Skip to main content
sharethis
รวมข่าวจากฝ่ายนิติบัญญัติ กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ กฎหมาย ร่างกฎหมาย และความเคลื่อนไหวในรัฐสภาของ ส.ส. และ ส.ว. และพรรคการเมืองต่างๆ ประจำสัปดาห์
 
วุฒิสภา แต่งตั้งกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ นายทวีเกียรติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
 
2 ก.ย. 56 - วุฒิสภามีมติตั้งกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติความประพฤติฯของ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 25 คน ภายใต้กรอบการทำงาน 20 วัน ก่อนลงมติว่าจะรับรองหรือไม่
 
ที่ประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญทั่วไป ครั้งที่ 4 มีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทน นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ที่ลาออกจากตำแหน่ง โดยนายทวีเกียรติ ได้รับการคัดเลือกจากมติของคณะกรรมการสรรหาซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านฯ  และประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน 
 
สำหรับ กรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติของนายทวีเกียรติที่วุฒิสภาแต่งตั้งขึ้นมีจำนวน 25 คน ประกอบด้วย นายจรัล จึงยิ่งเรืองรุ่ง รศ.กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล นางจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายพิเชต สุนทรพิพิธ พลโทพงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน นายวิชัย ไพรสงบ นายมงคล ศรีคำแหง นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์  นายประสงค์ศักดิ์ บุญเดช นายถาวร ลีนุตตพงษ์   พ.ต.อ.สนธยา แสงเภา  นายบุญส่ง โควาวิศารัตน์ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ นายปัญญา เบญจศิริวรรณ  นายวิบูลย์ คูหิรัญ นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง  นายประวัติ ทองสมบุญ  นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล นายสุวิทย์ เมฆเสรีกุล นายวันชัย สอนศิริ นายสมชาติ พรรณพัฒน์  ศ.เกียรติคุณ ตรึงใจ บูรณสมภพ นางยุวดี นิ่มสมบุญ มีกรอบเวลาเพื่อตรวจสอบภายใน 20 วัน ก่อนส่งผลเพื่อให้วุฒิสภามีมติว่าจะให้การรับรองหรือไม่ต่อไป
 
 
ที่มา: วิทยุรับสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
กมธ.การปกครอง สผ. เรียกร้อง จ.สุราษฎร์ธานีแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณประโยชน์ท่าฉาง
 
2 ก.ย. 56 – กมธ.การปกครอง สผ. เรียกร้อง จังหวัดสุราษฎร์ธานีแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณประโยชน์ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี หลังกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้าบุกรุกพื้นที่เพิ่มขึ้นสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน
 
คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนของนายสุรชัย คชรัตน์ ตัวแทนผู้ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งในเขตตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อ่าวท่าฉาง) กรณีขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพประมง จากการกระทำของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่อำเภอท่าฉาง - อำเภอไชยา - อำเภอพุนพิน ภายหลัง กมธ.รับฟังคำชี้แจงจากนายวงศ์ศิริ พรหมชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์สำหรับให้ประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพมาเป็นเวลานานแล้ว ต่อมาได้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้ามาบุกรุกและปักคอกหอยแครงในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำแต่กลับถูกขัดขวางจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล โดยการข่มขู่ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการรื้อถอนได้สำเร็จ ทำให้ชาวประมงในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามทางจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดำเนินการอย่างเข้มงวดแล้วแต่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เนื่องจากต้องใช้มาตรการดำเนินการทางศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่บุกรุกพื้นที่ ซึ่งเป็นกระบวนการในขั้นตอนสุดท้าย ส่วนกรณีมีผู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำผิดฐานบุกรุกที่สาธารณประโยชน์แล้ว ซึ่งจะเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่อไป ดังนั้น กมธ.จึงมอบหมายให้รองผู้ว่าฯจังหวัดสุราษฎร์ธานีดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนข้างต้นให้แล้วเสร็จภายใน 1  เดือน แล้วรายงานให้ กมธ.ทราบต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ประธานรัฐสภาให้การรับรองประธานสภาชาติพันธุ์สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ในโอกาสเยือนรัฐสภาไทยอย่างเป็นทางการ 
 
3 ก.ย. 56 – ประธานรัฐสภาให้การรับรองประธานสภาชาติพันธุ์สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ พร้อมยกให้ประเทศพม่าเป็นศูนย์กลางของเอเชียและคาดในอนาคตจะบทบาทสำคัญในเวทีโลก ขณะที่ประธานสภาชาติพันธุ์สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ชี้แจงทางการพม่าไม่มีนโยบายผลักดันชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศ
 
นายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์  ประธานรัฐสภา ให้การรับรองนายขิ่น  อ่อง มิ้นท์ ประธานสภาชาติพันธุ์สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ในโอกาสเดินทางมาเยือนรัฐสภาไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐสภาไทย ระหว่างวันที่ 1-4 กันยายน 2556 โดยในโอกาสนี้ประธานรัฐสภาได้กล่าวในช่วงหนึ่งว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือพม่า กับประเทศไทยนั้นมีความผูกพันกันมาอย่างนานทั้งในด้านประวัติศาสตร์และในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน ดังนั้นความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศนั้นจึงอยู่ในระดับที่ดีมาโดยตลอด ทั้งนี้ในอนาคต ตนคาดว่า พม่าจะเป็นประเทศที่สำคัญอย่างยิ่งในเวทีโลก เนื่องจากภูมิประเทศตั้งอยู่ศูนย์กลางของเอเชีย และยังมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีพัฒนาการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศพม่าพัฒนาได้รวดเร็วและมีความสำคัญในระดับแนวหน้าของโลกอย่างแน่นอน
 
ประธานรัฐสภา ยังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยและประเทศพม่ามีประชากรที่นับถือศาสนาพุทธมากที่สุด ดังนั้นการจะสานสัมพันธ์ของสองประเทศให้แนบแน่นและยั่งยืนตลอดไป สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การส่งเสริมเรื่องศาสนา ตนจึงอยากเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการสองฝ่ายมาดูแลเรื่องศาสนาร่วมกัน เพราะสิ่งนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าพัฒนาและมั่นคงต่อไป
 
ด้านประธานสภาชาติพันธุ์สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้กล่าวแสดงความยินดีที่เดินมาเยือนรัฐสภาไทย และได้ถือโอกาสนี้กล่าวชี้แจงถึงกรณีชาวโรฮิงญาที่อพยพออกจากประเทศด้วยว่า ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่าในแถบชายแดนด้านทิศตะวันตกของประเทศ ทั้งนี้ขอยืนยันว่าทางการพม่านั้นไม่มีนโยบายที่จะผลักดันชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้ในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 3 กันยายน 2556 ประธานรัฐสภา ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน ที่โรงแรมแชงกรี-ลา เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานสภาชาติพันธุ์สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์และคณะในโอกาสเดินทางมาเยือนรัฐสภาไทยด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ประธานวุฒิสภา หวังให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาไทย-เมียนมาร์ พัฒนาให้มากขึ้น
 
3 ก.ย. 56 - ประธานวุฒิสภา ให้การรับรองประธานสภาชาติพันธุ์สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือของทั้งสองประเทศ
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้การรับรองนายขิ่น อ่อง มิ้นท์ (H.E. U Khin Aung Myint) ประธานสภาชาติพันธุ์สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ที่เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐสภาไทย  ณ ห้องรับรองพิเศษ อาคารรัฐสภา 2 ทั้งนี้ในระหว่างการพบปะสนทนา ประธานวุฒิสภา ได้กล่าวว่า วุฒิสภาไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับคณะผู้แทนจากสภาชาติพันธุ์เมียนมาร์ในครั้งนี้ พร้อมชื่นชมรัฐบาลและประชาชนเมียนมาร์ในหลายเรื่อง อาทิ การจัดการเลือกตั้งเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน การรักษาวัฒนธรรมประเพณีได้อย่างเข้มแข็งเห็นได้จากการมีชาติพันธุ์หลากหลาย ทำให้เมียนมาร์พัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วจนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเมียนมาร์มีความใกล้ชิดมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาของทั้งสองประเทศที่ได้แลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันบ่อยครั้ง และขยายความร่วมมือผ่านการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย - เมียนมาร์ขึ้น พร้อมหวังว่าเมียนมาร์จะมีการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาเมียนมาร์ - ไทยขึ้นในอนาคตเช่นกัน อันเป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้รัฐสภาไทยพร้อมให้ความสนับสนุนและร่วมมือกับเมียนมาร์ในทุกด้านอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ร่วมกัน
 
ด้านประธานสภาชาติพันธุ์เมียนมาร์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วทั้งด้านภาครัฐ ประชาชน และธุรกิจ ดังนั้นประเทศไทยและเมียนมาร์จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันในการพัฒนาด้านต่างๆ ร่วมกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาของทั้งสองประเทศ ซึ่งเมียนมาร์ยินดีแลกเปลี่ยนความร่วมมือในด้านต่างๆ กับประเทศไทยอย่างเต็มที่
 
ที่มา: อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
วิปฝ่ายค้าน ระบุ กรรมาธิการเสียงข้างมากในการแก้รัฐธรรมนูญกลับลำมติ ม.5
 
3 ก.ย. 56 -  วิปฝ่ายค้าน ระบุ กรรมาธิการเสียงข้างมากในการแก้รัฐธรรมนูญมีมติกลับลำอำพราง ยกเลิกการแก้ไขให้มีสภาแบบครอบครัวเพราะหวั่นขัดรัฐธรรมนูญ แต่ยังยืนยันเนื้อหาไม่ต้องเว้นวรรคลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. เพราะต้องการตอบแทนกับคะแนนเสียงที่ลงมติแก้รัฐธรรมนูญให้
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน)แถลงว่า จากกรณีที่ประธานรัฐสภานัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ต่อในวันพุธที่ 3 ก.ย. นี้ นั้นตนทราบมาว่ากรรมาธิการจะขอย้อนกลับไปใช้เนื้อหาในมาตรา 5 ตามร่างเดิมในขั้นรับหลักการ แม้จะมีการแก้ไขไปแล้วในชั้นกรรมาธิการ วิปฝ่ายค้านจึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นมติกลับลำอำพราง เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาแค่ครึ่งเดียวคือไม่ให้บุคคลในครอบครัวเดียวกับผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา  แต่ยังคงอนุญาตให้ ส.ว. สามารถลงเลือกตั้งได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องเว้นวรรคการลงสมัคร ซึ่งจะทำให้เป็นสภาที่อาจถูกครอบงำโดยรัฐบาลเพราะต้องกังวลเรื่องคะแนนเสียง เกิดการยึดโยงกับการเมือง และต่างตอบแทนระหว่างกันระหว่าง ส.ว.กับรัฐบาล ทำให้ทำหน้าที่ได้ไม่เป็นกลาง อย่างไรก็ตาม วิปฝ่ายค้านเห็นว่าหากจะมีการแก้ไขต้องแก้ทั้ง 2 กรณี ไม่ใช่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ต้องการกลับมาใช้เนื้อหาตามขั้นรับหลักการเพราะการแก้ไขของกรรมาธิการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เหมือนทำให้วุฒิสภาย้อนยุคกลับไปที่ปี 40 เกิดปัญหาปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่กลางในบางสมัยของรัฐบาลยุคนั้น และสาเหตุอีกประการหนึ่งอาจเป็นเพราะจำนนต่อข้อท้วงติงของวิปฝ่ายค้าน และ คปก. ที่ว่าเป็นการแก้ไขเกินหลักการ อาจทำให้การแก้ไขครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
 
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า หากรัฐบาลแก้ไขให้กลับไปเหมือนกับมาตรา 115 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะไม่มีปัญหา แต่การที่รัฐบาลยืนยันแก้ไขในเรื่องที่ ส.ว.ไม่ต้องเว้นวรรคลงสมัครก็เพื่อให้ ส.ว. ชุดปัจจุบัน ลงเลือกตั้งได้อีกครั้งแลกกับการลงคะแนนให้กับการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
วิปฝ่ายค้าน ชี้ ข้อมูลเวทีสภาปฏิรูปจากนานาชาติเป็นประโยชน์ หากรัฐบาลนำไปปฏิบัติ
 
3 ก.ย. 56 - ฝ่ายค้าน ระบุ ความเห็นจากเวทีสภาปฏิรูปของนานาชาติเป็นประโยชน์ หากรัฐบาลนำไปปฏิบัติจริง แต่ที่เห็นกลับทำตรงข้าม เรียกร้องถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากสภา เพื่อสร้างความไว้ใจให้ทุกฝ่ายก่อนเดินหน้าสู่ความปรองดองได้จริง
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการจัดเวทีสภาปฏิรูปของรัฐบาลวานนี้(2 ก.ย.56) ที่เชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้ข้อมูลว่า มีหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์หากรัฐบาลรับไปปฏิบัติจะสามารถนำไปสู่ความปรองดองในอนาคตได้ โดยเฉพาะหัวใจสำคัญที่นางพริซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเข้าใจบริบทและข้อมูลของประเทศไทยเป็นอย่างดี ได้เสนอแนะให้ฟังความเห็นของ คอป.และสถาบันพระปกเกล้า ที่ระบุการปรองดองต้องเริ่มต้นด้วยการค้นหาความจริง แสวงหาความเห็นที่ตรงกันก่อน ไม่ใช้เสียงข้างมากบังคับ แต่การกระทำของรัฐบาลที่ผ่านมากลับทำตรงข้าม เห็นได้จากตัวอย่างการเร่งรีบเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภา แม้หลายฝ่ายท้วงติง แต่ยังคงเดินหน้า
 
