Skip to main content
sharethis
รวมข่าวจากฝ่ายนิติบัญญัติ กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ กฎหมาย ร่างกฎหมาย และความเคลื่อนไหวในรัฐสภาของ ส.ส. และ ส.ว. และพรรคการเมืองต่างๆ ประจำสัปดาห์
 
วุฒิสภา จัดงานฉลองให้น้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ หลังคว้าแชมป์แบตมินตันหญิงเดี่ยว เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ 2013
 
19 ส.ค. 56 - วุฒิสภา มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ เสื้อสามารถ พร้อมเงินอัดฉีดให้น้องเมย์ รัชนก อินทนนท์  หลังสร้างประวัติศาสตร์เป็น  นักแบดมินตันหญิงไทยคนแรกที่คว้าตำแหน่งแชมป์โลก ในการแข่งขัน เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ 2013
 
วุฒิสภา จัดพิธีฉลองตำแหน่งแชมป์โลกแบตมินตันหญิงเดี่ยว   ให้กับนางสาวรัชนก อินทนนท์ (น้องเมย์) นักแบดมินตันหญิงมือวางอันดับ 2 ของโลกชาวไทย หลังสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแบดมินตันไทยคนแรกที่คว้าตำแหน่งแชมป์โลก จากการแข่งขันประเภทหญิงเดี่ยว ในการแข่งขัน เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ 2013 ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน  โดยนายนิคม  ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยนายจรัล จึงยิ่งเรืองรุ่ง ประธานคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา  ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ เสื้อสามารถและเงินอัดฉีด340,000 บาท ให้แก่น้องเมย์
 
ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า น้องเมย์ ได้สร้างประวัติศาสตร์นักแบดมินตันหญิงเดี่ยวที่มีอายุน้อยสุดที่คว้าชัยชนะในการแข่งขันครั้งนี้  ซึ่งคนไทยทั้งประเทศมั่นใจว่าน้องเมย์ต้องทำได้อย่างแน่นอน  และนอกจากความสามารถแล้ว ทุกครั้งในการแข่งขันน้องเมย์ยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วยการไหว้กรรมการ เจ้าหน้าที่สนามและผู้ชม  และมีรอยยิ้มให้กับคนทั้งโลกไม่ว่าการแข่งขันในครั้งนั้นจะพ่ายแพ้ หรือได้รับชัยชนะ   ทั้งนี้ ตนเชื่อว่ามือหนึ่งของโลกไม่ไกลเกินฝัน  พร้อมฝากให้คุณหญิง ปัทมา  ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ช่วยผลักดันน้องเมย์ให้ถึงฝันด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ว.สรรหา จี้ ประธานวุฒิฯ ชี้แจงกรณีให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์ เหตุ กระทบต่อชื่อเสียงและการทำหน้าที่
 
19 ส.ค. 56 - กลุ่ม ส.ว.สรรหา ไม่พอใจบทการให้สัมภาษณ์ของประธานวุฒิสภาต่อหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เหตุส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและการทำหน้าที่ จี้ประธานวุฒิฯ ชี้แจง ให้สัมภาษณ์เช่นนั้นด้วยเหตุผลใด ด้านประธานวุฒิสภา ระบุ เตือนสื่อแล้วว่าอย่าจับเป็นประเด็นและอย่าลงให้ร้าย ย้ำ เป็นคนให้เกียรติคน
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวชี้แจงในที่ประชุมวุฒิสภา ถึงกรณีการให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 ส.ค.56 ซึ่งบทสัมภาษณ์บางส่วนสร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกวุฒิสภาสรรหาเป็นอย่างมากว่า ปกติตนเป็นคนให้สัมภาษณ์ในเชิงบวกเท่านั้น จึงต้องการให้สมาชิกที่อ่านบทสัมภาษณ์ไตร่ตรองให้ดีว่า ตนจะพูดได้อย่างไรว่า “มีแต่ ส.ว.เลือกตั้งเท่านั้นที่เข้าประชุม” มันเป็นไปไม่ได้ที่จะพูดออกไปแบบนั้น หรือแม้กระทั้งคำที่ว่า “อย่างไปว่า ส.ว.เลือกตั้ง ไปดูสถิติได้เค้าก็ทำหน้าที่ดีได้ 5 ดาวหลายคน” ตนไม่ใช้คนดูถูกคนเป็นคนให้เกียรติคน และได้เตือนสื่อแล้วว่า เวลาให้สัมภาษณ์มันเป็นเหมือนการพูดคุยกัน อย่าจับเป็นประเด็นและอย่าลงให้ร้าย และตนคิดอยู่แล้วว่าหากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ลงเมื่อไหร่คงตกเป็นจำเลยแน่ สมาชิกจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าตนทำให้เสียหายก็ต้องขอโทษด้วย  
 
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา กล่าวว่า ตนเคารพประธานเป็นที่สุด แต่คำชี้แจงที่ให้กรุณาพูดให้ชัดเจนว่า 1.ท่านพูดหรือไม่พูด และ2.ถ้าท่านไม่ได้พูดตามเนื้อหาที่ลงในหนังสือพิมพ์จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรต่อไป
 
ประธานวุฒิสภาชี้แจงต่อว่า บางประโยคพูดไปจริงแต่ลงมาไม่ครบ คือเวลาลงไม่ครบจะทำให้เกิดความเสียหาย
 
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาสรรหา กล่าวว่า กรณีไทยโพสต์เป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่ยาก ถ้าประธานอนุญาตจะหาเทปสัมภาษณ์และนำมาเปิดในสภา ตนในฐานะสื่อมวลชนเก่า ขอพูดผ่านไปยังสื่อมวลชนว่า ถ้าเป็นอย่างที่ประธานชี้แจง สื่อมวลชนใช้ไม่ได้ไร้จริยธรรม ไร้จรรยาบรรณ แต่มองอีกมุมหนึ่ง การให้สัมภาษณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดกับไทยโพสท์อย่างเดียวเกิดมาแล้วหลายครั้ง อาทิ มติชน ข่าวสด เดลินิวส์ ไทยรัฐ ฯลฯ ประธานฯเคยพูดพาดพิง ส.ว. สรรหา มาหลายครั้งแล้ว ขอความกรุณาชี้แจงให้หมดจะได้ทราบว่าท่านประธานทำหน้าที่เป็นกลางได้หรือไม่
 
ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า คำพูดที่ ส.ว.สมชาย ยกว่า “ใครไปลงชื่อแล้วถอดชื่อสมควรตาย” เป็นคำพูดที่ลงไม่ครบ เพราะสื่อถามว่าอาจมีส.ว.ถูกหลอกให้ลงชื่อ ตนก็ตอบไปว่า “คนที่มีวุฒิภาวะขนาดนี้ อายุขนาดนี้ถ้าถูกหลอกก็สมควรตาย” เพราะฉะนั้นถ้าอ่านข่าวก็ควรรู้ที่มาที่ไป
 
นายวันชัย ศรสิริ สมาชิกวุฒิสภาสรรหา กล่าวว่า ตนเคารพความมีน้ำใจในนักกีฬาของท่านประธานที่ผิดแล้วกล้ารับผิด และกล่าวคำขอโทษ แต่ลำพังแค่คำว่าขอโทษอย่างเดียวคงไม่พอ ประธานจะต้องมีวิจารณญาณและมีความคิดมากกว่านี้ ถ้าเป็นไปได้ควรขอโทษต่อสาธารณะ ประธานจะต้องใช้ความระมัดระวังและรอบครอบมากกว่านี้ อย่าดูถูกเหยียดหยามกันเกิดไป หากพวกตนไม่ร่วมงานด้วยการทำงานก็เดินหน้ายากเช่นกัน จึงอยากเรียกร้องให้ท่านประธานวุฒิสภาทำอะไรมากกว่าคำว่าขอโทษ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
วุฒิสภา เตรียมจัดพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณ โครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ พ.ศ.2556 จันทร์ที่ 2 ก.ย. นี้
 
19 ส.ค. 56 - วุฒิสภา เตรียมมอบใบประกาศเกียรติคุณ โครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ พ.ศ.2556   ในวันจันทร์ที่ 2 ก.ย. นี้  เวลา 07.00 –12.00 น. ณ ห้องประชุมรัฐสภา ชั้น2 อาคารรัฐสภา1
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วย ศ.ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน ประธานกรรมการโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ พ.ศ. 2556 แถลงข่าวกำหนดการจัดพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณ โครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ พ.ศ.2556  ให้แก่บุคคลและองค์กรต่าง ๆ  ที่มีผลงานในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือสร้างสรรค์ประโยชน์ทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม จำนวน 393 ผลงาน   โดยจะจัดพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณ ในวันจันทร์ที่ 2 ก.ย. นี้ เวลา 07.00 –12.00 น. ณ ห้องประชุมรัฐสภา ชั้น2 อาคารรัฐสภา1
 
สำหรับ โครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ พ.ศ.2556  ได้จัดเป็นครั้งที่ 2 แล้ว เนื่องจากคณะกรรมการฯ มีความต้องการที่จะให้เกิดความตื่นตัวของสังคมในวงกว้าง เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นในการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่การใช้ในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ผลงานที่ได้การพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะต้องเป็นผลงานที่ยกระดับคุณภาพชีวิต  อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  และต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศน์และสุขภาพ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน ยืนยัน ไม่เข้าร่วมหารือวิป 3 ฝ่าย ชี้ ไม่มีประโยชน์เพราะไม่ได้เวลาอภิปรายที่ตกลงไว้
 
