Skip to main content
sharethis

ในช่วงเวลาที่หลายสิ่งอย่างกำลังจะวิ่งผ่านเลยไป และสิ่งใหม่กำลังจะเข้ามาทดแทน เป็นความเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่สำนึกการสร้าง “ตัวตน” ในสังคมส่วนหนึ่งยังผูกติดกับสิ่งเก่า จนดูราวกับยังไม่พร้อมจะพบกับความเปลี่ยนแปลง  ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมเลื่อนฐานะทางสังคมผ่านชุดนักศึกษาเพื่อนำไปสู่ความเป็น “เจ้าคนนายคน”หรือ แนวคิด “ชาตินิยม” กรณีปราสาทพระวิหาร ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลกกำลังจะตัดสินคดีระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นเรื่องราวตกทอดมานับร้อยปีกระทั่งถึงปัจจุบันซึ่งเข้าสู่ยุคที่รถไฟความเร็วสูงกำลังเข้ามาเชื่อมต่อภูมิภาคทั้งในประเทศและนอกประเทศ 

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเจ้าของรางวัลฟูกูโอกะ ประจำปี 2555 ฉายภาพอนาคต ผ่านบทเรียนในอดีต ด้วยสาตาของปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์

-ตอนนี้อาจารย์ ยังถูกโจมตี ว่าเป็นนักวิชาการขายชาติ อยู่ไหม

ขายไม่ได้หรอก เพราะว่า ผมไม่ได้เป็นเจ้าของชาติ  แต่มันก็แปลก เรื่องการโจมตีผม เรื่องข้อมูลประวัติศาสตร์ ในด้านหนึ่ง ก็ทำให้เราเสียหาย เสียชื่อเสียง แต่ถ้ามองกลับไปแล้ว มันกลับกลายเป็นทำให้ผม ได้รับการยอมรับในวงวิชาการ มากขึ้น ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เลยทำให้ผมได้รับรางวัล ต่อไปเรื่อยๆ แล้วผมคิดว่า การพูดการเขียนของผม ก็มีคนรับฟังเยอะ

แล้วกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ผมได้รับการเชิญไปพูดเยอะมาก ในอเมริกา ประมาณ 4-5 มหาวิทยาลัย (คอร์แนล โอไฮโอ วีสคอนซิน ยูซีแอลเอ และเบิร์คเลย์) ในญี่ปุ่น ทั้งโตเกียว เกียวโต รวมทั้งในยุโรป (เบอร์ลิน ฮัมบวร์ก) ด้วย คือ เรื่องปราสาทและเขาพระวิหาร ระหว่างไทยกับกัมพูชา เป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจมาก เป็นประเด็นระหว่างประเทศ นอกจากมีคู่ขัดแย้งไทย-กัมพูชาแล้ว และยังอยู่ในกรอบของอาเซียนด้วย ทำให้ผมมีบทบาททางวิชาการในบั้นปลายชีวิต มากกว่าที่ผมเคยคิดว่าตัวเองจะมี  มองในอีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้เราเกิดสติปัญญามากขึ้นกว่าเดิม

-แนวคิดของอาจารย์ นับแต่เริ่มเคลื่อนไหวทำความเข้าใจคดีปราสาทพระวิหาร จนถึงขณะนี้ฝ่ายหนุน หรือฝ่ายต้าน ที่อ่อนกำลังลงกว่าเดิม

ผมคิดว่าคนที่ตกอยู่ในวาทกรรม “ชาตินิยม” แบบเดิมๆ ตอนหลังก็หายๆ ไป เมื่อข้อมูลที่แท้จริงมันปรากฏ ผมว่าเขาก็ไม่สามารถจะพูดไปได้   อย่างเช่นว่า แผนที่ (หนึ่งต่อสองแสน) นั้น สยามไม่รู้เรื่องด้วย ฝรั่งเศสทำ ฝ่ายเดียวมันก็ไม่ใช่ หรือแผนที่ (หนึ่งต่อสองแสน) นั้น สยามไทย ไม่เคยรับรอง มันก็ไม่ใช่ หรือว่าทางขึ้นทางด้านกัมพูชาไม่มี ก็ไม่ใช่อีก คือ มีอะไรหลายอย่างที่เป็น “มายาคติ” แล้วเมื่อเกิดความขัดแย้ง ความจริงก็ปรากฏขึ้นมา เช่นว่า แผนที่นั้น ไทยสยาม มีผู้แทนไปร่วมสำรวจ คือ เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หรือ มรว. สท้าน สนิทวงศ์) และทั้งเสนาบดีการต่างประเทศ กับมหาดไทยของไทยสยาม ให้การรับรอง นำมาใช้ในราชการสมัยรัชกาลที่ 5 (กรมเทววงศ์ฯ กับ กรมดำรงฯ) เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลไทย สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ที่มี มรว. เสนีย์ ปราโมช เป็นทนายนั้น ต้องแพ้คดีศาลโลก ด้วยคะแนน 9:3 เมื่อปี 2505 แต่รัฐบาลไทยตั้งแต่นั้น จนกระทั่งบัดนี้ ก็ไม่พูดความจริงกับประชาชนชาวไทย ทำให้เรา รวมทั้งผม เข้าใจผิดๆ ตลอดมากว่า 50 ปี

