มติเพื่อไทยดันนิรโทษกรรมเหมาเข่ง - 'ณัฐวุฒิ' ไม่เห็นด้วยนิรโทษแกนนำ-ผู้สั่งการ

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยันไม่เห็นด้วยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ยอมรับต้องการให้ “ทักษิณ ชินวัตร” กลับบ้าน ด้าน สุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมพิสูจน์ข้อเท็จจริง-ไม่หนีไปไหน ยันสั่งการแต่เพียงผู้เดียว 'อภิสิทธิ์' ไม่เกี่ยว ส่วน ผบ.ทบ. ก็ไม่ต้องการนิรโทษกรรม เพราะทหารไม่ใช่นักโทษ และจะสู้ทั้ง 3 ศาล

มติเพื่อไทยดันนิรโทษกรรมเหมาเข่ง 'ภูมิธรรม' ย้ำ ส.ส. ไม่ใช่ผู้นำมวลชนต้องทำตามมติพรรค

29 ต.ค. 2556 - ภายหลังการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อเวลา 16.20 น. วันนี้ (29 ต.ค.) มติชนออนไลน์ ได้รายงานคำแถลงของนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค ที่แถลงว่าจากการพูดคุยหลายฝ่ายนั้น พรรคเพื่อไทยมีข้อยุติเป็นมติพรรค 3 ข้อ ได้แก่

1.ขอให้ส.ส.ของพรรคงดเว้นภารกิจต่างๆ เพื่อเข้าร่วมประชุมสภาฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะถือว่าเป็นกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวพันกับทิศทางเดินไปข้างหน้าของประเทศ

2. เพื่อความเป็นเอกภาพพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมลงมติไปในทิศเดียวกันเพื่อลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก โดยมีมติเป็นเอกฉันท์

3.สำหรับท่าทีของพรรคต่อคนเสื้อแดง และแนวร่วมผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เราเห็นว่าความเห็นทางการเมืองในการหาทางออกของประเทศย่อมแตกต่างกันได้ ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างมิตรผู้รักประชาธิปไตยด้วยกัน พรรคขอยืนอยู่บนพื้นฐานที่เข้าใจและเห็นใจ โดยเรียกร้องให้ ส.ส.ของพรรคทำความเข้าใจ พูดคุย และประสานงานในทุกภาคส่วน เราเชื่อว่าการดำเนินการของเราจะทำให้ประเทศหลุดจากความขัดแย้ง ขณะที่ผู้ถูกคุมขังจะได้ออกจากความขัดแย้งด้วย

ต่อคำถามที่ว่า ส.ส.เสื้อแดง จะโหวตตามมติพรรคหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เชื่อว่า ส.ส.พรรคโดยรวมจะเดินหน้าตามมติพรรค เพราะวันนี้เป็น ส.ส.ซึ่งแตกต่างจากการอยู่ในฐานะผู้นำมวลชน จึงต้องเห็นความสำคัญของมติพรรค อย่างไรก็ตามเท่าที่พูดคุยพรรคเข้าใจถึงความยากลำบาก ความอึดอัดใจของทุกส่วน

ทั้งนี้เลขาธิการพรรคเพื่อไทยไม่ตอบคำถามที่ว่า จะมีบทลงโทษ ส.ส.ที่โหวตสวนมติพรรคหรือไม่ โดยตอบเพียงว่า ยังเชื่อว่าจะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน และกล่าวด้วยว่า รู้สึกขมขื่นที่มีการเข่นฆ่าประชาชนจนเกิดความสูญเสีย แต่คิดว่าในอนาคตจะมีวิธีการที่เป็นทางออกต่อไป โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยังต้องพูดคุยและทำความเข้าใจกัน และเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะตัดสินว่าใครถูกใครผิด

มีรายงานด้วยว่า แกนนำพรรคคนสำคัญที่ร่วมการประชุม อาทิ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พล.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ และน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ

นอกจากนี้มี ส.ส. ที่เป็นแกนนำ นปช. เข้าร่วมด้วย เช่น นพ.เหวง โตจิราการ, ก่อแก้ว พิกุลทอง และ วิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น

ส่วนผู้ร่วมแถลงข่าวกับภูมิธรรม ได้แก่ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค อำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค

สุเทพ เทือกสุบรรณ (ซ้าย) และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (ขวา) (ที่มาของภาพ: แฟ้มภาพ/ประชาไท/flickr.com/photos/thaigov)

 