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า การให้ความเห็นของ นายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกฯ อังกฤษ มีความชัดเจนหลายประเด็นเช่นกัน อาทิ  ประชาธิปไตยต้องไม่ใช่แค่อ้างเสียงข้างมาก ประชาธิปไตยต้องเคารพคำพิพากษาของศาล รัฐบาลประชาธิปไตยจะต้องบริหารงานเพื่อประโยชน์ประชาชน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งหมดนี้เพื่อความไว้ใจให้ทุกฝ่าย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินหน้าสู่ความปรองดองได้ โดยรัฐบาลจะต้องเป็นคนแรกในการนำแนวคิดดังกล่าวไปปฏิบัติ แต่รัฐบาลกลับทำในทางตรงข้าม อาทิ เป็นผู้ดำเนินการเวทีดังกล่าวเองทั้งที่ควรให้คนกลางเป็นผู้จัด เพราะเกรงว่าความเห็นที่ได้รับจะไม่ตรงกับความต้องการของตน อย่างไรก็ตาม เห็นว่า หากรัฐบาลประสงค์จะให้ความปรองดองเกิดขึ้นจริง สามารถทำได้ด้วยการนำความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดกับทุกฝ่าย ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากสภา จากนั้นนับหนึ่งในการแสวงหาข้อเท็จจริง และหาความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินหน้าต่อไปในอนาคต
 
นอกจากนี้ นายจุรินทร์   ได้ตอบข้อถามถึงการตัดบทไม่ให้มีการตอบคำถามของ   ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ  กรณีมีการแทรกแซงจากบุคคลนอกประเทศด้วยว่า สิ่งที่ ดร.สุรินทร์ พูดเป็นความจริงและเป็นเรื่องที่คนไทยรับทราบ อีกทั้งปรากฏเป็นข่าวเพราะคนในพรรคเดียวกับบุคคลภายนอกยังออกมาให้ข่าวอยู่เสมอว่าได้รับการสไกป์ในเรื่องต่าง ๆ มาโดยตลอด
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ได้ผู้ชนะเลิศกิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับรัฐสภาและการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตย ประจำปี 2556 แล้ว
 
3 ก.ย. 56 - รองปธ.สผ. คนที่ 2 เป็นประธานมอบโล่รางวัลและปิดการแข่งขันกิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับรัฐสภาและการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตย ประจำปี 2556 พร้อมชื่นชมนักเรียนที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ระบุ ถือเป็นคนเก่ง และเข้าใจการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาเป็นอย่างดี
 
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานในพิธีมอบโล่รางวัลและปิดการแข่งขันกิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับรัฐสภาและการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตย ประจำปี 2556 หลังมอบโล่รางวัลและประกาศนียบัตร นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ขอชื่นชมยินดีกับนักเรียนทุกคนที่ได้รับรางวัล เพราะถือว่านักเรียนที่ผ่านเข้ามาในรอบชิงชนะเลิศเป็นคนเก่ง มีความสามารถและเข้าใจการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาเป็นอย่างดี รวมถึงขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการ อาจารย์ โรงเรียนที่เข้าร่วมแข่งขันและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ให้ความสำคัญและผลักดันให้นักเรียนมีความสนใจและเข้าใจในเรื่องของประชาธิปไตยมากขึ้น 
 
สำหรับโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับรัฐสภา ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร ได้รับโล่รางวัลของประธานรัฐสภาพร้อมเกียรติบัตรชนะเลิศเหรียญทองระดับประเทศและเงินทุนการศึกษา จำนวน 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศได้แก่ โรงเรียนเมืองพลพิทยาคม จังหวัดขอนแก่น ได้รับโล่รางวัลของประธานรัฐสภาพร้อมเกียรติบัตรชนะลิศเหรียญเงินระดับประเทศและเงินทุนการศึกษา จำนวน 20,000 บาท รางวัลชมเชยได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรชมเชยของประธานรัฐสภาและเงินทุนการศึกษา โรงเรียนละ 10,000 บาท
 
ส่วนการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียน ทุ่งหัวช้างวิทยาคม จังหวัดลำพูน ได้รับโล่รางวัลของประธานรัฐสภาพร้อมเกียรติบัตรชนะเลิศเหรียญทองระดับประเทศและเงินทุนการศึกษา จำนวน 20,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนมัธยมด่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ  ได้รับโล่รางวัลของประธานรัฐสภาพร้อมเกียรติบัตรชนะเลิศเหรียญเงินระดับประเทศและเงินทุนการศึกษาจำนวน 15,000 บาท รางวัลชมเชยได้รับโล่รางวัลของประธานรัฐสภาพร้อมเกียรติบัตรชมเชยและเงินทุนการศึกษา โรงเรียนละ 10,000 บาท
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน เตรียมตั้งกระทู้ถามสดม็อบสวนยาง และค่าครองชีพพุ่งสูง
 
3 ก.ย. 56 - วิปฝ่ายค้าน เตรียมตั้งกระทู้ถามสดรัฐบาลวันพฤหัสบดีนี้ กรณีม็อบสวนยาง ระบุ รัฐบาลจ้างผู้ชุมนุมมาขวางก่อนหน้าม็อบจริงใช่หรือไม่ และถามปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูงรัฐบาลไม่มีความจริงใจช่วยแก้
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) แถลงว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพฤหัสบดีที่ 5 ก.ย. นี้ ฝ่ายค้านจะตั้งกระทู้ถามสดต่อรัฐบาล 2 เรื่อง คือ กรณีม็อบชาวสวนยางพาราที่ต้องการทราบว่าจุดเริ่มต้นรัฐบาลได้เข้าไปมีส่วนในการจ้างคนมาชุมนุมเพื่อสกัดม็อบจริงไม่ให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ จริงหรือไม่ และต้องการทราบว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาให้ชาวสวนยางมากน้อยเพียงใด เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนเป็นการแก้แบบการเมืองมากกว่าช่วยชาวสวนยางจริง ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันเกิดลุกลามมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิต รัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร นอกจากนี้ จะตั้งถามจากกรณีความไม่ใส่ใจในความเดือดร้อนของประชาชนจากผลการขึ้นค่าครองชีพหลายอย่าง อาทิ แก๊สหุงต้ม ค่าทางด่วน ขณะที่การช่วยเหลือคนจนให้ขึ้นทะเบียนขอซื้อแก๊สได้ในราคาเดิมมีขั้นตอนที่สับสนวุ่นวาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความจริงจังจริงใจในการแก้ปัญหาจริง
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังกระทู้ถามสดแล้ว จะมีการอภิปรายญัตติที่เสนอไว้ในสัปดาห์ที่แล้วต่อ ในเรื่องราคาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ค่าครองชีพสูงและสินค้าราคาแพง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง 
 
กรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา ประกาศผลวรรณกรรมการเมืองประเทภเรื่องสั้นและบทกวีรางวัล “พานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย”แล้ว
 
4 ก.ย. 56 -  กรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา ตัดสินผลงานวรรณกรรมการเมืองประเภทเรื่องสั้นและบทกวีรางวัล “พานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย”แล้ว โดย ผลงานเรื่อง “การยืนยันอีกครั้งหนึ่งของสาวแม่ฮ้างแห่งหมู่บ้านตาเอกทะไม” ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทเรื่องสั้น ส่วนผลงานเรื่อง “เบี้ย”ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทบทกวี
 
นายปราบดา หยุ่น รองโฆษกคณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา แถลงข่าวการประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย ปีที่ 12 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมการวรรณกรรมแห่งรัฐสภา ได้ดำเนินการจัดประกวดวรรณกรรมการเมืองประเภทเรื่องสั้นและบทกวีรางวัล “พานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย” ว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาตัดสินผลงานให้ได้รับรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทยยอดเยี่ยม รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทยดีเด่น และรางวัลผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การตัดสินรอบสุท้ายแล้ว โดยประเภทเรื่องสั้น รางวัลยอดเยี่ยม คือ ผลงานเรื่อง “การยืนยันอีกครั้งหนึ่งของสาวแม่ฮ้างแห่งหมู่บ้านตาเอกทะไม” โดย ลูเธอร์-เทอรัว รางวัลดีเด่น คือ ผลงานเรื่อง “ถนนสู่ทุ่งหญ้า” โดย รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ ผลงานประเภทบทกวี ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม คือ ผลงานเรื่อง “เบี้ย” โดย อรุณรุ่ง สัตย์สวี และรางวัลดีเด่นเรื่อง “ความตายของนำฟีนิกซ์” โดย รางชางฯ นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายของทั้ง 2 ประเภท ประเภทละ 10 ผลงาน
 
สำหรับรางวัลประเภทเรื่องสั้นและบทกวีนั้น รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทยยอดเยี่ยมจะได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเข็มและเกียรติบัตรของประธานรัฐสภา และเงินรางวัล รางวัลละ 100,000 บาท รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทยดีเด่น ประเภทละ 1 รางวัล ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเข็มและเกียรติบัตรของประธานรัฐสภา และเงินรางวัล รางวัลละ 60,000 บาท รางวัลผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การตัดสินรอบสุดท้าย ประเภทละไม่เกิน 10 รางวัล จะได้รับเกียรติบัตรพร้อมเข็มของประธานรัฐสภาและเงินรางวัล รางวัลละ 20,000 บาท ส่วนพิธีมอบรางวัลจะจัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2556 โดยในงานจะจัดให้มีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ฟ้าบ่กั้นวรรณกรรมการเมืองไทย การอ่านบทกวีของผู้ได้รับรางวัลและการเสวนาเกี่ยวกับผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งเรื่องสั้นและบทกวี ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่กลุ่มงานเผยแพร่ประชาธิปไตยฯ สำนักประชาสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-2442515 - 16
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 แล้ว
 
4 ก.ย. 56  –    ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 ด้วยคะแนน 123 เสียงต่อ 9 เสียง โดยใช้เวลาอภิปรายทั้งสิ้น 30 ชั่วโมง 39 นาที 
 
ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 วงเงิน 2.525 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง 123 เสียง ไม่เห็นชอบ 9 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง หลังจากที่ใช้เวลาพิจารณา รวม 30 ชั่วโมง 39 นาที แบ่งเป็นการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 53 คน คิดเป็น 10 ชั่วโมง 7 นาที ในส่วนของคณะรัฐมนตรี ใช้เวลาชี้แจงทั้งสิ้น 48 นาที โดยมีสมาชิกวุฒิสภาสลับกันขึ้นอภิปรายอย่างเนื่อง และส่วนใหญ่มีความเป็นห่วงการใช้งบประมาณในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะความกังวลว่าจะเกิดการทุจริตคอรัปชั่นจนเมื่อเวลาประมาณ 22.00น. วานนี้จึงได้มีการลงมติ
 
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 กล่าวขอบคุณสมาชิกวุฒิสภาที่ใช้เวลาพิจารณาร่างระราชบัญญัติดังกล่าว และมีข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ให้รัฐบาล สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณ หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติ มีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลจะมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส ส่วนความกังวลของสมาชิกวุฒิสภาต่อเรื่องการทุจริต คอรัปชั่นนั้น ยืนยันว่า คณะรัฐมนตรีจะควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 นอกจากนั้นทันทีร่างพระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ รัฐบาลจะดำเนินการจัดทำรายละเอียดการเสนอของบประมาณ ในปี 2558 ทันที โดยนำข้อเสนอแนะต่างๆ พิจารณาการจัดสรรงบด้วย
 
หลังจากนี้นายกรัฐมนตรีจะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 เริ่มขึ้นแล้ว
 
4 ก.ย. 56  –    การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เริ่มขึ้นแล้ว โดยวันนี้เป็นวันที่ 7 ของการประชุม ซึ่งพิจารณาต่อในมาตรา 5 ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ว. 
 