แล้วอย่างที่เราเห็น การปลุกระดม “ชาตินิยม” เป็นความรักชาติของคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ในถนนราชดำเนิน ซึ่งไม่ ถูกกระทบกระเทือนอะไรเลย เมื่อเกิดสงคราม เกิดการสู้รบขึ้น กลับเป็นชาวบ้านชายแดน แถวๆศรีสะเกษ ต้องรับกรรม อพยพจ้าละหวั่น เห็นได้ชัดว่า “วาทกรรมเสียดินแดน” นั้น เป็น “วาทะ” ของชาวกรุง แต่ “กรรม” ตกอยู่กับชาวบ้าน สร้างปัญหาให้ส่วนรวมและประเทศขาติ ฉะนั้น วิธีคิด ความรักชาติแบบเดิมๆ คับแคบ ผมว่ามันเป็นไปไม่ได้แล้ว

-ล่าสุด มีหนังสือ PreahVihear: A Guide to the Thai-Cambodian Conflict and Its Solutions ใช้เวลาทำเล่มนี้นานแค่ไหน

เริ่มเขียน ประมาณ ปี 2010 หรือ ปี 2553 เราผู้แต่ง 3 คน เดินสายสัมภาษณ์ผู้นำกัมพูชา กับผู้นำไทย เราสัมภาษณ์คนไม่น้อยในกัมพูชา รวมทั้งรัฐมนตรีช่วยกลาโหม

ในเมืองไทยก็สัมภาษณ์ ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศหลายคน รวมทั้ง ดร.เตช บุนนาค งานนี้ สิงคโปร์ เป็นเจ้าภาพ แต่พิมพ์ในไทย โดยไวท์โลตัส ออกวางตลาดเล่มละ 495 บาท เล่มเล็กๆ  จะเปิดตัว หนังสือ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ตึกมณียา ราชประสงค์วันที่  30 ก.ย. เวลา 19.00 น. จากนั้น จะเปิดตัว ที่พนมเปญ เป็นสถาบันวิชาการของนโรดมศิริวุฒิ ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของกษัตริย์กัมพูชาองค์ปัจจุบัน ช่วยเป็นองค์ประธานเปิดตัวให้ ครับ เราอยู่ในกลุ่มที่พยายามสร้าง “สันติภาพ” ระหว่างชาติอาเซียนด้วยกัน

หนังสือเล่มนี้ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์  ทำงานหลัก รองลงมาก็ ท่านทูต ปู สุทธิรักษ์ เพิ่งรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศล่าสุด โดยก่อนที่จะลงมือเขียนหนังสือ ก็มีสัมมนา มีคุย จนความคิดเข้ากันได้ว่าจะเสนออย่างไร ตอนท้ายเสนอว่า ในกรอบการตกลง ก็หนีไม่พ้นทวิภาคี คือ 2 ฝ่าย ไทยกับกัมพูชา ต้องตกลงกัน ถ้าหาทางออกไม่ได้ ก็อาจจะต้องเป็นพหุภาคี ในกรอบของอาเซียน โดยมีอินโดนีเซียเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นตัวกลาง

ในแง่นี้ แปลว่า เรามองว่า ความขัดแย้งต้องยุติโดยการเจรจา การใช้กำลังรบ ไม่มีทางประสบความสำเร็จ โลกก็ไม่ยอมรับ การสู้รบ ปะทะ เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก  มีความเป็นมา ปัญหา และเมื่อศาลโลกตัดสินแล้วควรจะเป็นอย่างไร

เป็นหนังสือ ที่พูดถึง ปัญหาและทางออกของคดีปราสาทพระวิหาร ภายหลังการตัดสินของศาลโลกแล้วมันจะเป็นอย่างไร ซึ่ง เรื่องคงไม่จบที่ศาลโลก เพราะ มีพลังกระแส “ลัทธิชาตินิยม” ทั้งในไทย และกัมพูชาอยู่ แต่ส่วนตัว มองว่าปัญหาจะไม่ร้ายแรงเท่าปี 2551 ในสมัยรัฐบาลของคุณสมัคร สุนทรเวช และ คงไม่ร้ายแรงขนาดเมื่อปี 2553 ตอนต้นปีที่มีการปะทะกันที่ชายแดน มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายไม่น้อยประชาชนที่อยู่ชายแดนของศรีสะเกษ ก็ต้องอพยพกันจ้าละหวั่น