ณัฐวุฒิยันต้องการให้ทักษิณกลับบ้าน แต่ไม่เอาเหมาเข่ง

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้าวันนี้ (29 ต.ค.) สำนักข่าวไทย รายงานว่า ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำ นปช. กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แบับแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากหรือ "ฉบับเหมาเข่ง" ว่าไม่เห็นด้วยหากจะมีการนิรโทษกรรมให้แกนนำและผู้สั่งการทำร้ายประชาชน แต่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง และล้มล้างผลพวงการรัฐประหาร ขณะนี้คนเสื้อแดง และสมาชิกพรรคเพื่อไทยมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขของกรรมาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันในฐานะมิตร ป้องกันไม่ให้ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามนำความขัดแย้งไปขยายผล

ณัฐวุฒิยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า "เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขอร้องให้แกนนำคนเสื้อแดงยอมรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่มีการแก้ไขว่า เป็นเพียงข่าวเท่านั้น ที่ผ่านมาตนและคนเสื้อแดงได้พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงจุดยืน โดยเขานั้นต้องการช่วยเหลือให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทยได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรวมถึงแกนนำ และผู้สั่งการ อย่างไรก็ตาม หากมีการลงมติร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ส.ส.เสื้อแดง และตนไม่รู้สึกกดดัน เพราะมีจุดยืนตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว และแม้ว่าพรรคจะมีมติห้าม ส.ส.ฟรีโหวต แต่ตัวเขาจะโหวตตามความรู้สึกตามจิตวิญญาณของการต่อสู้ที่ผ่านมา

ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ณัฐวุฒิลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี และไปเคลื่อนไหวการเมือง หากพรรคเพื่อไทยผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมสำเร็จว่า อยากเรียกร้องไปยังพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ให้ลาออกจาก ส.ส. หลังจากที่อัยการมีคำสั่งส่งฟ้องในคดีที่มีประชาชนเสียชีวิตระหว่างการชุมนุม เพราะบุคคลทั้งสองเคยเป็นถึงผู้นำฝ่ายบริหาร ดังนั้น ควรจะรับผิดชอบทางการเมือง

 

ลูก เสธ.แดง ยังมีคำถามในใจว่าใครฆ่าบิดา และขอคุยกับผู้ใหญ่ในพรรคก่อนว่าจะทำอย่างไร

ทั้งนี้ ข่าวสด ได้รายงานความเห็นของ ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย บุตรสาวของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ซึ่งกล่าวว่า ยังรู้สึกขมขื่นอยู่ เรารู้ว่าประเทศต้องเดินหน้า แต่ในฐานะคนที่สูญเสียมันก็ยังทำใจไม่ได้ และยังมีคำถามอยู่ในใจว่าใครเป็นคนฆ่าพ่อเรา ตนลำบากใจในฐานะสมาชิกพรรค และนี่ก็เป็นเสียงของกมธ.ส่วนใหญ่ ดังนั้น จะขอคุยกับผู้ใหญ่ในพรรคก่อนว่าจะทำอย่างไร การค้นหาความจริงต้องยุติลงแค่นี้ใช่หรือไม่ นี่เป็นทางออกเดียวที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าได้ใช่หรือไม่ วันนี้มีการสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ในฐานะอดีตนายกฯ แล้ว ซึ่งทำให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมยังเดินหน้าได้อยู่

 

ธิดา ถาวรเศรษฐตีเส้นนิรโทษกรรมไว้ที่ประชาชน และหนุนร่าง 'วรชัย เหมะ'

อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. และภรรยาของ นพ.เหวง ให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับแก้ไขโดยโพสต์ไว้ในเพจ "ครูธิดา" ว่า "จุดยืนของ นปช.ยังอยู่ที่การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนายวรชัย เหมะ แต่ไม่ใช่ความขัดแย้ง หรือตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ เพราะยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยเน้นนิรโทษกรรมเป็นหลัก ต่างจาก นปช.เน้นแก้ไขรัฐธรรมนูญและขจัดผลพวงจากรัฐประหารเป็นหลัก จึงต้องการนิรโทษกรรมโดยสนับสนุนฉบับนายวรชัย นิรโทษกรรมให้ประชาชน โดยไม่รวมคู่ขัดแย้งที่เป็นแกนนำหรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐ จุดยืนเราไม่มีสิทธิเปลี่ยน แม้ พท.จะเปลี่ยนกลับไปกลับมากี่ครั้ง แต่เรายืนยันเหมือนเดิมคือนิรโทษประชาชน"

