Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ฮูสตัน สหรัฐอเมริกา – ห้องครัวในคุกนั้นคลาคล่ำไปด้วยผู้อพยพจากหลายเชื้อชาติที่กำลังต้มถั่ว และกำลังย่างไส้กรอก เพื่อเตรียมอาหารกลางวันสำหรับนักโทษอีกกว่า 900 คน คนคุมนักโทษจะยืนคุมงาน และผู้จัดการของคุกทำหน้าที่นับจำนวนคนงานในคุกเหล่านั้น แต่สำหรับนักโทษแล้ว พวกเขาทำงานเกือบทุกอย่างที่มีในคุก ตั้งแต่ถูพื้นห้องน้ำ ทอผ้า จัดข้าวของในชั้นเก็บของ

นับตั้งแต่รัฐบาลมลรัฐปราบปรามแรงงานอพยพผิดกฎหมายอย่างรุนแรง และสั่งห้ามไม่ให้ภาคธุรกิจจ้างงานพวกเขา สหรัฐฯเองพึ่งพาแรงงานอพยพหลายหมื่นคนที่อยู่ในคุก ซึ่งได้รับค่าแรงจากการทำงานน้อยกว่า 1 ดอลล่าร์ต่อวัน

การใช้แรงงานแบบกดขี่ในคุกกำลังเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากนักโทษและการวิพากษ์วิจารณ์ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากผู้ที่เรียกร้องสิทธิให้กับแรงงานข้ามชาติ ในเดือนเมษายน มีการประณามเจ้าหน้าที่ควบคุมคนเข้าเมืองในทาโคมาที่จับนักโทษไปขังเดี่ยว อันเนื่องมาจากนักโทษเหล่านั้นต่อต้านโดยการไม่ทำงาน และอดอาหารประท้วง ในฮูสตัน คนคุมนักโทษบังคับให้นักโทษคนอื่นทำงานแทนนักโทษที่ทำงานในครัวซึ่งถูกขังเดี่ยว

ทุกๆ วัน จะมีนักโทษที่เป็นแรงงานข้ามชาติกว่า 5,500 คนที่ทำงานในศูนย์กักกันแรงงานข้ามชาติ บางคนได้รับค่าแรงเพียง 1 ดอลล่าร์ต่อวัน บางคนไม่ได้อะไรเลย แผนภาพข้างล่างแสดงให้เห็นถึงสถานที่ที่มลรัฐต่างๆ ใช้ควบคุมตัวและขูดรีดแรงงานของแรงงานอพยพเหล่านั้น

 

เจ้าหน้าที่มลรัฐมักจะให้ข้อมูลว่า คนงานสมัครใจเข้าร่วมโครงการ และโครงการก็ถูกกฎหมาย ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนให้กับผู้เสียภาษีชาวสหรัฐฯเอง แต่ตัวแทนของแรงงานข้ามชาติได้ตั้งคำถามว่า จริงหรือที่โครงการพวกนี้เป็นสิ่งที่คนงานเต็มใจและถูกกฎหมาย พร้อมกับกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ และบริษัทที่รับจ้างดูแลคุกเอกชนหลายแห่งกำลังสร้างกฎระเบียบขึ้นมาใหม่เพื่อเปลี่ยนประชาชนให้กลายเป็นกำลังแรงงานแบบบังคับ

