Skip to main content
sharethis

ผู้ช่วย บก. ประจำหน้ากองบรรณาธิการวอชิงตันโพสต์ วิพากษ์รัฐประหารอียิปต์ ชี้ตัวอย่างในรอบ 50 ปีรวมถึงกรณีของไทยพิสูจน์แล้วว่า รัฐประหารไม่ให้ผลเป็นอย่างอื่นนอกจากความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชนและความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องนับสิบปี

<--break->

แจ็คสัน ไดล์ ผู้ช่วยบรรณาธิการประจำหน้ากองบรรณาธิการวอชิงตันโพสต์ เขียนบทความ Egypt’s misguided coup เผยแพร่ในวอชิงตันโพสต์ วิพากษ์กรณีที่ชาวอียิปต์ที่ออกมาต่อต้านประธานาธิบดี โมฮัมเม็ด มอร์ซี จำนวนไม่น้อยพยายามให้คำนิยามเกี่ยวกับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมาในลักษณะที่เป็นข้อยกเว้น หรือไม่เหมือนการรัฐประหารที่อื่นในโลก เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชน และเป็นการรัฐประหารเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนว่า อียิปต์ไม่ใช่ข้อยกเว้นและไม่ได้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากกรณีอื่นๆ

เขากล่าวว่า ชาวอียิปต์จำนวนไม่น้อยอาจจะพยายามอธิบายว่ามีบางอย่างที่เรียกได้ว่าเป็น "ลักษณะเฉพาะ" ของการรัฐประหารโดยกองทัพที่มีประชาชนหนุนหลังซึ่งเกิดขึ้นในไคโรเมื่อวันพุธที่ผ่านมา แต่ทั้งโลกซึ่งเป็นพยานการรัฐประหารหลายครั้งหลายคราในรอบครึ่งศตวรรษนี้ จากบัวโนสไอเรสถึงกรุงเทพฯ ฝูงชนได้เรียกร้องให้นายพลทั้งหลายออกมาโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และแสดงการสนับสนุนเมื่อได้รับการตอบสนองจากกองทัพ ทว่าโดยปราศจากข้อยกเว้น ผลที่ตามมาของการรัฐประหารนั้นมีแต่ความมืดมัว และความรุนแรง หากไม่เกิดสงครามกลางเมือง ก็เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่ หรือไม่ก็เกิดความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาอีกนับทศวรรษ และที่สำคัญคือ คนที่ถูกโค่นอำนาจลงไปด้วยการรัฐประหารก็จะกลับคืนสู่อำนาจในที่สุด ต่างกันที่เร็วหรือช้าเท่านั้น

ไดล์ ระบุว่าถึงลักษณะที่คล้ายคลึงกันที่เกิดขึ้นกับอาร์เจนติน่า เวเนซุเอล่า ตุรกี ไทย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีการเลือกตั้งเสรีหลังจากถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ การเลือกตั้งที่เสรีนำมาซึ่งกลุ่มอำนาจใหม่ ผู้มีอำนาจกลุ่มใหม่นั้นมักเป็นตัวแทนของคนจนและคนในชนบทที่มักไม่ค่อยได้โอกาสสัมผัสกับคุณค่าของวิถีแบบชนชั้นกลางและชนชั้นสูง แต่เมื่อเข้าสู่อำนาจ รัฐบาลใหม่ที่ต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่าและระบอบอำมาตย์ ตุลาการและสื่อ ก็จะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยหวังประโยชน์ในการเลือกตั้ง เหยียบย่ำเสรีภาพของพลเมือง และบ่อยครั้งก็บริหารนโยบายเศรษฐกิจผิดทิศทางอย่างเลวร้ายด้วยการใช้นโยบายประชานิยมเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งเมื่อมองในแง่นี้แล้วรัฐบาลของโมฮัมเม็ด มอร์ซีก็มีข้อแตกต่างเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ ฮวน เปรอง ของอาร์เจนตินา, ฮูโก ชาเวซจากเวเนซุเอลา หรือทักษิณ ชินวัตร ของไทย แต่มอร์ซีล้มเหลวในการประนีประนอมกับฝ่ายต่อต้าน ล้มเหลวในการจัดการกับเศรษฐกิจ ขณะที่ก็มีความพยายามเพียงเล็กน้อยในการจัดการกับอุดมการณ์อิสลาม