"แม้คนเสื้อแดงรัก พ.ต.ท.ทักษิณอยากให้กลับมาแต่นิรโทษกรรมก็ต้องมีหลักการ ไม่งั้นจะกลายเป็นโทษของการต่อสู้ของประชาชน อย่าไปคิดว่านี่คือการทำเพื่อญาติคนตาย เป็นความถูกต้องที่ประเทศควรจะมีและนำไปสู่การปรองดองแท้จริง อย่างไรก็ตาม จะไม่ใช้วิธีประท้วง แต่ใช้วิธีพูดคุย อย่างกรณี นปช. ไปพบนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ (ผู้เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) ที่บ้านก็เพื่อขอคำอธิบาย ไม่ใช่การก่อม็อบประท้วง เราได้ปรามประชาชนตลอดเวลาให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม เพราะยังต่อสู้ในปริมณฑลของคนฝ่ายเดียวกัน"

"ความคิดบางคนอยากจะช่วย พ.ต.ท.ทักษิณอาจเป็นหมัน ต้องอย่าลืมว่ามีคดีมากมาย 10 กว่าคดี และหมายจับอีกมาก คำถามคือพวกเขาได้คิดปัญหานี้หรือเปล่า คิดจะพากลับมาแล้วพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันว่าเป็นแบบไหน เรามองปัจจุบันเป็นสนามรบมากกว่า เพราะมีหลุมพรางและกับระเบิดเต็มไปหมด ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการปรองดอง แต่ต้องการสิ่งที่ถูกต้องและเป็นการปรองดองที่แท้จริง ถ้าไม่ผ่านกระบวนการที่ทำให้ความจริงปรากฏแล้ว จะให้เกิดการฆ่าประชาชนซ้ำซากกลางถนนอีกกี่ครั้ง ถามว่าถ้าจะกดปุ่มเซตซีโร่ทำได้จริงไหม"

"คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่เอาสุดซอยแน่ เพราะไม่ไว้ใจเครือข่ายระบอบอำมาตย์ ไม่ต้องการให้มีการฆ่ากันอีก และไม่เชื่อเซตซีโร่ในระบอบอำมาตย์ ปฏิกิริยาของคนเสื้อแดง ประชาชน รวมทั้งนักวิชาการเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ต่างคัดค้านทั้งสิ้น ทำให้เพื่อไทยต้องไปทบทวนว่าคุณยังไม่สามารถเอาชนะศัตรูทางการเมืองได้ คุณหวังจะชนะใจ เป็นเช่นนั้นหรือเปล่า แต่ถ้าสูญเสียมิตรที่เป็นเพื่อนร่วมรบกันมา คุ้มค่าหรือเปล่า"

 

สุเทพ เทือกสุบรรณพร้อมสู้คดีไม่หนีไปไหน 'อภิสิทธิ์' ไม่เกี่ยว

ขณะเดียวกัน สุเทพ เทือกสุบรรณ ในวันนี้ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวทีนิวส์ โดยยืนยันว่า "ยินดีที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นผมยืนยันตรงนี้เลยว่า ในเมื่อเขาตัดสินใจที่จะสั่งฟ้องผมแล้ว ผมก็พร้อมที่จะปฏิบัติ ไม่หนีไปอยู่ต่างประเทศ ไม่หลบหนีคดี พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทุกอย่าง"

"ที่ผมอยากจะเรียนอย่างเดียวคือ น่าเสียดาย ผมได้ประกาศตั้งแต่แรกแล้วว่า กรณีที่ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติปี 2552-2553 ผมเป็นคนสั่งแต่เพียงผู้เดียว ในฐานะที่เป็นอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ทำไมต้องไปลากเอาคุณอภิสิทธิ์ มาเป็นจำเลยร่วมกับผมด้วย ตรงนี้มันเลยทำให้คนหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ โทรศัพท์มาหาผมบอกว่า นี่เป็นการบีบบังคับให้คุณอภิสิทธิ์กับผมยอมจำนนให้กับกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อตัวเองจะได้ประโยชน์ด้วย ผมยืนยันเลยว่า  ผมไม่ยอมเด็ดขาด  ผมจะคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม  ผมไม่สนใจว่าผมจะได้ประโยชน์หรือไม่  คุณอภิสิทธิ์ก็คิดเช่นเดียวกัน"

สุเทพ ให้สัมภาษณ์ต่อด้วยว่า "เรื่องที่ผมไม่สบายใจต่อไปก็คือว่า ผมเป็นผู้ออกคำสั่งจะดำเนินคดีกับผมอย่างไร  ผมก็ยินดีที่จะพิสูจน์ ทั้งๆ ที่ผมมั่นใจว่า การออกคำสั่งของผมในวันนั้น ผมทำในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่  ผู้ที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เมื่อมีคนมาก่อการร้าย มีคนมาฆ่าตำรวจ  มีคนมาฆ่าทหาร มาฆ่าประชาชนกลางเมืองหลวงกลางกรุงเทพฯ ผมเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง มีหน้าที่ดูแลบ้านเมืองให้เรียบร้อยก็ต้องทำหน้าที่นั้น ทีนี้การสั่งการของผม ผมถือว่าผมทำถูกกฎหมายทุกอย่าง และผมก็สมควรที่จะได้รับความคุ้มครองเรื่องกฎหมาย แต่ไม่เป็นไร ถ้าเกิดว่าจะเอาผิด ให้มาเอาผิดที่ผมคนเดียว ผมยินดี แต่นี่จะไปหาเรื่องตำรวจเจ้าหน้าที่ทหาร ที่เขามาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผมด้วย ผมคิดว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ที่จะออกมาพูดจาให้ร้ายต่างๆ ซึ่งผมคิดว่า คำพูดเหล่านี้มันเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ วันข้างหน้าเจ้าหน้าที่จะไม่มีขวัญและกำลังใจ ที่จะมาปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