จากข้อมูลของสำนักงานควบคุมผู้อพยพและการบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ หรือ ICE เมื่อปีที่แล้ว มีผู้อพยพกว่า 6 หมื่นคนที่ทำงานในศูนย์กักกันทั่วสหรัฐฯ ที่ต้องทำงานหนักกว่าการทำงานในบริษัทเอกชนอื่นใดทั่วสหรัฐฯ การใช้แรงงานอพยพที่ถูกกักกันซึ่งได้ค่าแรงเพียง 13 เซนต์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 39 บาทต่อชั่วโมง) ได้ช่วยประหยัดต้นทุนของรัฐบาลและบริษัทเอกชนได้กว่า 40 ล้านเหรียญหรือมากกว่านั้นต่อปี ซึ่งการใช้แรงงานคนเหล่านี้สามารถทำให้บริษัทต่างๆ ไม่ต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายซึ่งอยู่ที่ 7.25 ดอลล่าร์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 218 บาท) แรงงานอพยพบางคนที่ถูกขังคุกถูกใช้แรงงานฟรี หรือจ่ายค่าแรงด้วยเครื่องดื่มโซดา หรือขนมขบเคี้ยวนิดหน่อย ในขณะที่ต้องทำงานบริการ เช่น เตรียมอาหารให้แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน

ต่างจากนักโทษสัญชาติสหรัฐฯที่ก่ออาชญากรรรมซึ่งได้รับค่าแรงตามกฎหมายหากทำงานในโครงการต่างๆ ในคุก แรงงานอพยพที่ถูกกักกันกลับไม่ได้สิทธิใดๆ เพราะไม่มีสถานะทางกฎหมายที่คุ้มครองพวกเขา

กว่าครึ่งหนึ่งของของผู้ถูกคุมขังและรอขึ้นศาลในสหรัฐฯ ได้รับการอนุญาตให้ทำงานได้ บ่อยครั้งเพราะพวกเขาเข้าเมืองแบบถูกกฎหมาย หรือเพราะพวกเขาต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่อศาล หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของมลรัฐเองก็จงใจไม่ให้เกิดการตัดสินคดี เพื่อจะได้ไม่ต้องส่งพวกเขากลับ จะได้สามารถใช้แรงงานของพวกเขาต่อไปได้

เปโดร กัสมาน เล่าว่า “จากที่ผมทำงานเป็นพ่อครัวโดยได้ค่าแรงกว่า 15 ดอลล่าร์ต่อชั่วโมง ขณะนี้ผมทำงานได้ 1 ดอลล่าร์ต่อวันในห้องครัวที่ปิดตาย” กัสมานเคทำงานอยู่ในร้านอาหารหลายแหล่งในแคลิฟอเนียร์, มินิโซตา และนอร์ธ คาโรไลนา ก่อนที่เขาจะถูกจับขังเป็นระยะเวลากว่า 19 เดือนแล้วในศูนย์กักขังที่ชื่อว่า Stewart Dentention Center เขายังกล่าวด้วยว่า “ผมเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯแบบถูกกฎหมายนะ”

กัสมานยังเล่าว่า เขาถูกบังคับให้ทำงานหนักในขณะที่เขาป่วยด้วยโรคปอด ผู้คุมข่มขู่เขาด้วยการจับขังเดี่ยวเมื่อเขาทำงานสาย และครอบครัวของเขาต้องเป็นหนี้เป็นสินจากการจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าเมืองถูกกฎหมายกว่า 75,000 ดอลล่าร์ (2,250,000 บาท) โดยที่เขาสูญเสียโอกาสทำงานใช้หนี้อย่างที่มุ่งหวัง

กัสมาน ชาวกัวเตมาลาได้รับการปล่อยตัวในปี 2011 หลังจากศาลต่อวีซ่าให้เขา เพราะการจับกุมเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ศาลเอง และเขาได้รับสิทธิในการทำงานในสหรัฐฯแบบถาวรในที่สุด

ข้ออ้างของการขูดรีด
เจ้าหน้าที่ของคุกเอกชนปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้แรงงานของนักโทษเหล่านี้ พวกเขาพูดแค่ว่า เขาทำทุกอย่างถูกกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของมลรัฐยังกล่าวว่า งานเหล่านี้ช่วยให้นักโทษมีกำลังใจและระเบียบวินัย แถมยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลคุกมากกว่าปีละ 2 พันล้านดอลล่าร์ด้วย

