Skip to main content
sharethis

ยูเอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ารับรองสัญชาติแก่ชาวโรฮิงญากว่า 8 แสนคนในประเทศ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลพม่ายุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายบัน คี มูน เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดประชุมที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็นในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เมื่อ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีทูตจากออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย นอร์เวย์ รัสเซีย สิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และไทย เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางยุติความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายร้อยราย และผู้พลัดถิ่นราว 140,000 คน โดยนายบันเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ารับรองสัญชาติชาวโรฮิงญากว่า 800,000 คน ในฐานะพลเมืองของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับประชาชนเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์อื่นๆ อีก 60 ล้านคนในพม่า

ขณะที่นายอับดุลเลาะห์ ยะห์ยา อัล-มูอัลเลมี ทูตซาอุดีอาระเบียประจำยูเอ็น และนายโรเบิล โอลฮาเย ผู้แทนจากองค์กรความร่วมมือศาสนาอิสลาม (โอไอซี) ซึ่งเข้าร่วมการประชุมด้วย เรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาในประเทศ รวมถึงยกเลิกกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพชาวโรฮิงญา เช่น กฎควบคุมจำนวนบุตรชาวโรฮิงญาไม่ให้มีเกินครอบครัวละ 1 คน โดยระบุว่าหากพม่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ก็ถือว่าล้มเหลวด้านการปฏิรูปการปกครอง ส่วนทูตพม่าประจำยูเอ็นปฏิเสธเข้าร่วมการประชุมและงดแสดงความคิดเห็น 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net