คิดว่า ตอนนี้ ไม่น่าจะรุนแรงขนาดนั้น ถ้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ตัดสินให้ทั้ง 2 ฝ่าย กลับไปตกลงหาทางยุติข้อพิพาทกันเอง นั้น ก็เป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ว่า ถ้าศาลตัดสินออกมาว่า บริเวณพื้นที่ทับซ้อนนั้น ให้เป็นไปตามแผนที่ (หนึ่งต่อสองแสน) ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ก็จะถูกตีความว่า ไทย “เสียดินแดน” (ความจริง “ไม่ได้ดินแดน” เสียมากกว่า) และก็คงมีปัญหากัน อาจจะเป็นชนวนการประท้วงขึ้นมาอีกในเมืองไทย โดยกลุ่มเก่า ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล แต่ผมก็อยากเชื่อว่า “ฟืนเปียก” คง “จุดไม่ติด” เท่าไหร่ อาจจะเป็นประเด็นร้อน แต่คงสุมไฟให้ลุกโชนไม่ได้

ผมว่าประเด็นใหญ่ จะเป็นประเด็นปัจจุบันของการเมืองไทย เช่น “จำนำข้าว” หรือ “กฎหมายนิรโทษกรรม” หรือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” แต่อยากจะเชื่อว่ารัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ น่าจะรักษาสถานการณ์ได้ ไม่ง่ายนัก แต่ก็น่าจะ “เอาอยู่”

-พลังชาตินิยม จะตกอยู่ในฐานะใด ในยุคที่รัฐบาลกำลังจะเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคด้วยการคมนาคม

หลีกเลี่ยงไม่พ้น โลกปัจจุบันที่เราเรียกว่าสมัยของ “โลกาภิวัตน์” โลกห้อมล้อมอาเซียน และอาเซียนก็ห้อมล้อมประเทศไทย ในแง่ของภูมิภาค อาเซียนก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ และรัฐบาลนี้ ของคุณยิ่งลักษณ์ ให้ความสำคัญกับอาเซียน มากกว่าสมัยรัฐบาลคุณทักษิณด้วยซ้ำไป  เพราะฉะนั้น มันไม่เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมาเมื่อ 50 ปีก่อน มันจึงโยงไปยังเรื่องของการคมนาคม แต่ก่อนเราพูดถึงเรื่องการเชื่อมตะวันออกกับตะวันตก เชื่อมดานัง ในเวียดนามกลาง มายังลาว สวันเขต เข้ามายังมุกดาหาร มายังพิษณุโลก แล้วก็ไปออกที่แม่สอด จังหวัดตาก ไปสุดเส้นทางที่มะละแหม่ง แปลว่า เส้นทางนี้ เสร็จเกือบจะหมดแล้ว เหลือช่วงสั้นๆ ในพม่าเท่านั้นเอง

เราวิ่งรถได้สบายมาก ถ้าจะวิ่งจากตาก พิษณุโลก ไปอีสาน มุกดาหาร ข้ามแม่น้ำโขง เข้าไปในลาว ไปเวียดนามกลาง ประเภทที่บอกว่า กินข้าวเช้าที่มุกดาหาร กินข้าวกลางวันในลาว และกินข้าวเย็นที่ชายทะเลเวียดนามกลาง เป็นเรื่องธรรมดามากตอนนี้

อีกเส้นที่ดูมาแรง คือ จากจีนตอนใต้ จากยูนนาน จากกวางสีเข้ามายังลาว แล้วก็ลงมายังหนองคาย มาโคราช เข้ามากรุงเทพฯ แล้วไปสิ้นสุดที่สิงคโปร์ อะไรทำนองนี้ ผมคิดว่า เรื่องแบบนี้ มีความเป็นไปได้สูงมาก มีทั้งแรงสนับสนุนจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น และแรงตอบสนองภายในอาเซียนเอง

ผมคิดว่า ลาวก็เล่นเกม ให้ตัวเอง กลายเป็นแลนด์ลิงค์ ลาว อาจจะนึกภาพตัวเองเป็นสวิสเซอร์แลนด์ ไม่มีทางออกทะเล แต่ทันที ที่เปลี่ยนสภาพเป็นแลนด์ลิงค์ มีทั้งทางถนน และทางรถไฟเชื่อม ลาวก็มีอิสระในการติดต่อมากขึ้น คือ เมื่อก่อนต้องออกทางไทยเท่านั้น คือ เข้ามาอีสาน แล้วก็มากรุงเทพฯ แต่ตอนนี้ ลาวเชื่อมกับ มหาสมุทรด้านแปซิฟิกได้สบายๆ คือ สามารถไปดานังได้สบายๆ

รถไฟในบ้านเราตอนนี้ ก็ทำรองรับ เช่น รางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผลักดันเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ฉะนั้น  ตามมาด้วยเงินกู้ 2 ล้านล้าน

ฝ่ายตรงข้าม ก็พยายามดิสเครดิตโครงการเหล่านี้ หรือ เสนออะไรที่ต่างจากนี้ เช่น กรณีแย่งแบรนด์2020 กัน ซึ่ง ใครจะชนะ ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนตัดสิน ส่วนองค์กรอิสระ ก็เหมือนกับ ตัวประกอบที่สำคัญ และผมคิดว่า การที่นำเรื่องไปให้องค์กรอสระตัดสิน ก็เหมือนแทงหวย ฟ้องหลายๆ อัน โดยหวังว่าจะฟลุ๊คถูกเข้าสักอัน แต่ผมคิดว่า ปัจจุบันนี้ไม่ง่าย