กิลเลียน เอ็ม คริสเตนเซน โฆษกของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองกล่าวว่า “โครงการนี้ช่วยให้นักโทษรู้สึกว่าพวกเขามีประโยชน์” เธอยังกล่าวอีกว่า นักโทษเหล่านี้ไม่ใช่ลูกจ้าง เราจ่ายให้พวกเขาในฐานะเครื่องมือดำรงชีพ ไม่ใช่ค่าแรง และไม่มีใครถูกบังคับให้เข้าร่วม ทุกคนเต็มใจจะทำงาน

มาเรียน มาตินส์ อายุ 49 ถูกจับโดนเจ้าหน้าที่ของ ICE ในปี 2009 ด้วยข้อหาอยู่ในสหรัฐฯเกินกว่าที่วีซ่าอนุญาต และถูกส่งตัวไปที่ศูนย์กักกัน Etowah County เล่าว่า เธอถูกใช้ให้ทำงานด้วยการบังคับทันที่ที่เธอไปถึงศูนย์ และไม่มีใครบอกเธอว่า ทำไมเธอต้องทำงานเหล่านั้น

มาตินส์ยังเล่าอีกว่า เธอทำงานในครัว และทำความสะอาดไม่ได้หยุดทั้งวัน สิ่งที่เธอได้รับ คือ เวลาว่างพิเศษที่จะพักผ่อนในห้องออกกำลังกายได้ ทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นได้ เช่น ดูทีวี หรืออ่านหนังสือ

“ทุกคนอยากได้ทำงาน ฉันเองก็กลัวจะไม่ได้ทำ เพราะฉันต้องการเวลาว่าง” มาร์ตินส์กล่าว ทั้งๆ ที่เธอไม่ได้เป็นนักโทษอาชญากรรม เธอแค่ถูกกักขังด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย

มาร์ตินส์ออกจากไลบีเรียช่วงที่เกิดสงครามกลางเมือง และเข้าสหรัฐฯในฐานะนักท่องเที่ยวในปี 1990 เธออยู่ในสหรัฐฯ และเลี้ยงลูกสามคน ลูกของเธอทั้งสามคนได้สัญชาติสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2010 เธอได้รับการปล่อยตัว เพราะสุขภาพเธอแย่ลงเรื่อยๆ แต่เธอต้องใส่ติดตามตัวอยู่ตลอดเวลาจนกว่าเธอจะได้รับการตัดสินว่าเธอมีสถานะทางกฎหมายในสหรัฐฯ

นาตาลี บอร์ตัน โฆษกของศูนย์กักกัน Etowah ปฏิเสธที่จะพูดถึงกรณีของมาร์ตินส์ แต่ก็ให้ข้อมูลว่า แม้ว่าศูนย์จะไม่จ่ายค่าแรง แต่ทั้งหมดก็ทำตามกฎหมายของมลรัฐ

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยในค่ายกักกันที่มีอยู่ คือสิ่งตกค้างจากทศวรรษเก่า กฎหมายในปี 1950 อนุญาตให้มีการจัดตั้งโครงการทำงานในศูนย์กักกัน โดยระบุว่า ค่าตอบแทนคือ 1 ดอลล่าร์ (ถ้าเทียบกับปัจจุบันก็คือ 9.80 ดอลล่าร์) ในปี 1979 รัฐสภาสหรัฐฯได้ทบทวนค่าตอบแทน แต่ก็มีมติว่า ให้คงไว้เท่าเดิม ซึ่งต่อมาโดนต่อต้านจากนักกฎหมายซึ่งอ้างอิงพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงานที่ยุติธรรม หรือ Fair Labor Standards Act ที่กำหนดกฎกติกาให้กับสถานที่ทำงานในสหรัฐฯ แต่ในปี 1990 ศาลตัดสินว่า “ผู้ถูกคุมขังต่างด้าวเหล่านี้ไม่ใช่ลูกจ้างของรัฐบาล” ข้อเรียกร้องนี้จึงตกไป