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่...) พ.ศ... ประเด็นที่มาของ ส.ว. ในวาระ 2 เริ่มเวลา 10.30 น. มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเป็นการประชุมวันที่ 7 ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจากวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 5 ว่าด้วยคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ขอหารือที่ประชุม เพื่อขอให้เลื่อนการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป เพราะไม่ใช่ปัญหาสำคัญเร่งด่วน โดยขอให้ประธานเปิดโอกาสให้นำปัญหายางพาราที่มีการชุมนุมกดดันรัฐบาลและยกระดับการชุมนุมเข้าหารือแทน ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมรัฐบาล ขอให้ประธานการประชุมใช้ข้อบังคับการประชุมอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรวดเร็วไม่เสียเวลา เพราะเห็นว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพรุ่งนี้ (5 ก.ย.) จะมีการพิจารณากระทู้ถามสดเรื่องปัญหายางพารา รวมถึงญัตติของฝ่ายค้านที่เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรื่องปัญหายางพาราอยู่แล้ว
 
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยืนขึ้นทวงถามเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างจากนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยกล่าวว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ส่งเกสารให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณางบประมาณ ขณะที่ นายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้สั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่งให้ภายหลัง และพยายามตัดบทเข้าสู่วาระการประชุม แต่นายวัชระไม่ยอมยังยืนขึ้นประท้วง ทำให้ประธานรัฐสภาต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำรัฐสภาเข้ามาเชิญตัวออกนอกห้องประชุม เพื่อสงบสติอารมณ์ ส่งผลให้ภายในห้องประชุมเกิดการประท้วงกันไปมาระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย โดยยังไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 5 ได้ ทำให้ประธานฯต้องสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 10 นาที
 
สำหรับสาระสำคัญของมาตรา 5 ว่าด้วยคุณสมบัติของ ส.ว. มีการแก้ไขให้บุพพการี คู่สมรส หรือบุตรของ ส.ส. สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้ รวมถึงระบุคุณสมบัติใหม่ให้ผู้ที่เคยเป็น ส.ส. สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ได้ทันที โดยไม่ต้องรอเว้นวรรค 5 ปี ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลานานในการอภิปราย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ก่อแก้ว เรียกร้อง ส.ส.หยุดตีรวน ยื้อ รธน.ล่าช้า 
 
4 ก.ย. 56 - ส.ส.ก่อแก้ว พรรคเพื่อไทย ระบุ อึดอัดใจกับการทำหน้าที่ของ ส.ส.บางคน ที่ดูเหมือนมีเจตนาตีรวนเพื่อทำให้การแก้ไข รธน.ล่าช้า พร้อมเรียกร้องสำนักโพล สำรวจความเห็นเกี่ยวกับรัฐสภา ควรระบุคำถามให้ชัดเจน หวั่นส่งผลเสียต่อภาพรวม
 
นายก่อแก้ว พิกุลทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงบรรยากาศการประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้ (4 ก.ย. 56) ว่า รู้สึกอึดอัดใจเพราะเห็นว่ามี ส.ส.บางคน ดูเหมือนมีเจตนาตีรวนเพื่อให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า โดยการยกเหตุการณ์ปัญหาการประท้วงเรื่องยางพาราขึ้นมาพูดทั้งที่วันนี้เป็นการประชุมเรื่องแก้ไข รธน. ดังนั้นขอฝากให้ สส.ที่ต้องการหารือเรื่องม็อบยางพาราหารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ย. 56) และอยากเรียกร้องให้ ส.ส.ทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ เคารพกฎหมายและข้อบังคับการประชุมสภาฯ เพราะเรากำลังออกกฎหมายสำคัญเพื่อให้ประชาชนใช้ทั้งประเทศ
 
ส.ส.ก่อแก้ว กล่าวฝากไปยังสำนักโพลต่างๆ ด้วยว่า เมื่อมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อรัฐสภานั้น ควรตั้งคำถามให้ตรงประเด็นว่า ประชาชนเบื่อหน่ายกับการทำหน้าที่ของ สส.คนใดและพรรคการเมืองใด อย่าตั้งคำถามที่กว้างเกิน เพราะจะส่งผลเสียต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกและพรรคการเมืองทุกพรรค
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.กฎหมาย สผ. ตามติดกรณีคลิปเสียงผู้ว่าฯ อุบลราชธานีเรียกรับส่วนแบ่งจากการจัดงานอีเวนต์ในจังหวัด
 
4 ก.ย. 56 -  คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ตามติดกรณีคลิปเสียงผู้ว่าฯ อุบลราชธานี เรียกรับส่วนแบ่งการจัดงานอีเวนต์ในจังหวัด พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการฮั้ว ขณะตัวผู้ว่าฯ ยังเลี่ยงเข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการแล้วถึง 2 ครั้ง
 
การประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พลตำรวจเอก วิรุฬห์ พื้นแสน เป็นประธาน ร่วมพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีคลิปเสียงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเสียงของ นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการ จ.อุบลราชธานี เรียกรับเงินจากหน่วยงานร้อยละ 10 ของการจัดงานแห่เทียนเข้าพรรษาและมีการเผยแพร่คลิปเสียงดังกล่าวผ่านเวบไซต์ยูทูปซึ่งนับเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ในการติดตามกรณีนี้  โดยหัวหน้าสำนักงานจังหวัดอุบลราชธานีได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่มีการจัดจ้างบริษัทไซม่อน เอเจนซี่ เป็นคู่สัญญา ว่า เป็นการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษเพื่อให้ทันกับการประชาสัมพันธ์การจัดงาน และบริษัทดังกล่าวสามารถเสนองานได้ตรงกับคุณสมบัติ (TOR) ที่คณะกรรมการตั้งไว้จึงไม่จำเป็นต้องหาผู้รับงานรายอื่นอีก พร้อมยืนยันดำเนินการตามระเบียบราชการทุกประการ
 
อย่างไรก็ตาม นายสุทัศน์ เงินหมื่น กรรมาธิการ ตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทดังกล่าวมีที่ตั้งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ เหตุใดกรรมการจัดซื้อจัดจ้างจึงไม่เชิญบริษัทที่อยู่ใน จ.อุบลฯ หรือ จังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมเสนองาน นอกจากนี้ กรรมาธิการได้ขอให้สำนักงานจังหวัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อจัดงานอีเวนต์ของจังหวัดอุบลฯ ตั้งแต่ ปี 52-55 มาให้กรรมาธิการเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาด้วยว่ามีความเกี่ยวข้องกับบริษัทคุณหน่อยมากน้อยเพียงใด
 
ขณะที่ พลตำรวจเอก วิรุฬห์กล่าวยืนยันว่ากรรมาธิการจะต้องทำหน้าที่ในการค้นหาความจริง อย่างเป็นกลาง ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยกรณีนี้จะต้องขอรายละเอียดของโครงการต่าง ๆ เพื่อดูถึงที่มาและพฤติกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินงานภายในจังหวัด ประกอบการพิจารณากับคลิปเสียงที่ได้ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่าเป็นคลิปเสียงของผู้ว่าฯ จริงหรือไม่ และมีการตัดต่อจริงหรือไม่ ตามที่ตัวผู้ว่าฯ เองให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าเป็นเสียงตัวเองจริงแต่มีการตัดต่อ อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการได้เรียกให้ นายวันชัย ผู้ว่าราชการ จ.อุบลราชธานีซึ่งถูกสั่งย้ายไปช่วยราชการที่กระทรวงมหาดไทย เข้ามาให้ข้อมูลกับกรรมาธิการถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ตนจึงเตรียมพิจารณาว่าจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของกรรมาธิการ เพื่อให้นายวันชัย เข้ามาชี้แจงต่อกรรมาธิการหรือไม่ต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว
 
ส.ส.เพื่อไทย เรียกร้อง ม๊อบสวนยางยุติการปิดถนน
 
4 ก.ย. 56 - ส.ส.เพื่อไทย เรียกร้อง กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางยุติการชุมนุมปิดถนน หลังสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนและเศรษฐกิจในพื้นที่ พร้อมตั้งข้อสังเกตข้อเรียกร้องราคายาง 120 บาทต่อกิโลกรัมอาจมีเป้าหมายทางการเมือง
 
นายก่อแก้ว พิกุลทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวเรียกร้องไปยังกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ที่ออกมาชุมนุมปิดถนนเรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาราคายางตกต่ำให้ยุติการชุมนุมปิดถนน เนื่องจากการกระทำดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ในวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจสร้างความเสียหายกับจังหวัดตัวเอง ส่วนข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ราคายางอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัมนั้น เป็นข้อเรียกร้องที่มุ่งหวังให้รัฐบาลดำเนินการไม่ได้ เพราะเป็นราคาที่สูงกว่าราคาปัจจุบันถึงร้อยละ 50 ตนจึงมองว่าการเรียกร้องดังกล่าวน่าจะมีเป้าหมายทางการเมือง และจากการตรวจสอบราคายางย้อนหลังบนเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร พบว่า ปี 2551 ราคาอยู่ที่ 77 บาทต่อกิโลกรัม และปี 2552 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ราคายางเฉลี่ยอยู่ที่ 57 บาทต่อกิโลกรัม จึงถามกลับไปยังชาวสวนยางว่าทำไมช่วงเวลาดังกล่าวถึงไม่ออกมาประท้วง แต่กลับมาตำหนิรัฐบาลชุดนี้ ทั้งที่ราคายางล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 79 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาสูงกว่าสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ดังนั้นจึงขอให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่ออกมาชุมนุมขณะนี้อย่าตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยขอให้ส่งตัวแทนมาเจรจากับรัฐบาลดีกว่าการปิดถนนที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่
 
นายก่อแก้ว กล่าวด้วยว่า ขอสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยางพารา โดยการจัดตั้งโรงงานยางพาราเพิ่มมูลค่ายางส่งออกไปขายยังต่างประเทศ โดยขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลังยกเว้นการเก็บภาษีการส่งออกและเงินสงเคราะห์ (เงินเซส) ของผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปเข้ากองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เพื่อให้โรงงานแปรรูปยางมีต้นทุนต่ำพร้อมแข่งขันในตลาดโลก
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ให้การรับรองนายกสมาคมนักข่าวสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
 
4 ก.ย. 56 - รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ให้การรับรองรองนายกสมาคมนักข่าวสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือของทั้งสองประเทศ
 
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ให้การรับรองนายอ่อง ลา ตุน (Mr.Aung Hla Tun) รองนายกสมาคมนักข่าวสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวและสมาคมนักข่าวของทั้งสองประเทศ  ณ ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1 ทั้งนี้ในระหว่างการพบปะสนทนา นายเจริญ ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐสภาไทยได้ให้ความสำคัญกับสื่อมวลชนประจำรัฐสภาเป็นอย่างยิ่ง โดยเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสามารถรายงานการประชุม หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงงานรัฐสภาได้อย่างเปิดเผยและเสรี โดยขณะนี้ได้มีการปรับปรุงห้องทำงานของสื่อมวลชน เพื่อรองรับสื่อมวลชนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
 
ด้านรองนายกสมาคมนักข่าวฯ เมียนมาร์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ โดยการดำเนินงานของสมาคมนักข่าวฯ เมียนมาร์ – ไทย ได้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด  และถึงแม้ว่าสื่อเมียนมาร์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเรียนรู้ เนื่องจากอยู่ภายใต้การปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารมาเกือบ 50 ปี แต่ก็จะพยายามผลักดันให้สื่อเมียนมาร์มีเสรีภาพในการแสดงออกข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มที่ในอนาคต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือข้อมูลข่าวสารจากรัฐสภาไทยต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรองสมาชิกรัฐสภาราชอาณาจักรสวีเดน
 
4 ก.ย. 56  –    รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ให้การรับรองสมาชิกรัฐสภาราชอาณาจักรสวีเดน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย พร้อมระบุในอนาคตสถานการณ์ปัญหายาเสพติดจะดีขึ้นหลังชนกลุ่มน้อยวางอาวุธในหันไปพัฒนาประเทศร่วมกันกับรัฐบาลพม่า ขณะที่หัวหน้าคณะผู้แทนสมาชิกรัฐสภาสวีเดนในสหภาพรัฐสภา ย้ำ สวีเดนพร้อมให้ความร่วมมือกับไทยเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นในขณะนี้
 
นายวิสุทธิ์  ไชยณรุณ  รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ให้การรับรองนายอันตี้  อัฟซาน หัวหน้าคณะผู้แทนสมาชิกรัฐสภาสวีเดนในสหภาพรัฐสภา และนางอิซาเบลล่า  เยิร์นเบ็ค  สมาชิกรัฐสภาราชอาณาจักรสวีเดน ในเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 โดยในโอกาสนี้ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันหลายประเด็น เช่น ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิสตรี สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงปัญหายาเสพติด ซึ่งในประเด็นเรื่องยาเสพติดนั้น รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ได้กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นประสบปัญหาในเรื่องยาเสพติดเนื่องจากผู้ค้ายาเสพติดใช้เป็นทางผ่านการส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งนี้แหล่งผลิตที่สำคัญนั้นอยู่ที่แถบชายแดน ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองของชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ที่ต้องผลิตยาเสพติดเพื่อส่งขายต่างประเทศและนำเงินมาซื้ออาวุธเพื่อต่อสู้รัฐบาลพม่า ทั้งนี้ในปัจจุบันรัฐบาลพม่าได้เปลี่ยนการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และชนกลุ่มน้อยก็หันไปร่วมพัฒนากับรัฐบาลพม่ามากขึ้น ตนจึงเชื่อมั่นว่าในอนาคตปัญหายาเสพติดจะดีขึ้นเป็นลำดับ
 