 แบรนด์2020 ของรัฐบาล(จาก เฟซบุค รมต. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์)

 แบรนด์2020 ของ ฝ่ายค้าน(จากเวบไซต์ข่าวสด)


เพราะข้อมูลข่าวสาร มันแพร่สะพัดมากๆ ด้วยโซเชียลมีเดีย ผมคิดว่า คนมันไม่ต้องพึ่ง “สื่อกระแสหลัก” อีกต่อไปแล้ว อย่างเอาเข้าจริงๆ  ผมก็ไม่พึ่งสื่อกระแสหลัก โทรทัศน์ วิทยุ เพราะ เราหาข้อมูลของเราเอง แล้วคนจำนวนมาก ปัจจุบัน เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากกว่าเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มากกว่า ก่อนรัฐประหาร 19 กันยา 2549

ตอนนี้ จะพูดอ้างข้อมูลมาอำกันอย่างแต่ก่อน ไม่ได้แล้ว เช่นกรณี ข้อมูลว่า แผนที่ฝรั่งเศสทำฝ่ายเดียว ซึ่งมันก็ไม่ใช่ เพราะ รัฐบาลสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ร่วมทำแผนที่ เรื่องมันจบเกมไปแล้ว และถูกรื้อฟื้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีการเรียกร้องดินแดน เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ เชียงตุง เมืองพาน 4 รัฐมลายู แต่ก็ต้องคืนไปเมื่อญี่ปุ่นแพ้ ตอนนั้นไทยเกือบถูกปรับเป็นประเทศแพ้สงคราม แต่พอดีมี “เสรีไทย” และท่านปรีดี พนมยงค์“กู้ชาติ กู้สถานการณ์” ไว้ได้ และเรื่องมันก็จบไปแล้ว

แต่มารื้อฟื้นสมัย จอมพลสฤษดิ์ธนะรัขต์ แล้วก็แพ้คดีในศาลโลก 9 ต่อ 3 แล้วก็ยังมารื้อฟื้นกันอีกตอน “มรดกโลก” สมัยต่อต้านรัฐบาลคุณสมัคร สุนทรเวช เรื่องมันยาวเป็น 100 ปี ยังกับกรณีแย่งมรดก “บ้านทรายทอง” ของฝ่ายตระกูลพินิตนันท์ ของพจมาน กับฝ่ายตระกูลสว่างวงศ์ ณ อยุธยา ของหม่อมแม่ กับหญิงเล็ก โชคดีมีชายกลาง เข้ามาทำให้เกิดความรัก และปรองดองกันได้ จบแบบนิยาย “แฮปปี้เอ็นดิ้ง” ครับ

ส่วน “ลัทธิชาตินิยม” นั้น ถ้าจะปลุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันต้องคุมกลไกของรัฐ อย่างเช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ แต่ตอนนี้ รัฐบาลที่คุมกลไกเหล่านี้อยู่ เป็นรัฐบาล “เพื่อไทย” ซึ่งมีมิตรไมตรีอันดีกับรัฐบาลของสมเด็จฮุน เซ็น ซึ่งแตกต่างกับรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอย่างคุณกษิต ภิรมย์ ที่สถานการณ์เลวร้ายมาก เพราะเมื่อรัฐบาลต่อรัฐบาลเป็นศัตรูกัน เราก็เห็นได้ชัด มีการปะทะ สู้รบ ยิงกัน เป็นการสู้รบเล็กๆ ยังไม่ถึงกับเป็นสงครามใหญ่ เมื่อต้นปี 2553 แต่สถานการณ์ตอนนี้ 2556 มันไม่ใช่

-ทำไมใช้เกมเดิมมาล้มรัฐบาล ไม่ได้แล้ว

ผมคิดว่าเรื่องนี้ ล้มรัฐบาลไม่ได้ และ คนส่วนใหญ่ก็เพลีย กับการประท้วงที่ผ่านมา ก็จุดไม่ติด ไม่ว่าจะเป็น เสธ.อ้าย หรือการที่คุณชวน คุณอภิสิทธิ์ นำหน้าเดินขบวนให้ประชาชนไป “ส่ง” เข้าประชุมรัฐสภา แล้วก็ “โบกมือลา” กันไป คนคงเบื่อและเพลีย เกมนี้มันนานมาก ถ้ามองกลับไป 19 ก.ย. 2549 ก็7 ปี ถ้ามองกลับไปตอนเริ่มประท้วงคุณทักษิณ ก็ 10 ปีแล้ว มันเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวผิดปกติ แต่ก็ยังจบไม่ง่าย