แม้ว่าศูนย์จะเน้นควบคุมตัวผู้ที่เป็นแรงงานอพยพ แต่ในศูนย์ยังมีคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น ผู้ขอลี้ภัย คนที่พำนักอาศัยในสหรัฐฯแบบถาวร หรือพลเมืองสหรัฐฯเองด้วยที่ถูกตั้งข้อสงสัยจากรัฐบาลว่า เอกสารยืนยันสิทธิของพวกเขาอาจผิดกฎหมาย ประมาณการณ์ว่า คนที่ถูกกักขังกว่า 5,500 คนจาก 3 หมื่นคนทำงานโดยได้รับค่าแรงเพียง 1 ดอลล่าร์ต่อวัน และศูนย์กักขังผู้อพยพ 55 แห่งจาก 250 แห่งเป็นของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของรัฐเอง รัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทในการบริหารจัดการโครงการใช้แรงงานของแรงงานอพยพกว่า 21 โครงการ นอกนั้นให้เอกชนเป็นคนดำเนินการ

ผู้ถูกกักขังเหล่านี้ได้รับสิ่งตอบแทนในรูปของอาหาร ของใช้เกี่ยวกับห้องน้ำ และการโทรศัพท์ ซึ่งพวกเขาต้องซื้อในราคาที่สูง (หากพวกเขาไม่ใช้เงินซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ พวกเขามักจะสะสมเงินสดที่ได้รับไว้ใช้เมื่อออกจากศูนย์กักกัน) โยเซ่ มาริโน อัลเมโด แรงงานอพยพชาวเม็กซิกันวัย 25 ซึ่งมีส่วนในการอดอาหารประท้วงในศูนย์กักกัน Tacoma ซึ่งถูกปล่อยตัวในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเล่าว่า “พวกนั้นหาเงินจากแรงงานของเรา ในขณะที่เราต้องทำงานหนักเพื่อพวกนั้น พวกนั้นจะได้เงินมากขึ้นอีกเมื่อเราซื้อของใช้จากเงินที่เราลงแรงทำงานให้พวกนั้น”

พื้นที่สีเทาที่ถูกกฎหมาย
นักต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงานอพยพตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของโครงการใช้แรงงานเหล่านี้ โดยกล่าวว่า รัฐบาลและบริษัทเอกชนกำลังหาประโยชน์เอาจากพื้นที่สีเทาที่ถูกกฎหมายเหล่านี้

คาร์ล ทาเคอิ นักกฎหมายสังกัดสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน ซึ่งกำลังทำงานในโครงการที่ชื่อว่า National Prison Project กล่าวว่า “รัฐบาลซึ่งใช้อำนาจในการห้ามจ้างงานคนเหล่านี้กลับกลายเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่ที่สุดเสียเอง”

แจ๊คเคอลีน สตีเว่นส์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นเชื่อว่า โครงการเหล่านี้กำลังละเมิดมาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่ให้ยกเลิกทาส และการใช้แรงงานแบบไม่สมัครใจ “ตามกฎหมายแล้ว บริษัทที่ทำสัญญากับรัฐบาลมลรัฐจะต้องเคารพกฎหมายเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำในท้องถิ่น ไม่ใช่กระทำการปล้นค่าแรงเสียเอง”

ศาสตราจารย์สตีเว่นส์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองจงใจประเมินผิดเกี่ยวกับจำนวนของแรงงานอพยพที่เข้าร่วมโครงการ และปกปิดจำนวนชั่วโมงการทำงานที่แรงงานเหล่านั้นถูกบังคับให้ทำ จากการตรวจสอบสัญญาที่ ICE ทำ พบว่า มีแรงงานที่เข้าโครงการกว่า 135,000 คนต่อปี และคุกเอกชนรวมถึงรัฐบาลอาจกำลังหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรมกว่า 2 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งเป็นจำนวนที่ลูกจ้างปกตินอกศูนย์ได้รับกันอยู่