19 ส.ค. 56 - ฝ่ายค้าน ยืนยัน ไม่เข้าร่วมการประชุมวิป 3 ฝ่าย ชี้ ไม่มีประโยชน์เพราะที่ผ่านมาไม่ได้เวลาอภิปรายตามที่ได้ตกลงไว้  
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการประชุมวิป 3 ฝ่ายเพื่อกำหนดกรอบการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) แบบรายมาตราทั้ง 3 ฉบับในวาระ 2 ว่า วิปไม่ขอเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาฝ่ายค้านไม่ได้เวลาอภิปรายตามที่ตกลงไว้ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าร่วมการประชุม และมองว่าเรื่องการแก้ไข รธน.นั้น รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะแก้ไขทั้งฉบับและเพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งอาจนำไปสู่การรวมอำนาจศาลในอนาคต ขณะเดียวกันมีความกังวลว่าอาจมีการพิจารณารวดเดียวทั้ง 3ฉบับ เห็นได้จากการบรรจุระเบียบวาระ แต่อย่างไรก็ตามวิปฝ่ายค้าน ขอยืนยันว่า วันพรุ่งนี้ (20 ส.ค. 56) จะอภิปรายคัดค้านอย่างถึงที่สุดเพราะมีจุดยืนไม่เห็นด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
วิปฝายค้าน เผย พร้อมอภิปรายงบฯ 57 ที่คงค้างอย่างเต็มที่
 
19 ส.ค. 56 -  วิปฝ่ายค้าน ระบุ เหตุที่รัฐบาลเร่งรัดให้การพิจารณางบฯ 57 จบโดยเร็ว เนื่องจากเกรงฝ่ายค้านเปิดเผยข้อมูลการใช้งบของรัฐต่อสังคม ย้ำ พร้อมอภิปรายงบฯคงค้าง มาตรา 18- 35 โดยเฉพาะ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข งบการใช้จ่ายของ สนง.เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและกองทุนต่างๆ อย่างเต็มที่
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ว่า ที่รัฐบาลต้องการเร่งรัดการพิจารณาให้ยุติโดยเร็ว เนื่องจากเกรงว่าฝ่ายค้านจะนำข้อมูลการใช้งบของรัฐฯ มาเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้และการเร่งปิดการประชุมก็ไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงที่วางกรอบเวลาการพิจารณาไว้ ซึ่งฝ่ายค้านก็ยึดหลักการทำหน้าที่การอภิปรายอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม และหากฝ่ายค้านไม่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาลก็จะไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบการใช้งบดังกล่าว ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวด้วยว่า การอภิปรายครั้งต่อไปที่ยังคงค้างไว้ที่มาตรา 18 ถึง มาตรา 35ฝ่ายค้านจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการตรวจสอบโดยเฉพาะ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข งบการใช้จ่ายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและกองทุนต่างๆ รวมถึงจะทวงถามถึงเอกสารการใช้จ่ายงบฯของนายกรัฐมนตรีในการเดินทางไปต่างประเทศที่ผ่านมาและครั้งต่อไปด้วย
 
ส่วนกรณีมีการกล่าวหาว่า ฝ่ายค้านเตะถ่วงความเจริญในเรื่องการอภิปรายงบฯ ทำให้การใช้เงินงบประมาณล่าช้าออกไป นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง คนที่เตะถ่วงความเจริญคือรัฐบาล เนื่องจากงบที่สภาฯอนุมัติไปเมื่อปี 56จนถึงวันนี้จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว ยังมีเงินค้างอยู่อีกแสนเจ็ดหมื่นล้านบาท เพราะการบริหารจัดการการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไม่มีประสิทธิ์ภาพ จึงขอเรียกร้องให้รัฐเร่งนำเงินบริหารจัดการโดยเร็วเพื่อสร้างความเจริญให้กับประเทศและควรดำเนินการด้วยความสุจริตโปร่งใส
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
มติวิป 2 ฝ่าย พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 20-21 ส.ค. 
 
19 ส.ค. 56 - ประธานวิปรัฐบาล เผย มติวิป 2 ฝ่าย พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 20-21 ส.ค. นี้ เริ่ม 9.30 – 22.00 น. เชื่อ การประชุมราบรื่น
 
นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยผลการหารือคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสภา เกี่ยวกับกรอบเวลาการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะใช้เวลา 2 วัน คือ  วันที่  20-21 ส.ค.นี้ เวลา 9.30 – 22.00 น. มีผู้แปรญัตติ 202 ราย โดยจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ สมาชิกวุฒิสภา เพียงฉบับเดียว ซึ่งเห็นว่าใช้เวลา 2 วัน น่าจะเพียงพอแล้ว  พร้อมขอให้ประธานในที่ประชุม ควบคุมให้สมาชิกยึดข้อบังคับการประชุมเป็นหลักเพื่อให้อภิปรายในวาระที่ 2 ราบรื่น และเป็นไปตามกติกา  ส่วนกรณีวิปฝ่ายค้านไม่ร่วมหารือ ไม่รู้สึกกังวล และเชื่อว่าฝ่ายค้านจะรักษากติกาและให้ความร่วมมือด้วยดี ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่มีการรวบรัดพิจารณารวดเดียว 3 มาตรา ตามที่ฝ่ายค้านกังวล โดยจะพิจารณาเฉพาะมาตราที่มาของสมาชิกวุฒิสภาเท่านั้น ส่วนมาตราที่เหลือ จะกำหนดวาระการพิจารณาอีกครั้ง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
ประธานสภาผู้แทนราษฏร พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบการใช้งบสภาฯ
 
19 ส.ค 56 - ประธานสภาผู้แทนราษฏร พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบการใช้งบสภาฯยืนยันการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามระเบียบราชการเช่นเดียวกับคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะ ขณะที่เลขาสภาผู้แทนราษฎร มั่นใจชี้แจงได้ทุกประเด็น พร้อมเตรียมชี้แจงการใช้งบอย่างละเอียดอย่างเป็นทางการ
 
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบใช้งบประมาณในการเดินทางเยือนต่างประเทศและการปรับปรุงอาคารรัฐสภาว่า พร้อมให้ตรวจสอบ เพราะตนดำเนินการทุกอย่างตามระเบียบราชการ     
 
ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่ามีการตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อไมโครโฟนสำหรับประธานสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 80 ล้านบาทนั้น ความจริงแล้วเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด เพราะขัดกับหลักความจริง อีกทั้งงบประมาณปี 2557 ก็ยังไม่ได้ใช้
 
ต่อข้อถามถึง  การใช้งบประมาณเดินทางไปต่างประเทศที่พบว่าประธานรัฐสภาเดินทางไปประเทศจีนถึง 3 ครั้ง นายสมศักดิ์ กล่าวว่าตนไม่ได้นับว่าไปกี่ครั้ง แต่ทุกครั้งก็แจ้งให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏรดำเนินการให้ ซึ่งการเดินทางไปปฏิบัติราชการแต่ละครั้งก็ใช้ระเบียบเดียวกับคณะกรรมาธิการทั้ง 35  คณะ  ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรชี้แจงต่อสื่อมวลชนด้วย   แต่ไมได้กำหนดว่าเมื่อใด เพราะต้องขอเวลาให้ฝ่ายข้าราชการเตรียมตัว ในส่วนที่กรรมาธิการ ป.ป.ช. ของสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำเอกสารชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ
 
ด้าน นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะแถลงข่าวเพื่อชี้แจงถึงการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐสภา ทั้งในเรื่องการปรับปรุงอาคารสถานที่  การจัดซื้ออุปกรณ์ และงบเดินทางต่างประเทศอย่างเป็นทางการ    ส่วนตัวไม่กังวลเพราะมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงได้ในทุกประเด็น   โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามขั้นตอน และเป็นการสานต่อยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ตั้งแต่ก่อนเข้ารับหน้าที่ อีกทั้งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ รวมถึงข้อเสนอของฝ่ายการเมืองที่แนะนำ ทั้งประเด็นการจัดซื้อนาฬิกา การปรับปรุงห้องทำงาน และการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในห้องเก็บขยะ ที่เป็นไปตามหลักวิชาการ พร้อมยืนยันว่าไม่รู้สึกท้อกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างดำเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, มันทนา   ศรีเพ็ญประภา   ข่าว/เรียบเรียง
 
ประธานวุฒิสภา ยืนยันทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ตามข้อบังคับการประชุม 
 
20 ส.ค. 56 -  ประธานวุฒิสภายืนยันทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ตามข้อบังคับการประชุม ส่วนกรณีจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขอให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยดำเนินตามกฎหมายทีหลัง ขณะที่ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ชี้ประธานวุฒิสภานั่งเป็นประธานในที่ประชุมกระทบต่อความเป็นกลาง
 
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในวาระ 2 เริ่มขึ้นเวลา 09.30 น. โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ทันทีที่เริ่มการประชุมร่วมรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ได้มีการหารือในที่ประชุมถึงประเด็นว่า ประธานวุฒิสภาสามารถทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมได้หรือไม่ เนื่องจากประธานวุฒิสภาได้ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย จึงเป็นเรื่องที่มีส่วนได้เสีย ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมที่จะนั่งเป็นประธานในที่ประชุม เพราะจะกระทบความเป็นกลางในการทำหน้าที่ ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว และขอให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมต่อไป
 
ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ได้กล่าวยืนยันต่อที่ประชุมว่า ตนสามารถทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมได้ เนื่องจากเป็นการทำหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาในข้อ 19 ส่วนกรณีที่สมาชิกรัฐสภาเห็นว่าตนไม่สามารถทำหน้าที่ได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญ หรือเห็นว่าไม่มีความเป็นกลาง ก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ตนยืนยันที่จะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ประธานรัฐสภา รับหนังสือของส.ส.เพื่อไทย เรียกร้องเร่งแก้รัฐธรรมนูญ 
 
20 ส.ค. 56 - ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา รับหนังสือจาก ส.ส.เพื่อไทย เรียกร้องให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ด้านประธานรัฐสภา รับจะนำไปประกอบการพิจารณาต่อไป
 
นายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์  ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา รับหนังสือจากนายแพทย์เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายอาคม รัตนพจนารถ ตัวแทนกลุ่มประชาชนผู้รักกฎหมาย เพื่อขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ดำเนินการลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้ดำเนินการแต่งตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นให้ทำประชามติก่อนมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ขณะที่ นายอาคม กล่าวต่อว่า ตนได้ยื่นหนังสือต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับเพื่อขอให้มีคำสั่งยกคำร้อง หรือสั่งไม่รับคำร้องตาม ม.68 เพราะตนเชื่อว่า คำร้องทั้ง 5 ฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณานั้น ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ม.68 ที่ระบุว่าต้องเป็นการพบเห็นบุคคลหรือพรรคการเมืองเป็นผู้กระทำ แต่ครั้งนี้เป็นการแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่งกระทำโดยรัฐสภา และมีอำนาจในการแก้ไขกฎหมายทุกฉบับ ทั้งนี้การแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญให้คำแนะนำก่อนหน้าด้วย พร้อมเสนอให้มีการเร่งรัฐสภาพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวดเดียวทั้งสามวาระ
 
ด้านนายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ได้กล่าวในตอนท้ายว่า ตนจะนำข้อเสนอดังกล่าวประกอบการพิจารณาต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา,นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ประธานชมรมช่างภาพการเมือง เรียกร้องประธานรัฐสภาสอบกรณี ส.ส.หนองคาย แสดงท่าทีคุกคามสื่อ 
 
20 ส.ค. 56 - ประธานชมช่างภาพการเมือง ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา จี้สอบกรณี ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีคุกคามช่างภาพ หลังถ่ายภาพพฤติกรรมไม่เหมาะสมในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างการพิจารณางบประมาณปี 57 ที่ผ่านมา
 
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา รับหนังสือจากนายฉลาด จันทร์เดช ประธานชมรมช่างภาพการเมือง เพื่อเรียกร้องให้มีการสอบข้อเท็จจริง ว่าที่ร้อยตรีพงศ์พันธ์ สุนทรชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย พรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีคุกคาม นายพงษ์ฤทธิ์ชา ขวัญเนตร ช่างภาพหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ จากกรณีที่ นายพงษ์ฤทธิ์ชา ได้บันทึกภาพพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของว่าที่ร้อยตรีพงศ์พันธ์ ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 56 เวลาประมาณ 22.30 น. โดยว่าที่ร้อยตรีพงศ์พันธ์ ได้ใช้อุปกรณ์สื่อสารไอแพดที่ได้รับแจกจากสภาอันเป็นภาษีของประชาชน เปิดดูภาพที่ไม่เหมาะสมขณะกำลังทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทย
 
ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนจะมอบหมายให้เลขาธิการทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการกิจการสภาสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ว.พัทลุง เรียกร้อง รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการบรรจุครูสอนวิชาศาสนาโดยตรง
 
20 ส.ค. 56 - ส.ว.พัทลุง เรียกร้อง รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการบรรจุครูที่จบวิชาพระพุทธศาสนามาสอนศาสนาในสถานศึกษาไทยโดยตรง หวังส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมเยาวชนไทยให้มีประสิทธิภาพ
 
นายเจริญ ภักดีวานิช สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดพัทลุง กล่าวเรียกร้องรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการบรรจุครูที่จบวิชาพระพุทธศาสนาโดยตรงมาสอนวิชาพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย เพื่อเป็นการผลักดันการเรียนการสอนด้านศาสนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะภายหลังที่คณะอนุกรรมาธิการการสอนวิชาพระพุทธศาสนาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ได้พิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าว แล้วพบว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยยังไม่มีการบรรจุครูที่จบวิชาพระพุทธศาสนามาสอนโดยตรง ทั้งที่มีบุคคลากรที่จบวิชาด้านพระพุทธศาสนาจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งเป็นจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการควรเร่งผลักดันในเรื่องดังกล่าวด้วย เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยมีคุณธรรมและจริยธรรม เช่นเดียวกับแนวทางการเรียนการสอนศาสนาอิสลามที่มีรากฐานที่ดี เพราะมีการบรรจุครูสอนวิชาศาสนาอิสลามโดยตรงมาเป็นเวลานานแล้ว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน ชี้ บรรยากาศการประชุมร่วมฯไม่พร้อมเดินหน้าต่อ แนะประธานในที่ประชุมควรมีคำวินิจฉัยไปในทางเดียวกัน
 
20 ส.ค. 56 - ฝ่ายค้าน ชี้ บรรยากาศการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง รธน.แห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม มาตราที่เกี่ยวข้องกับที่มาของวุฒิสภา ยังไม่พร้อมเดินหน้า หากยังไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกฝ่ายค้านทำหน้าที่ตามข้อบังคับและรธน.อย่างสุดความสามารถ พร้อมแนะประธานในที่ประชุมควรมีคำวินิจฉัยไปในทางเดียวกัน ด้านรองประธานรัฐสภา ย้ำ มาตรฐานการทำหน้าที่ของประธานในที่ประชุมจะต้องยึดข้อบังคับการประชุม  
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวในที่ประชุมร่วมรัฐสภาหลังพักประชุม 15 นาทีและเปิดประชุมอีกครั้ง โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภาเป็นประธานในที่ประชุมว่า บรรยากาศของที่ประชุมยังไม่พร้อมที่จะเดินหน้า ขณะที่ประธานยังไม่เปิดโอกาสให้พวกตนทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถตามข้อบังคับและรัธฐธรรมนูญ (รธน.) ประเด็นสำคัญคือการปฏิบัติหน้าที่ของประธานในที่ประชุมทั้ง 2 ท่านคนละมาตรฐาน ขณะที่ประธานนิคมได้วินิจฉัยก่อนลงจากบัลลังค์บอกว่า “จะเปิดโอกาสให้พวกตน 57 คน ที่ขอสงวนคำแปรญัตติไว้และมีปัญหาว่าจะขัดกับหลักการของร่าง รธน.หรือไม่ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะแต่ละคนได้สงวนคำแปรญัตติที่มีรายละเอียดแตกต่างกันย่อมมีเหตุผลที่ต่างกัน ยกเว้นผู้ที่แปรญัตติและสงวนคำแปรญัตติที่มีลักษณะอย่างเดียวกันก็รวมกลุ่มแสดงความเห็นได้ แต่เมื่อประธานสมศักดิ์ขึ้นทำหน้าที่กลับวินิจฉัยไปคนละทาง จึงเป็นที่มาของปัญหา ตนจึงต้องการถามท่านประธานว่า หากต้องการให้การประชุมเดินหน้าต่อไปได้การวินิจฉัยใดๆของประธานนิคม จะเป็นที่ยอมรับของประธานสมศักดิ์ด้วยหรือไม่ เมื่อท่านประธานนิคมขึ้นมาทำหน้าที่ตนเชื่อว่าจะรักษาคำพูด พวกตนคงไม่อภิปรายทั้ง 57 คน แต่อย่างน้อยกลุ่มความเห็นที่เหมือนกันควรได้แสดงความคิดเห็น ในการที่จะบอกว่าเหตุได้ต้องแปรญัตติและสงวนคำแปรญัตติ ถ้าเปิดโอกาสให้การประชุมจะดำเนินการไปได้
 
ด้านนายนิคม  กล่าวชี้แจงว่า มาตรฐานของประธานจะต้องยึดข้อบังคับการประชุม และเมื่อมีข้อขัดแย้งระหว่างผู้แปรญัตติกับประธาน กมธ.พิจารณาแก้ไข รธน.ก็ต้องอาศัยความเห็นจากที่ประชุมคือข้อ 127 และตนเรียนให้ทราบแล้วว่า ในข้อขัดแย้งทั้งหมดที่บอกว่าผิดข้อ 96 วรรค 3 มีทั้งหมด 4 เรื่อง คือ 1. ท่านใดที่ตัดมาตรา 1 คำว่า ชื่อร่าง รธน.ออกนั้นทำให้โครงสร้างกฎหมายผิดไป 2.ตัดมาตรา 2 วันประกาศใช้บังคับ ผิดโครงสร้างกฎหมาย 3.ที่มา ส.ว. ถ้าแปรญัตติให้มีเลือกตั้งด้วยสรรหาด้วยขัดต่อหลักการ และ4.เมื่อขัดต่อหลักการแล้วหากขอตัดมาตรา 112 ก็จะเป็นประเด็นคือ ยังคงให้มีคณะกรรมการสรรหาอยู่ซึ่งผิดไปจากหลักเกฎฑ์ที่กำหนดไว้ ดังนั้นเมื่อมีข้อขัดแย้งจึงต้องนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม  
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป.ตำหนิการทำหน้าที่ประธานรัฐสภา พร้อมยืนยันไม่ได้ทำร้ายตำรวจรัฐสภา
 
20 ส.ค. 56 - 4 ส.ส.ปชป. ร่วมแถลงข่าวตำหนิการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ชี้ ลุแก่อำนาจไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุม พร้อมยืนยัน เข้าใจการทำหน้าที่ของตำรวจรัฐสภา ย้ำไม่ได้ทำร้ายเป็นเพียงปฏิกิริยาของมนุษย์
 
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต นายอรรถพร พลบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยองและนายกุลเดช พัวพัฒนกุล ส.ส.อุทัยธานี พรรค ปชป. ร่วมแถลงข่าวตำหนิการทำหน้าที่ประธานในการประชุมของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะนายสมศักดิ์ ลุแก่อำนาจไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมและส่งสัญญาณให้ที่ประชุมลงมติ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะลงมติเรื่องอะไร รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และใช้คำพูดท้าทายว่า “เป็นไงเป็นกัน” และได้ออกคำสั่งให้ตำรวจรัฐสภาทั้งหมดเข้ามาภายในห้องประชุมรัฐสภาเชิญตัว ส.ส.ออกภายนอกห้องประชุม
 
นายชวนนท์ กล่าวว่า คำสั่งของนายสมศักดิ์ไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตามเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาที่ต้องทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา โดยทางพรรคจะไม่แจ้งความ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของประธานรัฐสภา แต่หากเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาจะแจ้งความก็ไม่เป็นไร
 
ด้านนายกุลเดช กล่าวด้วยว่า เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา จะเข้ามาลากตัว สส.ของพรรค จึงเข้าไปพูดคุยว่าเป็นเรื่องภายใน แต่กลับถูกล็อกตัวและได้สะบัดแขนออก ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของมนุษย์ จึงอาจไปถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้ชกเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาแต่อย่างใด ซึ่งตนก็มีรอยฟกช้ำที่บริเวณไหล่เช่นกัน หลังจากนี้จะให้แพทย์ตรวจเพื่อลงบันทึกไว้ด้วย    
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
โฆษกเพื่อไทย จี้ ปธ.สภาที่ปรึกษาพรรคและหน.พรรค ปชป.รับผิดชอบพฤติกรรมลูกพรรค 
 