-ประชาธิปัตย์ ยังคงมีความพยายาม แสดงการต่อต้านทั้งเวทีปราศรัย และ ในสภา

ผมคิดว่า พวกเขายังมี “อำนาจเดิม บารมีเดิม เงินเดิม” สนับสนุนอยู่ ตอนนี้ ผมว่ามันเป็นช่วงของ “การเปลี่ยนผ่าน” ที่ใหญ่โตมโหฬารมากๆ สำคัญมากๆ ที่ “อำนาจเดิม บารมีเดิม เงินเดิม” ถูกท้าทายด้วย “อำนาจใหม่ บารมีใหม่ เงินใหม่”

“กลุ่มเดิม” อาศัยฐานกำลังเก่า ในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ๆ บางเมือง แต่ “กลุ่มใหม่” (อำนาจใหม่ บารมีใหม่ เงินใหม่) ใช้ฐานจาก “คนชั้นกลางใหม่” ที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นคนซึ่งจะอยู่ในชนบท เป็นชาวไร่ชาวนา ตามแบบเก่า ก็ไม่ใช่ หรืออยู่ในเมือง เป็นคนเมือง 100% ก็ไม่ใช่อีก แต่เป็นคนที่อยู่ระหว่างเมืองกับชนบท อันนี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคอีสาน กับภาคเหนือ

แล้วเกมที่ตัวแทนของ “อำนาจเดิม บารมีเดิม เงินเดิม” เล่น แม้จะอ้างว่าเป็น “ประชาธิปไตย” แต่เอาเข้าจริงเป็นเกมของฝ่าย “อำมาตยาธิปไตย” เสียมากกว่า เป็นเกม “อนุรักษ์นิยม” มากกว่า

เพราะฉะนั้น ฐานมันแคบกว่า ในขณะที่ฝ่าย “กลุ่มใหม่” เล่นเกมเลือกตั้ง เล่นเกมรัฐสภา เล่นเกมประชาธิปไตยแบบสากลโลก คือ 1 คน ต่อ 1 เสียง ฝ่าย “กลุ่มเก่า” ก็ไม่อยากได้ เพราะเขาก็อยากได้ 70:30 อย่างที่เราเคยได้ยิน ฝ่าย “กลุ่มเก่า” ก็ยังต้องการ สว.สรรหา สว.แต่งตั้ง แต่แนวโน้มของโลกปัจจุบัน มันกลับไปแบบเก่าไม่ได้แล้ว

-รถไฟความเร็วสูง จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับยุคนี้ เหมือนหรือแตกต่างอย่างไร กับรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5

รถไฟของรัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องของ กระบวนการทันสมัย โมเดิร์นไนซ์เซชั่น หมายความว่าประเทศในโลกทั้งหลาย ในสมัยเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ต้องมีรถไฟ มันเป็นเครื่องมือของรัฐ ที่จะควบคุมทางการเมือง และมีผลพลอยได้ ทางด้านเศรษฐกิจ

รถไฟไทย มาจากการที่รัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดีย เป็นเวลาหลายสัปดาห์ทีเดียว ท่านเดินทางโดยรถไฟ จากกัลกัตตา ไปถึงเดลีไปถึงบอมเบย์ (มุมไบ) เป็นการเดินทางที่ยาวมากๆ แล้วท่านก็เห็นว่า รถไฟ เป็นเรื่องใหญ่มากที่สยามประเทศจะต้องมี

เข้าใจว่า ท่านเห็นรถไฟ อาจจะครั้งแรกในอินโดนีเซีย เมื่อเสด็จเยือนสิงคโปร์ กับ ชวา แล้วก็เห็นดัชช์ สร้างทางรถไฟสายแรกๆ ที่เมืองสมารัง แล้วในปีถัดมา ท่านก็เสด็จอินเดีย ตอนนั้น อายุ 17-18 ท่านประทับใจมาก ในที่สุดก็นำมาซึ่งการสร้างทางรถไฟในสยาม

แต่ผมว่าเป้าหมายของ รัชกาลที่ 5 ในการสร้างทางรถไฟ มันเป็นเรื่องทางการเมือง ความมั่นคงมากกว่า ฉะนั้น เราจะเห็นรถไฟสายแรก กรุงเทพฯ-อยุธยา และก็โคราช คือทำอย่างไรจะคุม หัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ได้ หลังจากนั้น ก็ค่อยๆ ขยายไปเรื่อย จนกระทั่งถึงหนองคาย อุบล มีลักษณะกรุงเทพฯ คุมหัวเมือง ต้องการคุมอีสานให้ได้ ฉะนั้น ทางรถไฟสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ก็คุมโคราช เราจะเห็นรูปในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จ และทรงถ่ายรูปที่ไทรงาม พิมาย ที่โคราช แล้วข้างล่างก็คือ การเชื่อมต่อกับทางรถไฟของอังกฤษ ทางภาคเหนือ กว่าจะทะลุถ้ำขุนตาลไปถึงเชียงใหม่ ก็ตกมารัชกาลที่ 6 แล้วใช้เวลายาวนานมาก เพราะภูมิประเทศกันดาร ไม่อำนวย เงินก็ไม่มี