ขณะที่นายอันตี้  อัฟซาน หัวหน้าคณะผู้แทนสมาชิกรัฐสภาสวีเดนในสหภาพรัฐสภา ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหายาเสพติดว่า เป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องรวมมือกันในการแก้ปัญหา เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่กระทบต่อประชาชนในทุกประเทศ และสวีเดนก็พร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศไทยที่จะช่วยกันแก้ปัญหาดังกล่าว
 
ทั้งนี้รัฐสภาไทยและรัฐสภาสวีเดนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาตลอดและมีการแลกเปลี่ยนการเดินทางเยือนของบุคคลสำคัญของรัฐสภาทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ระดับพหุภาคีในรูปแบบการเป็นภาคีสมาชิกสหภาพรัฐสภา หรือ IPUด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
สนง.เลขาธิการ สผ. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศกับบริษัท ทีโอที
 
4 ก.ย. 56 -  สนง.เลขาธิการ สผ.ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศ กับ ทีโอทีฯ หวังนำไปสู่การร่วมพัฒนาระบบสื่อสาร การเชื่อมโยงเครือข่ายและการพัฒนาบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพระบบเครือข่ายสารสนเทศของ สนง.ให้ดียิ่งขึ้น
 
นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายนุกูล สัญฐิติเสรี รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศ ระหว่างสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับนายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และนางวรรณพร ลีฬหาชีวะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที ฯ โดยนายสุวิจักขณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ใช้บริการจาก บริษัท  ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อเสริมการปฏิบัติงานในหลากหลายกิจกรรม ครั้งนี้ถือเป็นอีกวาระหนึ่งที่จะได้ร่วมมือเพื่อสนับสนุน พัฒนาและปรับปรุงระบบเครือข่ายสารสนเทศ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จะนำไปสู่การร่วมพัฒนาระบบสื่อสาร การเชื่อมโยงเครือข่ายและการพัฒนาบุคลากร เพื่อตอบสนองการปฏิบัติงานได้อย่างทั่วถึงและเพื่อประสิทธิภาพระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
 
สำหรับวัตถุประสงค์ของการลงนามครั้งนี้ ก็เพื่อสนับสนุน พัฒนาการปรับปรุงระบบเครือข่ายสารสนเทศโทรศัพท์และโทรคมนาคมความเร็วสูงสำหรับรองรับการปฏิบัติงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่การติดตั้งวงจร อุปกรณ์เครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคม การจัดการเชื่อมโยงระบบงานต่างๆกับโครงข่าย ทีโอที พร้อมกับการบำรุงรักษาระบบเพื่อให้รองรับกับการทำงานของสำนักงานฯ ที่จะมีขึ้นในอนาคต เพื่อให้สามารถใช้งานเครือข่ายในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง ต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยกระดับคุณภาพของการดำเนินงานเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงานฯ รวมไปถึงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการฝึกอบรมบุคลากรของสำนักงานฯ ให้มีความชำนาญในด้านเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งนี้ความร่วมมือนี้ไม่ก่อให้เกิดภาระผู้พันด้านการเงินหรือภาระผูกพันอื่นใดทั้งสิ้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.ต่างประเทศ สผ. ระบุคนไทยในซีเรียปลอดภัย พร้อมขอให้จับตาท่าทีสหรัฐฯ จากผลประชุมสภาคองเกรส 9 ก.ย.นี้
 
4 ก.ย. 56 - คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ระบุคนไทยในซีเรียปลอดภัย พร้อมขอให้จับตาผลประชุมสภาครองเครส 9 ก.ย.นี้ ต่อสถานการณ์ในซีเรีย ระบุจุดยืนไทยยึดแนวทางถูกต้อง คำนึงถึงชาวซุนนีย์ในไทยเป็นหลัก
 
นางสาวจารุพรรณ กุลดิลก เลขานุการคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนางกุสุมาลวตี ศิริโกมุต รองประธานกรรมาธิการ แถลงภายหลังเชิญนายทอมวิชย์ ชาญสรรค์ รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ เข้าชี้แจงถึงสถานการณ์ความรุนแรงในซีเรีย และจุดยืนของประเทศไทยต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้รับคำยืนยันว่า ขณะนี้คนไทยที่อยู่ในซีเรียประมาณ 80 คน ทยอยเดินทางกลับประเทศไทยหมดแล้ว เหลือเพียง 1 คนเท่านั้น ที่ยืนยันจะอยู่ต่อ เนื่องจากที่พักอาศัยอยู่ห่างจากเมืองที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงมาก พร้อมยอมรับว่าปัญหาในซีเรียมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ แต่ขอให้ประชาชนมั่นใจต่อท่าทีของไทยในเรื่องดังกล่าวว่าจะยืนอยู่บนความถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องการทูต ที่จะคำนึงถึงจิตใจของชาวซุนนีย์ที่อยู่ในประเทศไทย และไทยจะขอจับตาดูการประชุมสภาคองเกรสในวันที่ 9 ก.ย. นี้ ว่า สหรัฐฯ จะมีท่าทีต่อซีเรียอย่างไร
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน เตรียมยื่นถอดถอนรองประธานรัฐสภาออกจากตำแหน่งวันพรุ่งนี้ 
 
5 ก.ย. 56 - วิปฝ่ายค้าน เผย เตรียมยื่นถอดถอนรองประธานรัฐสภาออกจากตำแหน่งวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย. 56) หลังพยายามเร่งรัดแก้ไข รธน.ประเด็นที่มา ส.ว. และเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)  เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย. 56) ฝ่ายค้านจะยื่นถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง หลังทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. ไม่เป็นกลาง โดยมีการพยายามรวบรัดให้มีการปิดอภิปรายและลงมติร่างแก้ไข รธน.ในมาตรา 5 ทั้งที่ฝ่ายค้านอภิปรายไปได้เพียง 7 คน จากที่ประสงค์อภิปรายทั้งหมด 53 คน เพื่อให้ร่างแก้ไข รธน.ผ่านการพิจารณาไปได้โดยเร็ว เนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากร่างแก้ไข รธน. ตลอดจนการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยการประชุมที่ขัดกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ที่วินิจฉัยไว้เมื่อการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 56 กรณีมีผู้เสนอให้ปิดการอภิปรายและลงมติในการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ในมาตรา 4 ขณะที่ยังมีผู้อภิปราย ว่า ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ เพราะถือเป็นการลิดรอนสิทธิสมาชิกรัฐสภาตามข้อบังคับที่ 99 ทั้งนี้ฝ่ายค้านจะรวบรวมรายชื่อสมาชิกพรรคเตรียมยื่นถอดถอนนายนิคม ออกจากตำแหน่งในช่วงเช้าของวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย. 56)
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ส.ส.เทพไท ปชป. ชี้ รองประธานรัฐสภาทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง
 
5 ก.ย. 56 - ส.ส.เทพไท ปชป. ชี้ การทำหน้าที่ของนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ไม่มีความเป็นกลาง รวบรัดไม่คำนึงถึงความถูกต้อง พร้อมระบุการส่งข้อความนัดประชุมและส่งหนังสือนัดประชุมย้อนหลังลงวันที่ 4 ก.ย. 56 อาจผิดข้อบังคับการประชุม
 
นายเทพไท เสนพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา ของนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภาว่า ไม่มีความเป็นกลาง ใช้วิธีเสียงข้างมากลากไป พยายามผลักดันให้การร่าง รธน.เสร็จสิ้นโดยเร็ว รวบรัดโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ทั้งนี้การพิจารณาในมาตรา 5 โดยข้อบังคับแล้วจะต้องให้ กมธ.เสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติอภิปรายครบทุกคนก่อนปิดประชุม แต่ปรากฎว่าได้อภิปรายไปเพียง 6-7 คน จาก 50 คน ซึ่งตนถือเป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่ได้อภิปราย จึงต้องการขอคัดค้านการทำหน้าที่ของนายนิคมและเห็นว่าควรได้รับการรประณามจากสมาชิกรัฐสภาและสังคม
 
นายเทพไทย กล่าวด้วยว่า การสั่งพักประชุมโดยไม่มีการนัดประชุมและใช้วิธีส่งข้อความเรียกประชุมในเวลา 23.15 น. โดยแจ้งว่า จะนัดประชุมอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 6 ก.ย. นี้ เวลา 14.00 น. และได้มีการส่งหนังสือย้อนหลัง โดยส่งหนังสือให้ ส.ส.ในวันนี้ (5 ก.ย. 56) แต่ลงวันที่ 4 ก.ย. 56 ซึ่งถือเป็นการทำหนังสือย้อนหลัง เพื่อให้ครบตามข้อบังคับการเรียกประชุมล่วงหน้า 3 วัน จึงต้องพิจารณาว่าผิดข้อบังคับหรือไม่ ทั้งนี้ตนเห็นว่านายนิคมไม่มีความน่าเชื่อถือในการเป็นประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เคารพในการทำหน้าที่ของนายนิคม หากเกิดปัญหานายนิคมต้องพิจารณาตัวเอง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
รองประธานสภาฯ รับยื่นหนังสือจากกลุ่ม ส.ส.-ส.ว. ส่งศาล รธน.วินิจฉัย ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 57 ขัด รธน.หรือไม่
 
5 ก.ย. 56 - รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 รับยื่นหนังสือจากกลุ่ม ส.ส.-ส.ว. ขอให้ศาล รธน.วินิจฉัย ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 57 กรณีที่รัฐไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการบริหารงานโดยอิสระของหน่วยงานของศาลและหน่วยงานขององค์กรตามรัธรรมนูญ ขัดหรือแย้งต่อ รธน.หรือไม่
 
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 รับการยื่นหนังสือจากนายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา พร้อมแนบรายชื่อ 64 ส.ส.และ 50 ส.ว. รวม 114 เพื่อขอส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนายไพบูลย์ กล่าวว่า คณะได้ตรวจสอบร่างฯดังกล่าวแล้วเห็นว่า ในมาตรา 27สำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลปกครอง และในมาตรา 28สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 168วรรค 8และวรรค 9 ในกรณีที่รัฐไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการบริหารงานโดยอิสระของหน่วยงานของศาลและหน่วยงานขององค์กรตามรัธรรมนูญคือ สำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลปกครองและสำนักงาน ป.ป.ช. เพราะในการจัดสรรงบประมาณปี 2557ทางศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และ ป.ป.ช. ได้เสนอขอแปรญัตติงบประมาณเพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินการงาน แต่คณะกรรมาธิการกลับใช้ดุลพินิจแต่เพียงฝ่ายเดียวตัดงบประมาณของศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญออก โดยที่องค์กรข้างต้นไม่เคยมีส่วนร่วมในการพิจารณา ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ได้ยืนยันว่างบประมาณที่ถูกจัดสรรมาให้ ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน จึงถือได้ว่าการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวไม่ได้รับการจัดสรรอย่างเพียงพอต่อการบริหารงาน ดังนั้น จึงขอให้ประธานรัฐสภาส่งความเห็นทั้งหมดนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นบัญทัดฐานต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ผู้นำฝ่ายค้าน จัดสัมมนา ก้าวไปด้วยกัน รู้เท่าทัน...สถานการณ์บ้านเมืองเรื่องของเรา วันศุกร์ นี้
 
5 ก.ย. 56 -  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการพบประชาชน  “ก้าวไปด้วยกัน รู้เท่าทัน...สถานการณ์บ้านเมืองเรื่องของเรา” ในวันศุกร์ที่ 6 ก.ย. นี้ ที่ ร.ร.อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต  กรุงเทพฯ หวังแลกเปลี่ยนข้อมูลกับภาคประชาชนถึงสถานการณ์บ้านเมือง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การใช้จ่ายและกู้เงินของแผ่นดิน เพื่อนำไปเป็นข้อมูลตรวจสอบรัฐบาลและการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการนิติบัญญัติ
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 5 ก.ย. นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะจัดสัมมนา โครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน  เรื่อง “ก้าวไปด้วยกัน รู้เท่าทัน...สถานการณ์บ้านเมืองเรื่องของเรา” ณ ห้องประชุมดอนเมือง 1 - 2 โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต  กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น.  โดยได้เชิญตัวแทนภาคประชาชนจำนวน 500 คน เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว ซึ่งตนจะเป็นผู้บรรยายพิเศษในเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ นายนิพิฏฐ์  อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง และ นายวัชระ  เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อจะเป็นผู้บรรยายพิเศษเรื่อง “ความจริงในร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม” นอกจากนี้ จะมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “การเงิน การคลังของชาติ และการใช้จ่ายเงินกู้ของแผ่นดิน” (เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และเงินกู้บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท) โดย ดร. สามารถ  ราชพลสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายเจือ  ราชสีห์ ส.ส.สงขลา พร้อมกันนี้ได้จัดกิจกรรมการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ กรณีที่มีการเสนอแก้ไขด้วย
 
ทั้งนี้ การจัดการสัมมนาในครั้งนี้เพื่อได้รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงจากพื้นที่ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตัวแทนภาคประชาชน ซึ่งสนองตอบหน้าที่สำคัญของฝ่ายค้านในการควบคุมและตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายรัฐบาลให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่กระบวนการด้านนิติบัญญัติเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน เตรียมยื่นศาล รธน. ระงับการแก้ไข รธน.
 