21 ส.ค. 56 - โฆษกเพื่อไทย ระบุ ตรวจสอบเฟซบุ๊กรัฐสภาไทยแล้วไม่พบรูปและข้อความที่โจมตีฝ่ายค้าน ชี้ พฤติกรรมฝ่ายค้านในที่ประชุมสภาฯ ทำลายตัวเองและภาพลักษณ์ของประเทศ เรียกร้องประธานสภาที่ปรึกษาพรรคและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รับผิดชอบ
 
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวตอบโต้กรณีนายศิริโชค โสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าเฟซบุ๊กรัฐสภาไทย ที่มีประธานรัฐสภาเป็นผู้ดูแลและจ้างทีมงานดำเนินการโพสต์รูปและข้อความต่างๆ ได้โพสต์รูปเหตุการณ์ความวุ่นวายในรัฐสภาโจมตีฝ่ายค้านว่า ตนตรวจสอบแล้วไม่พบมีการโจมตีฝ่ายค้านแต่อย่างใด และการที่ฝ่ายค้านตีรวนการประชุมเมื่อวาน (20 ส.ค. 56) นั้นสื่ออื่นก็ได้นำภาพไปเผยแพร่ จึงไม่อยากให้นายสิริโชค รวมถึงสมาชิกฝ่ายค้านพยายามบิดเบือนและกล่าวหาว่ารัฐสภามาโจมตีฝ่ายค้าน ซึ่งไม่เป็นธรรม รวมถึงกรณีที่ส.ส.ฝ่ายค้านพยายามแก้ตัวว่า ตำรวจสภาเหยียบเท้าจึงได้ผลักออก พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการทำลายตัวเอง ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศที่รัฐบาลได้สร้างไว้ ส่งผลให้ไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุน ทั้งนี้ตนไม่อยากให้ฝ่ายค้านกล่าวโทษประธานรัฐสภา ประธานในที่ประชุม เฟสบุ๊ครัฐสภา ควรหันมามองพฤติกรรมที่ซ้ำซากของตัวเอง ที่ไม่เคารพระบบรัฐสภา ระบบประชาธิปไตย ไม่เคารพกติกาบ้านเมืองและประชาชนที่ดูการถ่ายทอดการประชุม ตนอายแทนฝ่ายค้านที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ จึงขอเรียกร้องให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ทบทวนพฤติกรรมของลูกพรรคและกลับมายึดมั่นในระบบรัฐสภาและระบบประชาธิปไตยมากกว่าการนำการเมืองข้างถนนมาเล่นในสภา   
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร หวั่น เหตุประชุมยืดเยื้อทำภาพลักษณ์สภาเสื่อมเสีย
 
21 ส.ค. 56 - โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร หวั่น เหตุประชุมแก้รัฐธรรมนูญยืดเยื้อทำภาพลักษณ์สภาเสื่อมเสีย ย้ำ ตำรวจรัฐสภาทำตามหน้าที่ และไม่ได้คุกคามสมาชิกรัฐสภา พร้อมยืนยัน เร่งตรวจสอบกรณีฝ่ายค้านกล่าวหาถูกเฟซบุ๊ครัฐสภาโจมตี หากพบคนแอบอ้างจริง ดำเนินการตามกฎหมายแน่
 
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ2 ว่า   กรณีจะให้ผู้แปรญัตติทั้ง 57 คน  ได้อภิปรายว่าขัดหรือไม่ขัดหลักการแปรญัตตินั้น ที่ผ่านมาไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะหากปล่อยให้มีการอภิปราย เกรงว่าต่อไปจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่จะทำให้การพิจารณากฎหมายต่อ ๆ ไป ล่าช้า   อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจว่าเหตุการณ์ยืดเยื้อต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายค้าน แต่เกรงว่าการกระทำต่าง ๆ นั้น จะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐสภาเสื่อมเสีย  และจากการที่ได้เห็นได้จากพาดหัวข่าวของสื่อหลายฉบับ ที่ระบุ เช่น "อนาถสภาเสื่อม”   ขอยืนยันว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น และการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา.รวมทั้งการพิจารณากฎหมายก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ตามปกติ      ส่วนที่มีการพาดหัวหนังสือพิมพ์ว่า “ค้อนอัปยศ” นั้น เห็นว่าประธานรัฐสภา ได้ทำหน้าที่ในฐานะประธานรัฐสภาตามปกติ เพียงแต่การที่ประธานในที่ประชุมเคาะค้อน3 ครั้ง สมาชิกรัฐสภาต้องนั่งลง หากไม่นั่งลงถือว่าขัดต่อข้อบังคับและต้องให้ตำรวจรัฐสภาเชิญตัวออกจากห้องประชุม ซึ่งตำรวจรัฐสภาก็ต้องปฏิบัติไปตามหน้าที่ และไม่ถือว่าเป็นการคุกคาม  และการที่มีตำรวจนครบาลมาประจำการบริเวณด้านนอกรัฐสภา ก็ถือเป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องของการรักษาความปลอดภัยให้กับข้าราชการและสมาชิกรัฐสภา และตำรวจไม่ได้เข้ามาในตัวอาคาร เพราะถ้าตำรวจมีการเข้ามาจริง ตนก็ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน 
 
โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังได้กล่าวถึง กรณี ส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้กล่าวว่ามีการนำเฟซบุ๊คของรัฐสภามาใช้โจมตีฝ่ายค้านว่า เรื่องนี้ต้องตรวจสอบก่อนว่ามีการจ้างทำตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหาหรือไม่ และถ้าหากตรวจสอบพบว่ามีคนแอบอ้างใช้เฟซบุ๊ครัฐสภา ก็จะเร่งดำเนินการตามกฎหมายอย่างแน่นอน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
โฆษกเพื่อไทย เรียกร้องตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว. ลาออก เหตุ ปฏิเสธสภาปฏิรูปการเมือง 
 
21 ส.ค. 56 - โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุ ตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว. ปฏิเสธเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองและว่าเป็นเสมือนการตั้งสภาที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ถือเป็นหลักคิดที่บกพร่อง จิตใจคับแคบ เรียกร้องลาออกไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เหตุ ค้านทุกเรื่อง
 
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวถึงกรณีกลุ่ม 40 ส.ว. โดยเฉพาะนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลส่งตัวแทนเชิญกลุ่ม 40 ส.ว. คือ   พลเรือเอกสุรศักดิ์ ศรีอรุณ นายสมชาย แสวงการ นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายไพบูลย์ เข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองแต่ปรากฏว่า นายไพบูลย์ออกมาให้ข่าวว่า ไม่เข้าร่วมและมองว่า การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีตั้งสภาปฏิรูปการเมือง เป็นเสมือนการตั้งสภาที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ซึ่งตนมองว่า การที่นายไพบูลย์และเพื่อสมาชิกที่มองแบบนี้จิตใจคับแคบ หลักคิดบกพร่อง กำลังทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 80 วรรค 6 ในเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนการรู้รักสามัคคีและการเรียนรู้ ปลูกจิตสำนึก ทั้งนี้ตนจะส่งรัฐธรรมนูญ 50 ไปให้ ส.ว. ทั้ง 4 คน คนละ 1 เล่ม เพื่อให้ศึกษาและทำความเข้าใจในหน้าที่ของ ส.ว.
 
โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวต่อว่า เมื่อประเทศขัดแย้งทุกฝ่าย อาทิ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานสภาฯ อดีตศาลรัฐธรรมนูญ ยินดีเข้าร่วมเพื่อหาทางออกของประเทศ แต่หลักคิดของกลุ่ม 40 ส.ว. เป็นหลักคิดแบบเดิมๆ ไม่เคยร่วมมือและทำตัวขัดแย้งซะเองเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะได้เห็นว่า ส.ว.สรรหาที่อ้างว่าตนเองมีวุฒิภาวะได้รับการสรรหามาจากกรรมการสรรหาเพียง 7 คน แสดงวุฒิภาวะแล้วหรือไม่ ตนไม่แปลกใจว่า ที่พยายามแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. เพราะอะไร และขอเรียกร้องว่าหากนายไพบูลย์ยังมีความคิดแบบนี้อยู่ก็ขอให้ลาออกจากการทำหน้าที่ ส.ว.และไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน  
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
การประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่วันที่ 3 และกำลังพิจารณามาตรา 3 จาก 13 มาตรา 
 
22 ส.ค. 56 - การประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ในเรื่องที่มาของ ส.ว. สองวันที่ผ่านมาพิจารณาผ่านความเห็นชอบในมาตรา 2 จาก 13 มาตรา และในวันนี้จะพิจารณาต่อในมาตรา 3 ซึ่งเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. และจำนวน ส.ว.
 