ฉะนั้น รัชกาลที่ 5 กับอังกฤษ จึงตกลงกันว่า ให้อังกฤษได้ดินแดน 4 รัฐมลายู คือ เคดะห์ (ไทรบุรี) กลันตัน ตรังกานูปลิส ส่วนสยามเอาปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล ในแง่หนึ่ง ก็คือเพื่อได้เงินกู้จากอังกฤษด้วย ถ้าเราดูพระราชดำรัส ตอนปลายรัชกาลต่อบรรดาเสนาบดี จะเห็นชัดมากในเรื่องนี้ ที่จะต้องแลก “เอาทั้งอธิปไตย เอกราช” ของสยามไว้ และสร้างพันธไมตรีอันดี กับทั้งอังกฤษ และฝรั่งเศส (โดยยอมสละอำนาจอธิปไตยเหนือมณฑลบูรพา หรือ เสียมเรียบ พระตะบอง รวมทั้งปราสาทเขาพระวิหาร และปราสาทวัดพู)

ดังนั้น ก็เป็นเรื่องของความทันสมัยและ ความมั่นคงทางการเมือง เป็นหลัก

แต่รถไฟความเร็วสูงที่มาโดย กลุ่ม “อำนาจใหม่ เงินใหม่ ของกลุ่มทักษิณ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผมว่าเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจเป็นหลัก คือ จะเป็นการเชื่อมภาคต่างๆ ในประเทศไทย เข้าด้วยกัน ในขณะเดียวกันก็เชื่อมกับประเทศข้างเคียง ฉะนั้น เป็นเรื่องของ การทำให้มีการโยกย้ายผู้คน แรงงาน ธุรกิจได้สะดวก โยกย้ายผลผลิตได้สะดวกขึ้น

-รถไฟความเร็วสูง กับโอกาสการเชื่อมต่อไปถึงยุโรปไหม

นั่นก็เป็นความฝันของคนหลายรุ่นนะ ที่จะเชื่อมให้ได้ แต่ผมคิดว่ามันคงยาก เพราะสถานการณ์ทางการเมือง ในหลายๆ ประเทศ ยังไม่อำนวย คือ หมายความว่า ถ้าเชื่อม ไปพม่า อินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน ตุรกี ยังยาก เป็นความฝันที่ยังห่างไกลมาก ผมว่า อันนี้ เป็นเรื่องความมั่นคงมากกว่าเศรษฐกิจ อาจจะไม่คุ้ม รัสเซียก็ทำจากกรุงมอสโค มาถึงเมืองวลาดีวอสต๊อก คือจากยุโรปมาถึงชายฝั่งแปซิฟิก 

แต่ผมสงสัยว่าอันที่อาจจะเปลี่ยน และมีความสำคัญมากๆ คือ การเชื่อมต่อกับเมืองจีน ถ้าเชื่อมกับยูนนาน หรือกวางสีได้ คงเปลี่ยนเยอะเลย และสงสัยว่า อันนี้ มีความเป็นไปได้สูงมาก ก็ไม่รู้ในแง่การเมืองจะเป็นอย่างไร คงหนีไม่พ้น ทั้งลาว ทั้งกัมพูชา และไทย ต้องอยู่ใต้อิทธิพลจีน อย่างมากๆ จีนเคยเป็นเจ้าโลกในอุษาคเนย์มาเป็นพันๆปี ทำไมจะกลับมามีอำนาจอีกไม่ได้ ตอนนี้ฝรั่งตะวันตก ก็เริ่มอ่อนกำลังลงแล้ว ไม่ใช่หรือ

-เป็นเรื่องดีหรือไม่ดี

ก็คงทั้งดีและไม่ดี ช่วยไม่ได้ จีนก็มีอิทธิพลอยู่แล้ว ผู้นำไทยเรา ก็วิ่งไปประจบจีนกันไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ใช่หรือ เดี๋ยวก็ไปฮ่องกง เดี๋ยวก็ไปปักกิ่ง เดี๋ยวก็ไปทัวร์

-ชุดนักศึกษาในอาเซียน

ก็มี ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย อันเป็นมรดกตกทองมาจากยุคอาณานิคม และยุคสมบูรณาสิทธิราชย์ แต่ผมคิดว่ากรณีเวียดนาม อาจจะไม่ซีเรียสมากเท่ากับของไทย คืออาจจะแต่งเฉพาะเวลามีงานพิธี แต่ปกติ เวลาเราไปที่มหาวิทยาลัย ก็ดูนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ไม่ได้ซีเรียสเท่าไหร่

เอาเข้าจริงๆ ในเมืองไทยก็ไม่ซีเรียสเท่าไหร่นะ จะว่าไปแล้ว ถ้าเทียบกับลาวและกัมพูชา อันนั้น เขาจะอนุรักษ์นิยมมากกว่าไทย ของเรา ผมว่า นิสิต นักศึกษา ในมหาวิทยาลัยระดับนำๆ ก็ค่อนข้างมีอิสระในการต่างกาย ถ้าดูไปแล้ว เราจะเห็นว่า อาจจะมีแต่งชุดนักศึกษา ตอนอยู่ ปี  1 ผมว่าไม่ซีเรียส

