Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“เข้าใจ” และ “เห็นด้วย” ดูจะเป็นคำที่มักถูกใช้ไปในความหมายเดียวกัน ทั้งที่สะกดไม่เหมือนกัน ความหมายต่างกัน และเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่างกัน

เมื่อรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ การที่คนเรา “เข้าใจ”ข้อมูลข่าวสารนั้นก็คือสามารถรู้เรื่องว่า ข่าวสารนั้นมีใจความอย่างไร กำลังสื่ออะไร และ (อาจจะ) ต้องการจะนำไปสู่อะไร พูดอย่างมีชั้นเชิงหน่อยก็คือว่า “แปลรหัสออก”

ดังนั้น เห็นได้ว่า “เข้าใจ” นั้นเป็นเพียงขั้นตอนของการรับ-อ่าน-ตีความข้อมูล เพื่อให้รู้ว่าตัวเองกำลังเจอกับอะไร อะไรที่ว่านั่นมาจากไหน กำลังจะไปไหน และที่สำคัญ “มาอย่างไร”

และทั้งหมดนั้น ต่อข้อมูลข่าวสารบางแบบ การทำความเข้าใจก็เพื่อจะนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะ “เห็นด้วย” หรือไม่ (เช่น การแสดง-แลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องต่างๆ)

“เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย” หรือกระทั่ง “ไม่สนใจ” (ยักไหล่) ล้วนเป็นหรือควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่คนเราได้ทำความเข้าใจในข้อมูลที่ตัวเองได้รับ

ฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ เข้าใจได้ไม่ยาก ไม่มีอะไรซับซ้อน จนไม่น่าจะต้องมาใช้พื้นที่อธิบายให้สิ้นเปลืองทรัพยากรถึงสิบบรรทัด และบรรยายต่ออีกนับสิบบรรทัด

แต่ก็ต้องมาจำแนกแยกแยะ เพราะมักจะเห็นการเชื่อมโยงที่ว่า “เข้าใจ” เท่ากับ “เห็นด้วย” หรือในเชิงกลับแบบ “ไม่เห็นด้วย” เท่ากับ “ไม่เข้าใจ” (อันสำหรับโลกออนไลน์แล้วมักตามมาด้วย “ไปอ่านใหม่ให้ดี”) อยู่เป็นประจำ

การเชื่อมโยงดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นในลักษณะทำนองว่า จอห์น โด ไม่พอใจที่แจ็ค ดอว์ ไม่ต่อว่าพวกกินเนื้อสุนัขไปกับเขา แถมยังเถียงเมื่อเขาบอกว่าคนกินเนื้อสุนัขเป็นคนไม่ดีอีกด้วย จอห์น โด ไม่พอใจและบอกว่าแจ็ค ดอว์ ก็คงเป็นพวกชอบกินเนื้อสุนัขเหมือนกัน

เมื่อเจน โด ผู้เป็นภรรยา ได้ฟังเรื่องราวแล้วก็เสนอเหตุผลต่างๆ อีกหลายแบบที่เป็นไปได้ ที่เธอคิดว่าทำให้แจ็ค ดอว์ ไม่แสดงออกไปในทางเดียวกันกับสามีของเธอ จอห์น โด ได้ฟังดังนั้นแล้วก็ไม่พอใจ หาว่าเจน โด เมียรักเข้าข้างแจ็ค ดอว์ และก็เลยเถิดในแบบเดียวกัน คือหาว่าเธอเองก็คงอยากกินเนื้อสุนัขด้วย

การเชื่อมโยงในลักษณะดังกล่าวนั้นสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เป็นเหตุให้ผัวเมียคู่นี้ตีกัน เนื่องจากในความเป็นจริง เจน โดว์ ก็ไม่สนับสนุนการกินเนื้อสุนัข รวมทั้งเห็นว่าคนเราควรจะต่อต้านการกินเนื้อสุนัข แต่เธอก็เพียงแค่พยายามจะเข้าใจว่าแจ็ค ดอว์ ทำมันลงไปในแบบนั้นเพราะอะไร รวมทั้งเห็นต่างว่าเขาอาจจะไม่ได้ชอบกินเนื้อสุนัขก็ได้ และไม่รู้สึกว่าแจ็ค ดอว์ นั้นผิดอะไรที่จะเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ หรืออีกลักษณะกรณีคือ ต่อให้แจ็ค ดอว์ ชอบกินเนื้อสุนัขก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรในชีวิตของเธอ

แม้จะเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน แต่ “การทำความเข้าใจ” และ “การตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยหรือไม่” ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า อย่างแรกนั้นเป็นเรื่องเชิง W หรือ Who-What-When-Where-Why คือ ใคร-ทำอะไร-เมื่อไหร่-ที่ไหน-ทำไม เป็นการทำให้ตัวเอง “รู้เรื่อง” เท่าที่ความสามารถจะอำนวย ในขณะที่อย่างหลัง หรือก็คือการตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของการใช้ตรรกะ ใช้เหตุใช้ผล เพื่อประมวลว่าเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลอันปรากฏในข้อมูลนั้นสมเหตุสมผลเพียงไหน กล่าวคือ เป็นการเทียบเคียง “ที่เราคิดว่าจะเป็น” กับ “ที่เราพบว่าเป็น” โดยเทียบบนฐานประสบการณ์และความรู้พื้นหลังของตน หรือ หลังจากรู้ว่าที่มัน B ก็เพราะ A ก็คิดต่อไปว่า เนื่องด้วยหรือเนื่องเพราะ A แล้วนั้น มันสมควรหรือหนักแน่นพอจะ B หรือไม่ ถ้าเพียงพอก็เห็นด้วย ถ้าไม่เพียงพอก็ไม่เห็นด้วย หรือไม่ก็อาจจะไม่ได้สนใจอะไรทั้งสิ้น จะ A เพราะ B หรือ B เพราะ A ก็รู้เรื่อง แต่ไม่สนใจอะไร

คนเราสามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับมัน และการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยกับข้อมูลนั้นๆ หรือไม่ หรืออย่างน้อยที่สุด จะรู้สึกกับมันอย่างไร และในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย การทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอันมาก และเราไม่ควรลัดวงจรมันด้วยการชี้หน้าคนที่พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย ว่าเขาสนับสนุนหรือเป็นพวกเดียวกับสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยหรือกระทั่งชิงชังนั้น

อาจเรียกอีกอย่างได้ว่า ลำพัง “เข้าใจ” ไม่ได้หมายความว่า “ยอมรับ” เจน โด สามารถเข้าใจว่าทำไมแจ็ค ดอว์ จึงไม่ว่าหรือถึงขั้นปกป้องพวกกินเนื้อสุนัข เช่น เธออาจจะมองว่า มันเป็นสิทธิของแจ็ค ดอว์ และคนเหล่านั้น ตราบใดไม่มีกฎหมายที่ใช้เอาผิดเรื่องพรรค์นี้ ตราบใดคนพวกนี้ไม่มาฆ่าสุนัขของเธอเพื่อเอาเนื้อไปกิน เธอก็จะไม่ไปด่าประณามพวกเขาด้วยอำนาจรสนิยมส่วนตัวที่ไม่ได้รับการรับรองจากกฎหมาย หรือกระทั่งสามารถไม่เห็นด้วยกับการด่าประณามในลักษณะนั้น โดยที่เธอเองก็ยังคงไม่เห็นด้วยกับการกินเนื้อสุนัขเหมือนเดิม และถ้าเธอมีกำลังพอ เจน โด ก็อาจไปหาทางเคลื่อนไหวให้เกิดกฎหมายออกมาจัดการในเรื่องนี้

ยิ่งไปกว่านี้ นอกจาก “เข้าใจ” ไม่ได้เท่ากับ “เห็นด้วย-ยอมรับ” แล้ว ในอีกระดับหนึ่งต่อไป การ “เห็นด้วย-ยอมรับ” ก็ไม่ได้เท่ากับ “เอาด้วย-ร่วมด้วย”

แจ็ค ดอว์ สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมมีการกินเนื้อสุนัข เห็นด้วยกับเหตุผลของคนพวกนั้น ยอมรับได้ถ้าจะมีวิถีการกินแบบนี้อยู่ในโลก โดยที่ตัวเขาเองไม่เคยและไม่มีวันจะไปกินเนื้อสุนัขอย่างแน่นอน

ในโลกแห่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผมเห็นแจ็ค ดอว์ และเจน โด เต็มไปหมด แต่ก็ยังไม่มากเท่าจอห์น โด ที่คอยชี้หน้าบอกว่าคนนั้นเป็นเจน โด คนนี้เป็นแจ็ค ดอว์ โดยไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็นจอห์น โด

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: THAIPUBLICA

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net