Skip to main content
sharethis

สปสช.ศึกษาระบบการจ่ายตามรายการของญี่ปุ่น หวังประยุกต์ใช้จ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศ หลังพบสถานการณ์ไทยตามรอยญี่ปุ่น ทั้งการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ แนวโน้มของโรคเปลี่ยนไป

25 ส.ค.56 - นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. ได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency - JICA) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจ่ายชดเชยค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น มาแลกเปลี่ยนการปรับปรุงระบบการจ่ายค่าบริการแบบ Fee Schedule ของญี่ปุ่น หรือการจ่ายตามรายการที่กำหนด เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย แม้ระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่นมีหลายระบบ แต่ระบบการเบิกจ่ายใช้การจ่ายตามรายการที่กำหนด(Fee schedule) ซึ่งการเบิกจ่ายควบคุมดูแลโดยรัฐ ทั้งมาตรฐาน เงื่อนไข และราคาเบิกจ่าย เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ใช้ทั้งหน่วยบริการรัฐและเอกชน มีการออกเป็นกฎหมาย และทบทวนรายการที่กำหนดทุกๆ 2 ปี ข้อดีของการจ่ายตามรายการที่กำหนด คือ มีการกำหนดรายการและอัตราค่าบริการล่วงหน้า ทำให้โรงพยาบาลและผู้มีสิทธิทราบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนั้นยังสามารถกำกับการให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐานได้โดยสะดวก

นายแพทย์วินัย กล่าวว่า เหตุที่ระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่นใช้วิธีการจ่ายตามรายการที่กำหนดนั้น เนื่องมาจาก ค่าใช้จ่ายโดยรวมด้านสุขภาพของประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การจัดเก็บรายได้จากภาษีลดลง สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ขณะที่วัยแรงงานลดลง แนวโน้มของโรคที่พบเปลี่ยนไปจากเดิมจากโรคติดต่อเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง โรคที่ทำให้มีอัตราตายสูงในประเทศญี่ปุ่น คือ มะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลภาครัฐมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายของรัฐ ดังนั้นญี่ปุ่นจึงเพิ่มประสิทธิภาพการเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศ โดยการกำหนดมาตรฐานบริการ เงื่อนไขบริการ และราคาเบิกจ่าย ในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ภายใต้ระบบจ่ายตามรายการที่กำหนดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการรพ.รัฐ และการดูแลผู้สูงอายุ โดยจัดตั้งกองทุนประกันสุขภาพระยะยาว (Long Term Care Insurance) ดูแลผู้สูงอายุ ให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการขึ้นทะเบียน และคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย

“ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านระบบสาธารณสุขของไทยในขณะนี้ที่มีระบบประกันสุขภาพมา 10 ปี เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีระบบประกันสุขภาพมาแล้วกว่า 50 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ใช้งบประมาณด้านสุขภาพเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อม ทั้งระบบการดูแล ชุดบริการ บุคลากร และการเงิน โดยยึดหลักการว่า งบประมาณต้องเพียงพอ หน่วยบริการอยู่ได้ ผู้ให้บริการมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ประชาชนเป็นเจ้าของระบบและได้รับบริการมีประสิทธิภาพตรงตามกลุ่มโรคและความจำเป็นจริงๆ เบื้องต้นคาดว่าจะนำมาให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมไปถึงการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ซึ่งมีการหารือกับโรงเรียนแพทย์ สนใจระบบดังกล่าว อาจนำร่องในร.พ.สงขลานครินทร์ ร.พ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น"” เลขาธิการสปสช. กล่าว

ด้าน ศ.จอห์น เครกตัน แคมพ์แบล จากมหาวิทยาลัยโตเกียว และโครงการหุ้นส่วนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าญี่ปุ่นและธนาคารโลก กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นและไทย ที่มีผู้มีส่วนได้เสีย(Stakeholder) หลายแห่ง ซึ่งเป็นโอกาสดีในการนำปัญหามาช่วยกันแก้ไขผ่านประสบการณ์ของญี่ปุ่น ซึ่งไทยนั้นประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยใช้เวลาสั้นมาก การใช้ระบบเหมาจ่ายรายหัว(Capitation) เป็นวิธีที่ดี แต่เมื่อทำไประยะหนึ่งอาจต้องมองหาทางเลือกอื่น เพื่อปรับปรุงคุณภาพบริการ การเริ่มใช้ Fee schedule หรือการจ่ายตามรายการที่กำหนด โดยเริ่มจากเรื่องเล็กๆ มีความเป็นไปได้ ซึ่งสุดท้ายเมื่อวิเคราะห์แล้ว บางอย่างอาจใช้ระบบการจ่ายตามรายการที่กำหนด บางอย่างเป็นระบบเหมาจ่ายรายหัวหรือใช้ร่วมกันก็เป็นไปได้

ทั้งนี้ การจ่ายเงินชดเชยค่าบริการสาธารณสุขนั้นมีหลายวิธี แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เช่น

1. Fee for Services หรือจ่ายตามที่เรียกเก็บ ระบบนี้เป็นการจ่ายปลายเปิดเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดบริการขึ้นเท่าไรในปีนั้นๆ สวัสดิการข้าราชการใช้ระบบนี้ ซึ่งมีผลกระทบต่อการเงินการคลังสุขภาพอย่างมาก

2. DRGs หรือการจ่ายตามกลุ่มโรคและน้ำหนักของโรค ปัจจุบันสปสช.ใช้ระบบนี้กับการจ่ายแบบผู้ป่วยใน ขณะที่สปส.ใช้เฉพาะกลุ่มโรคร้ายแรง

3. Capitation หรือเหมาจ่ายรายหัว สปสช.ใช้กับบริการผู้ป่วยนอก สปส.ใช้ทั้งกลุ่มผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในบางรายการ

4. Fee Schedule เป็นการจ่ายตามรายการที่กำหนด คือกำหนดรายการและราคาที่จะจ่ายชดเชยให้ เช่น เย็บแผลจ่ายเข็มละ 50 บาท ฯลฯ

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net