Skip to main content
sharethis
คณะทำงานศูนย์ความนั่งยืนและองค์กรปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ชี้บรรษัท หรือกลุ่มประชาสังคม ควรมีระบบการจัดการร่วมกันกับกลุ่มของรัฐและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
 
 
แฮริส เกล็คแมน คณะทำงานอาวุโสในองค์กรศูนย์เพื่อการจัดการและความยั่งยืน (Center on Governance and Sustainability) มหาวิทยาลัยแมซซาชูเสท-บอสตัน และผู้อำนวยการองค์กรที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เขียนบทความกล่าวถึงการที่องค์กรเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) เสนอให้มีระบบการจัดการร่วมกันจากทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงกับองค์กรอย่างสหประชาชาติ
 
จากบทความในเว็บไซต์ Policyinnovations.org เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2013 กล่าวถึงการที่เวทีเศรษฐกิจโลก เสนอความคิดว่าควรมีการเปลี่ยนโครงสร้างการจัดการระบบโลกแบบใหม่ แทนที่ระบบแบบที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มาเป็นระบบที่เข้ากับความจริงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์มากขึ้น
 
ข้อเสนอนี้มีขึ้นหลังจากในที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Rio+20 ทางองค์การสหประชาชาติเห็นชอบกับการสั่งยุบคณะกรรมการการพัฒนาที่ยั่งยืน (Commission on Sustainable Development)  โดยแทนที่ด้วยกลุ่มนักการเมืองระดับสูง อีกทั้งยังมีการสั่งปรับเปลี่ยนองค์กรคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) และมีการวางกระบวนปรับแผนงานการจัดการ
 
แต่ว่าการปรับเปลี่ยนเหล่านี้ก็ไม่น่าจะช่วยให้ทางสหประชาชาติทำงานจัดการด้านต่างๆ เช่น การรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจหรือการควบคุมบรรษัทนานาชาติที่ขัดต่อหลักการสันติภาพ ความมั่นคง หรือการพัฒนา โดยมีการยกตัวอย่างถึงกรณีวิกฤติการเงินปี 2008 ที่ทำให้เหล่าชนชั้นนำ (elite) เป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพของตลาดโลก โดยที่กลไกของรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาฟองสบู่แตกด้านอสังหาริมทรัพย์ได้ และมีชนชั้นนำบางกลุ่มที่เล็งเห็นว่าระบบแบบในปัจจุบันทำให้เกิดปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเงิน และหนึ่งในกลุ่มชนชั้นนำนั้นคือกลุ่มเวทีเศรษฐกิจโลก
 
โดยจากรายงานล่าสุดของกลุ่มผู้ริเริ่มออกแบบโลกใหม่ หรือ Global Redesign Initiative (GRI) มีใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า กลุ่มผู้ปฏิบัติการทางการเมืองของโลกนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วและควรจะมีการรับรู้ทั้งกลุ่มบรรษัท, รัฐชาติ (รวมถึงองค์กรอย่างยูเอ็น) และกลุ่มองค์กรประชาสังคมบางส่วน ควรจะร่วมมือกันในการจัดการโลกยุคหลังโลกาภิวัตน์เช่นนี้
 
ทาง WEF มองว่าทั้งรัฐบาล, กลุ่มประชาสังคม และบรรษัท ต่างก็พัฒนาพื้นที่การดูแลจัดการอิสระขึ้นมาในระดับนานาชาติ โดยพื้นที่การดูแลจัดการด้านเศรษฐกิจเป็นของบรรษัท พื้นที่ด้านกิจการระหว่างรัฐเป็นของรัฐบาลโดยมียูเอ็นเน้นเรื่องส่วนรวมแบบกว้างๆ ขระที่พื้นที่ของประชาสังคมจากมุมมองของ WEF คือการกำหนดประเด็นใหม่ รวมถึงเป็นผู้ส่งสารและแนวคิดในการพัฒนาประเทศหรือชุมชน
 
รายงานของ GRI เสนอว่าควรมีการเชื่อมโยงพื้นที่เหล่านั้นจากผู้แทนของหลายฝ่าย เช่น ตัวแทนรัฐบาล, ผู้บริหาร, ผู้นำประชาสังคม และอาจรวมถึงตัวแทนจากสถาบันต่างๆ โดยแยกแยะตามความเหมาะสมของประเด็นนั้นๆ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความตึงเครียดของระบบที่มีผลกระทบต่อตลาดโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันระบบความร่วมมือเช่นนี้ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายสำหรับยูเอ็นและองค์กรเฉพาะทางของพวกเขา
 