จากรายงานของมูลนิธิ A.C.L.U. จากรัฐจอร์เจีย แรงงานจำนวนมากกำลังถูกข่มขู่ด้วยการขังเดี่ยวถ้าพวกเขาปฏิเสธจะทำงาน มากกว่านั้น ผู้ถูกคุมขังยังกล่าวว่า เอกสารเกี่ยวกับโครงการถูกเขียนโดยภาษาอังกฤษ ซึ่งพวกเขาอ่านไม่ออก เพราะส่วนใหญ่พวกเขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้

เอดัวร์โด ซูนิกา วัย 36 ปี ซึ่งถูกคุมขังที่ศูนย์กักขัง Stewart เป็นระยะเวลา 6 เดือนเพื่อรอส่งตัวกลับเม็กซิโก ได้ถูกจับด้วยข้อหาไม่มีใบอนุญาตขับรถที่ Atlanta และถูกกล่าวหาว่า เขามีประวัติพัวพันกับยาเสพย์ติด แม้ว่าเขาจะพ้นจากช่วงรอลงอาญาแล้ว

เมื่อถูกกักขังที่ศูนย์ Stewart เขาทำงานในห้องครัว เขาลื่นล้มเส้นเอ็นฉีกที่หัวเข่าข้างหนึ่ง เขาไม่สามารถเดินได้เอง โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้วยอุปกรณ์ใดๆ แม้ว่าในเวลาต่อมา หมอจะวินิจฉัยว่าเขาต้องพักจากการทำงาน แต่ผู้คุมกลับข่มขู่เขาว่า หากไม่ทำงานตามกะที่มอบหมายให้ เขาจะถูกนำไปขังเดี่ยว ผมได้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับซูนิกาซึ่งขณะนี้กลับเม็กซิโกแล้ว พบว่า จนบัดนี้เขาก็ยังไม่สามารถเดินได้หากไม่มีเครื่องมือช่วยพยุง

แกรี มี๊ด เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ICE กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีมาตรการตรวจสอบและทบทวนสัญญากับคุกเอกชนเหล่านี้อยู่ตลอด เพื่อประกันว่า ศูนย์กักกันเอกชนเหล่านี้จะไม่ใช้แรงงานผู้ถูกกักกันมากเกินไป

โดยผู้ถูกกักกันต้องไม่ถูกบังคับให้ทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 8 ชั่วโมงต่อวัน และงานที่ทำได้ก็ต้องเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาความเรียบร้อยของศูนย์เท่านั้น ไม่ใช่งานที่ไปให้บริการกับกลุ่มธุรกิจหรือตลาดภายนอกศูนย์

แต่... เอาเข้าจริงแล้ว กฎที่ว่าไม่เคยถูกบังคับใช้

ที่ศูนย์กักกัน Joe Corley ทางเหลือของฮูสตัน ผู้ถูกกักกันที่เป็นแรงงานอพยพกว่า 140 คนต้องเตรียมอาหารมากกว่า 7 พันชุดต่อวัน ครึ่งหนึ่งจะถูกส่งไปให้คุกที่ Montgomery เปโบล อี เปซ โฆษกของ GEO ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการดูแลศูนย์กล่าวว่า บริษัทรับจ้างทำอาหารให้กับคุกมาตั้งแต่ปี 2013 แล้ว

ใกล้กับซานฟรานซิสโก ศูนย์กักกัน Contra Costa West ผู้ถูกกักกันที่เป็นแรงงานอพยพต้องทำงานเตรียมอาหาร 900 ชุดต่อวันร่วมกับนักโทษคดีอาชญากรรม เพื่อส่งต่อให้ศูนย์ดูแลคนไร้บ้านและคุกหลายแห่งที่อยู่บริเวณนั้นๆ