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา วาระ 2 ในวันนี้ (22 ส.ค. 56) เป็นวันที่ 3 เริ่มขึ้นในเวลา 10.25 น. สำหรับการประชุมเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 56 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการประชุม ได้ลงมติผ่านความเห็นชอบเพียง 2 มาตรา จาก 13 มาตรา ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้มีมติผ่านความเห็นชอบตามมาตรา 2 ด้วยคะแนน 349 ต่อ 157 เสียง ที่ให้มีผลบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในเวลาเวลา 22.10 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้สั่งพักการประชุม
 
อย่างไรก็ตามการพิจารณาในมาตรา 3 ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 200 คน จากการเลือกตั้งทั้งหมด  โดยประเด็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ คือ เกรงว่าหากให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จะทำให้วุฒิสภาจะอิงกับพรรคการเมืองและเกิดการรวบอำนาจในระบบรัฐสภา
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยืนยัน ค่าก่อสร้างห้องประชุมยุทธศาสตร์ฯ ของสภา รวมค่าอุปกรณ์แล้ว
 
22 ส.ค. 56 - เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แจง กมธ.กิจการสภาฯ กรณีก่อสร้างห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภา  ยืนยันห้องยุทธศาสตร์มีความจำเป็นเพราะต้องใช้สำหรับบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในบริเวณโดยรอบรัฐสภา ส่วนเหตุผลที่ต้องงบประมาณด้วยวงเงิน 24 ล้านบาท  เพราะรวมค่าอุปกรณ์ทุกอย่างไว้ด้วย และการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้าง
 
คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายไพจิต ศรีวรขาน เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้พิจารณาโครงการจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภา (วอร์รูม) โดย กมธ.ได้เชิญ นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง โดยนายสุวิจักขณ์ ได้ชี้แจงว่า โครงการจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ได้เริ่มมีแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2548 เนื่องจากเกิดสถานการณ์การเมือง ต่อมาในปี 2554 มีการตั้งคณะกรรมการบริหารเหตุการณ์พิเศษ เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับบุคคลสำคัญที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ และบริเวณโดยรอบรัฐสภา หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบแต่งตั้งผู้บัญชาการสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อทำหน้าที่บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการเฉพาะ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีห้องทำงานให้กับคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อให้เป็นเอกภาพเดียวกันในการดูแลความปลอดภัย
 
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ชี้แจงถึงการใช้งบประมาณในการก่อสร้างห้องยุทธศาสตร์ประมาณ 24 ล้านบาทว่า งบประมาณดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่การก่อสร้างห้องเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และเทคโนโลยีสำคัญต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลรักษาความปลอดภัยได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอาคารรัฐสภาได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนมีห้องประชุมรองรับ สำหรับการประชุมและตัดสินใจแก้ปัญหาได้ทันการณ์ โดยก่อนดำเนินโครงการได้มีการศึกษาดูงานระบบการรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานทั้งในและต่างประเทศมาแล้ว อาทิ ระบบการรักษาความปลอดภัยของกรมศุลกากร และรัฐสภาอิสราเอล พร้อมยืนยันว่าการจัดซื้อจัดจ้างโครงการฯ เป็นไปตามระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบทุกขั้นตอน ทั้งนี้ภายหลัง กมธ.รับฟังคำชี้แจงได้กำชับให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบความคืบหน้าการก่อสร้าง เนื่องจากทราบว่าสัญญาจ้างโครงการดังกล่าว ระบุไว้ว่าต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 18 กันยายนนี้ พร้อมขอให้ส่งเอกสารรายละเอียดการก่อสร้างต่างๆ ในโครงการมายัง กมธ.เพิ่มเติม
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ส.ว.มณเฑียร แนะรัฐ ปฏิรูปซื้อ-ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล
 
22 ส.ค. 56 - ส.ว.มณเฑียร เผย ราคาซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล 9,240 บาทต่อเล่ม เฉลี่ย 92.40 บาทต่อใบ ระบุ หากไม่มีโควตาซื้อ 93 บาทต่อใบ แนะรัฐควรเร่งปฏิรูปซื้อ-ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยเร็ว   
 
นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังเชิญให้บุคคลสำคัญ เข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง เนื่องจากขณะนี้มีเรื่องที่ต้องปฏิรูปเพราะส่งผลกระทบต่อปากท้องของพี่น้องประชาชน อาทิ การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลของประชาชน ที่ถือเป็นความคาดหวังเล็กๆน้อยๆ ของคนยากจน ชาวนา และผู้ใช้แรงงาน โดยเห็นว่า เรื่องดังกล่าวทำได้เลยไม่ต้องเชิญบุคคลใดเข้าร่วม อาศัยแต่เพียงความรู้ ความสามารถ ความเข้าใจและความปรารถนาดีต่อประชาชน
 
ส.ว.มณเฑียร เปิดเผยเพิ่มเติมถึงราคารับซื้อสลากหน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลว่า ราคาทั้งเล่มขายอยู่ที่ 9,240 บาท เฉลี่ย 92.40 บาทต่อใบ แต่ถ้าไม่มีโควตาสลากแล้วจะรับไปขาย ราคาต่อใบไม่น้อยกว่า 93 บาท แล้วจะขายในราคาควบคุมของรัฐบาลคือ 80 บาทได้อย่างไร เหตุใดถึงไม่ปฏิรูปในเรื่องราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลก่อนและตราบใดที่นโยบายของรัฐ กฎหมายว่าด้วยสำนักงานสลากยังมองสลากเป็นกลไกการหาเงินเข้ารัฐ ขายขาดคืนไม่ได้ มีนโยบายจัดสรรโควต้าให้กับคนรวยมากกว่าคนยากจน ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการแล้ว พี่น้องผู้บริโภคสลากก็จะต้องซื้อสลากด้วยราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เริ่มวางเสาเข็มอาคารแล้ว 
 
23 ส.ค. 56 - การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่มีความคืบหน้าแล้ว โดยเริ่มวางเสาเข็มอาคาร ขณะที่บริษัทผู้รับเหมาแจ้งพบปัญหาการส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างไม่เป็นไปตาม TORพร้อมยืนยันจะแล้วเสร็จตามกำหนดสัญญา
 
นายนิคม  ไวยรัชพานิช  ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการให้คำปรึกษาและประสานงานในการกำกับดูแลโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เพื่อพิจารณาความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมีตัวแทนบริษัทซิโน-ไทย เอนจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัดมหาชน ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินการก่อสร้าง ร่วมประชุมและชี้แจงต่อคณะกรรมการ ทั้งนี้เบื้องต้น ตัวแทนบริษัทชี้แจงว่า การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เริ่มก่อสร้างในวันที่ 8 มิถุนายน 2556 ส่วนความคืบหน้าถ้านับจากวันเริ่มก่อสร้างจนถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2556 รวมเวลา 73 วัน โดยได้เริ่มวางเสาเข็มอาคารแล้ว จำนวน 78 ต้น จากจำนวนเสาเข็มทั้งหมาด 1,673 ต้น ทั้งนี้การส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างไม่เป็นไปตาม TOR ซึ่งกำหนดไว้ว่า การส่งมอบพื้นที่ครั้งแรกต้องส่งมอบพื้นที่ประมาณ 90 ไร่ แต่ส่งมอบได้จริงประมาณ 47 ไร่ ทำให้กระทบกับแผนการทำงานของผู้รับจ้าง โดยพื้นที่ยังไม่ส่งมอบคือ บริเวณโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ช่างกล ขส.ทบ. ซึ่งขณะนี้ได้ทราบว่าทางโรงเรียนแจ้งว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ภายในเดือนกันยายน ทั้งนี้ตัวแทนบริษัทซิโน-ไทย เอนจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัดมหาชน ยืนยันต่อที่ประชุมว่า การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ได้ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงกับการรัฐสภาอย่างเคร่งครัด และเชื่อมั่นว่าจะแล้วตามกำหนดสัญญา
 
สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 424,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคารรัฐสภา สูง 11 ชั้น ใต้ดิน 3 ชั้น อาคารประกอบหลัก 2 อาคาร และอาคารประกอบอื่นๆ 11 อาคาร โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนเลขที่ กท.3049 ถนนทหาร (เกียกกาย) แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พื้นที่จำนวน 123 ไร่ 1 งาน 5.70 ตารางวา
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ที่ประชุมร่วมรัฐสภา นัดประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกครั้งในวันที่ 27 สิงหาคม หลังพิจารณาถึงมาตรา 3 ในคืนวันที่ 22 สิงหาคม
 
23 ส.ค. 56 - การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา ผ่านมา 3 วันพิจารณาถึงมาตรา 3 และนัดประชุมต่อในวันที่ 27 สิงหาคม 2556
 
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา ในมาตรา 3 ที่มี นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานสภารัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุมได้สั่งปิดการประชุม เมื่อเวลา 21.30 น. (วันที่ 22 สิงหาคม 2556) โดยได้นัดการประชุมอีกครั้ง ในวันอาคาร ที่ 27 สิงหาคม เวลา10.00 น. เพื่อพิจารณามาตรา 3 ต่อ
 
ทั้งนี้ ก่อนปิดการประชุม นายนิคม ได้แจ้งต่อที่ประชุม ว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาต่อในวันที่ 27-29 สิงหาคม 2556 แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ขอให้ทบทวนการประชุมเหลือเพียง 2 วัน เนื่องจากวันที่ 29 สิงหาคม 2556 ฝ่ายค้านต้องการให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากจะตั้งกระทู้ถามสดรัฐบาล เรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ ซึ่ง นายนิคม กล่าวว่า จะไปแจ้งต่อประธานรัฐสภาให้รับทราบต่อไป
 
ขณะที่นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒสภา กล่าวหารือด้วยว่า ตนไม่เห็นด้วยที่ประธานวุฒิสภาแจ้งงดประชุมวุฒิสภาในวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2556 เนื่องจากวาระการประชุมของวุฒิสภามีจำนวนมาก รวมถึงมีญัตติที่สมาชิกวุฒิสภาเสนอไว้ โดยเฉพาะกรณีการให้สัมภาษณ์ของประธานวุฒิสภาเกี่ยวกับประเด็นสมาชิกวุฒิสภาระบบสรรหา จึงอยากให้ประธานวุฒิสภาทบทวนการสั่งงดประชุมวุฒิสภาด้วย
 
ด้านประธานวุฒิสภา ได้ชี้แจง ว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากต้องพิจารณาให้ทันก่อนเที่ยงคืนวันที่ 26 สิงหาคม เมื่อรัฐบาลประสานมาตนจึงต้องให้ความร่วมมือ ทั้งนี้การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา เริ่มพิจารณาตั้งแต่วันที่ 20 - 22 สิงหาคม โดยพิจารณาถึงมาตรา 3 และยังไม่สามารถลงมติในมาตราดังกล่าวได้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
โฆษกปชป. ชี้ ประธานสภาฯ ใช้อำนาจปิดหูปิดตาปิดปาก ส.ส. ส.ว. ทำประชุมสภาฯ ยืด
 
23 ส.ค. 56 - โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ ปัญหาประชุมสภาฯ ยืดเยื้อ ไม่ได้เกิดจากฝ่ายค้าน แต่เกิดจากประธานสภาฯ ใช้อำนาจปิดหูปิดตาปิดปาก ส.ส. ส.ว. 
 
