Skip to main content
sharethis

 

 

ประชาไท - 29 พ.ย.2549  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ เวลา 17.00 น. ที่วัดยาง ซอยอ่อนนุช 23 จะมีพิธีฌาปนกิจ นพ.

อภิเชษฎ์ นาคเลขา หรือนามปากกาที่เป็นที่รู้จักคือ "หมอเมืองพร้าว" ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งหลอดอาหาร ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยวัย 57 ปี

 

ทั้งนี้ นพ.อภิเชษฎ์ จบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ถือเป็นผู้หนึ่งที่ได้สร้างตำนานการอุทิศตนเพื่อรักษาผู้เจ็บป่วยในชนบทห่างไกล โดยเลือกไปเป็นแพทย์ประจำสถานีอนามัย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความทุกข์ยากของคนไข้ในชนบทและการถูกคุกคามจากอิทธิพลท้องถิ่นมาลงในหนังสือหลายฉบับจนมีการรวมเป็นเล่มชื่อ "จดหมายจากหมอเมืองพร้าว" ต่อมาได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขมุ่งมั่นที่จะออกไปทำงานในชนบทอย่างมากในช่วงดังกล่าว

 

        

ที่มา: http://www.matichon.co.th/matichon

 

 

 

 

 

หมอเมืองพร้าว แพทย์ชนบทเสียชีวิต

 

นพ.อภิเชษฎ์ นาคเลขา ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับหมอรุ่นใหม่ที่จะทำตามอย่างเขาที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง เสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วยโรคมะเร็งในหลอดอาหาร

 

นพ.อภิเชษฎ์ ผู้กลายเป็นตำนานในวงการแพทย์หมอชนบทของไทย เป็นที่รู้จักกันดีในนาม "หมอเมืองพร้าว" จากหนังสือ "เสี้ยวหนึ่งของชีวิต หมอเมืองพร้าว" ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์การทำงานในเมืองพร้าว อำเภอไกลปืนเที่ยงในจังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อ 30 กว่าปีก่อน

 

ปี 2516 หลังจบการศึกษาจากแพทย์ศิริราช นพ.อภิเชษฎ์รักษาคนไข้ที่ยากไร้ใน อ.พร้าวอยู่ 3 ปี ที่นั่น เขาไม่เพียงแต่จัดบริการด้านสาธารณสุขเท่านั้น หากยังช่วยชาวบ้านต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม จนตัวเขาเองถูกข่มขู่โดย "ผู้มีบารมี" และถูกบังคับให้กลับเข้าเมืองในไม่กี่ปีถัดมา  

 

หนังสือของอภิเชษฎ์เป็นที่นิยมและถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ "หมอเมืองพร้าว" ในปี 2522

 

แพทย์ทั่วประเทศต่างเสียใจกับการจากไปของบุคคลในตำนานผู้เป็นแรงบันดาลให้พวกเขารักษาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลของประเทศ

 

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เลขานุการชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า หนังสือ "หมอเมืองพร้าว" เป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเรา นพ.อภิเชษฎ์เป็นแบบอย่างของแพทย์ชนบทผู้อุทิศชีวิตเพื่อรักษาคนไข้ในชนบทที่ห่างไกล เขาแสดงให้พวกเราเห็นว่า ชนบทคือสถานที่ที่เราจะรับใช้สังคมได้ดีกว่า  

 

จดหมายจากหมอเมืองพร้าว ที่ตีพิมพ์โดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ดึงดูดนักเรียนแพทย์ในยุค 70"s ไปยังชนบทเพื่อเรียนรู้จากเขาและจากสถานการณ์จริงเกี่ยวกับสภาพของคนจนในชนบท นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ปี2524 กล่าว

 

เนื่องจากนพ.อภิเชษฎ์เกิดในครอบครัวชาวจีนที่ฐานะไม่ค่อยจะสู้ดีนักในกรุงเทพฯ เขาจึงแทบจะไม่มีโอกาสเรียนต่อด้านการแพทย์ เพราะเขาต้องทำงานหาเงินไปด้วยระหว่างเรียนหนังสือ

 

เขาเป็นแพทย์คนแรกที่ออกมาต่อต้านการใช้ยาพรำเพรื่อกับคนจน นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ กล่าว

 

กิติภูมิเล่าว่า ขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ ปี1 เพื่อนๆ ของเขาชื่นชมหมอเมืองพร้าวและเอาเขาเป็นแบบอย่าง

 

หมอเมืองพร้าวยังเป็นผู้ริเริ่มแนวความคิดที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมการบริการสาธารณสุข เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ พยาบาล ขาดแคลน เขาจึงฝึกหัดคนหนุ่มสาวในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย นพ.กิติภูมิ กล่าว

 

แม้จะลาออกจากการเป็นแพทย์ของรัฐหลังกลับมาจากเมืองพร้าวแล้ว นพ.อภิเชษฎ์ก็ยังคงให้บริการแก่คนยากคนจนในคลินิกส่วนตัวย่านพระโขนง

 

นพ.อภิเชษฎ์ ผู้จากไปด้วยวัย 57 ปี ทิ้งคลินิกไว้เบื้องหลังกับซินี ภรรยาของเขา ซึ่งเป็นพยาบาลชาวฮ่องกง ที่เขาได้พบในงานสัมมนาเกี่ยวกับบริการสาธารณสุขที่ศรีลังกาเมื่อ 26 ปีก่อน และลูก 2 คน คือ ชลิตาและชาร์ลี พิธีสวดอภิธรรมจัดขึ้นในวันนี้ที่วัดยาง สุขุมวิท 77 และฌาปนกิจในวันที่ 30 พ.ย.นี้ เวลา 16.00 น.

 

 

สุภัตรา ภูมิประภาส

The Nation

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net