Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


กรณีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ยื่นฟ้องนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ และนางสาวณัฎฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากนั้น ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมายได้เขียนบทความตีพิมพ์เต็มหน้าในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ในวันพุธที่ 4 กันยายน 2556 นั้น ในฐานะนักวิชาการที่ติดตามเรื่องสัมปทานโทรคมนาคม และบทบาทของผู้กำกับดูแล เช่น กสทช. นั้น มีประเด็นที่ต้องให้สาธารณชนเข้าใจโดยเฉพาะเรื่อง “ประกาศห้ามซิมดับ” และการทำหน้าที่ของ กสทช.

ข้อเท็จจริงพื้นฐาน คือ คู่สัญญาที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมในระบบ 2G นั้น มีกำหนดวันหมดอายุในสัญญาชัดเจน เช่น กรณีของบริษัทที่ใช้คลื่น 1800 จำนวน 2 รายนั้น วันที่หมดสัญญาคือ วันที่ 15 กันยายน 2556 ในขณะที่ กสทช.โดย กทค. ออกประกาศห้ามซิมดับโดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2556 หรือ 15 วันก่อนหมดอายุสัญญาโดยขยายเวลาให้ผู้ประกอบการอีก 1 ปี ในด้านของ กสทช. นั้น อ้างเรื่องการเยียวยาผู้บริโภค และเกรงว่าจะเกิดการผูกขาดในการให้บริการในระบบ 2G แต่คำถามสำคัญที่ ข้อเขียนของ ดร.สุทธิพล ไม่ได้ตอบเลย หรือทำให้สาธารณชนเห็นว่า ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถแล้ว และการออกประกาศห้ามซิมดับนั้นเป็นภาวะที่ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

กสทช. ทั้ง 11 ท่าน ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 หากจะนับเวลาที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งกระทั่งถึงวันที่อายุสัญญาของคู่สัญญาหมดลงนั้นก็มากกว่า 1 ปี 10 เดือน ดังนั้น กสทช. โดยเฉพาะ กทค. นั้น ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ามีเวลาไม่เพียงพอในการดำเนินการ “บริหารจัดการ” ที่ดีกว่า การออกประกาศห้ามซิมดับ ยิ่งไปกว่านั้น สำนักงาน กสทช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานประจำ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมการศึกษาเพื่อการ “บริหารจัดการ” ที่ดีที่สุด ในประเด็นนี้ผมแน่ใจว่า ทั้ง กทค. และสำนักงาน กสทช. ย่อมต้องรู้ถึงข้อจำกัดดังกล่าวและหากให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการคลื่นที่ดีนั้น ย่อมต้องมีการเตรียมการและมีทางเลือกมากกว่าการออกประกาศห้ามซิมดับ หรืออย่างน้อยที่สุด กทค. และสำนักงาน กสทช. จะต้องแถลงข้อจำกัดดังกล่าวให้ประชาชนรับทราบผ่านช่องทางต่างๆ ถึงความพยายามในการบริหารจัดการในกรณีนี้

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งนั้น คือ เรื่องการคงสิทธิเลขหมายนั้น กทค. และสำนักงาน กสทช. ทราบมาตั้งแต่ต้นเรื่องข้อจำกัดการโอนย้ายหมายเลข ที่ดำเนินการได้ไม่มากนักในแต่ละวัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นข้อมูลสาธารณะ ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2552 และเมื่อมีการประมูลคลื่น 3G ในไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทย ข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่องการบริหารคลื่นที่ใกล้หมดอายุสัญญานั้น ก็ยิ่งจะต้องเป็นความจำเป็นในลำดับต้นๆ ของ กทค. และสำนักงาน กสทช.

แม้ว่าในข้อเขียนของ ดร. สุทธิพล จะชี้แจงขั้นตอนการได้มาของประกาศห้ามซิมดับ ว่ามีการรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 28 กรกฎาคม 2556 ก่อนออกประกาศนั้น ผู้เขียนเห็นว่า กทค.และ สำนักงาน กสทช. ไม่สามารถกล่าวได้ว่าได้ดำเนินการบริหารจัดการที่ดีอย่างเต็มที่แล้ว เพราะการเข้าสู่ตำแหน่งของ กสทช.ทั้ง 11 ท่าน ปลายปี 2554 แต่ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการออกประกาศนั้น ใช้ระยะเวลาที่นานมาก และเมื่อเทียบกับการประมูลคลื่น 3G ที่ได้ราคาเพิ่มจากราคาขั้นต้นเพียงเล็กน้อยนั้น ระยะเวลาทอดห่างถึง 6 เดือน

