Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หนึ่งในตรรกะที่แย่ที่สุด ในการสนับสนุนการ "ถีบส่ง" นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ ที่รู้จักกันในนาม "โกตี๋" ด้วย ม.112 ของพรรคเพื่อไทย คือ

"ตอนหาเสียง พรรคเพื่อไทยไม่ได้บอกจะแก้ไข หรือ ยกเลิก ม.112"

มันคือตรรกะของคนที่ไม่เข้าใจการผลักดันประเด็นการเมืองในพื้นที่สาธารณะ

ความเป็นจริงคือ มีนโยบายจำนวนไม่น้อย ที่พรรคที่เป็นรัฐบาลในแต่ละยุคสมัยไม่ได้หาเสียงเอาไว้กับประชาชนว่าจะทำ แต่ก็ทำ เช่น พรบ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัย หรือ บางโครงการผลักดันอย่างเต็มที่แล้วแต่ก็ยกเลิกเพราะการต่อต้านในท้ายที่สุด เช่น พรบ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง

..สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการผลักดันจากสาธารณะทั้งสิ้น

หากเราบอกว่า รัฐบาลไม่ได้หาเสียงแต่แรก ถ้ายอมรับตามนั้น ประเด็น LGBT ประเด็นระบบการศึกษา และประเด็นต่างๆ รัฐบาลก็คงไม่จำเป็นต้องรับฟัง

ทั้งๆที่จริงแล้ว นอกจากการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนกลุ่มที่เลือกพรรคนั้นๆมาเป็นรัฐบาลแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ต้องรับฟัง และ ปกป้องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอีกด้วย ดังจะเห็นไดัจากคำประกาศอิสรภาพอเมริกันเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 ที่ว่า


"...เราถือความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือมนุษย์ทุกคนเถูดสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้เป็นเจ้าได้มอบสิทธิบางประการ ที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้น ได้แก่ ชีวิต เสรีภาพ และการเสาะแสวงหาความสุข"


เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิเหล่านั้นให้มั่นคง รัฐบาลจึงถูกสถาปนาขึ้นในหมู่มวลมนุษย์ โดยได้อำนาจอันยุติธรรมอันเนื่องมาจากความยินยอมของผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง เมื่อใดก็ตามที่รูปแบบของรัฐบาลใดเป็นสิ่งที่ทำลายเป้าหมายดังกล่าว เมื่อนั้นย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกรัฐบาลนั้นเสีย และสถาปนารัฐบาลขึ้นใหม่โดยให้มีรากฐานอยู่บนหลักการดังกล่าว ..."

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย หรือ อ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตย จะต้องธำรงเอาไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ประเด็นกฎหมายอาญามาตรา112 ก็เหมือนกัน

ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงเอาไว้หรือไม่ แต่ว่าการกระทำครั้งนี้ ก็ย่อมก่อให้เกิดคำถามขึ้นเช่นกันว่า การกระทำที่ผ่านๆมาของรัฐบาลภายใต้พรรคเพื่อไทยและมีฐานมวลชนหลักเป็น นปช. ซึ่งอ้างตนว่าสนับสนุนประชาธิปไตยนั้น การใช้ พรบ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงใช้ ม.112 ในตลอดเวลาที่ผ่านมา เพื่อจำกัดและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยสากล

สิ่งเหล่านี้ ย่อมต้องถูกตั้งคำถาม ประณาม และด่าทอ รวมถึงสามารถถกเถียงได้อย่างแน่นอน ว่าท้ายที่สุดแล้ว พรรคเพื่อไทย และ นปช. ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยอยู่จริงๆหรือ?

เมื่อการเมืองของประชาธิปไตยในความหมายสากลคือ การเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด และเป็นการเมืองที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

เราควรจะผลักดันด้วยการเมืองแบบใด ระหว่าง "การเมืองแบบเก่า" ที่เราพร้อมใจมอบอำนาจให้ชนชั้นนำในการตัดสินใจทางนโยบายทุกประการ กับ "การเมืองแบบใหม่" ซึ่งประชาชนควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐ

และท้ายที่สุด หากต้องตองคำถามที่ว่า วันนี้ใครกันแน่ที่ไม่พร้อมจะสู้ ระหว่าง "ประชาชน" กับ "ชนชั้นนำ"

คำตอบในใจของผมชัดแจ้งแล้วว่า

"ประชาชนแซงหน้าไปนานแล้ว มีแต่ชนชั้นนำนั่นแหล่ะ ที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง"

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน  ปัจจุบัน รัฐพล ศุภโสภณ ศึกษาอยู่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net