5 ก.ย. 56 - วิปฝ่ายค้าน ชี้ การพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว.ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ หวั่นกระทบสถาบันศาลและองค์กรอิสระ พร้อมเผย สมาชิกพรรคเตรียมยื่นศาล รธน.ระงับการแก้ รธน.
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)  กล่าวภายหลังการประชุมวิปฝ่ายค้าน ว่า ที่ประชุมมีมติให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา และคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา เป็นกรณีที่เข้าข่ายกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยใช้วิธีการที่ไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากได้มีการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภาเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิมที่ระบุให้มีทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งและสรรหา รวมถึงมีการแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จึงถือว่าการแก้ไข รธน.ครั้งนี้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทำให้เกิดการสูญเสียดุลยภาพ และประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองสามารถเข้าครอบงำวุฒิสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและเป็นสถาบันหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาได้ในอนาคต ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสถาบันศาลและองค์กรอิสระ เนื่องจากวุฒิสภาจะมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องของการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ตำแหน่งสูงในสถาบันตุลาการและองค์กรอิสระได้ ดังนั้นจึงต้องยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีคำสั่งเลิกการกระทำดังกล่าวหรือคุ้มครองชั่วคราวด้วย     
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ส.ส.วัชระ ร้อง รองปธ.สภาฯตั้งกรรมการสอบจริยธรรมประธานรัฐสภาและเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา
 
5 ก.ย. 56  -  ส.ส.วัชระ ปชป. เผย ยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เรียกร้องให้ตั้งกรรมการสอบจริยธรรมประธานรัฐสภาและเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา กรณีสั่งให้ตำรวจสภาอุ้มออกจากห้องประชุม ชี้ เป็นการกระทำที่ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐ
 
นายวัชระ เพชรทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือต่อนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2เพื่อขอให้สอบจริยธรรม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา กรณี ที่สั่งให้ตำรวจสภาอุ้มตนออกจากห้องประชุม หลังจากตนขอใช้สิทธิ์หารือถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เรื่องปัญหาราคายาง รวมทั้งทวงเอกสารจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ จากเลขาธิการรัฐสภา ทั้งนี้เห็นว่าการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการทำที่ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ชอบด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ.2553และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา รวมถึงขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางวินัยและประมวลจริยธรรมของข้าราชการรัฐสภากับเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาทั้งหมดที่ร่วมกันประพฤติไม่ให้เกียรติ สมาชิกรัฐสภา ทำให้เกิดการการบาดเจ็บและทรัพย์สินของรัฐเสียหาย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันประธานรัฐสภาควบคุมการประชุมโดยใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่เป็นไปตามข้อกฎหมายทุกประการ
 
5 ก.ย 56 - โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันประธานรัฐสภาควบคุมการประชุมโดยใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่เป็นไปตามข้อกฎหมายทุกประการ ระบุข้อบังคับการประชุมรัฐสภามีการกำหนดในรัฐธรรมนูญชัดเจน
 
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง เหตุการณ์ความวุ่นวายในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่ของมาสว. เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เชิญตัวนายวัชระ เพชรทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกจากห้อง โดยมีตำรวจรัฐสภาควบคุมตัวออกไปและถูก ส.ส ฝ่ายค้านโจมตีว่านายสมศักดิ์ ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ขัดรัฐธรรมนูญและดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ  โดยนายวัฒนากล่าวว่า ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านไม่เป็นความจริง เพราะประธานสภาผู้แทนราษฎร ใช้อำนาจออกคำสั่งตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ใน มาตรา 136 (8) และ มาตรา 137 และเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม หมวด 1 ข้อ 5 (3) ในการใช้อำนาจหน้าที่ควบคุมเพื่อให้การประชุมเกิดความสงบและเดินหน้าต่อไปได้
 
นายวัฒนา กล่าวว่า การที่ ส.ส ฝ่ายค้าน โจมตีว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรออกคำสั่งโดยไม่มีกฎหมายรองรับนั้น ขอชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 136 (8) ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าให้รัฐสภาประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อตราข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา  ในขณะที่มาตรา 137 ระบุว่าให้ใช้บังคับการประชุมรัฐสภาในการประชุมร่วมกัน ดังนั้น การดำเนินการทุกอย่างของประธานรัฐสภาจึงเป็นไปตามข้อกฎหมายทุกประการ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, มันทนา  ศรีเพ็ญประภา  ข่าว/เรียบเรียง
 
อนุ กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ วุฒิสภา รับหนังสือขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีหินถล่มที่ จ.เพชรบุรี
 
5 ก.ย. 56 - อนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วุฒิสภา รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชน จ.เพชรบุรี ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีหินถล่มที่เขาอีบิด จ.เพชรบุรี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต
 
นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา รับหนังสือร้องเรียนจากนางสาวพวงแก้ว เชื้อชัง ตัวแทนประชาชนบ้านตำบลหนองชุมพลเหนือ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่ได้รับความเดือดร้อนกรณีหินถล่มบริเวณเขาอีบิด หมู่ 6 บ้านอู่ตะเภา ตำบลหนองชุมพลเหนือ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเหมืองของบริษัทเพชรสมุทร (1970) จำกัด จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งประชาชนได้ร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าที่รัฐขอให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแต่เจ้าหน้าที่กลับเพิกเฉย โดยปล่อยให้บริษัทฝ่าฝืนเข้าทำเหมืองทั้งที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากการทำเหมืองแบบผิดวิธีไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรมตามที่ได้รับอนุญาต จนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นจึงขอให้ กมธ.ตรวจสอบการปฏิบัติเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องดังกล่าวด้วย เพื่อแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย อาทิ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตร หรือกรณียื่นขอต่อประทานบัตรการทำเหมืองก็ไม่ควรอนุญาต การตรวจสอบดำเนินคดีต่อผู้ที่กระทำความผิดในเหตุที่เกิดขึ้นจนเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงให้ผู้ประกอบการดำเนินการทำเหมืองให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมและความปลอดภัยในการทำงานต่อไปด้วย
 
ด้านนางสาวสุมล กล่าวว่า อนุกรรมาธิการฯ ยินดีรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา และจะเร่งนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
รองประธานวุฒิสภา จะนำคณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมประชุมใหญ่ AIPA ที่ประเทศบรูไน 17-23 ก.ย. นี้
 
5 ก.ย. 56 - นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 นำคณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมAIPAครั้งที่ 34ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม วันที่ 17-23 ก.ย. นี้ เพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาสำคัญและสานความร่วมมือระหว่างกันทางกฎหมายระหว่างรัฐสภาในภูมิภาค ตามหัวข้อหลักบทบาทของ AIPA ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
 
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย  รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน(AIPA)ครั้งที่ 34 เปิดเผยว่า ตนจะนำคณะสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมใหญ่ AIPAณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม ระหว่างวันที่ 17-23 กันยายน 2556 โดยผู้แทนรัฐสภาไทยประกอบด้วย ส.ส.จากพรรครัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. อาทิ นายสรชัด สุจิตต์ นางนาถยา เบ็ญจศิริวรรณ น.ส.ภูวนิดา คุณผลิน รศ.นรีวรรณ จินตกานนท์ นายวิทยา อินาลา นายต่วนอับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ ซึ่งทั้งหมดจะทำหน้าที่ร่วมประชุมกับประเทศสมาชิกในหัวข้อหลัก “บทบาทของAIPA ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” และแบ่งการพิจารณาเนื้อหาในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการด้านการเมืองพิจารณาเรื่องการสนับสนุนประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจพิจารณาเรื่องการสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)อย่างยั่งยืน คณะกรรมาธิการด้านสังคมพิจารณาเรื่องการสนับสนุนคนรุ่นใหม่เพื่อความท้าทายในอนาคตของอาเซียน ขณะเดียวกันฝ่ายไทยเตรียมที่จะเสนอร่างข้อมติเกี่ยวกับการล่วงละเมิดต่อเด็ก คณะกรรมาธิการด้านการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีในสมัชชารัฐสภาอาเซียน(WAIPA) จะพิจารณาเรื่องการสนับสนุนสุขภาพแม่และเด็กในอาเซียน  พร้อมกันนี้ ผู้แทนรัฐสภาไทยจะเข้าหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศผู้สังเกตการณ์ อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย ปาปัวนิวกินี อินเดีย สหภาพยุโรป ในประเด็นที่เกี่ยวข้องรวมถึงท่าทีของไทยต่อประเด็นพิพาททะเลจีนใต้ และยุทธศาสตร์ของไทยต่อการมุ่งสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
เครือข่ายราษฎรอาสาฯ เตรียมยื่นศาล รธน.วินิจฉัยร่างแก้ไข รธน.ประเด็นที่มา ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญ
 
5 ก.ย. 56 -  ตัวแทนเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3สถาบัน เตรียมยืนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไข รธน.ประเด็นที่มา ส.ว. ชี้ มีหลักการและบทบัญญัติที่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐที่ ขัดต่อมาตรา 291 (1) วรรค 2ของรัฐธรรมนูญ เรียกร้องศาลสั่งการเลิกการพิจารณาร่างดังกล่าวทันที
 
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ว่า มีหลายหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน. โดยนายบวร ยสินธร ตัวแทนเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3สถาบัน เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยและเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไข รธน.ประเด็นที่มา ส.ว.เนื่องจากเห็นว่า มีหลักการและบทบัญญัติที่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ขัดต่อมาตรา 291 (1) วรรค 2ของรัฐธรรมนูญ ที่ไม่อาจเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ และประธานรัฐสภาไม่อาจรับญัตติดังกล่าวไว้พิจารณาได้ ดังนั้นการกระทำของผู้เสนอร่างดังกล่าวทั้ง 309คน จึงเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิธีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68อย่างชัดเจน เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐสภา จึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ทั้งนี้เห็นว่า หากต้องการแก้ไขโครงสร้างของวุฒิสภา ควรเริ่มต้นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องจัดให้มีการทำประชามติในประเด็นดังกล่าวตามมาตรา 165 (1) การริเริ่มโดยสมาชิกรัฐสภาจึงกระทำมิได้ตามมาตรา 291 (1) วรรค 2รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 122ของรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้นการที่รัฐสภาพิจารณาร่างดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกรัฐสภา ประธานรัฐสภา ล้วนเป็นผู้กระทำผิด
 
นายบวร กล่าวด้วยว่า จากข้อเท็จจริงข้างต้น ตนจึงต้องการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291(1) วรรค 2ของรัฐธรรมนูญที่ไม่อาจเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ และประธานรัฐสภาไม่อาจรับญัตติดังกล่าวไว้พิจารณา สั่งการให้ประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาเลิกการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวทั้งหมดทันที สั่งยุบพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชนและพรรคประชาธิปไตยใหม่ และดำเนินการไต่สวนฉุกเฉินให้ระงับการดำเนินการไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา,วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
โฆษกพรรคเพื่อไทย ยืนยัน การทำหน้าที่ประธานของนายนิคม ไม่ขัดข้อบังคับการประชุม จี้ ประชาธิปัตย์ยอมรับเสียงข้างมาก
 
5 ก.ย. 56 - โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุ การทำหน้าที่ประธานในการประชุมร่วมรัฐสภาของนายนิคม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม ไม่สอดคล้องกับที่ประชาธิปัตย์ระบุ และเตรียมยื่นถอดถอน จี้ ให้รับฟังเสียงประชาชนที่ต้องการใช้สิทธิ์เลือก ส.ว.ด้วยตัวเอง
 
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงกรณี ส.ส.ประชาธิปัตย์เตรียมยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ   ตามมาตรา 68   ให้ระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้    และยื่นถอดถอน   นายนิคม  ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง จากสาเหตุปิดอภิปรายมาตรา 5 ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า การทำหน้าที่ของนายนิคม ไม่ได้ขัดต่อข้อบังคับการประชุม หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใด แต่เป็นความผิดพลาดของพรรคประชาธิปัตย์เอง ที่ไม่เสนอญัตติให้มีการอภิปรายต่อและยังมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ขัดข้อบังคับการประชุม
 