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมที่ยืดเยื้อ ทั้งในส่วนของการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ การพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม  การประชุมร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ให้ความร่วมมือ ตามที่ประธานสภาฯ กล่าวหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านใช้สิทธิ ไม่เปิดให้อภิปรายแสดงความเห็น โดยเฉพาะการตัดสิทธิสมาชิกที่แปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 57 คน ไม่ให้อภิปรายว่าขัดกับหลักการแปรญัตติอย่างไร  ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าพอเปิดให้มีการอภิปรายในวันถัดมาการประชุมก็เรียบร้อยดี ตนขอเรียกร้องให้ประธานสภามอบสิทธิให้กับสมาชิกแสดงออกในฐานะผู้แทนประชาชน  อย่าใช้อำนาจปิดหูปิดตาปิดปากสมาชิก ซึ่งเท่ากับปิดหูปิดตาปิดปากประชาชน  ซึ่งเชื่อว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าต่อไปฝ่ายรัฐบาลให้ความร่วมมือและประธานทำปฏิบัติหน้าที่ให้เหมาะสมกับฐานะ เช่นเดียวกับการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2557  ก็ขอให้ทางรัฐบาลและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ความร่วมมือกับส.ส.ฝ่ายค้าน ในการทำหน้าที่แทนประชาชน เพื่อให้การอภิปรายงบประมาณ 57 เกิดประโยชน์มากที่สุด
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง มอบรางวัลโครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชน พ.ศ.2556
 
23 ส.ค. 56 - รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดโครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชน พ.ศ.2556 หวังสร้างต้นแบบพลังงานในแต่ละชุมชม
 
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลให้กับผู้เข้าร่วมประกวดผลงานโครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชน พ.ศ.2556 ณ ห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 ที่คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ร่วมกับกระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศจัดขึ้น โดยนายสุรชัย ได้กล่าวชื่นชม กมธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้จัดประกวดผลงานครั้งนี้ เนื่องจากเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องถึง 3 มิติ คือ ความมั่นคงด้านพลังงาน แหล่งกำเนิดพลังงาน และพลังงานต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเชื่อมั่นว่าโครงการนี้สามารถตอบโจทย์ทั้ง 3 มิติดังกล่าวได้ หากทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันโครงการที่ผ่านการประกวดให้นำไปสู่การทดแทนพลังงานที่มีอยู่เดิม ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยให้ประเทศชาติประหยัดงบประมาณในการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ และช่วยรักษาสังคมไทยให้มีความมั่นคงด้านพลังงาน ดังนั้นจึงขอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพัฒนาโครงการด้านพลังงานให้มีความก้าวหน้าและสามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบสร้างพลังงานในชุมชนของตนเอง เพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคตต่อไป
 
สำหรับการประกวดครั้งนี้มีผู้สนใจส่งโครงงานเข้าร่วมประกวดในประเภทต่างๆ จำนวน 48 โครงงาน จาก 25 จังหวัด แบ่งเป็น ชุมชนทั่วไป 14 โครงงาน ได้รางวัลดีเด่น 3 โครงงาน รางวัลดีมาก 4 โครงงาน รางวัลความคิดสร้างสรรค์ 7 โครงงาน สถาบันการศึกษา 12 โครงงาน ได้รางวัลดีเด่น 2 โครงงาน รางวัลดีมาก 2 โครงงาน รางวัลความคิดสร้างสรรค์ 8 โครงงาน ภาครัฐ จำนวน 19 โครงงาน ได้รางวัลดีเด่น 2 โครงงาน รางวัลดีมาก 4 โครงงาน ความคิดสร้างสรรค์ 13 โครงงาน ภาคเอกชน จำนวน 3 โครงงาน ได้รับรางวัลดีมาก ทั้ง 3 โครงงาน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ / เรียบเรียง
 
ส.ส.บุญยอด ยืนยัน เสนอ กมธ.กิจการสภาฯ สอบ ส.ส.บีบเครื่องบินจอดดอนเมือง ทำตามหน้าที่
 
23 ส.ค. 56 - ส.ส.บุญยอด ปชป. ยืนยัน ทำตามหน้าที่ กรณีเสนอ กมธ.กิจการสภาฯ สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระแสข่าว ส.ส.บีบบังคับให้เครื่องบินจอดสนามบินดอนเมือง           
 
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงชี้แจง กรณีที่แถลงข่าวเมื่อวานนี้ (22 ส.ค. 56) ว่า คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรได้รับเรื่องจะดำเนินการสอบสวนกรณีมีกระแสข่าวว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 2 ท่าน ที่เดินทางจากจังหวัดเชียงราย ในวันที่ 12 สิงหาคม 2556 ได้บีบบังคับให้เครื่องบินไปลงจอดที่สนามบินดอนเมือง ทั้งที่ปลายทางอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิตามที่กำหนดไว้ โดยนายบุญยอดกล่าวว่า การแถลงข่าวเรื่องดังกล่าวถือเป็นการทำหน้าที่ในฐานะเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ซึ่งนายไพจิต ศรีวรขาน ประธานคณะกรรมาธิการ ก็เห็นควรรับเรื่องไว้เพราะเป็นประเด็นที่ปรากฎอยู่ในข่าวต่างๆ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ต้องนำมาพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันว่าตนไม่ได้พูดว่า ส.ส. ไปบีบบังคับกัปตันให้ไปลงจอดที่สนามบินดอนเมืองตามที่รายงานข่าวอ้างถึงแต่อย่างใด พูดเพียงแต่เรื่องอากาศแปรปรวนเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากเรื่องดังกล่าวไม่เป็นจริงตามกระแสข่าว ส.ส. ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ก็สามารถนำหลักฐานเข้ามาชี้แจงกับคณะกรรมาธิการได้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ / เรียบเรียง
 
สภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านงบประมาณกระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงานและกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว
 
23 ส.ค. 56 - ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ งบประมาณของกระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว
 
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557วาระ 2วงเงิน 2.525ล้านล้านบาท ซึ่งเริ่มประชุมมาตั้งแต่เวลา 10.00น. โดยเป็นการพิจารณาต่อ ในมาตรา 18งบประมาณของกระทรวงยุติธรรม วงเงินกว่า 19,843ล้านบาท เมื่อ 14.00น. นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานฯในที่ประชุม ได้ขอมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่มีการอภิปรายในมาตรา 18งบกระทรวงยุติธรรม โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 288เสียงต่อ 109เสียง งดออกเสียง 12เสียง ไม่ลงคะแนน 1เสียง
 
จากนั้นเป็นการพิจารณาต่อในมาตรา 19 งบประมาณของกระทรวงแรงงาน วงเงินกว่า 33,489ล้านบาท โดยหลังการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้แปรญัตติไว้แล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 287เสียงต่อ 110เสียง งดออกเสียง 11เสียง ไม่ลงคะแนน 2เสียง
 
นอกจากนี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณางบประมาณฯ ต่อในมาตรา 20 วงเงินกว่า 6,892 ล้านบาท โดยมีผู้ขอแปรญัตติจำนวน 1 คน และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 282เสียงต่อ 109 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ประชาธิปัตย์ ย้ำมีหลักฐานชัดสหรัฐตีกลับข้าวไทยปนเปื้อน จี้ รัฐบาลเร่งตรวจสอบ
 
23 ส.ค. 56 - ส.ส.ประชาธิปัตย์ เรียกร้องรัฐบาลตรวจสอบคุณภาพข้าวส่งออกหลังสหรัฐอเมริกาตีกลับมา พร้อมเร่งตรวจสอบ  ย้ำ มีหลักฐานชัดข้าวมีสารปนเปื้อน หวั่นปนขายกับข้าวในประเทศจะก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน
 
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม นำทีมส.ส.ประชาธิปัตย์ แถลงที่รัฐสภา เรียกร้องรัฐบาลกักบริเวณข้าวส่งออกที่สหรัฐอเมริกาตีกลับมา  และเรียกคืนข้าวส่วนหนึ่งที่ได้กระจายออกไปแล้ว พร้อมกับเรียกให้หน่วยงานรัฐ เช่น อย.  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงหน่วยงานของเอกชนเข้ามาตรวจสอบคุณภาพข้าว เพราะตนก็มีหลักฐานชัดเจนที่ได้จากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าข้าวดังกล่าวมีสารพิษตกค้างจริง  ซึ่งหากพบว่าข้าวมีสารอันตรายปนเปื้อนต้องรีบทำลายทิ้ง เพราะเกรงว่าจะมีการนำข้าวที่มีสารพิษตกค้างมาปนกับข้าวที่ขายในประเทศจนก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน  
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณปี 57 แล้ว 
 
24 ส.ค. 56 - ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ด้วยคะแนนเสียง 290 ต่อ 136 เสียง งดออกเสียง 19 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง 
 
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ในวาระ 2 วงเงิน 2.52 ล้านล้านบาท ซึ่งหลังจากได้พิจารณาครบทั้ง 35 มาตราแล้ว  นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้ขอให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ในวาระ 3 วงเงิน 2.52 ล้านล้านบาท  โดยที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2557 ด้วยคะแนนเสียง 290 เสียง ไม่เห็นด้วย 136 งดออกเสียง 19 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากนั้นเป็นการลงมติเกี่ยวกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วย 436 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง
 
หลังจากนั้น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในนามรัฐบาล ขอขอบคุณประธานสภาผู้แทนราษฎรและขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2557 และขอให้ความมั่นใจว่างบประมาณที่ได้รับอนุมัติไปใช้ตามแผนที่กำหนด อย่างความโปร่งใส และบรรลุผลตามนโยบายที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อประเทศชาติ จากนั้นประธานในที่ประชุมสั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 23.30 น.
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงในที่ประชุมสภา ระบุ ไม่เคยล้วงลูกการตั้งงบจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
 
24 ส.ค. 56 - ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงในที่ประชุมสภา ระบุ ไม่เคยล้วงลูกการตั้งงบจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมแสดงความมั่นใจเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรชี้แจงได้ 
 
นายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์  ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 56 ถึงกรณีการตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องดังกล่าวว่า ผ่านมาการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนั้น ตนไม่เคยไปล้วงลูกหรือยุ่งเกี่ยว เพราะมั่นใจว่าข้าราชการรัฐสภาทุกส่วน รวมถึงผู้อำนวยการทุกสำนักงานในสังกัด เป็นผู้ที่มีความรู้เข้าใจเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว จึงพยายามที่จะไม่ไปยุ่งเกี่ยว แต่เมื่อปัญหาสุดท้ายก็ไม่พ้นตัวเองอยู่ดี ดังนั้นต่อไปเพื่อความรอบคอบ ตนจะมีหนังสือเป็นเอกสารเรียนไปถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ถ้าใช้งบประมาณเกินกว่า 5 ล้าน ต้องรายงานให้ตนทราบก่อน  สำหรับการเช่าสำนักงานรัฐสภาจังหวัดอุบลราชธานี ปีละ 3ล้านบาทนั้น ตนได้สอบถามกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยืนยัน ว่า เป็นเรื่องจริง ทั้งนี้ตนเคยให้นโยบายในการจัดตั้งสำนักงานรัฐสภาจังหวัดนำร่องทั้ง 6จังหวัด ในเรื่องสถานที่ ถ้าเป็นไปได้ขออย่าให้มีค่าใช้จ่าย ซึ่งก็ปรากฏว่า 6จังหวัดนั้น ใน 5จังหวัดไม่ได้ใช้เงินเลย ยกเว้นที่อุบลราชธานี ที่เคยเจรจาว่าจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่พอถึงวันจะทำการ เขาเปลี่ยนใจไม่ให้สถานที่แบบฉุกละหุกก็เลยต้องไปเช่าปีละ 3ล้านบาท แต่ตนก็สั่งในที่ประชุม 35คณะไปว่าถ้าหมดสัญญาเช่า 3เดือนไปแล้ว ให้ไปหาสถานที่ใหม่ที่ไม่ต้องไปเสียค่าเช่า เพราะตอนนี้เสียค่าเช่าเดือนละ 2.5แสนบาท แต่เช่าแค่ 3เดือน
 
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังกล่าวด้วยว่า ตนอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรมานาน และเคยพูดว่าที่นี่เป็นบ้านหลังแรก เพราะอยู่นานกว่าบ้านเกิด จึงขอให้มั่นใจว่าตนจะรักที่นี่เหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนอื่นรักเช่นกัน สำหรับกรณีการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนั้น ตนเชื่อมั่นว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสามารถชี้แจงได้  ส่วนการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายถึงงบประมาณการจัดทำเฟสบุ๊ครัฐสภาไทย ตนยืนยันว่า ใช้งบประมาณเพียง 5 ล้านบาท และมีนโยบายทำหน้าที่เป็นกลาง ส่งเสริมประชาธิปไตย และประชาสัมพันธ์งานของรัฐสภาเท่านั้น ทั้งนี้เมื่อปัญหาก็ได้ตำหนิผู้ที่รับผิดชอบและให้พ้นจากหน้าที่ในความรับผิดชอบไปแล้ว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
"สวนดุสิตโพล"เผยปชช.กว่า 78% ให้ความสนใจข่าวอภิปรายงบมากสุด แนะรบ.ควรจัดใช้ในสิ่งที่จำเป็น ส่วนข่าวอันดับ 2 สภาถกก.ม.นิรโทษ
 
24 ส.ค. 56 - ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาการเมืองมีกระแสร้อนหลายเรื่อง ซึ่งสื่อมวลชนทุกแขนงได้นำเสนอและก่อให้เกิดกระแส วิพากษ์วิจารณ์พอสมควร เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาพรวม โดยเฉพาะข้อเสนอแนะต่อการเมือง อันเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญต่อการพัฒนาการเมืองไทย "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,148 คน ระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2556 สรุปผลดังนี้
 
1. 6 อันดับข่าวการเมืองยอดนิยมและข้อเสนอแนะจากประชาชน อันดับ 1 การอภิปรายงบประมาณ 78.05 % เพราะเป็นเงินจำนวนมากที่ต้องนำไปพัฒนาประเทศ อยากรู้รายละเอียดการใช้เงิน ไม่อยากเห็นการทุจริตคอรัปชั่น ฯลฯ ข้อเสนอแนะ ควรจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมตามความจำเป็น มีคณะกรรมการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ฯลฯ อันดับ 2 พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 76.31 % เพราะเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อยากรู้ความคืบหน้าของเรื่องนี้ ฯลฯ ข้อเสนอแนะ ควรรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกๆฝ่าย พิจารณาตามกระบวนการขั้นตอน ยึดความถูกต้องยุติธรรม ฯลฯ อันดับ 3การปฏิรูปการเมืองโดยนายกฯยิ่งลักษณ์ 64.11 % เพราะอยากเห็นการเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น นักการเมืองสมัครสมานสามัคคี พัฒนาบ้านเมืองให้ดีขึ้น ฯลฯ ข้อเสนอแนะ ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนให้กับประชาชน รับฟังความคิดเห็นและข้อท้วงติงต่างๆ ฯลฯ
 
อันดับ 4 การอภิปรายที่มาของ ส.ว. 55.75 % เพราะจะได้รู้ข้อมูลข้อเท็จจริงและเข้าใจเกี่ยวกับที่มาของส.ว.มากขึ้น เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ฯลฯ ข้อเสนอแนะ พิจารณาอย่างเป็นธรรม ชี้แจงรายละเอียดและเหตุผลอย่างชัดเจน คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ฯลฯ อันดับ 5การเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านนอกสภา 51.92 % เพราะไม่ค่อยได้เห็นบทบาทในลักษณะนี้ของฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ฯลฯ ข้อเสนอแนะควรพูดจากันด้วยเหตุผล รับฟังข้อมูลต่างๆอย่างมีวิจารณญาณ ยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง ฯลฯ อันดับ 6 พันธมิตรแถลงยุติบทบาท 49.48 % เพราะต้องการทราบข้อเท็จจริงในการยุติบทบาท เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวและได้รับความสนใจจากสังคม ฯลฯ ข้อเสนอแนะ เคารพในสิทธิของแต่ละบุคคล ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้ ทุกฝ่ายควรหันหน้าพูดคุยกัน ฯลฯ
 
2. 7 ประเด็นสำคัญที่ทำให้การเมืองไทยวุ่นวายในสายตาประชาชน อันดับ 1 การชุมนุมทางการเมืองของแต่ละฝ่าย 86.25 % อันดับ 2 การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของผู้สนับสนุนแต่ละพรรคการเมือง 75.00 % อันดับ 3 การปลุกระดมมวลชนโดยนักการเมือง 71.67 % อันดับ 4 การอภิปรายในสภาของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน 68.75 % อันดับ 5 การกล่าวโจมตี โต้ตอบทะเลาะเบาะแว้งของนักการเมือง 66.67 % อันดับ 6 การใช้สื่อของแต่ละฝ่ายโจมตี /กล่าวหากันของนักการเมือง 65.83 % อันดับ 7 การตั้งเวทีโต้ตอบของนักการเมือง 59.17%
 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
 
เลขาฯสภาชี้โต๊ะอาหารสุดหรูแพงแต่คุ้ม-สร้างภาพลักษณ์
 
24 ส.ค. 56 - นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย เปิดเผยเรื่องรัฐสภามีการสั่งซื้อชุดโต๊ะอาหารหลุยส์สไตล์อิตาเลียน ราคาชุดละ 1 ล้านบาท ว่า เป็นการจัดซื้อเมื่อปลายปี 2555 ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยเป็นชุดที่มีโต๊ะยาวพร้อมเก้าอี้อีกประมาณ 14 ตัว  และได้นำมาใช้งานต้อนรับแขกบุคคลสำคัญที่มาเยือนรัฐสภาหลายครั้ง 7-8 งานแล้ว แต่ที่พบว่าถูกห่อหุ้มพลาสติกไว้และถูกวางรวมไว้ที่ใกล้กับห้องคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ชั้น 3 อาคารรัฐสภานั้น เพราะไม่มีที่เก็บ ซึ่งตนได้สั่งให้เจ้าหน้าที่หาห้องเก็บชุดโต๊ะอาหารเหล่านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม การซื้อชุดโต๊ะอาหารดังกล่าวก็เพื่อใช้ในการรับรองแขกสำคัญระดับประเทศอย่างสมเกียรติ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อรัฐสภาไทย แม้มีราคาสูงแต่ก็ถือเป็นของดี ย่อมใช้งานได้นาน  เพราะแม้แต่เก้าอี้ในห้องประชุมรัฐสภา เป็นหนังแท้ และนำเข้าจากประเทศอิตาลี ก็ถูกซื้อมาเมื่อปี 2538 ในราคาตัวละ 30,00 บาท ซึ่งตอนนั้นถือว่ามีราคาแพง ก็ยังใช้งานกันอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ คุ้มค่ามาก
 
นายสุวิจักขณ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีใบปลิวโจมตีว่านายสุวิจักขณ์นำคนใกล้ชิดมาเปิดร้านขายดอกไม้เพื่อจัดดอกไม้รับรองแขกต่างประเทศครั้งละ 3-4 แสนบาท และใช้งบประมาณไปในทางที่ไม่เหมาะสมหลายเหตุการณ์ ว่า ตนยังไม่ได้เห็นใบปลิวดังกล่าว ทั้งนี้ ตนขอชี้แจงว่าผู้ที่จะมาประกอบกิจการร้านค้าต่างๆในรัฐสภาต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการสโมสรรัฐสภา ส่วนการเลือกผู้รับงานจัดดอกไม้นั้น ตนไม่มีหน้าที่สั่งการว่าจะเลือกร้านไหนบ้าง แต่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาว่าจะเลือกร้านใดมาทำ แล้วเขาก็จะเสนอเรื่องขึ้นมาตามปกติ ทั้งนี้การจัดงานรับรองแขกคนสำคัญก็ต้องใช้ร้านดอกไม้ที่มีคุณภาพ เป็นร้านที่เราไว้ใจได้ว่าสามารถจัดดอกไม้เสร็จทันกำหนดการจัดงาน และมีฝีมือดี รวมถึงดอกไม้ที่ใช้จัดงานเป็นดอกไม้นำเข้ามาจากต่างประเทศ อีกทั้งการใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆก็มีการทำสัญญาอย่างถูกต้องเหมาะสม และมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)เข้ามาตรวจสอบพร้อมกับขอดูสัญญาทั้งหมด ซึ่งตนให้ความร่วมมือโดยส่งข้อมูลให้กับ สตง.ตรวจสอบ และบางครั้งตนก็ได้ขอคำปรึกษาจาก สตง.ในการดำเนินการขัดซื้อจัดจ้างให้มีความถูกต้องเช่นกัน.
 
ที่มา: เดลินิวส์
 
ปชป.จี้ เปิดสภาฯแก้ราคายาง ก่อนแก้ รธน.
 
25 ส.ค. 56 - เวลา 11.45 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการที่รัฐบาลจัดเวทีพูดคุย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ว่า พรรคพร้อมให้ร่วมมือสร้างความปรองดองหาทางออกให้ประเทศ แต่รัฐบาลต้องดำเนินการด้วยความตั้งใจ แต่ 2 ปีที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่มีจุดยืนที่จะดำเนินการ อีกทั้งเหตุใดรัฐบาลไม่นำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) สถาบันพระปกเกล้า ที่เคยศึกษา และข้อเสนอของ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นายมาร์ตติ โอยวา กาเลวิ อะห์ติซาริ อดีตประธานาธิบดีของฟินแลนด์ ที่เคยให้ความเห็นมาใช้ในการปฏิรูปฯ
 
ทั้งนี้ ตนขอย้ำว่า เวทีดังกล่าวคงเป็นเพียงปาหี่ทางการเมืองเท่านั้น เพราะดูจากรายชื่อผู้ที่เข้าร่วมแล้ว 60% เป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาล หรือมีความคิดใกล้เคียงกัน อีก 20% เข้าร่วมเพราะเกรงใจรัฐบาล ส่วนอีก 20% มีแนวคิดทั่วไป ไม่มีอะไรชัดเจน จึงเป็นไปได้ว่าการหาทางออกให้ประเทศรอบนี้่ ตั้งธงสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม แบบเหมาเข่ง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้่ คงหาทางออกให้ประเทศไม่ได้ แต่จะเป็นการหาทางออกฉุกเฉินให้คนในรัฐบาลมากกว่า เพราะคนไทยจำนวนมากจะไม่ยอมให้รัฐบาลทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
 
พร้อมกันนี้ นายองอาจ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาแถลงยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า พรรคน้อมรับเคารพการตัดสินใจ แต่เชื่อว่าจิตใจการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ยังดำรงอยู่ เมื่อใดที่เงื่อนไขพร้อมก็เชื่อว่าจะออกมาอยู่เคียงข้างกับประชาชนเพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ และมวลชนที่ผ่านมา ถือว่าไม่สูญเปล่า แต่กลับได้สร้างคุณูปการให้กับสังคม เพราะการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ทำภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ เป็นการต่อสู้ด้วยความสงบสันติ ปราศจากอาวุธ ซึ่งแตกต่างจากมวลชนกลุ่มอื่นๆ ซึ่งการที่แกนนำให้มวลชนเข้าร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ได้อิสระนั้น ขณะนี้แกนนำใน กทม. และต่างจังหวัดได้ส่งสัญญาณและมาพูดคุยกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เพื่อร่วมมือกันต่อสู้กับระบอบทักษิณ ไม่ให้ขยายต่อไป
 
นายองอาจ กล่าวต่อว่า กรณีการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 27-29 ส.ค. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. ต่อจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะวันที่ 29 ส.ค. ควรเปิดให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามปกติ เพื่อพิจารณาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาของเกษตรกร เช่น ชาวสวนยางที่ออกมาชุมนุมเนื่องจากเดือดร้อนจากราคาตกต่ำ จึงขอเรียกร้องรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่บอกตลอดเวลาว่าจะใช้เวทีสภาในการแก้ไขปัญหา ให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามปกติ เพื่อหาทางออกให้เกษตรกร และรัฐบาลต้องเร่งแก้ไขโดยด่วนก่อนที่จะมีการชุมนุมทั่วประเทศในวันที่ 3 ก.ย.นี้ สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.นั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แปรญัตติจำนวนมาก และยังไม่ได้อภิปราย เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี จึงคาดว่าไม่น่าจะจบได้ภายใน 3 วัน ดังนั้น รัฐบาลยังมีเวลาอีกมาก ก็สามารถพิจารณาต่อในวันพุธ สัปดาห์ต่อๆ ไปได้ หรือต้องการเร่งให้เสร็จตามที่ทุกคนเข้าใจกัน.
 
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
 
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยัน ส.ส.ปชป.ไม่ลาออกแน่ แจงต้องใช้สภาฯ ต้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ แต่พร้อมอ้าแขนต้อนรับ พธม. หากยินดีเข้าร่วม
 
25 ส.ค. 56 - ที่ห้องประชุมกิจจาทร 1 อาคาร 20 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่มีการลาออกตามเงื่อนไขของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ต้องการให้พรรคออกมานำมวลชน เพราะการทำหน้าที่ในสภาฯ ยังมีความหมายและมีความจำเป็น มีหลายเรื่องที่รัฐบาลพยายามผลักดัน เช่น กฎหมายนิรโทษกรรม ที่ต้องใช้เวที่สภาฯ คัดค้านก่อน เนื่องจากทำให้มีส่วนชะลอ หรือหยุดยั้งเรื่องต่างๆ ได้ และเห็นได้ว่ารัฐบาลปรับยุทธวิธีผลักดันกฎหมายตางๆ จึงทำให้พรรคต้องทำหน้าที่นี้ และต้องใช้สิทธิ ส.ส. ในการยื่นเรื่องหลายประเด็นอย่างที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ พรรคก็เคารพการตัดสินใจของแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งอาจจะมีความเห็นแตกต่างกันในแง่ยุทธวิธีการต่อสู้กับพรรค ถ้ามวลชนกลุ่มพันธมิตรฯ เห็นว่าแนวทางนี้สมควรมาร่วมกับพรรค ก็พร้อมยินดีต้อนรับ แต่ถ้าไม่สบายใจก็พร้อมรับการตัดสินใจ ส่วนมวลชนของพรรคยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งกัน เพราะการต่อสู้จะทำคู่ขนานทั้งในและนอกสภาฯ
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดง มาประท้วงหน้าเวทีผ่าความจริงฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นการฟ้องอีกครั้งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และ รมว.กลาโหม ไม่จริงใจเรื่องปรองดองและปฏิรูปการเมือง ทั้งที่จะตั้งเวทีสภาปฏิรูปการเมือง แต่กลับพยายามสร้างเวทีเพื่อสร้างความชอบธรรมให้พ้นผิด โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกินรวบอำนาจ ซึ่งเวทีปฏิรูปการเมืองที่รัฐบาลจัดขึ้นวันนี้ (25 ส.ค.) ยังไม่สามารถคาดหวังอะไรได้ เพราะเป็นคนกลุ่มเดียวกับรัฐบาล และการที่รัฐบาลรอให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมเวทีปฏิรูปในภายหลังนั้น ยืนยันว่าตนไม่เปลี่ยนจุดยืน หรือเปลี่ยนใจเข้าร่วมเวทีสภาปฏิรูปการเมือง ในขณะที่ยังมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะตนสนับสนุนการปฏิรูปการเมืองและปรองดองแท้จริง โดยจะรอว่าเมื่อไรรัฐบาลจะทำตามที่พูดไว้เท่านั้น เพราะที่ผ่านมา ปฏิเสธทุกข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระชุดต่างๆ ที่เสนอเพื่อลดความขัดแย้ง แต่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มเติมแบ่งแยกประชาชน รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มมวลชนของตัวเองที่เคลื่อนไหวแบบก่อกวนฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเชื่อว่าเป้าหมายสุดท้ายของเวทีปฏิรูปการเมือง คือการรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ดังนั้น ยืนยันต้องคัดค้าน อย่างไรก็ตาม กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ สงวนท่าทีในการเข้าร่วมเวทีดังกล่าวนั้น ตนไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะร่วมเวทีได้อย่างไร เพราะขณะนี้ยังหาที่อยู่ไม่ได้
 
นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังให้สัมภาษณ์กรณีที่รัฐบาลไม่ช่วยเหลือพยุงราคายางพารา ว่า ตนไม่อยากให้รัฐบาลเพิกเฉยความรู้สึกประชาชน ทั้งที่รัฐมนตรีในรัฐบาลก็เติบโตมาจากสวนยางพารา ที่ผ่านมามีการสัญญากับเกษตรกรว่า จะทำให้ราคายางพาราถึงกิโลกรัมละ 120 บาท แต่ขณะนี้ก็ทำไม่ได้แล้ว จนกระทบความเป็นอยู่เกษตรกรชาวสวนยางอย่างมาก ซึ่งอย่าลืมว่ารายได้ชาวสวนยาง ขณะนี้เมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดที่แล้ว เหลือรายได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น อีกทั้งยังมีปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงถือว่ารัฐบาลซ้ำเติมประชาชน
 
ส่วนการที่รัฐบาลอ้างว่า ราคาตลาดโลกอยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาท จึงไม่แทรกแซงราคานั้น เห็นว่าถ้าเป็นอย่างนั้นจริง รัฐบาลคงไม่ทบทวนเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ต้น ซึ่งสมัยที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็แทรกแซงราคายางพารา แต่วันนี้รัฐบาลทิ้งความรับผิดชอบไม่ได้ ทั้งนี้ ตนสงสัยว่าเหตุใดผลผลิตการเกษตรอื่น เช่น ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง รัฐบาลมีมาตรการรับจำนำได้ แต่ทำไมยางพารากลับไม่ช่วยเหลืออะไร ซึ่งไม่ทราบว่าเหตุใดรัฐบาลต้องเลือกปฏิบัติกับชาวสวนยาง รวมทั้งคนที่เป็นเจ้าของสวนยางในพื้นที่ต่างๆ ทั้ง ส.ส. แกนนำรัฐบาลจะรู้สึกอย่างไรกับการที่รัฐบาลตัดสินใจทอดทิ้งประชาชน ซึ่งรัฐบาลต้องพูดคุยกับชาวสวนยางเพื่อทำให้ราคายางขยับขึ้น แต่การที่รัฐบาลประกาศไม่ช่วยเหลืออะไรจะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น.
 
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net