ายทุน แรงงาน สินค้า และบริการตามเมืองชายแดน คนในชนบทไปทำงานต่างประเทศ ในเมืองใหญ่ รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการ เป็นนักการเมือง และผู้บริหารท้องถิ่น ชนบทกลายเป็นชนบทที่ผสมผสานกับเมือง กับโลกที่เป็นสากล ขณะเดียวกันเมืองก็พยายามสร้างความเป็นชนบท ดังเช่น ตลาดร้อยปี  การจัดงานนิทรรศการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม ความเป็นลูกผสมระหว่างเมือง ชนบท และโลก จึงทำให้ภาพของชนบทพล่าเบลอ และเชื่อมผสานจนทำให้การศึกษาชนบท ไม่สามารถศึกษาชนบทในฐานะที่เป็นพื้นที่ตรงข้ามกับเมืองได้อีกต่อไป การศึกษาชนบทหันมาสนใจการศึกษาสลับ - ข้าม (criss - crossing) สถานที่ โดยมุ่งทำความเข้าใจชนบทในฐานะที่เป็นสถานที่ซึ่งทำหน้าที่สัมพันธ์กับภายนอก ได้รับอิทธิพลจากเศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เป็นชนบทที่ไม่ได้แยกอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ทำการผลิต และบริการตอบสนองต่อโลก ชนบทมีศักยภาพต่อสู้ ต่อรองทางการเมืองในรูปของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งยึดโยงอยู่กับการเมืองส่วนกลาง และการเมืองเฉพาะของท้องถิ่นชนบทเอง มโนทัศน์การพึ่งตนเอง จึงเป็นมโนทัศน์ที่พ้นสมัย เพราะในสังคมปัจจุบันไม่มีชุมชนใด หรือประเทศใด ดำรงอยู่โดยไม่ติดต่อพึ่งพาภายนอก

ในช่วงท้ายของการนำเสนอ สามชายได้สรุปให้เห็นว่า "การตรึงนิยามชนบทไว้ให้เป็นชนบทดังในอดีตที่ปิดกั้น แยกตัวออก เป็นผลดีสำหรับการผลิตซ้ำวัฒนธรรมของความเหลื่อมล้ำ ที่ไม่ต้องการให้พื้นที่ทางการเมืองถูกแย่งชิงไป คนผู้มีการศึกษาในเมืองมีความสุขกับสิทธิที่ได้รับเหนือกว่า มีความสุขกับการที่กรุงเทพฯ และภาคกลางเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน การบริการสาธารณะ รวมทั้งการเมืองการปกครอง คนเมืองผูกขาดพื้นที่ของการเลือกนักการเมือง ตัวบุคคลที่จะมาเป็นผู้บริหารประเทศ นโยบายการพัฒนาประเทศจะต้องมาจากความพึงพอใจของคนเหล่านี้ก่อน เพราะคิดเอาว่าตนเป็นกลุ่มที่เสียภาษีมากกว่า พฤติกรรมแบบนี้ คือการแสวงหาค่าเช่าทางการเมือง (political rent seeking) เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการแช่แข็งภาพชนบทให้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับเมือง โดยอ้างว่าตนเป็นตัวแทนของความดี และเป็นผู้รู้ดีกว่าขณะเดียวกันก็ทำให้ระบบสวัสดิการทางสังคมที่มีขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม และตอบสนองต่อคนชนบท กลายเป็นนโยบายประชานิยม ลดทอนความเป็นพลเมืองของคนชนบทให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่ต้องพึ่งพารัฐ"

 

เก็บตก

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่บทความดูเหมือนจะทำการรื้อสร้าง "มโน" ต่อการศึกษาชนบทจำนวนมาก แต่การอธิบายต่อชนบทใน "ความจริง" ว่าเป็นอย่างไรในปัจจุบัน ผู้เขียนมีความเห็นว่า เป็นสิ่งที่ยังต้องการให้ถูกนำเสนอออกมามากกว่านี้ ขณะเดียวกันบทสรุปที่ว่า "มโนทัศน์การพึ่งตนเองเป็นเรื่องที่พ้นสมัยไปแล้ว"  ได้โยงไปถึงการตั้งคำถามสำคัญต่อการนิยามชนบทไทย และสภาพชนบทที่ไม่สามารถแยกขั้วเด็ดขาดได้อย่างเดิมอีกต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิชาการหลายท่านได้เคยเสนอเอาไว้อย่างกว้างขวางว่า "เราควรจะมานิยามชนบทกันใหม่"[1] งานชิ้นนี้ได้นำเสนอการวิเคราะห์ที่ทวนเข้าไปในพื้นที่ของการศึกษาด้านการพัฒนาชนบทจากอีกมุมหนึ่ง เพื่อท้าทายภาพมายาคติต่อชนบท และเปิดประเด็นวิพากษ์ต่อเนื่องถึงแนวทางการศึกษาการพัฒนาชนบทในปัจจุบัน จากที่มีการนำเสนอมาอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนและหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา[2] อย่างไรก็ดี แม้สังคมไทยจะมีการรื้อสร้างมายาคติต่อชนบทมาแล้วอย่างต่อเนื่อง แต่หากเราพิจารณาจากข้อเท็จจริงทางการเมือง จะเห็นว่า “มโน” ดังกล่าวยัง "ขลัง" พอที่จะสามารถถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกันทางการเมืองอย่างทรงพลัง และเป็นประเด็นสำคัญในการก่อตัวของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องการโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยไทยในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา จนมาสำเร็จลงเมื่อการรัฐประหารได้มาถึงในเย็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

 

 

อ้างอิง

[1]ดูความเห็น นลินี ตันธุวนิตย์ ในการแสดงความเห็นต่อผลการศึกษาเรื่อง “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” วันที่ 28 มกราคม 2557.

[2]ดูเพิ่มเติมในงานที่วิพากษ์การศึกษาชนบท ที่สำคัญ อาทิ เอกสารการประชุมวิชาการเรื่อง "ภูมิทัศน์และการเมืองของการพัฒนาชนบทไทยร่วมสมัย"  วันศุกร์ ที่ 8 กรกฎาคม 2554 จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; อนุสรณ์ อุณโณ และคณะ. (2554). วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม), ประจักษ์ ก้องกีรติ.(2555). การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง: วาทกรรม อำนาจและพลวัตชนบทไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, ยุกติ มุกดาวิจิตร. (2548).  อ่าน "วัฒนธรรมชุมชน": วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนววัฒนธรรม ชุมชน. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, อภิชาต สถิตนิรามัย และคณะ.2555.รายงานเบื้องต้นโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและ สังคมของชนชั้นใหม่. กรุงเทพฯ : สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net