-การรณรงค์ค้านการบังคับแต่งชุดนักศึกษา โดย “อั้มเนโกะ” 

กรณีธรรมศาสตร์ ถ้าเราพูดถึงการรณรงค์ ของ อั้มเนโกะ ผมว่า เขา/เธอ เก่งมาก ที่ใช้รูปเพียง 4 รูป แล้วผู้คนวุ่นวายกันไปหมด ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย แสดงว่า “ตกหลุม” อั้มเนโกะ หมดเลย รวมทั้งบรรดาอาจารย์ทั้งหลาย (หัวเราะ) ซึ่งผมว่ามันกลายเป็นเรื่องตลก คือในแง่ของธรรมศาสตร์ มีเครื่องแบบก็จริง แต่ธรรมศาสตร์ ก็มีทางออกให้นักศึกษา ด้วยการบอกให้แต่งตัวสุภาพ แต่ในธรรมศาสตร์ อาจารย์ก็จะเข้มงวดไม่เท่ากัน บางคณะ บางอาจารย์ จะเข้มงวดเป็นพิเศษ บางคณะบางอาจารย์ ก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ อย่างตัวผมเอง ผมก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เพราะ ผมเองก็ไม่ได้แต่ง เครื่องแบบอาจารย์” ไปทำงาน ไปสอนหนังสือ ฉะนั้น เราจะไปเรียกร้อง ให้นักศึกษาแต่งเครื่องแบบ ก็เป็นเรื่องตลก ถ้าเราไม่ทำ เราก็ไม่ควรจะไปเรียกร้องให้คนอื่นเขาทำ (หัวเราะ)

กรณีนี้ ผมคิดว่า เป็นการทำเรื่องเล็ก ให้เป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็ ขาดความเข้าอกเข้าใจในเยาวชนคนหนุ่มสาว ถามว่า เรื่องเครื่องแบบ มีมาตั้งแต่ เมื่อไหร่ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว นักศึกษา มี  “5 ย” ผมยาว กางเกงยีนส์ รองเท้ายาง สะพายย่าม และ ย ที่ 5 อะไรก็ไม่รู้นึกไม่ออก.... รุ่นเสกสรร ประเสริฐกุล ก็มีแล้ว ประท้วง ไม่ใส่ชุดนักศึกษา

ผมจำได้ว่า เวลานั้น พวกผู้บริหารมหาวิทยาลัยบ้าจี้ ก็จะหงุดหงิดกับนักศึกษาที่ไว้ผมยาว ยุคนั้น เป็นแฟชั่น ฮิปปี้ อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็จะออกมาให้ท้ายนักศึกษา อะไรทำนองนี้ ฉะนั้น ก็มีมาเป็นระยะๆ ผมก็ไม่ค่อยซีเรียสอะไรเท่าไหร่ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย และอย่างที่ผมบอกว่าธรรมศาสตร์ ก็ได้เปิดช่องไว้แล้ว ในระเบียบของมหาวิทยาลัย คุณไม่ต้องแต่งชุดนักศึกษา คุณแต่งชุดสุภาพก็ได้ ในระเบียบของมหาวิทยาลัย

เพียงแต่ว่า อาจารย์บางคนอาจจะบ้าจี้ เส้นตื้นไปหน่อย

-เครื่องแบบนักศึกษา ใน 4 ประเทศของอาเซียน บ่งบอกวิธีคิดอะไร

ผมว่าเครื่องแบบ เป็นตัวกำหนดสถานะ ของ “เจ้าคนนายคน” ดังนั้น คนจำนวนเยอะเลย ก็อ้างเรื่องระเบียบ ความเรียบร้อย ประหยัด แต่เอาเข้าจริง เครื่องแบบเป็นตัวกำหนดสถานะ ว่าเมื่อคุณเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้ว ถ้าคุณไม่เป็น “อีลีท” มาโดยกำเนิด คุณก็กำลังจะได้เป็น “อีลีท” เมื่อผ่านมหาวิทยาลัยนี้ไป เพราะฉะนั้น กลุ่มที่ต้องการเป็น “เจ้าคนนายคน” ก็ต้องการรักษาสถานภาพอันนี้เอาไว้ เป็นการรักษา “อำนาจ” อย่างหนึ่ง ต้องมีการใส่เครื่องแบบก่อนเปลี่ยนสถานะ ฉะนั้น ในสังคมที่มีความเป็น “อนุรักษ์นิยม” สูง อย่างกรณี ลาว กัมพูชา แม้จะผ่าน “การปฏิวัติ” มาแล้วก็ตาม แต่ผมคิดว่า “ผู้นำ” ก็มีลักษณะความเป็น “อนุรักษ์นิยม” สูงอยู่มากๆ จึงพยายามรักษาระเบียบแบบแผนสมัยอาณานิคมเดิมเอาไว้ คนที่จะเข้ามาอยู่ในสมาคม สังคมเดียวกับเขา ก็ต้องช่วยกัน “รักษา” (สัญลักษณ์แห่งอำนาจ) อันนี้เอาไว้

