Skip to main content
sharethis

นักสหภาพแรงงาน เตือน ‘หยุดงาน-สโลวดาวน์’ ตามแนวทางอารยะขัดขืนเพื่อกดดันรัฐบาลของ ‘สุเทพ’ เสี่ยงถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย ชี้คนงานถ้าจะเคลื่อนควรมีข้อเรียกร้องของตนเองเพื่อไม่ถูกกลืนไปกับฝ่ายการเมือง

12 พ.ย.2556 การชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ ถ.ราชดำเนิน ที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ มีการประกาศ 4 แนวทางอารยะขัดขืนเพื่อกดดันรัฐบาล เมื่อวานนี้ โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นปราศรัยเชิญให้ประชาชนหยุดงานทั่วประเทศ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 13 – 15 พ.ย.นี้ รวมทั้งการสโลวดาวน์ ชะลอความรวดเร็วการทำงานลง ในกรณีที่ไม่สามารถหยุดงานได้

ทั้งนี้นักสหภาพแรงงานและนักวิชาการด้านแรงงาน ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงของนัดหยุดงานดังกล่าวอาจถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่า การสโลวดาวน์นั้นถ้ามันชัดเจนหมายถึงตั้งใจทำงานช้าลงอย่างเห็นได้ชัดนั้น นายจ้างมีสิทธิที่จะเลิกจ้างเราได้ หรือการหยุดงานตามกฏหมายแรงงาน เช่น ลาป่วย ลากิจ ลาคลอด คนงานมีสิทธิลางานได้ แต่ลางานนั้นก็ต้องมีเงื่อนไขของมัน เช่น การลางานในกรณีที่จะได้รับค่าจ้างอย่างลาปวยได้ 30 วัน ซึ่งเป็นการลาได้เท่าที่ป่วยจริง และในกฏหมายเขียนชัดเจนว่าต้องมีใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันรับรอง หรือบางโรงงานที่มาสหภาพแรงงานก็อาจจะมีระเบียบข้อบังคับที่ดีกว่ากฏหมายกำหนดก็ได้

จิตรา กล่าวด้วยว่า หากคนงานลาป่วยแล้วมาร่วมชุมนุมมีภาพปรากฏชัด นายจ้างก็มีสิทธิที่จะเลิกจ้างได้ โดยที่จะไม่ได้รับเงินค่าชดเชย แต่การจะเลิกจ้างหรือไม่นั้นก็จะอยู่ที่นายจ้างว่าจะเอาผิดหรือไม่ด้วย และอาจไม่ได้เลิกในทันทีอาจถูกหยิบยกมาเลิกจ้างในภายหลังก็ได้  จึงอยากฝากผู้ที่จะใช้สิทธิหยุดงานโดยใช้สิทธิต่างๆ ตามกฏหมายคุ้มครองแรงงาน อยากให้ดูในระเบียบข้อบังคับและเงื่อนไขการลาให้ดี และอย่าลาเป็นเท็จ เพราะจะนำไปสู่การเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินค่าชดเชยได้

จิตรา กล่าวว่าหากจะรวมตัวกันนัดหยุดงานจริงๆ ควรมีข้อเรียกร้องที่เป็นประโยชน์กับคนงานไปด้วย เช่น สิทธิการมีสหภาพแรงงาน การขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม การข้อให้มีการปรับค่าจ้างและสวัสดิการที่ดี เป็นต้น ต้องยกระดับข้อเรียกร้องของตัวเองให้เป็นรูปธรรมเพื่อไม่ให้ถูกกลืนไปกับข้อเสนอของคุณสุเทพ และไม่ควรหยุดในลักษณะปัจเจค ควรเคลื่อนในลักษณะองค์กรแรงงานและควรลงมติกันทั้งองค์กรด้วยไม่ใช่ต่างคนต่างทำ 

ส่วนกรณีมีผู้เสนอว่าให้หมอในที่ชุมนุมมีจำนวนมากออกใบรับรองแพทย์เพื่อลาป่วยให้นั้น จิตรา มองว่าแม้จะทำได้แต่ก็ไม่ได้รับความชอบธรรมเพราะการออกใบรับรองแพทย์โดยไม่มีมูลเหตุถือเป็นการลาเป็นเท็จ รวมทั้งหมอที่ออกใบรับรองให้นั้นหมอจะได้รับการลงโทษด้วย คนงานก็มีโอกาสสูงมากที่จะถูกเลิกจ้าง

 

นักวิชาการแรงงานชี้เสี่ยงตกงาน เตือนหยุดงานต้องดูระเบียบและกฏหมาย

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เขียนถึงประเด็นนี้ด้วยดังนี้

 