"ดังนั้น ผมจึงอยากจะขอวิงวอนต่อสังคมว่า เอาเถอะ จะเล่นงานผมอย่างไร ก็ขอให้มาที่ผมก็แล้วกัน ไม่ใช่ว่าผมอวดดี แต่ว่าผมทำแล้ว ผมต้องการที่จะพิสูจน์ความเป็นจริง แล้วก็ได้ให้ขบวนการยุติธรรมได้ตัดสิน ดีเหมือนกัน ถ้าเกิดว่าผมมีความผิด วันข้างหน้าถ้าคนอื่นที่เขามีหน้าที่ เขาจะได้พึงสังวรณ์เอาไว้ว่าเขาทำอะไรได้แค่ไหน" อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงกล่าว

 

 

ผบ.ทบ.ยันทหารไม่ต้องการนิรโทษกรรมและไม่ใช่นักโทษ แนะคนไทยนำคำสอนพระสังฆราชไปใช้

อนึ่งเมื่อวานนี้ (28 ต.ค.) มติชนออนไลน์ รายงานความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วย โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการทำความเข้าใจกับญาติของกำลังพลที่สูญเสียและบาดเจ็บโดยตลอด โดยเฉพาะการดูแลครอบครัว ส่วนจะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่นั้น ยังมาไม่ถึง ที่ผ่านมาตนเรียกญาติกำลังพลมาพบเดือนละครั้ง เพื่อชี้แจงเรื่องคดี และสอบถามการดำรงชีวิต อยากให้ไปเอาคำสั่งการปฏิบัติงานในปี 2553 มาดูว่า เราดำเนินการอย่างไร วันนี้พูดเรื่องทหารทำร้ายประชาชนอย่างเดียว แต่ไม่เห็นมีใครกล้าพูดว่าวันนั้นมีอะไรเกิดขึ้น ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่พูดว่ามีใครยิงใส่ทหารจากใครก็ไม่รู้ ส่วนที่มีการมองว่าเป็นความพยายามจะนำเรื่องของคดีมาบีบทหาร เพื่อให้ยอมรับเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น ตนไม่เกี่ยวข้อง เพราะไม่อยู่ในกระบวนการ และไม่ใช่ผู้ร้ายไม่ต้องมานิรโทษให้ ซึ่งตนจะสู้คดี

เมื่อถามว่า ทหารอาจต้องการให้นิรโทษกรรม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่ใช่นักโทษ และคดีจะต่อสู้ถึง 3 ศาล ส่วนกำลังพลต้องการนิรโทษกรรมหรือไม่ ต้องไปถามเขาดู แต่เท่าที่เรียกมาคุยไม่เห็นว่าอยากจะให้นิรโทษ ซึ่งพยายามบอกกับเขาว่ากองทัพไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เป็นเจ้าหน้าที่เหมือนวันนี้ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ และในวันนั้นตำรวจเป็นเจ้าพนักงานร่วมกับทหาร และตำรวจก็ไปก่อนทหารด้วย

นอจากนี้ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ต้องรอให้กระบวนการดำเนินการนิรโทษกรรมออกมาก่อน และดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่าคาดการณ์ล่วงหน้า หากเลวร้ายจริงๆ เขาคงหาทางแก้ไข พร้อมแนะนำว่าจังหวะนี้ทุกคนต้องมีขันติ สติ รู้คิด รู้ทำ อย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส และเพื่อแสดงความอาลัยสมเด็จพระสังฆราชซึ่งเราต้องไว้ทุกข์กัน 1 เดือน ภายใน 30 วันนี้ ต้องนำคำสอนของท่านไปอ่านดูว่าท่านได้รับสั่งอะไรไว้บ้าง อย่างน้อยต้องรู้เรื่อง เบญจศีล เบญจธรรม ซึ่งประเทศไทยต้องก้าวไปข้างหน้า ด้วยกฎหมาย ความเข้าใจและวิธีการแก้ไขปัญหาที่สันติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท