Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

มาถึงวันนี้ ผู้คนมากมายในสังคมไทยตระหนักดีว่า  แผ่นดินไหวทางการเมืองผลัก“บ้านเรา”มาอยู่ตรงขอบเหว ไม่มีใครรู้ว่า “บ้าน”จะคว่ำลงหรือไม่? จะตกลงไปที่ใด? และเป็นอย่างไร? มีไม่น้อยปลอบใจตนเองด้วยศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่า เคยดูแลรักษาสังคมไทยมาแต่ปางก่อนและดังนั้นหวังว่าชะตาสังคมคงไม่เลวร้ายมากนัก อีกบางคนเห็นว่า จะเกิดอะไรก็เกิดจะเสียหายเท่าใดก็ไม่ว่า  จะได้รู้กันเสียทีว่าอนาคตเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่หลายคนทนทานไม่ได้คือ ความไม่แน่นอนในชีวิตว่าจะไปทางใดกันแน่?

วันวิสาขะบูชา เป็นวันดีที่ควรอาศัยมรดกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทิ้งไว้ให้มนุษย์ เป็นเครื่องมือไตร่ตรองหนทางออกจากกับดักความขัดแย้งในสังคมไทย ที่จำขังผู้คนไว้ในโลกที่ดูเหมือนไร้ทางออก อันเป็นอาการปรกติของความขัดแย้งยืดเยื้อที่เกิดขึ้นอย่างในปาเลสไตน์ อูกันดา หรือไอร์แลนด์เหนือ ปัจฉิมโอวาทของพระองค์ซึ่งทรงแสดงในวันปรินิพพานเมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีก่อนคือ “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

จากแง่มุมวิชาการความขัดแย้ง คำสอนนี้ชี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่เว้นกลไกสถาบันทางสังคมการเมืองทั้งหลายก็เปลี่ยนแปลงเสื่อมทรามลงได้ทั้งสิ้น ดังนั้นเส้นทางที่ควรไปข้างหน้าอันจะ”ยังประโยชน์ให้ถึงพร้อม” ซึ่งคงไม่ใช่ประโยชน์ของฝ่ายตนเท่านั้น ต้องเป็นไปด้วยความ ”ไม่ประมาท” ที่ว่าไม่ประมาทหมายถึงการใช้ปัญญาตระหนักในความเป็นจริงของตนเองในบริบทสิ่งแวดล้อมแห่งชีวิตของตนซึ่งน่าจะหมายถึงคู่ขัดแย้งด้วย

ปัญหาขณะนี้คือ ฝ่ายกปปส.และผู้สนับสนุนเห็นว่าควรจะมีนายกรัฐมนตรี “คนกลาง” ในขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและนปช.ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” เพราะปราศจากความชอบธรรมที่รองรับด้วยผลการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ไม่รวมถึงปัญหา      “ความเป็นกลาง” ของ “คนกลาง” ที่ว่านั้นด้วย

แต่ถ้าลองพิจารณาปัญหานี้เสียใหม่โดยเริ่มต้นจากความเข้าใจว่า คงไม่มีใคร “เป็นกลาง”อย่างแท้จริงในขณะนี้  อีกทั้งก็ยากจะหาใครที่ตัวตนของเขามีความชอบธรรมที่ทัดเทียมกับความชอบธรรมของระบบการเมืองประชาธิปไตยไทยที่เป็นอยู่  จึงไม่ต้องตั้งคำถามว่า “คนกลางเป็นใคร?” แต่อาจลองตั้งคำถามว่า “คนกลางที่ว่านั้นมาจากไหน?”

ถ้าตำแหน่งแห่งที่ของ “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ต้องอยู่ในกรอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ก็หมายความว่า คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ดังนั้น


1. เป็นไปได้หรือไม่ว่า นายก “คนกลางที่มาจากการเลือกตั้ง” ไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคเพื่อไทย?

2. เป็นไปได้หรือไม่ว่า นายกคนดังกล่าวอาจเป็นนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งจากพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างชาติไทยพัฒนา?

3. เป็นไปได้หรือไม่ว่า นายก “คนกลางที่ได้รับเลือกตั้ง” จะจัดตั้งรัฐบาลที่มีรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นเทคโนแครตซึ่งสังคมส่วนใหญ่ยอมรับ ทั้งที่มาจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ?

4. เป็นไปได้หรือไม่ว่า รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี “คนกลางที่ได้รับเลือกตั้ง” จะอยู่ในตำแหน่งเพียง 3-4 เดือน เพื่อทำหน้าที่ปฏิรูประบบเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมเท่าที่จะทำได้?

5. เป็นไปได้หรือไม่ว่า หลังจาก 3-4 เดือนแห่งการปฏิรูประบบเลือกตั้ง ก็ประกาศจัดเลือกตั้งใหม่ด้วยกติกาที่เป็นธรรมกว่าเดิม?

6. เป็นไปได้หรือไม่ว่า ระหว่างนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความรุนแรง ขบวนการประชาชนทั้ง กปปส.และ นปช.ก็เปลี่ยนบทบาทจากการใช้พลังทางการเมืองบนท้องถนน มาทำหน้าที่รณรงค์ให้การศึกษาผู้คนพลเมืองอย่างเข้มข้นว่าด้วยแนวทางปฏิรูปการเมืองที่ฝ่ายตนปรารถนา?

7.  ความ “เป็นไปได้” เหล่านี้มีเงื่อนไขซ่อนอยู่มากมาย เช่น ถ้าทำเช่นนี้หมายความว่า วุฒิสภาทำหน้าที่เสนอชื่อ “นายกคนกลางที่มาจากการเลือกตั้ง” ใช่หรือไม่? ทำได้หรือไม่? รองประธานวุฒิสภาปัจจุบันมีความชอบธรรมในตำแหน่งของตนหรือ ไม่? รักษาการรองนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน จะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเสนอชื่อประธานวุฒิสภาได้หรือไม่? หลายคำถามเป็นคำถามทางกฎหมาย

8. แต่จะตั้งคำถามทางกฎหมายเหล่านี้อย่างไรในบริบทของความขัดแย้งที่พา “บ้านของเรา” มาอยู่ตรงขอบเหวแห่งความรุนแรง

9. ทั้งหมดนี้หมายความว่า สังคมไทยจะระดมสรรพกำลังทางปัญญามาช่วยกันหาทางออกจากกับดักความขัดแย้งนี้ หรือจะปล่อยให้โซ่ตรวนแห่งอคตินานาชนิดรัดรึงพันธนาการสังคมไทยจนล้มคว่ำ และลื่นลงจากขอบเหวอย่างที่ห่วงกังวลกันอยู่ในเวลานี้?

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net