แม้ว่าการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะ จะยังคงเดินหน้าชุมนุมไปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการประกาศเชิญชวนให้มีการหยุดงานทั่วประเทศในวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2556 รวมถึงการงดจ่ายภาษี และถ้าเจอนายกรัฐมนตรีและคนในรัฐบาลไม่ต้องพูดคุยด้วย แต่ให้เป่านกหวีดแทน เรื่องอื่นๆดิฉันคงไม่กล้าก้าวล่วง เพราะเป็นสิทธิของแต่ละบุคคลในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและความเชื่อที่แตกต่างที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งต่อกรณีเรื่อง “การหยุดงานทั่วประเทศในวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2556” และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ได้พูดไว้  อีกทั้งยังมีการแชร์ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ทั้ง facebook twitter และ web blog ต่างๆ ในท่วงทำนองที่ว่า “การหยุดงาน 3 วัน สามารถกระทำได้ โดยไม่ถูกเลิกจ้าง หรือถ้าเลิกจ้างก็ต้องได้รับค่าชดเชย”  มีกระทั่งทนายบางคนเผยแพร่ข้อมูลผ่าน clip และกล่าวบางประโยคว่า "ถ้ามีใบรับรองแพทย์ก็แก้ปัญหาได้แล้ว หมอในม๊อบมีหลายคน" (คลิ๊กดูคลิป) ยิ่งทำให้ผู้ที่ได้รับข้อมูลที่เป็น “ลูกจ้าง” จะถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้มากยิ่งขึ้น

กล่าวคือ ตามมาตรา 119 (5) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย กรณีที่ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร

ดังนั้นในกรณีนี้จึงหมายความได้ว่า

(1) การละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน แม้ว่าจะมีวันหยุดงานมาคั่น ก็ให้นับเป็นวันทำงานต่อเนื่องกันไป ทั้งนี้การละทิ้งหน้าที่จักต้องกระทำโดยเจตนาเท่านั้น เช่น มีเหตุภายนอกทำให้ลูกจ้างไม่สามารถไปทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นเกิดอุบัติเหตุ ถูกตำรวจควบคุมตัว กรณีนี้จึงจะไม่ถือว่ามีเจตนาละทิ้งหน้าที่

อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แม้จะยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกา แต่จากการหารือกับอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาบางท่าน ถือว่าในกรณีนี้ “เป็นเหตุผลส่วนตัว”

ดังนั้นการที่ลูกจ้างขาดงานละทิ้งหน้าที่ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2556 โดยไม่ได้ลาให้ถูกต้องตามระเบียบบริษัท ถือว่าลูกจ้างได้ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันแล้ว เป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้

(2) โดยไม่มีเหตุอันสมควร หมายถึง การหยุดงานนั้นไม่มีความจำเป็น หรือสามารถขออนุมัติการลาล่วงหน้าได้ แต่ลูกจ้างไม่มีการขออนุมัติ

เหตุอันสมควรที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาแล้ว ได้แก่ เหตุสุดวิสัย ภัยธรรมชาติ หรือเหตุผลส่วนตัวตามหน้าที่ที่มีต่อครอบครัวและลูกจ้างต้องพึงกระทำตามหน้าที่นั้น เช่น ต้องพาบุตร หรือภรรยาที่เจ็บป่วยกะทันหันไปโรงพยาบาล

ทั้งนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาเช่นเดียวกันว่า เหตุผลส่วนตัวทางสังคม ไม่ถือว่าเป็นเหตุอันสมควร เช่น ไปงานแต่งงานเพื่อน งานบวชญาติ หรืองานศพคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติสนิท เป็นต้น

(3) ถ้าลูกจ้างมิได้เจ็บป่วยจริง แต่ไม่มาทำงานโดยอ้างว่าป่วย ถือว่าเป็นเท็จ และกล่าวได้ว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ เช่น ลูกจ้างแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาว่าป่วย จากนั้นไปเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2556 แม้ว่าลูกจ้างจะมีใบรับรองแพทย์มายืนยัน แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างมิได้ป่วยจริง อีกทั้งมีรูปการไปชุมนุมปรากฏผ่าน social media ต่างๆ ในกรณีนี้ถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เช่นเดียวกัน

ดังนั้นจึงฝากมายังพี่น้องแรงงานทุกกลุ่ม ลูกจ้างบริษัททุกแห่ง ที่จะมาชุมนุมในวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2556 ให้ลางานตามระเบียบขั้นตอนบริษัท/องค์กร/หน่วยงานนั้นๆแทน ทั้งนี้ถ้านายจ้างไม่อนุญาตให้ลา ก็ยังคงสามารถมาชุมนุมในตอนเย็นหลังจากเลิกงาน หรือออกกะแล้วก็ได้

ไม่คุ้มค่ากันเลยถ้ามาชุมนุมแล้วต้องตกงาน สุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่มีน้ำยามารับผิดชอบชีวิตพี่น้องแรงงานแน่นอน !!!!! บทเรียนสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ก็พบมาแล้วว่าเป็นพรรคที่ละเมิดสิทธิแรงงานมิใช่น้อย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net