ธุรกิจที่กำลังเติบโต
ในขณะที่ประธานาธิบดีโอบามาเรียกร้องให้เรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานอพยพ แต่รัฐบาลของเขากลับส่งตัวแรงงานอพยพกลับประเทศมากกว่า 2 ล้านคนภายใน 5 ปี ซึ่งมากกว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐบาลกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ถูกกักกันมีที่มาจากข้อเรียกร้องของสภาคองเกรสให้ ICE เพิ่มโควตาของจำนวนเตียงที่พักอีก 3 หมื่นเตียงในศูนย์กักกันต่างๆ ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ถูกกักกันต้องอยู่ในศูนย์ คือ 1 เดือน แม้ว่าหลายคนจะอยู่นานกว่านั้น และก็มีหลายคนต้องถูกกักขังไว้หลายปี

ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน เคลย์ตัน เจ โมเชอร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการศึกษาเศรฐศาสตร์ของคุกกล่าวว่า เนื่องมาจากศูนย์กักกันไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรงามในตัวเอง ดังนั้น การขูดและรีดกำไรเล็กๆ น้อยๆ จากทุกส่วนของศูนย์จึงสำคัญต่อผู้ลงทุน บริษัทเอกชนที่สัมปทานทำคุกจากรัฐบาล 2 บริษัท คือ Corrections Corporation of America และ GEO Group สามารถผูกขาดตลาดของการรับเหมาควบคุมกักขังแรงงานอพยพของทั้งประเทศ มีหลายบริษัทที่พยายามเอาตัวรอดจากความตกต่ำของธุรกิจนี้ในทศวรรษ 1990 แต่ในที่สุดแล้ว วิกฤตเหล่านี้ก็ผ่านไปภายหลังจากเหตุการณ์ระเบิดตึกเวิล์ดเทรดในวันที่ 11 กันยายน ซึ่งทำให้บริษัทเอกชนเหล่านี้ฟื้นตัวในที่สุด

ตัวอย่างเช่น บริษัท Corrections Corporation of America เติบโตขึ้นกว่า 60 ประเทศในทศวรรษที่ผ่านมา หุ้นต่อหน่วยของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 30 ดอลล่าร์จากเดิมที่มีราคาแค่ไม่ถึง 3 ดอลล่าร์ ในปีที่ผ่านมา บริษัททำรายได้สูงถึง 301 ล้านดอลล่าร์ ส่วน GEO Group ทำกำไรกว่า 115 ล้านดอลล่าร์

ไม่เฉพาะบริษัทเอกชนเหล่านี้เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ ข้อมูลของ ICE ยังชี้ว่า ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้รับค่าแรง เจ้าหน้าที่จากรัฐ Ohio ยังกล่าวว่า เขตปกครองของเขาประหยัดเงินอย่างน้อย 2 ถึง 3 แสนดอลล่าร์ต่อปี เพียงแค่ใช้ประโยชน์จากแรงงานของผู้ถูกกักขังเหล่านี้เพียง 40 คนในการทำความสะอาดส้วม “ที่ผมรู้ทั้งหมด คือ เราประหยัดตังค์มหาศาล”

มาร์ก ครีคอเรียน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นศูนย์ที่ผลักดันนโยบายการควบคุมแรงงานข้ามชาติอย่างเข้มงวดเสนอว่า เราต้องมีมาตรการตรวจตามที่เหมาะสม โครงการที่ใช้แรงงานของผู้ถูกกักขังเป็นโครงการที่มีประโยชน์ การวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ต่อโครงการนี้เป็นเพียงความพยายามทำลายความชอบธรรม

มินซู จีอง ชาวเกาหลีวัย 23 ปี ผู้ที่เพิ่มถูกปล่อยตัวออกจากศูนย์กักกันในเดือนมกราคมกล่าวว่า แรงงานอพยพหลายคนรู้สึกพอใจที่ได้โอกาสทำงาน แม้ว่า ค่าแรงจะไม่ยุติธรรม แต่การทำงานในครัวก็ทำให้เวลาของการกักกันของพวกเขาผ่านไปไวขึ้น

“พวกนั้นไม่ให้เรากินอะไรเยอะ แต่คุณสามารถกินอาหารได้ ถ้าคุณทำงานในครัว” มินซูกล่าว

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net