ซึ่งดูไปแล้ว มันก็ไม่เหมาะกับสังคมมหาวิทยาลัยปัจจุบัน เพราะสังคมมหาวิทยาลัย ต้องเปิดโอกาสให้มีการแสวงหา มันไม่ใช่จับเข้าแถวแล้วอ้าง “ความเป็นระเบียบเรียบร้อย” ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะสร้างสังคมมหาวิทยาลัย ที่เป็นและมี “วิชาการ” ได้ คือดูแล้วมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลก แล้วต้องแต่ง “เครื่องแบบ” สงสัยจะไม่มีแล้วในโลกใบนี้

โอเค เวลามีพิธีกรรม เขาก็จะใส่เครื่องแบบ เช่น ฮาร์เวิร์ด เยล เคมบริดจ์ออกซ์ฟอร์ด แม้กระทั่ง โตเกียว เกียวโต ผมอยากเชื่อว่านักศึกษา เขารู้ “กาละ และ เทศะ” ว่าเวลาอะไร ควรทำอะไร แต่ไม่ใช่บังคับกัน ทุกวี่ทุกวัน น่ารำคาญ

แต่ผมว่า เรื่องแบบนี้เดี๋ยวก็ลืม แล้วกลับไปเป็นเหมือนเดิม คือใส่บ้าง ไม่ใส่บ้าง แต่สงสัยกระโปรงยาวกำลังจะมา หลังจากคนเบื่อแฟชั่นสั้น “เสมอหู” ก็กำลังเปลี่ยน ล่าสุด ไม่กี่วันนี้ ผมไปคุมสอบ มีนักศึกษาปีหนึ่ง นุ่งกระโปรงยาว ถึงพื้นมาเพียบเลย (หัวเราะ)

กระโปรงผู้หญิง ไม่ยาวก็สั้น ไม่รัดก็พอง รุ่นพี่สาวผม ปลายยุค 50s ต้องใส่กระโปรงเหมือนสุ่ม ข้างในมีผ้าเป็นสุ่ม เป็นผ้าพอง กระโปรงบาน ตอนหลัง ก็เปลี่ยนเป็นแคบ เป็นสั้น เดี๋ยวก็ยาว เป็นแฟชั่น คนหนุ่มคนสาว ก็รักสวยรักงาม อยากมีแฟชั่น ดังนั้น อาจารย์และผู้บริหารไม่ควรจะ “ประสาท”

-โปสเตอร์ทั้ง 4 ภาพ ไม่เหมาะสมและแรงไปไหม

มันแรงสิ เพราะเขา/เธอ จงใจ ให้แรง ให้เห็นปุ๊บ แล้วโวยวายเลย เขา/เธอไม่ใช่ไม่จงใจ เขา/เธอ ประสบความสำเร็จในการเขย่าประสาท ในแง่หนึ่ง เขา/เธอ เป็นคน “ครีเอทีพ” มากๆ ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ ถ้าเราอยู่ในสมัยโน้นจะว่าไง “เลดี้ โกไดวา” แก้ผ้าขี่ม้า รอบเมืองประท้วง ผู้คนแทบจะบ้าตาย ต้องปิดหน้าต่าง ปิดบ้าน (แต่แอบดู) มีคนมา “แก้ผ้า ประท้วง”

ในประวัติศาสตร์ ในโลกนี้ จะมีคนทำอะไรแหลมๆ ออกมา ทำให้คนต้องรู้สึกไม่รู้จะทำอย่างไร

เอาง่ายๆ การยืนเพื่อทำความเคารพเพลงสรรเสริญในโรงหนัง ก็เกิดขึ้นในโรงหนังอังกฤษ แล้วในที่สุดก็มีกลุ่มนักศึกษา ที่พอดูหนังจบแล้วขึ้นเพลง god save the king or the queen นักศึกษา ก็วิ่งหนีออกจากโรง เจ้าของโรงหนังก็ต้องย้าย เพลงมาไว้ก่อนหนังฉาย พร้อมๆ กับโฆษณาสินค้า ซึ่งคนก็ไม่ชอบ ในที่สุดในอังกฤษ ก็ยกเลิกไปตั้งนานแล้ว ส่วนเมืองไทย ไปลอกอังกฤษมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็เริ่มมีกระบวนการตั้งคำถามว่า ก็มาดูหนัง แล้วทำไมเรื่องการเคารพ ต้องเอามาไว้ตอนดูหนัง  ผมคิดว่า แต่ละยุคก็มีคนแหลมๆ ขึ้นมาแบบนี้

เรื่องนี้ผมสงสารอาจารย์ มากกว่าโกรธ “อั้ม” (เขา/เธอ) นะ อาจารย์วิ่งไปชน “ปังตอ”  เอง (หัวเราะ)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net