Skip to main content
sharethis

(24 ก.ย.56) เว็บไซต์เนชั่นแชนแนล รายงานว่า นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวนและองค์คณะ มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นไม่รับฟ้อง คดีที่ นายจิระเดช พูลสุข ผู้สมัครรับคัดเลือกเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อให้วุฒิสภา พิจารณาเลือกเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 70 หรือซูเปอร์บอร์ด กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ยื่นฟ้อง สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานพิจารณาคัดเลือกซูเปอร์บอร์ด กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่องกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในการคัดเลือกได้ลงคะแนนให้นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการ กสทช. และนายพันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา เป็นผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกซูเปอร์บอร์ด กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค โดยผู้ฟ้องเห็นว่าการคัดเลือกดังกล่าวมีรายชื่อที่มีการคาดหมายไว้ก่อนล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการ และเป็นการคัดเลือกที่ไม่สุจริตโปร่งใส จึงขอให้ศาลเพิกถอนการคัดเลือกเมื่อวันที่ 19 พ.ย.55 ดังกล่าว และให้มีการดำเนินการคัดเลือกใหม่

โดยนายจิระเดช ผู้ฟ้อง ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองสูงสุด สั่งรับฟ้อง ภายหลังจากที่ศาลปกครองชั้นต้น เห็นว่า ผู้ฟ้องยังไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหาย เพราะการคัดเลือกในวันที่ 19 พ.ย. ดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขั้นตอน การดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเท่านั้น และยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้มีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการ ฯ ที่จะเป็นเหตุให้นำมาคดีมาสู่ศาล ดังนั้นไม่มีสิทธิฟ้อง จึงไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ขณะที่ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่า ผู้ฟ้อง สมัครรับเลือกเป็น กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือซูเปอร์บอร์ด กสทช. ซึ่งการคัดเลือกบุคคลนั้น มีขั้นตอนให้เสนอบัญชีรายชื่อผู้ที่สมควรถูกพิจารณาเป็นซูเปอร์บอร์ด กสทช. ด้านต่างๆ 5 ด้าน รวม 10 คนโดยในแต่ละด้านต้องเสนอชื่อ 2 คน เพื่อให้วุฒิสภา พิจารณาคัดเลือกให้เหลือด้านละ 1 คน รวม 5 คน ตามระเบียบวุฒิสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการคัดเลือก ฯ พ.ศ.2555 โดยข้อ 13 ระบุว่า เมื่อประธานวุฒิสภา ได้รับรายงานและบัญชีรายชื่อผู้สมัครแล้วให้คัดเลือกบุคคลที่สมควรถูกเสนอชื่อ เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนเลือกเป็นกรรมการ ขณะที่การคัดเลือกให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประธานวุฒิสภาได้รับบัญชีรายชื่อ โดยให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดแต่ละด้าน ที่ลงคะแนนด้วยวิธีลับ ได้รับเป็นกรรมการ กรณีที่มีเสียงเท่ากันให้นำมาเลือกใหม่

เมื่อปรากกฏว่าในวันที่ 19 พ.ย.55 สมาชิกวุฒิสภา ลงคะแนนเลือกบุคคลจากบัญชีให้เหลือด้านละ 2 คน รวม 10 คนที่เป็นการทำตามระเบียบวุฒิสภาฯ แล้ว จะต้องรอคัดเลือกอีกครั้งหนึ่งให้เหลือ 5 คนเพื่อเป็นกรรมการฯ ดังนั้นการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จึงยังเป็นเพียงการเตรียมการเท่านั้น ยังไม่ใช่คำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิ หน้าที่ของผู้ฟ้อง แม้ผลการคัดเลือกดังกล่าวจะมีผลให้ผู้ฟ้องไม่ได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนเลือกให้เหลือ 5 คนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงขณะยื่นฟ้องยังไม่ปรากฏว่ามีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการ ทางนิตินัยยังไม่ถือว่าผู้ฟ้องได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี ที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุด เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net