นายพร้อมพงศ์ กล่าวต่อไปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว.ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คนนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีสิทธิ์เลือกส.ว.ด้วยตนเอง การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ต้องการให้มี ส.ว.สรรหา คงไว้อยู่นั้น ตนเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ ดูถูกประชาชน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน นำรายชื่อ 141 ส.ส.ยื่นถอดถอนรองประธานรัฐสภา
 
6 ก.ย. 56 - ประธานวิปฝ่ายค้าน พร้อมด้วย ส.ส.ปชป. นำรายชื่อ 141 ส.ส.เข้ายื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา เพื่อถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา เหตุ มีพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ และกระทำผิด รธน.มาตรา 122 เพื่อเปิดโอกาสในส.ว.ชุดปัจจุบันลงเลือกตั้งได้โดยไม่เว้นวรรค
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) พร้อมด้วยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำรายชื่อ 141 ส.ส.ยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา โดยมีนายแพทย์อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 เป็นผู้รับ เพื่อยื่นถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ จึงได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อให้ประธานวุฒิสภายื่นเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป ด้านนายแพทย์อนันต์ กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการตรวจสอบรายชื่อและข้อมูลต่างๆ คาดว่าภายในวันที่ 20 ก.ย.นี้ จะสามารถส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.ได้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์หลังยื่นหนังสือ ถึงสาเหตุของการยื่นถอดถอนว่า ระหว่างทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 5 ประเด็นที่มา ส.ว. นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภามีพฤติกรรมที่ผิดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ที่เป็นการรอนสิทธิ์ของสมาชิกไม่ให้สามารถใช้สิทธิ์แสดงความคิดเห็นและอภิปรายได้ครบถ้วนจาก 107 คนอภิปรายได้เพียง 7 คน จึงถือเป็นการกระทำผิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ขณะเดียวกันเห็นว่ามีเรื่องของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตาม รธน.มาตรา 122 เนื่องจากการแก้ไข รธน.ครั้งนี้เปิดโอกาสให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันลงเลือกตั้งภายหลังหมดวาระในช่วงเดือน มี.ค. ได้อีกครั้ง การเร่งรัดแก้ไข รธน.ครั้งนี้จึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนที่ส่งผลให้ตนเองและ ส.ว.ชุดนี้ลงเลือกตั้งได้อีกโดยไม่เว้นวรรค นอกจากนี้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ยังได้ออกแถลงการณ์ประณามการทำหน้าที่ของรองประธานรัฐสภาด้วย     
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน เรียกร้อง รัฐบาลเปิดโอกาสฝ่ายค้านทำหน้าที่รักษาประโยชน์ประชาชน
 
6 ก.ย. 56 - ประธานวิปฝ่ายค้าน เรียกร้อง รัฐบาลเปิดโอกาสฝ่ายค้านทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่ หลังเร่งรัดแก้ รธน.เพื่อผลประโยชน์ทับซ้อน
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)  กล่าวถึง กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลเสนอปิดอภิปรายญัตติการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำทั้งที่ฝ่ายค้านยังอภิปรายไม่ครบถ้วน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ว่า กรณีดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่า ฝ่ายรัฐบาลพยายามที่จะรวบรัดการทำหน้าที่ในสภาของฝ่ายค้านมาโดยต่อเนื่อง ทั้งในที่ประชุมร่วมรัฐสภาและการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเวลาไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเกรงว่าญัตติเรื่องการแก้ปัญหาราคายางและของแพงจะต่อเนื่องไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 12 ก.ย. 56 ทำให้ขัดขวางการพิจารณาร่างแก้ไข รธน. โดยขณะนี้มีความพยายามนัดวันประชุมเพื่อแก้ไข รธน.อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการเร่งรัดให้แก้ รธน.แล้วเสร็จก่อนเดือนมีนาคม 2557 เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้สามารถกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกครั้ง ซึ่งหากรัฐบาลจะดำเนินการเช่นนั้นขอให้ยุติการกระทำดังกล่าวด้วย โดยฝ่ายค้านยอมรับได้ในการใช้เสียงข้างมากพิจารณาในประเด็นต่างๆ เพราะเป็นระบบของรัฐสภา แต่ยอมรับไม่ได้กับการใช้เสียงข้างมากปิดปากการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เพราะถือว่าเป็นการตัดผลประโยชน์ของประชาชน ทำให้ไม่สามารถสะท้อนปัญหาประชาชนให้รัฐบาลรับทราบได้ ทั้งนี้เห็นว่าการประชุมต่างๆ จะราบรื่นหากรัฐบาลเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังกล่าวถึง การแสดงออกถึงท่าทีฝ่ายค้านในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อคืนวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมาด้วยว่า ขอให้ทุกฝ่ายดูเหตุผลว่าสาเหตุที่ฝ่ายค้านแสดงท่าทีเช่นนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทุกครั้งเกิดจากการที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามตัดสิทธิการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในฐานะตัวแทนประชาชน ดังนั้นจึงขอเรียกร้องรัฐบาลอย่าปิดโอกาสการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน โดยตัดผลประโยชน์ของประชาชน อย่างไรก็ตามได้มีการเตือนให้สมาชิกพรรคระมัดระวังการแสดงออกท่าทีดังกล่าวแล้ว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
วุฒิสภามีมตินัดแถลงเปิดคดีถอดถอน "นพ.สุรพงษ์" 17 ก.ย. นี้
 
6 ก.ย. 56  –  วุฒิสภามีมตินัดแถลงเปิดคดีถอดถอน "นพ.สุรพงษ์"  หลังถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเอื้อประโยชน์ให้บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 17 กันยายน นี้ และที่ประชุมยังมีมติด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ เห็นชอบให้ผู้ถูกถอดถอนยื่นเอกสารให้ ส.ว. ประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมจำนวน 7 รายการ
 
การประชุมวุฒิสภา สมัยสามัญทั่วไป เป็นพิเศษ ในวันที่ 6 กันยายน 2556 โดยมีวาระเรื่องด่วนเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่ามีความผิดทางอาญา มาตรา157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จากกรณีที่ดำเนินการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน โครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมิชอบ โดยที่ประชุมได้มีมติกำหนดวันแถลงสำนวนของผู้กล่าวหาคือ ป.ป.ช. และแถลงคัดค้านของนายสุรพงษ์ และนายไกรสร ผู้ถูกกล่าวหา ในวันที่ 17 กันยายน พร้อมกับกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาส่งข้อซักถามกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาภายในวันที่ 16 กันยายน
 
นอกจากนี้ที่ประชุมวุฒิสภายังมีมติด้วยเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้ผู้กล่าวหายื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาประกอบการพิจารณาถอดถอน จำนวน 7 รายการ ตามที่นพ.สุรพงษ์ และนายไกรสร เสนอเข้ามาให้วุฒิสภาประกอบการพิจารณา จากนั้นนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม สั่งปิดประชุมในเวลา 11.48 น.
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
การประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 8 เริ่มขึ้นแล้ว
 
6 ก.ย. 56  –  การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มา ส.ว. เป็นวันที่ 8 เริ่มขึ้นแล้ว ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้าน เรียกร้องประธานรัฐสภาแสดงความชัดเจนที่เคยมีคำวินิจฉัยว่า การเสนอญัตติปิดอภิปรายจะกระทำได้หรือไม่ ด้าน ส.ส. เพื่อไทย เรียกร้องให้ประธานรัฐสภาใช้ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาอย่างเคร่งครัด
 
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ...... ในวาระ 2 ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา วันนี้ (6 ก.ย.) เริ่มเวลา 14.00 น. โดยประมาณ โดยเป็นการประชุมวันที่ 8 ต่อจากการประชุม เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา หลังที่ประชุมผ่านความเห็นชอบมาตรา 5 ว่าด้วยคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาที่ให้เปิดโอกาสให้บุพการี คู่สมรส และบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องเว้นวรรค 5 ปี โดยวันนี้จะเริ่มพิจารณาต่อที่มาตรา 6 ว่าด้วยสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา
 
ทั้งนี้หลังเริ่มประชุม นายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์  ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาหารือถึงกรณีที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 ได้ขอมติที่ประชุมให้ปิดอภิปรายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ประธานรัฐสภาแสดงความชัดเจนที่เคยวินิจฉัยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ว่า การเสนอญัตติปิดอภิปรายจะกระทำไม่ได้ เพราะลิดรอนสิทธิของสมาชิก ซึ่งถือเป็นการวินิจฉัยสองมาตรฐาน ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ประธานรัฐสภาดำเนินการประชุมตามข้อบังคับประชุมร่วมรัฐสภาอย่างเคร่งครัด
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ว.ยื่นประธานวุฒิสภา ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ จี้ รัฐแจงปัญหาด้านการเกษตร
 
6 ก.ย. 56 -  สมาชิกวุฒิสภา ยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภาขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อให้ ค.ร.ม.ชี้แจงปัญหาด้านการเกษตรตามที่แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา  หลังรัฐบาลบริหารราชการฯ มา 2 ปีเศษแต่ปัญหากลับเพิ่มขึ้น
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา รับหนังสือขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 161 จากพลตำรวจโทยุทธนา ไทยภักดี สมาชิกวุฒิสภา พร้อมคณะ เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อปี 2554 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความเข้าใจปัญหาด้านการเกษตรที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศเป็นอย่างดี แต่ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมากลับเกิดปัญหาและผลกระทบมากมายต่อวงการเกษตร และมีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงขอใช้สิทธิในฐานะสมาชิกวุฒิสภาขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อเสนอปัญหาและข้อสังเกตต่างๆ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีชี้แจงปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการฯ ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภาในประเด็นการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
 
ด้านประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลมาแถลงข้อเท็จจริงและชี้แจงปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการฯ ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภาต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
กมธ. แก้ปัญหาหนี้สิน สผ. ระบุ ยอดหนี้เสียของธนาคารอิสลามได้รับการแก้ไขแล้ว
 
6 ก.ย. 56 -  ประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ระบุ ธนาคารอิสลามยืนยันไม่มีกลุ่มการเมืองก่อให้เกิดหนี้เสีย ขณะยอดหนี้ 42,000 ล้านบาท ธนาคารได้เรียกลูกค้าเข้าเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว
 
นายฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาภายหลังการประชุมพิจารณาปัญหาหนี้สินของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยว่า นายธงรบ ด้านอำไพ รักษาการกรรมการผู้จัดการธนาคาร ชี้แจงต่อกรรมาธิการว่า กลุ่มธุรกิจของนักการเมืองตามที่มีกระแสวิจารณ์ อาทิกลุ่มชินวัตร หรือเทือกสุบรรณ ทำการกู้เงินจากธนาคารจริง แต่มีการชำระหนี้ จึงไม่มีกลุ่มการเมืองใดที่ก่อให้เกิดหนี้เสีย(NPL) ต่อธนาคาร ส่วนกรณีภาระหนี้เสียของธนาคารที่มีจำนวนถึง 42,000 ล้านบาทนั้น เกิดจากการปล่อยสินเชื่อแบบไม่มีคุณภาพที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ  ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไขด้วยการเรียกลูกค้าเข้ามาเจรจาเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ และได้รับผลตอบรับมากถึงร้อยละ 90  ส่วนกรณีกลุ่มลูกค้าซึ่งธนาคารอื่นไม่ปล่อยสินเชื่อให้แต่มาขอรับการกู้จากธนาคารอิสลามได้นั้น เป็นกลุ่มที่ได้รับการพิจารณาแล้วว่าสามารถนำเงินกู้ไปฟื้นฟูธุรกิจต่อได้ มีเงินใช้หนี้ให้กับธนาคาร อย่างไรก็ตาม ภายในสิ้นปีนี้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจะมีกำไรจำนวน 2 พันล้านบาท
 
นายฉลาด กล่าวต่อไปว่า ได้เสนอแนะให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยช่วยเจรจากับ บ.สหฟาร์ม สาขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารชำระหนี้คงค้างกับพ่อค้ารับซื้อข้าวโพดเพื่อให้พ่อค้าสามารถนำเงินไปซื้อข้าวโพดต่อจากชาวบ้านได้  นอกจากนี้ ขอให้ธนาคารปรับปรุงระบบการบริหารจัดการด้านงานบุคคล การบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
กมธ.หนี้สิน สผ. ระบุ เกษตรกรและผู้มีหนี้คงค้างกับสหกรณ์ต่ำกว่า 5 แสนบาท สามารถยื่นขอเข้าโครงการชำระหนี้ได้ถึงวันที่ 16 ก.ย.นี้
 
6 ก.ย. 56 -  คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรระบุ ระบุ ผู้มีหนี้ค้างต่ำกว่า 5 แสนบาทกับสหกรณ์หรือกลุ่มสหกรณ์ สามารถยื่นความจำนงเข้าโครงการพักหนี้ได้ภายใน 16 ก.ย. นี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้การช่วยเหลือจากงบกลาง
 
นายฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมพิจารณาโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือมีหนี้ค้างต่ำกว่า 5 แสนบาท  ผ่านสหกรณ์หรือกลุ่มสหกรณ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ส.ค.56 โดยประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้เชิญกรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าชี้แจงพบว่า ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเกิดจากสภาวะค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิต อีกทั้งปัจจัยราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลให้สหกรณ์การเกษตรหลายแห่งได้รับผลกระทบ เกษตรกรที่เป็นสมาชิกไม่เข้าชำระหนี้ที่มีต่อสหกรณ์
 
นายฉลาด กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการในส่วนนี้จะใช้เงินจากงบกลางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะดำเนินการพักหนี้ให้เกษตรรายย่อยที่มีหนี้ไม่เกิน 5 แสนบาทก่อน ซึ่งถือเป็นหนี้เสีย เกษตรกรสามารถแจ้งความจำนงเพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในรอบแรกผ่านทางสหกรณ์ที่ตนเป็นหนี้อยู่ได้ภายในวันที่ 16 กันยายนนี้   
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ประธานวุฒิสภา ยืนยัน ทำหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุม
 
6 ก.ย. 56 - ประธานวุฒิสภา ยืนยัน ทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมรัฐสภาตามข้อบังคับการประชุม พร้อมให้ทุกฝ่ายตรวจสอบการทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึง กรณีที่ฝ่ายค้านยื่นถอดถอนตนเองออกจากตำแหน่ง ว่า การยื่นถอดถอนดังกล่าวถือเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนไม่มีความกังวลใดๆ และพร้อมให้ทุกฝ่ายตรวจสอบการทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักตามข้อบังคับการประชุม โดยหลังจากนี้จะดำเนินการตรวจสอบว่าการยื่นถอดถอนดังกล่าวอยู่ในหลักเกณฑ์ในการถอดถอนบุคคล ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งวุฒิสภาจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อภายใน 30 วัน และส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวน โดยตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริง หากมีความผิดก็เข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ
 
ประธานวุฒิสภา ยังกล่าวถึง การประชุมการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะพิจารณาร่างแก้ไข รธน.แล้วเสร็จเมื่อใด โดยยืนยันไม่รู้สึกหนักใจในการทำหน้าที่ประธานในการประชุมฯ เชื่อหากทุกฝ่ายรักษาข้อบังคับการประชุม โดยไม่อภิปรายซ้ำประเด็นและกล่าวหากัน การประชุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากขณะนี้มีกฎหมายรอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาจำนวนมาก
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
โฆษกพรรคเพื่อไทยรับการยื่นหนังสือจากนายองค์การ นศ.ม.รามฯ ที่เรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหาราคายางและปาล์มตกต่ำ 
 
6 ก.ย. 56 - โฆษกพรรคเพื่อไทยรับการยื่นหนังสือจากนายองค์การ นศ.ม.รามฯ ที่เรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหาราคายางและปาล์มตกต่ำ โดยเร็ว ก่อนมีการนัดชุมนุมใหญ่กลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกว่า 6 สถาบัน เรียกร้องที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง 8 ก.ย. นี้
 
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย รับการยื่นหนังสือจาก นายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง  พร้อมกลุ่มนักศึกษาที่ร่วมกับเครือข่ายลูกหลานเกษตรกร ม.รามคำแหง ที่ขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจต่อการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางและ ปาล์มน้ำมัน ที่รัฐบาลยังคงเพิกเฉยต่อการแก้ปัญหาและมีการใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพวกตนเห็นว่าเป็นวิธีการสองมาตรฐานแบ่งแยกประชาชน ประกอบกับราคาผลผลิตทางการเกษตรอื่น อาทิ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยังมีราคาตกต่ำลงต่อเนื่อง แต่ค่าครองชีพกลับพุ่งสูง นักศึกษาในฐานะลูกหลานเกษตรกร และองค์การนักศึกษาในฐานะตัวแทนเพื่อนักศึกษา จึงต้องการเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน  เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหามากกว่าการให้ความสนใจออกกฎหมายล้างผิดให้พวกพ้อง พร้อมประกาศเจตนารมณ์หากไม่เร่งดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวองค์การนักศึกษา ม.รามคำแหง จะร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นและประชาชน ทำการชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 8 ก.ย.นี้ ที่ม.รามคำแหง ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป โดยขณะนี้ได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักศึกษาสถาบันอื่นราว 6 มหาวิทยาลัยแล้ว
 
ด้าน นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหา จะเห็นได้จากการตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อแก้ไข การลงพื้นที่ ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษานี้จะนำเสนอให้นายกฯ ทราบโดยเร็ว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ประธานรัฐสภา ยืนยัน ทำหน้าที่เป็นกลาง แต่อาจไม่ถูกใจทุกฝ่าย ขณะที่ฝ่ายค้านเสนอ 3 ข้อในการทำหน้าที่ของประธานฯพร้อมเรียกร้องหลักประกันจะไม่ถูกลิดรอนสิทธิ์ในการอภิปราย
 
6 ก.ย. 56 -  ประธานรัฐสภา ยืนยัน ทำหน้าที่เป็นกลาง แต่ผลที่ออกมาอาจไม่ถูกใจทุกฝ่าย เรียกร้องเดินหน้าต่อในมาตรา 6 ขณะฝ่ายค้านเสนอ 3 ข้อในการทำหน้าที่ของประธานในที่ประชุม พร้อม ระบุ ไม่ขอพูดถึงเรื่องที่ผ่านมา แต่ต้องการหลักประกันในการทำหน้าที่ตามข้อบังคับและรธน. ที่จะไม่ถูกลิดรอนสิทธิ์ในการทำหน้าที่
 
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวในที่ประชุมร่วมรัฐสภาถึงการทำหน้าที่ของตนว่า จะทำหน้าที่ให้ถูกใจทุกคนทุกฝ่ายคงเป็นเรื่องลำบากและการที่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อทั้งที่ถูกกล่าวหาเสียหายและตกเป็นจำเลย เพราะตนยึดหลักธรรมมาโดยตลอด แต่วันนี้ขอทำความเข้าใจว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง รับคำสั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ในส่วนนี้ไม่สามารถหาสิ่งใดมายืนยัน แต่หลายครั้ง อาทิ กฎหมายปรองดองที่ฝ่ายรัฐบาลให้เอาเข้าที่ประชุม แต่ฝ่ายค้านไม่ต้องการ ตนก็ยื้อไม่ให้นำเข้ามาพิจารณา ลงมติ รธน.วาระ 3 พรรคเพื่อไทย แนวร่วมพรรคเพื่อไทยต้องการให้ลงมติ ฝ่ายค้านให้ยื้อออกไปก่อน ตนก็บอกให้ยื้อมติวาระ 3 ให้รอฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้พอจะพิสูจน์ได้หรือไม่ว่าตนพยายามทำหน้าที่เป็นกลาง เป็นตัวของตัวเอง แต่มันอาจไม่ถูกใจทุกคน ส่วนการทำหน้าที่ของนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ที่ใช้อำนาจวินิจฉัยเป็นเรื่องที่จบไปแล้วจะถูกหรือผิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตนหรือรัฐสภาไม่มีอำนาจตัดสินว่าวินิจฉัยถูกหรือไม่ ตนวินิจฉัยเป็นอื่นไม่ได้เพราะมาตรา 5 จบไปแล้ว เราต้องดำเนินการในมาตรา 6 ต่อไป
 
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า จะไม่พูดถึงมาตรา 5 เพราะผ่านไปแล้ว แต่ต้องการทราบว่า จากนี้ไปพวกตนในฐานะเสียงข้างน้อยจะได้รับหลักประกันในการทำหน้าที่ตามข้อบังคับและรธน.อย่างไร จะได้รับสิทธิ์ทำหน้าที่แทนประชาชนอย่างเต็มที่หรือไม่ จะถูกลิดรอนสิทธิ์หรือไม่ ประธานในที่ประชุมจะวินิจฉัยอย่างไร 2 มาตรฐานหรือไม่
 
ประธานรัฐสภา ชี้แจงต่อว่า ส่วนของรองประธานรัฐสภาตนตอบแทนและก้าวก่ายไม่ได้ แต่ถ้าตนทำหน้าที่จะใช้ดุลพินิจอย่างไร ขึ้นอยู่กับการอภิปรายของสมาชิก หลายครั้งที่เคยวินิจฉัยและกลับคำวินิจฉัยถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้เชื่อว่า รธน.และข้อบังคับ มีเจตนารมณ์เพื่อกำกับให้การประชุมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ดังนั้นต้องขอความร่วมมือสมาชิกให้พูดอยู่ในข้อบังคับ ไม่วกวนซ้ำซาก ไม่พาดพิง ไม่นอกประเด็น ก็จะไม่มีปัญหา
 
 นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แสดงว่าคำวินิจฉัยของประธานในที่ประชุมทั้ง 2 คน 2 มาตรฐาน เหตุใดประธานทั้ง 2 คนจึงไม่คุยกันและตกลงกันว่า จะวินิจฉัยไปในแนวทางเดียวกันภายใต้ข้อบังคับและรธน.
 
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่ว่าการประชุมจะดำเนินการไปอย่างไร การวินิจฉัยของประธานในที่ประชุมจะลิดรอนสิทธิ์สมาชิกหรือไม่ ตนฟังคำชี้แจงแล้วเกิดความกังวล ว่าอาจมีการเปลี่ยนคำวินิจฉัย ทั้งนี้หวังว่า ประธานในที่ประชุมจะมีดุลพนิจไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้นตนขอเสนอว่า 1.เพื่อพิทักษ์สิทธิ์อันชอบธรรมตาม รธน. ขอเสนอให้ประธานสมศักดิ์ ทำหน้าที่ตลอด 2. ประธาน 2 คนนั่งด้วยกันบนบัลลังก์แล้วหารือกัน 3.เพื่อให้การประชุมมีมาตรฐานขอควากรุณาว่า ก่อนประธานนิคมจะขึ้นทำหน้าที่ให้หารือกันแล้วมาแจ้งให้พวกตนทราบว่าจะเอาอย่างไร ตนให้ความร่วมมือโดยการแนะนำแต่ไม่กล้าที่จะสอนประธาน
 
ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า ตนต้องการทำตามข้อเสนอ 3 ทางที่ให้มาแต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ จึงขอเสนอข้อที่ 4. คือ ผู้อภิปรายควรพูดอยู่ในกรอบของข้อบังคับและรธน. ถ้าท่านยอมรับข้อบังคับอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง ตนว่าการประชุมจะดำเนินไปด้วยดี ถ้าไม่เอาทางเลือกนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์  ข่าว/เรียบเรียง
 
เลขาธิการ สผ.ให้การรับรองหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติลาว
 
6 ก.ย. 56 - เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรองหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติลาว เนื่องในโอกาสกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคณะผู้รับผิดชอบด้านการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่และคณะสมาคมสถาปนิกไทย
 
นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง ดร.อุ่นแก้ว วุทิลาด หัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติลาว ณ ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1 โดยการเข้าเยี่ยมคารวะครั้งนี้เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคณะผู้รับผิดชอบด้านการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่และคณะสมาคมสถาปนิกไทย และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาของทั้งสองประเทศให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
 
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาไทยและรัฐสภาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอยู่ในระดับดี กล่าวคือ รัฐสภาของทั้งประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐสภาไทยและรัฐสภาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ยังมีความสัมพันธ์กันในระดับพหุภาคี ในรูปการเป็นภาคีสมาชิกสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union : IPU) สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก (Asian-Pacific Parliamentarians’ Union : APPU) การประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Parliamentary Forum : APPF) และสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-parliamentary Assembly : AIPA) ร่วมกัน ฉะนั้นการพบปะหารือระหว่างสมาชิกรัฐสภาของทั้งสองประเทศจะกระทำในโอกาสที่คณะผู้แทนรัฐสภาของทั้งสองประเทศเข้าร่วมกันประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศในองค์กรดังกล่าว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
สภาฯล่ม เสนอขานชื่อนับองค์ประชุม แต่ไม่ครบ นัดใหม่วันจันทร์
 
7 ก.ย. 56 - การประชุมร่วมรัฐสภาเริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุม ให้สั่งให้ฝ่ายเลขาฯ ดำเนินการนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ ตามที่นายพายับ ปั่นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย(พท.) ได้เสนอญัตติดังกล่าวมา แต่ถูกทักท้วงจาก นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ว่า การนับองค์ประชุมควรเป็นแบบกดบัตร แต่นายพายับกล่าวยืนญัตติเดิมที่ได้เสนอไป เพราะจะได้รู้ไปว่า ปชป.กำลังเล่นเกมอะไรอยู่
 
