Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

                                                                                                                                               
จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้ง ชุมนุมประท้วง ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ 2 ก.พ.57

แต่ดูแล้วท่ามกลางความขัดแย้งนี้ ส่งผลการเลือกตั้งทำท่าจะไม่ง่าย ขณะนี้ผู้ชุมนุมประกาศต่อต้าน อีกทั้งเห็นว่ายุบสภาไม่ใช่คำตอบ

ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่า 2 ก.พ.จะมี หรือไม่มีการเลือกตั้ง หรือเลื่อนออกไป หรือไม่ อย่างไร อยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิจารณา

มีคำถามชวนคิด : หากมีการเลือกตั้ง จะจัดการเลือกตั้งอย่างไร และช่วยลดปัญหาการเมืองคลี่คลายลงได้ คงมิเพียงทำให้การเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม ซึ่งอาจไม่พอ

ทำอย่างไร จึงจะให้ได้มาซึ่งพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล เป็นพรรคที่สะท้อนความต้องการของประชาชน

นั่นหมายความว่า ความพยายามของ กกต. ต้องทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด 60% ,70 % หรือ 80 % เท่าที่จะมากได้ มากที่สุดเท่าใด สะท้อนความต้องการที่แท้จริงเท่านั้น ขอให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในการลงคะแนนเลือกรัฐบาลที่เขาเห็นว่า มีความเหมาะสม ส่วนจะเป็นใคร เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ฯลฯ อยู่ที่ประชาชนเป็นผู้พิจารณา

การเลือกตั้ง จึงถือเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย เป็นกิจกรรมบ่งชี้ถึงการมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตการเมือง ในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ที่ผ่านๆมามีส่วนร่วมแค่ไหน สนใจกิจการบ้านเมืองอย่างไร อาจไม่เป็นไร ไม่มีผลกระทบ ทว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ มีความจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมสูง เพราะทุกสิทธิ ทุกเสียงของประชาชนมีผลต่ออนาคตประเทศ

วันนี้ประเทศของเรามีปัญหาการชุมนุมประท้วง มีเสียงต้านรัฐบาลจำนวนมาก ขณะที่เสียงหนุนรัฐบาลก็ไม่น้อย 2 ก.พ.57 ถือเป็นการคืนอำนาจให้เจ้าของประเทศพิสูจน์เสียงประชาชนส่วนใหญ่รักชอบใคร เพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ ต้องการพรรคไหน กาบัตรพรรคนั้น 

เสียงประชาชนส่วนใหญ่ ก็ทั้งเสียงหนุน เสียงต้าน และเสียงจากทางบ้านทุกๆบ้าน ทุกๆครัวเรือน ทุกๆคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ผลพรรคใดได้เสียงข้างมาก ก็เป็นรัฐบาล ฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงมีความหมายยิ่ง และยังเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขหรือคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองลงได้ เนื่องจากประชาชนใช้สิทธิด้วยความชอบธรรม         

จำนวนตัวเลขเปอร์เซ็นต์ผู้ออกมาใช้สิทธิ คือพลังบริสุทธิ์ของประชาชน ซึ่งทุกฝ่ายต้องเคารพทุกสิทธิ ทุกเสียง อยู่ที่ กกต. ทำยอดผู้ออกมาใช้สิทธิได้เท่าไร

มีบางมุมที่ใคร่ขอฝากความหวังไว้ที่ กกต. ประการแรก จะดีหรือไม่ ประการใด หากตั้งเป้าหมายของแผนประชาสัมพันธ์(พีอาร์)ให้สูงกว่าการเลือกตั้งทุกๆครั้งที่ผ่านมา 80% หรือ 90 % เพื่อให้ได้ผลสะท้อนความต้องการของประชาชนจริงๆ สุดแล้วแต่จะเห็นความเป็นไปได้ และทำได้จริง อีกทั้งชูตัวเลข 80 % หรือ 90% ให้ประชาชนโฟกัสรับรู้จดจำย้ำเตือนบ่อยๆ น่าจะมีผลต่อการสร้างพลังความร่วมมือออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งอีกทางหนึ่ง  

ประการที่สอง การทำให้บรรลุเป้าหมายตามแผนพีอาร์ คงต้องอธิบายสร้างความเข้าใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นถึงสภาพการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและความจำเป็นที่ประชาชนควรให้ความสำคัญ สนใจร่วมกันแก้ปัญหาความเป็นไปของบ้านเมือง โดยกระตุกกระตุ้นตอกย้ำข่าวสารอย่างเข้าถึงและกว้างขวางครอบคลุมทั่วทั้งประเทศโดยเฉพาะต่างจังหวัด อำเภอตำบล ชนบทห่างไกล และเชิญชวนออกมาใช้สิทธิด้วยวิธีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก สื่อสารเข้มข้น 

อยู่ที่ กกต.จะประชาสัมพันธ์อย่างไร

มิเพียงนั้น ยังมองว่า อาจมองหาจุดที่เป็นปัญหาความต้องการของประชาชนภายใต้สถานการณ์ทางการเมือง มาชู หรือนำเสนอเป็นประเด็นประชาสัมพันธ์ อาทิ

1) “รัฐบาลความดี” ประชาสัมพันธ์ให้เลือกพรรคความดี ดีทั้งพูดและการกระทำ พูดจริงทำจริง ซึ่งประชาชนเห็นว่า จะเป็นพรรคเข้าไปเป็นรัฐบาลที่ดีบริหารประเทศที่ดี สร้างประโยชน์ คุณงามความดีให้ชาติบ้านเมือง มีธรรมาภิบาล นำประเทศสู่ความเจริญก้าวหน้า เป็นที่พึ่งพาของประชาชนอย่างแท้จริง

2) “รัฐบาลซื่อสัตย์สุจริตไม่ทุจริตคอรัปชั่น” หรือชูประเด็นอื่นๆ ฯลฯ

80% หรือ 90% อาจเป็นโจทย์หิน แต่จำเป็น ถ้าไม่โฟกัสหรือไม่หวังผลตัวเลขนี้ อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหรือเป็นทางออกให้ประเทศเท่าที่ควร หากทำได้เท่าครั้งก่อนๆที่ผ่านมา ที่มักอยู่ที่ 60-70 % อาจไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนอีกเช่นกัน

เป็นบางคำถามชวนคิด บางมุมชวนมองสำหรับ กกต.ซึ่งคงต้องรับบทหนักไม่น้อย เชื่อว่า มีแผนประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุดอยู่แล้ว หวังผลเลือกตั้งอย่างไร ในสถานการณ์อย่างนี้

อยู่ที่ กกต.จะพิจารณา

 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net