ในทางตรงข้าม หาก กทค. และสำนักงาน กสทช. มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม ซึ่งจะส่งผลต่อราคาค่าบริการและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคโดยแท้จริงแล้ว การเร่งบริหารจัดการคลื่นหลังหมดอายุสัญญาในกรณีของคลื่น 1800 เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการประกาศห้ามซิมดับ โดยส่วนตัวของผู้เขียนในกรณีนี้ กทค. และ สำนักงาน กสทช. ไม่ได้ให้ข้อมูลและความเห็นที่เพียงพอแก่การถกเถียงเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ การให้ข้อมูลว่าที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ได้มีมติเห็นชอบในการกำหนดวันประมูลในช่วงไม่เกินกันยายน 2557 นั้น กทค. ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ว่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยจนใกล้หมดอายุสัญญาได้อย่างไร (ทั้งที่รับตำแหน่ง 7 ตุลาคม 2554)

นอกจากนั้น ในข้อเขียนของ ดร.สุทธิพล เองที่เกรงว่าผู้บริโภคที่ใช้บริการ 2G อยู่จะต้องโอนย้ายค่ายบ่อย ภายใน 4 ปี หรือกรณีที่ผู้ประกอบการ 3G ยังให้บริการไม่เต็มรูปแบบ ผู้เขียนเห็นว่า กทค. และสำนักงาน กสทช. มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายหลังจากการประมูลคลื่น 3G สิ้นสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพของการให้บริการและความทั่วถึงของการให้บริการตามเงื่อนไขของการใช้คลื่น 3G ซึ่งในท้ายที่สุด ข้อกังวลของ ดร.สุทธิพล ที่ว่า “การโอนย้ายผู้ใช้บริการบนคลื่น 1800 อย่างไร้สติ อาจนำไปสู่การผูกขาดตลาดบริการ 2G เพียงเจ้าเดียว” นั้น เป็นข้อกังวลที่อยู่บนฐานความไม่แน่นอนและไม่อยู่บนฐานคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องการทดแทนของบริการ รวมทั้งหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อผู้บริโภค เนื่องจากหาก กทค. และสำนักงาน กสทช. กำกับดูแลตามเงื่อนไขของคลื่นแต่ละประเภท “อย่างดี” รวมทั้งมีการควบคุมอัตราค่าบริการ การบริหารจัดการคลื่น และการบังคับใช้กฎหมายที่ กทค. และ กสทช. ออกเองนั้น ผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการผูกขาดบริการจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และข้อเท็จจริงที่ กทค. และนักวิชาการทราบกันดีคือ มีการทดแทนกันของบริการประเภทเดียวกัน แม้ว่าจะใช้คลื่นคนละประเภท กล่าวคือ ผู้บริโภคสามารถใช้บริการอย่างน้อยในด้านเสียง (Voice) ได้ทั้งบนคลื่น 2G 3G หรือแม้กระทั่ง 4G ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นส่งผลให้เกิดการทดแทนในการให้บริการด้านเสียงผ่านแอปพลิเคชั่นซึ่งสามารถใช้ Wifi หรือบริการอื่นตามค่ายของผู้ให้บริการและบางกรณีไม่เสียค่าบริการเพิ่ม ดังนั้น หากบริการใดที่เป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน (Public Services) กทค. และสำนักงาน กสทช. สามารถประกาศ และปรับปรุงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานได้ตลอดเวลาและใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อยังประโยชน์แก่ประชาชน

ผมคิดว่าหาก กทค. และสำนักงาน กสทช. ใจกว้างพอที่จะรับฟังเสียงนักวิชาการและการถกเถียงทางวิชาการ ประเทศคงได้ประโยชน์จากการประมูลคลื่น 3G มากกว่า 2.78% จากราคาขั้นต้นที่กำหนดไว้ และหาก กทค. และสำนักงาน กสทช. ใจกว้างพอที่จะเปิดการถกเถียงทางวิชาการภายใต้ 10 ข้อคำถามจากทีดีอาร์ไอ ผมคิดว่าสังคมจะได้ประโยชน์ ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์ และองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลอื่นก็จะได้ประโยชน์

ในส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับ กทค. และสำนักงาน กสทช. ที่ฟ้องนักวิชาการและสื่อในกรณีนี้ เนื่องจากการอ่านเอกสารที่เกี่ยวข้องและประมวลเรื่องราวผ่านการจัดลำดับเวลา ผมคิดว่า กทค. และสำนักงาน กสทช.สามารถทำความเข้าใจหากบุคคลที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลไม่ถูกต้อง สุดท้ายผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเขียนชิ้นนี้จะเป็นการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ในสายตาของ กทค. และสำนักงาน กสทช. ในฐานะองค์กรผู้กำกับดูแล เพื่อให้ประเทศได้มีการพัฒนาในด้านโทรคมนาคมอย่างที่ทุกฝ่ายตั้งใจไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net