Skip to main content
sharethis

เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยความสำเร็จก้าวหนึ่งของการยุติการส่งมอบอาวุธ หลังจากมีข่าวสหรัฐฯ เตรียมลงนามในสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ พร้อมข้อเท็จจริงและตัวเลขที่สำคัญเกี่ยวกับการค้าอาวุธ

ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยหลังจากมีข่าวนายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศจะลงนามในสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) ในนามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในวันที่ 25 กันยายนนี้ โดยระบุว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลก ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการพยายามรณรงค์ยุติการส่งมอบอาวุธ ที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้บริสุทธิ์อีกมากมาย

“นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของความพยายามยุติการส่งมอบอาวุธแบบทั่วไป ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการทารุณกรรมและการปฏิบัติมิชอบมากขึ้น สหรัฐฯ เป็นผู้ขายอาวุธรายใหญ่สุดของโลก แต่จากข้อมูลจนถึงปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ ได้เคยพยายามชะลอการส่งมอบอาวุธ โดยอ้างเงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชน” ซาลิล กล่าว

เลขาธิการแอมเนสตี้ กล่าวด้วยว่า  “เราต้องการเห็นการแสดงจุดยืนเช่นนี้ของสหรัฐฯ พร้อมกับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่อีก 86 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามในสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธไปแล้ว และต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาและยุติการส่งมอบอาวุธ กรณีที่เชื่อว่าจะมีการนำไปใช้เพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการสังหารล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่น ๆ”

“สภาพการณ์ที่เลวร้ายในซีเรียเน้นย้ำให้เห็นต้นทุนด้านมนุษย์ที่น่าสะพรึงกลัว อันเป็นผลมาจากการค้าอาวุธระดับโลกที่ขาดการควบคุม การมีสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธจึงถือเป็นโอกาสดี ที่นำมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ยากของมนุษย์เช่นนี้อีกในอนาคต รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องใช้โอกาสที่มีเพียงหนึ่งครั้งในชีวิตนี้ให้ดี โลกกำลังรอให้จีนและรัสเซียแสดงจุดยืนเช่นเดียวกับสหรัฐฯ” ซาลิลกล่าว

 

ข้อเท็จจริงและตัวเลขที่สำคัญ

·        มีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 500,000 คนต่อปี และอีกหลายล้านคนต้องโยกย้ายจากที่อยู่เดิมและถูกละเมิด โดยเป็นผลมาจากความรุนแรงและความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ

·        จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่สุดของโลก โดยมีสัดส่วนการซื้อขายอาวุธประมาณ 30% ของมูลค่าโดยรวมทั่วโลก

·        สหรัฐฯ ส่งอาวุธไปให้กับกว่า 170 ประเทศ และจากข้อมูลจนถึงปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ ได้เคยพยายามชะลอการส่งมอบอาวุธ โดยอ้างเงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชน

·        ในฐานะผู้ส่งมอบอาวุธรายใหญ่ให้กับอียิปต์ สหรัฐฯ ยังเห็นชอบต่อการขายอาวุธขนาดเล็กรวมทั้งกระสุนปืนหลายล้านนัดและสารเคมีที่ใช้ควบคุมการก่อจลาจล แม้ทางการอียิปต์จะปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงในปี 2554

·        เยเมนก็ได้รับมอบอาวุธขนาดเล็ก สารเคมีและรถหุ้มเกราะ ส่วนบาห์เรนได้รับมอบอาวุธขนาดเล็ก ส่วนในที่อื่น ๆ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังคงส่งมอบอาวุธให้กับหน่วยงานความมั่นคงของโคลอมเบีย ในรูปการให้ความช่วยเหลือและการฝึกอบรมของกองทัพ แม้จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

·        จนถึงปัจจุบัน 86 ประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธในขณะที่ประเทศผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ในสหภาพยุโรปกำลังเข้าสู่กระบวนการให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธหลังจากมี 50 ประเทศให้สัตยาบัน สนธิสัญญาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้

 

ข้อมูลพื้นฐาน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 เพื่อให้เกิดหลักเกณฑ์ระดับโลกที่เข้มแข็งและมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายอาวุธระหว่างประเทศ และหยุดยั้งการส่งมอบอาวุธและยุทธภัณฑ์ที่จะถูกนำไปใช้ส่งเสริมการกระทำที่ทารุณและการละเมิด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธเป็นก้าวย่างสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งเพื่อพัฒนาระบบกำกับดูแลการส่งมอบอาวุธระหว่างประเทศ

สนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธห้ามไม่ให้รัฐส่งมอบอาวุธแบบทั่วไปให้กับประเทศต่าง ๆ กรณีที่ทราบว่าประเทศดังกล่าวอาจนำอาวุธไปใช้เพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการสังหารล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม

สนธิสัญญาฉบับนี้ยังกำหนดให้รัฐบาลต้องประเมินความเสี่ยงจากการส่งมอบอาวุธ ยุทธภัณฑ์หรือส่วนควบให้กับอีกประเทศหนึ่ง กรณีที่มีความเป็นไปได้ว่าอาวุธเหล่านั้นจะถูกใช้เพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎหมายมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรณีที่มีความเสี่ยงอย่างชัดเจนและไม่อาจบรรเทาได้ รัฐต้องห้ามไม่ให้มีการส่งมอบอาวุธดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net