ไดล์ระบุว่าคนที่เชียร์รัฐประหารนั้นมีมายาภาพร่วมกันอยู่ 2 ประการ ประการแรกคือ พวกเขาจะคิดว่าเหล่านายทหารมีจุดร่วมกันกับตนเอง และสำหรับฝ่ายตรงข้ามที่พวกเขาเกลียดชังแล้ว แม้ว่าจะชนะเลือกตั้งมาก็สามารถทำให้เป็นโมฆะไปได้ แต่ในความเป็นจริงก็คือ กองทัพนั้นไม่ได้สันทัดในการเจรจาหรือใช้แนวทางเสรีนิยม ทหารถนัดที่จะใช้กำลังบังคับ และแม้กองทัพจะไม่ได้ฆ่าหรือทรมานใคร แต่สิ่งที่ทำก็คือการกวาดล้างผู้นำทางการเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรงลงไป ปิดสื่อและปรับเปลี่ยนกติกาการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการเมืองและทางธุรกิจของตัวเอง

ซึ่งสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นมาแล้วหลังการโค่นประธานาธิบดีมูบารักลงไปเมื่อปี 2011 และสิ่งที่เกิดขึ้นในวันพุธที่ผ่านมาก็เป็นเช่นเดียวกัน กองทัพปิดสถานีโทรทัศน์ และรวบตัวผู้นำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมขณะที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็นเสรีประชาธิปไตยกำลังเฉลิมฉลองสิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน

เขาชี้ว่าทางที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับอียิปต์ก็คือ กลุ่มอิสลามจะลงใต้ดินและนำไปสู่สงครามเหมือนที่เกิดขึ้นในอัลจีเรียเมื่อปี 1992 หรืออย่างที่อาจจะเป็นไปได้น้อยกว่าแต่ก็ยังเป็นไปได้ก็คือกลุ่มภราดรภาพมุสลิมจะสะสมมวลชนผู้สนับสนุนมากพอที่จะเดินกลับเข้าสู่อำนาจ เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของชาเวซ ในเวเนซุเอล่าเมื่อปี 2002

ทางที่จะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ กลุ่มอิสลามรวมถึงกลุ่มซาลาฟีซึ่งสุดโต่งกว่ารัฐบาลที่ถูกโค่นลงไป จะใช้ช่วงเวลานี้ จัดรูปองค์กร เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการเมืองจากภาวะปั่นป่วนสับสนและสามารถจะชนะเลือกตั้งได้ เหมือนกับที่เสื้อแดงของทักษิณ หรือกรณีมุสลิมในตุรกี หรือผู้สนับสนุนเปรอง และฝ่ายสังคมนิยมในชิลีเคยทำมา ไดล์ยังยกตัวอย่างกรณีของนาวาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถานที่หวนคืนสู่อำนาจหลังโดนรัฐประหารไป 14 ปี โดยที่นายพลผู้นำการปฏิวัติถูกจับกุม

ไดล์กล่าวว่ามีวิธีการอื่นๆ ที่จะหยุดยั้งกลุ่มภราดรภาพมุสลิมจากการผูกขาดอำนาจและทำลายประชาธิปไตย นั่นก็คือ ต้องเรียนรู้จากตัวอย่างอื่นๆ เช่นกรณีของตุรกีที่มวลชนสามารถผลักรัฐบาลอิสลามออกจากอำนาจเบ็ดเสร็จได้ ขณะที่ก็คงรัฐธรรมนูญเอาไว้ได้ หรือกรณีของเวเนซุเอล่าที่ฝ่ายค้านเรียนรู้ความผิดพลาดของตนเอง จัดรูปองค์กรและลงแข่งขันในการเลือกตั้งแม้จะเป็นการต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียมและพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ตอนนี้ก็ดูเหมือนจะยืนหยัดอย่างมีความพร้อม ในขณะที่รัฐบาลชาเวซกำลังค่อยๆ ล้มเหลวแตกยับไปด้วยตัวเอง

 

 

ที่มา: สรุปความจาก Egypt’s misguided coup, Washington Post

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net