Skip to main content
sharethis


(30 ก.ค. 56) เจ้าหน้าที่จากบริษัท ปตท. กำลังเร่งปูกระดาษซับน้ำมันบนชายหาดด้านอ่าวพร้าว เพื่อกำจัดคราบน้ำมันบนชายหาดด้านอ่าวพร้าว ทางตะวันตกของเกาะเสม็ด/ ที่มาของภาพ เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ

 

 

(1 ส.ค.56) ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 เพื่อจัดการปัญหาและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากภาวะน้ำมันรั่วไหล

แถลงการณ์ระบุว่า ตามที่เกิดเหตุท่อรับน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล ชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดบริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบ (Single Point Mooring)  ขณะกำลังมีการส่งน้ำมันมายังโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เมื่อเวลา 06.50 น. ของวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นมา จนเกิดการแพร่กระจายมากระทบแหล่งท่องเที่ยวมากมาย อาทิ อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด อ่าวบ้านเพ ทะเลระยอง  จนถึงวันนี้ใช้ระยะเวลากว่า 5 วันไปแล้วการขจัดคราบน้ำมันก็ยังไม่แล้วเสร็จ

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเห็นว่า เห็นว่ากรณีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ต่อแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งอาหารเริ่มเป็นพิษและการประกอบอาชีพทางการประมงของชาวประมงพื้นบ้าน รวมทั้งแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นจำนวนมาก ถึงแม้หน่วยงานภาครัฐและบริษัทผู้ก่อเหตุจะได้ร่วมมือกันดำเนินการยับยั้งแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของคราบน้ำมันดิบที่กระทบต่อชายฝั่งบริเวณอ่าวพร้าว และในท้องทะเลระยองไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ทว่ามลพิษดังกล่าวยังคงแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวในระยะเร่งด่วนและระยะยาว จากหน่วยงานต่างๆ ที่จะต้องมาบูรณาการในการทำงานกันทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง มิใช่มุ่งแต่โฆษณาชวนเชื่อ หรือรักษาภาพลักษณ์

"เพื่อประโยชน์ต่อการรองรับปัญหาดังกล่าว ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ในการดำเนินการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูปัญหาดังกล่าว ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทันที  ทั้งนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าแม้จะมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ.2547 โดยมี “คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน” หรือ กปน. ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ไม่สามารถสั่งการหรือดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เต็มศักยภาพตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เนื่องจากต้องดำเนินการกันในรูปคณะกรรมการไร้อำนาจการสั่งการโดยเร่งด่วนหรือเป็นเอกเทศได้ และที่สำคัญตั้งแต่มีกฎหมายดังกล่าวประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2547 เป็นต้นมา คณะกรรมการดังกล่าวก็ยังไม่เคยจัดประชุมกันเลย จึงเชื่อว่า “ไม่มีการจัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ” ตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ จึงเชื่อแน่ว่าหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่มีแผนดังกล่าว หรือมาตรการใดๆ มารองรับในการดำเนินการขจัดการแพร่กระจายของมลพิษน้ำมันอย่างเป็นระบบได้"

แถลงการณ์ระบุต่อว่า ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนและฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องนำมาตรา 9 ของ พรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 มาประกาศบังคับใช้โดยทันทีนับแต่บัดนี้ หรืออาจมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการแทนได้

ทั้งนี้ หากนายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการหรือสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อเสนอดังกล่าว ก็อาจเข้าข่ายละเว้นเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 257 ซึ่งอาจนำไปสู่การถอดถอนนายกฯออกจากตำแหน่งได้ หรือฟ้องร้องเรียนกค่าเสียหายต่อนายกฯได้โดยตรงฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯ

 


มาตรา 9 พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535
เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุภยันตรายต่อสาธารณชนอันเนื่อง มาจากภัยธรรมชาติหรือภาวะมลพิษที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหาก ปล่อยไว้เช่นนั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัย ของประชาชน หรือก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐเป็น อันมาก ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควรให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลใด รวมทั้งบุคคลซึ่งได้รับหรืออาจได้รับอันตรายหรือความเสียหาย ดังกล่าว กระทำหรือร่วมกันกระทำการใด ๆ อันจะมีผลเป็นการควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากอันตรายและความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้ก่อให้เกิดภาวะมลพิษดังกล่าว ให้นายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งบุคคลนั้นไม่ให้กระทำการใดอันจะมีผลเป็นการเพิ่มความรุนแรงแก่ ภาวะมลพิษในระหว่างที่มีเหตุภยันตรายดังกล่าวด้วย อำนาจในการสั่งตามวรรคหนึ่ง นายกรัฐมนตรีจะมอบอำนาจให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการภายในเขตจังหวัดแทนนายกรัฐมนตรีได้ โดยให้ทำเป็นคำสั่งและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งตามวรรคหนึ่ง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดใน การปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้สั่งตามวรรคสองแล้ว ให้ประกาศคำสั่ง ดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาโดยมิชักช้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net