Skip to main content
sharethis

2 พ.ย. 2556 - สืบเนื่องจาก คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา พบปรากฏการณ์ทางสื่อในบางประการ ที่สะท้อนว่าสื่ออาจอยู่ในภาวะถูกแทรกแซง คุกคาม ลิดรอน สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงได้ทำหนังสือขอความร่วมมือมีเดียมอนิเตอร์ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังบทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อต่อสังคม ทำการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าข้อสังเกตข้างต้น มีความเป็นจริง หรือไม่ อย่างไร

ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการวิชาการโครงการครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้มีเดียมอนิเตอร์ดำเนินการตามที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภาขอความร่วมมือมา ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์กล่าวว่า ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา ที่ว่าสื่ออาจอยู่ในภาวะถูกแทรกแซง คุกคาม ลิดรอน สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า สื่อไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะสามารถสะท้อนทั้งสถานะด้านเสรีภาพของสื่อมวลชน และ สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการตรวจสอบภาครัฐ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของประชาชน ข้อสังเกตดังกล่าว สอดคล้องกับความสนใจของโครงการ ซึ่งมีเดียมอนิเตอร์ได้ศึกษาการทำงานของสื่อโทรทัศน์ในเหตุการณ์การเดินเท้าค้านเขื่อนแม่วงก์ “จากป่าสู่เมือง Stop EHIA เขื่อนแม่วงก์” นำโดย นายศศิน เฉลิมลาภ ในช่วงวันสุดท้ายของการเดิน เมื่อ 22 กันยายน 2556 ที่มีกลุ่มคนจำนวนร่วมสองพันคน เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเส้นทาง พหลโยธิน-วิภาวดี-หมอชิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และในตอนเย็นขบวนได้สมทบกับประชาชนจำนวนหลายพันคน ที่หอศิลปวัฒนธรรมฯ ใจกลางกรุงเทพมหานคร

ผลการศึกษาการนำเสนอข่าวภาคค่ำและข่าวภาคดึกของฟรีทีวี และ ช่องข่าวทีวีดาวเทียม คือ เนชั่นแชนแนล สปริงนิวส์ และ TNN24 ในวันที่ 22 กันยายน 2556 มีเดียมอนิเตอร์

พบว่าสถานีโทรทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับข่าวนี้มากที่สุดคือ ไทยพีบีเอสและสปริงนิวส์ ซึ่งมีการนำเสนอข่าวนี้โดยเฉลี่ย 10 นาที และพบว่ามีเนื้อหาที่ครบถ้วนรอบด้าน ในขณะที่ ช่อง 3 , 5 , 7 , 9 , 11 และ TNN24 ให้พื้นที่ในการรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวในสัดส่วนที่น้อย

ทั้งนี้ ในส่วนของ ช่อง 3 ไม่มีการรายงานข่าวนี้ในช่วงข่าวภาคค่ำ แต่พบการรายงานในช่วงข่าวภาคดึก ซึ่งเป็นการรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวจากมุมมองของฝ่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนเป็นหลัก (ความยาว 3.50 นาที)

ในขณะที่ช่อง 5 ไม่พบการรายงานข่าวนี้ ทั้งในช่วงข่าวภาคค่ำและภาคดึก โดยให้พื้นที่ส่วนใหญ่กับข่าวสถานการณ์น้ำท่วม และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยของกองทัพและรัฐบาล

สำหรับช่อง 7 พบการรายงานข่าวการเดินและรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพียงสั้น ๆ ในข่าวภาคค่ำ (ความยาว 1.26 นาที) แต่ไม่พบในข่าวภาคดึก ที่ให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวน้ำท่วม

เช่นเดียวกับช่อง 9 และช่อง 11 ที่ไม่พบการรายงานข่าวการเดินคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ในวันสุดท้ายที่กรุงเทพฯ แต่ให้ความสำคัญกับการรายสถานการณ์น้ำท่วมและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของภาครัฐ

สำหรับ ไทยพีบีเอส ให้พื้นที่ข่าวนี้ทั้งในข่าวภาคค่ำและภาคดึก (ความยาวรวม 9.31นาที) โดยในข่าวภาคค่ำ เสนอการให้สัมภาษณ์ของ นายศศิน เฉลิมลาภ และ นายอุดม ไกรวัตนุสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ความยาว 3.38 นาที) และรายงานพิเศษ ซึ่งเสนอบรรยากาศการเดินเท้าและการสัมภาษณ์ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม และการให้สัมภาษณ์ของนักวิชาการจากสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยที่กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นในการสร้างเขื่อน (ความยาว 3.06 นาที) สำหรับข่าวภาคดึก เป็นการเสนอข่าวนายศศิน เฉลิมลาภ พร้อมผู้สนับสนุนอ่านแถลงการณ์คัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ (ความยาว 2.47 นาที)

ในส่วนสถานีข่าวโทรทัศน์ดาวเทียม พบว่า ในช่วงข่าวภาคค่ำ เนชั่นแชนแนล เสนอการลำดับเหตุการณ์กิจกรรมการเดินเท้าเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. 2556 โดยเริ่มจากป่าแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ จนมาถึงกรุงเทพฯ ที่หอศิลปวัฒนธรรมฯ โดยมีการอ่านแถลงการณ์และยื่นหนังสือต่อนายอุดม ไกรวัตนุสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ (ความยาว 2.19 นาที) และข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ระบุว่าการสร้างเขื่อนจะสามารถรับน้ำในปริมาณมากได้ แต่ก็พร้อมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง (ความยาว 1 นาที)

ด้านช่อง TNN24 พบว่า ในข่าวภาคค่ำ เน้นการรายงานข่าวสถานการณ์น้ำท่วมเป็นหลัก ไม่พบการรายงานข่าวเดินเท้าคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในขณะที่ข่าวภาคดึก เสนอการลำดับเหตุการณ์เดินเท้าจาก จ.นครสวรรค์เป็นเวลา 13 วัน ระยะทางรวม 388 กม. ถึงจุดสุดท้ายที่หอศิลปวัฒนธรรมฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ (ความยาว 1.55 นาที)

สำหรับช่อง สปริงนิวส์ ในข่าวภาคค่ำพบรายงานบรรยากาศการเดินเท้าคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์จากนครสวรรค์ ถึงหอศิลปวัฒนธรรมฯ พร้อมกิจกรรมเวทีปราศรัยให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านการสร้างเขื่อน และการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง และยื่นหนังสือต่อ นายอุดม ไกลวัฒนานุสรณ์ (ความยาว 5.01 นาที) ตามด้วยการรายงานข่าว นายปลอดประสพ สุรัสวดี ยืนยันเขื่อนแม่วงก์แก้ปัญหาน้ำท่วมได้ (ความยาว 2.10 นาที) ในขณะที่ข่าวภาคดึกเป็นการรายงานสรุปกิจกรรมการเดินเท้าจากป่าสู่เมืองเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มุ่งหน้าสู่หอศิลปวัฒนธรรม ฯ พร้อมอ่านแถลงการณ์และการยื่นหนังสือต่อ นายอุดม ไกลวัฒนานุสรณ์ (ความยาว 2.42 นาที) ตามด้วยข่าวนายปลอดประสพ สุรัสวดี ยืนยันเขื่อนแม่วงก์แก้น้ำท่วมได้ (ความยาว 2.10 นาที)

ส่วนการดำเนินการศึกษาการทำหน้าที่ของสื่อโทรทัศน์ในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ตามที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ขอความร่วมมือมานั้น มีเดียมอนิเตอร์จะติดตามการทำงานของสื่อโทรทัศน์ เช่น การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมเพื่อแสดงความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ต่อรัฐบาล การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อโครงการบริหารจัดการน้ำ การรายงานเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การรายงานเกี่ยวกับโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้าน ทั้งนี้คาดว่า โครงการจะดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ และอาจนำเสนอผลการศึกษาได้ในช่วงต้นเดือนธันวาคม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net