ทำให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ปชป.ขอให้สิทธิชี้แจงว่า ต้องขอปกป้อง ปชป. เพราะข้อเท็จจริงพวกตนให้ความร่วมมือมาประชุม ตั้งแต่ 10.00 น. แต่ปรากฏว่าไม่สามารถเปิดได้ตามเวลา เพราะสมาชิกไม่ครบ โดยเสนอให้ประธานนับองค์ประชุม เมื่อประธานรู้อยู่แก่ใจว่าสมาชิกไม่ครบจึงให้พักองค์ประชุม ทั้งนี้ ตนต้องการให้เห็นชัดเจนว่าใช้ลูกเล่นทางการเมืองอย่างไร ก็เชิญใช้ลูกเล่นให้เต็มที่ตนจะสู้ตนสู้ตามกฎเกณฑ์กติกา โดยนายสมศักดิ์ยังยืนยันคำวินิจฉัยให้มีการนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ เนื่องจากเป็นการพิจารณากฎหมายที่มีความสำคัญ และให้ตั้งกรรมการในการขานชื่อนับองค์ประชุมซึ่งเป็นตัวแทนของทั้ง 3 ฝ่ายจำนวน 6 คน
                
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 12.15น. เริ่มนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ แบบเรียงตามตัวอักษร ในระหว่างขานชื่อนับองค์ประชุม ส.ส.ปชป.เดินออกจากห้องประชุมโดยไม่ร่วมขานชื่อนับองค์ประชุมด้วยแต่อย่างใด และกลุ่ม 40 ส.ว.ที่เดินทางเข้ามาทำหน้าที่ก็ไม่ได้ขานชื่อเช่นเดียวกัน มีเพียงนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขานชื่อองค์ประชุม เนื่องจากเป็นกรรมการนับคะแนน
 
จนกระทั่งเวลา 13.29 น. ทันทีที่นับองค์ประชุมเสร็จ ส.ส.ปชป.ต่างเดินเข้ามาในห้องประชุม นายสมศักดิ์ เรียกผลคะแนนจากเจ้าหน้าที่ แต่ระหว่างนั้น ส.ส.ปชป.ที่ต่างเดินเข้ามาที่ห้องประชุมได้ตระโกนบอกผู้สื่อข่าวว่า “องค์ประชุมไม่ครบ” และนายสมศักดิ์ได้เรียกคะแนนจากเจ้าหน้าที่เป็นครั้งที่ 2 จึงส่งผลการนับองค์ประชุมให้กับนายสมศักดิ์
 
กระทั่ง นายสมศักดิ์ ได้กล่าวนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 9 กันยายนนี้ ในเวลา 14.00 น. และสั่งพักการประชุมทันที โดยไม่ได้เปิดเผยถึงผลการนับองค์ประชุมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจากที่ประชุมรัฐสภาแจ้งว่า ผลการนับองค์ประชุมมีสมาชิกขานชื่อเข้าร่วมประชุมเพียง 319 คน ซึ่งไม่ครบกึ่งหนึ่ง คือ 325 คน  โดยขาดไป 6 เสียง ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ และไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้ ส่งผลให้นายสมศักดิ์สั่งพักการประชุมในเวลา 13.10 น.ในที่สุด
 
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าระหว่างการนับองค์ประชุม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระกลาโหม และ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พท.ได้เข้าร่วมขานชื่อนับองค์ประชุมด้วย แต่สมาชิกเพื่อไทยหลายคน อาทิ นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ส.ส.เชียงใหม่  และนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น ขาดการประชุมและหลายคนเดินทางมาขานชื่อไม่ทัน 
 
ที่มา: มติชนออนไลน์
 
“จุรินทร์” เผย ฝ่ายค้านจะยังไม่ยื่นอภิปรายรัฐบาล
 
7 ก.ย. 56 - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในขณะนี้ แม้จะไม่สามารถบังคับให้รัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ แต่ฝ่ายค้านก็ยังมีเวทีที่รัฐบาลต้องชี้แจงผลงาน 1 ปี ต่อรัฐสภา ที่ยังค้างวาระอยู่
 
“ฝ่ายค้านสามารถใช้เวทีดังกล่าวสะท้อนปัญหา และความผิดพลาดของรัฐบาลได้ นอกจากนี้ ส.ว.ได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติไปแล้ว เมื่อวานนี้ (6 ก.ย.) ด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ได้ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เว้นการไปต่างประเทศ และให้ความสำคัญปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากในขณะนี้
 
“ผมเห็นว่า การสั่งปิดการอภิปรายมาตรา 6 ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ เป็นการเร่งรีบเพื่อผลประโยชน์ของคน 2 กลุ่มคือ ส.ว.บางส่วน และรัฐบาลที่มีวาระซ่อนเร้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทั้งๆ ที่มีเรื่องปัญหาปากท้องของประชาชนที่ตัองแก้ไข แต่นายกรัฐมนตรีกลับเดินทางไปต่างประเทศ โดยไม่คำนึงที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง” นายจุรินทร์ กล่าว
 
ที่มา: สำนักข่าวไทย
 
ส.ส.พท.ชี้เหตุสภาล่ม สมาชิกติดภารกิจ-วิปรัฐไม่ชัดเจน
 
7 ก.ย. 56 - นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ซึ่งทำหน้าที่กรรมการนับคะแนนองค์ประชุม กล่าวภายหลังประธานสั่งปิดประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.หลังองค์ประชุมไม่ครบ ว่า ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ที่หายไปส่วนใหญ่ติดภารกิจ อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ นายสรวงษ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ส.ส.เชียงใหม่ หรืออย่างนายนิติภูมิ เนาวรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เซ็นชื่อเข้าประชุมแต่ขอตัวไปบรรยายพิเศษ แต่ส.ส.ของพรรคที่หายไปมีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องหารือเพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก 
 
ส่วนกรณีที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมาประชุมแต่ไม่ได้แสดงตัวเป็นองค์ประชุม เป็นเรื่องธรรมดา จะไปตำหนิเขาไม่ได้ การรักษาองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน ตนจึงมองว่าน่าจะให้ที่ประชุมได้อภิปรายก่อนที่จะเสนอนับองค์ประชุม
 
ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่องค์ประชุมรัฐสภาในวันนี้ไม่ครบ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ไม่มีความชัดเจนว่า จะมีการประชุมในวันที่ 7 ก.ย.หรือไม่ เพราะเพิ่งมาแจ้งส.ส.อย่างเป็นทางการว่าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาก็ประมาณ 20.00 น. ของวันที่ 6 ก.ย.แล้ว ทำให้ ส.ส.เกิดความไม่แน่ใจ และลงพื้นที่กันแล้ว ส่วนส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.ที่มาเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุม แต่กลับไม่อยู่ในห้องประชุม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบและอาจทำให้การพิจารณาร่างดังกล่าวยืดออกไปอีก  
 
ที่มา: ข่าวสด
 
"เพื่อไทย" เตรียมเรียก ส.ส. โดดประชุมแจง
 
8 ก.ย. 56 - นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ซึ่งองค์ประชุมไม่ครบ จนทำให้ประธานรัฐสภาได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 9 ก.ย.เวลา 14.00 น. ว่า พรรคจะเรียกส.ส.ที่ขาดการประชุมจำนวน 26 คนมาชี้แจงกับผู้ใหญ่ในพรรคถึงความจำเป็นที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมโดยมีทั้งส.ส.และส.ส.ที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) โดยพรรคต้องการทราบสาเหตุเป็นเพราะอะไรและจะหารือสอบถามเหตุผลต่างๆ พรรคปรับปรุงการทำหน้าที่ประสานงานกับส.ส. ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการตักเตือน หากประชุมร่วมกันของรัฐสภา หรือประชุมสภาผู้แทนราษฎรยังมีการขาดประชุมไม่มีเหตุผล พรรคจะต้องมีบทลงโทษโดยจะไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง กรณีของวิปรัฐบาลจะถูกตัดออกจากเป็นวิป เพราะองค์ประชุมเป็นหน้าที่ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล 
 
ทั้งนี้ตนตั้งข้อสังเกตกรณีพรรคประชาธิปัตย์และ กลุ่ม40 ส.ว. มารัฐสภาแต่ไม่เซ็นต์ชื่อโดยอยู่ข้างนอกไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงตนด้วยการขานชื่อ ตนมองว่าไม่สร้างสรรค์เพราะการประชุมร่วมรัฐสภานั้นเป็นหน้าที่ของส.ส.และฝ่ายค้าน การกระทำแบบนี้จึงเหมือนกับการเล่นเกมยื้อดึงเวลา และจะขัดขวางไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของส.ว.ให้ประชาชนเลือกตั้งส.ว.โดยตรง 
 
อย่างไรก็ตามตนได้ฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนว่าต้องการเลือกส.ว.มากกว่าให้กลุ่มบุคคล 7 คนมาเลือกส.ว. สิ่งนี้ เพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเห็นความสำคัญจะยึดโยงประชาชนและคืนสิทธิไม่เป็นการตัดสิทธิประชาชนให้ประชาชนได้สิทธิเลือกตั้ง เพราะส.ว.มีอำนาจถอดถอนข้าราชการการเมือง ส.ว.มีอำนาจมาก ดังนั้น การใช้อำนาจต้องยึดโยงประชาชน จึงเรียกร้องพรรคประชาธิปัตย์และ กลุ่ม40ส.ว.ต้องเข้าร่วมประชุมรัฐสภาแสดงตน ต้องเลิกเล่นเกมการเมืองได้แล้ว อย่าเล่นเกมเตะถ่วงไปเรื่อย
 
ที่มา: เนชั่นทันข่าว
 
40 ส.ว.จ่อรับไม้ต่อพรรคประชาธิปัตย์ ลงดาบสองสอย 'นิคม' ถอดจากตำแหน่ง
 
8 ก.ย. 56 - นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า จากการหารือภายในกลุ่มเห็นว่า ได้ประมวลดูวิธีการและพฤติกรรมที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา รองประธานรัฐสภา ใช้ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ถือว่าผิดข้อบังคับซ้ำซาก ไม่ยึดหลักนิติวิธี ซึ่งเคยยื่นสอบจิรยธรรมไปแล้ว และเตรียมยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ฐานเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นถอดถอนไปก่อนหน้านี้
 
พวกตน อยากให้ประธานวุฒิสภาทำตัวเป็นกลาง เพราะท่านสวมหมวก 2 ใบ เป็นทั้ง ประธานวุฒิสภา และรองประธานรัฐสภา ต้องทำหน้าที่เป็นประธานของสมาชิกทุกคน ไม่ใช่ของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สำหรับการเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มา ส.ว. ในวันที่ 9 ก.ย. ต่อนั้น อาจมีปัญหา เพราะเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากค่ำวันที่ 6 ก.ย.ที่ยังมีปัญหาอยู่ว่าจะขัดต่อข้อบังคับการประชุมหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นโมฆะทำได้
 
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
 
ปชป.จี้รัฐทบทวนวันประชุมแก้ รธน.วอนสนใจแก้ปัญหาประชาชน
 
8 ก.ย. 56 - นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการประชุมร่วมรัฐสภาและประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐบาลมีพฤติกรรมเสนอปิดอภิปราย ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งในการอภิปรายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การอภิปรายเรื่องการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ ทั้งที่เป็นเรื่องที่สำคัญต่อประเทศ จึงถือว่ารัฐบาลใช้สภาเป็นเครื่องมือปิดปากฝ่ายค้าน สิ่งที่เป็นห่วงคือ ยังต้องมีการประชุมสภาในปัญหาสำคัญ ๆ ของประเทศ ดังนั้นขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดใจรับฟังความเดือดร้อนของประชาชน และอย่าปิดปากฝ่ายค้าน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ขอให้ตระหนักสิ่งที่พูดเอาไว้ว่าขอให้ใช้เวทีรัฐสภาในการแก้ไขปัญหา และหวังว่าการประชุมนับจากนี้ไปจะไม่เกิดเหตุการณ์เผด็จการรัฐสภา
 
สำหรับกรณีที่มีข่าววิปรัฐบาลจะนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 วันรวดนั้น นายองอาจ กล่าวว่า ขอให้พิจารณาเรื่องการกำหนดวันเวลาการประชุมในสัปดาห์หน้าใหม่ ขอเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธและพฤหัสบดีกันตามปกติ เพื่อจะได้หยิบยกปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมาหารือและพิจารณากฎหมายอื่นที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาของประชาชนมากกว่าการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขอเรียกร้อง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ช่วยเจรจาเรื่องนี้กับวิปรัฐบาลด้วย
 
นายองอาจ กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางพารา อยากให้นายกรัฐมนตรีสั่งการผู้เกี่ยวข้องทุกระดับให้เร่งแก้ไขปัญหา เพราะเกษตรกรกำลังรอดูท่าทีของรัฐบาลภายใน 7 วันหลังจากนี้
 
นายองอาจ ยังเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหาการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี และค่าไฟฟ้าที่จะทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น เพราะแนวทางการแก้ไขปัญหา ไม่สามารถสร้างความมั่นใจในกับประชาชน การอ้างว่าไม่มีเอกชนรายใดขอปรับขึ้นราคาสินค้า แต่หากไปลงพื้นที่ต่าง ๆ จะพบว่าสินค้าราคาแพงขึ้นทั่วประเทศ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
 
ที่มา: สำนักข่าวไทย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net