จากรายงานของ GRI ยังได้ยกตัวอย่างว่าระบบการดูแลจัดการเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มบรรษัทจะถูกหลอมรวมอยู่ภายใต้ระบบของยูเอ็นได้อย่างไร และการทำเช่นนี้จะทำให้โลกาภิวัตน์เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากถ้าหากองค์กรหรือกลุ่มประชาชนร่วมมือกับนโยบายการพัฒนาของยูเอ็นแล้ว จะทำให้พวกเขาเล็งเห็นประโยชน์ของความร่วมมือ ทำให้พวกเขาซึ่งเคยอยู่นอกระบบของการจัดการในเชิงรัฐ ได้เข้าร่วมจัดการอย่างเท่าเทียมหรือเป็นเสมือนหุ้นส่วนของรัฐบาลในระบบใหม่ของยูเอ็น
 
องค์กร WEF มองว่า หากกลุ่มประเทศ G20 อาศัยหลักการความร่วมมือเช่นนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่กลุ่มประเทศ G20 จะขยายฐานความเป็นผู้นำไปยังภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
 
ข้อเสนออย่างที่สองในรายงาน GRI คืออยากให้องค์กรเฉพาะทางของยูเอ็นมีระบบจัดการที่ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและที่ไม่ใช่ภาครัฐ โดย GRI ชี้ให้เห็นว่าเมื่อองค์กรนานาชาติมีการตัดสินใจที่กระทบกับโลกาภิวัตน์พวกเขาไม่มีการปฏิบัติทีทำให้เห็นผลได้เว้นแต่จะมีภาคส่วนบรรษัทสนใจปฏิบัติตามกระบวนการขององค์กรนานาชาติ ซึ่งตรงจุดนี้ถือเป็นช่องว่างที่ WEF พยายามละเชื่อมเข้าหากัน
 
รายงานใน GRI เสนอว่าเมื่อมีการประชุมองค์กรนานาชาติ เช่น WHO, UNESCO และ FAO กลุ่มที่ไม่ใช่องค์กรภาครัฐควรมีการประชุมคู่ขนาน หรือมีการจัดโครงสร้างทางเลือกในกำหนดการขององค์กรนานาชาติ ซึ่ง WEF มองว่าการประชุมคู่ขนานจะช่วยให้กลุ่มที่ไม่ใช่ภาครัฐมีความจริงจังกับนโยบายที่ถูกนำเสนอโดยกลุ่มภาครัฐ โดยเฉพาะในภาคส่วนของบรรษัท
 
ข้อเสนอนโยบายอย่างที่สามของกลุ่มองค์กรเวทีเศรษฐกิจโลก คือการนำประเด็นต่างๆ ที่เคยอยู่แต่ในระบบของยูเอ็นมาอยู่ภายใต้ระบบของกลุ่มผู้ถือผลประโยชน์หลากหลายกลุ่ม เพราะระบบแบบหลังนี้ทำให้รัฐชาติในระดับเล็กและระดับกลางมีโอกาสได้รับรู้ว่าพลเมืองของประเทศตนกำลังสนใจปัญหาระดับโลกในเรื่องใด
 
WEF ได้ยกตัวอย่างเรื่องกระบวนการของคิมเบอลีย์ (Kimberley Process) ที่มีการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มเหมืองแร่ บริษีทผู้ค้า กลุ่มประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น "เพชรสีเลือด" (Blood Diamond) และรัฐบาลแอฟริกันที่มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ โดยมีกระบวนการให้การรับรองอย่างสมัครใจที่จะไม่ให้มีการซื้อขายเพชรนี้ในระดับนานาชาติอันจะทำให้เกิดความขัดแย้ง กล่าวคือให้ประโยชน์กับกลุ่มกบฏหรือกลุ่มที่คิดจะโค่นล้มรัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากยูเอ็น โดยจำกัดแม้กระทั่งการซื้อขายกับกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมด้วย
 
รายงานของ GRI ได้เสนอบทบาทหน้าที่ใหม่แก่กลุ่มคณะทำงานของสหประชาชาติในด้านความร่วมมือกับภาคส่วนบรรษัท โดยการให้เลขาธิการสหประชาชาติควรจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมงานที่มีตัวแทนผลประโยชน์จากหลากหลายภาคส่วนเข้าร่วม และให้มีสำนักงานความร่วมมือที่คอยรวบรวมกลุ่มบรรษัท, นักวิชาการ และกลุ่มองค์กรประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านต่างๆ
 
บทบาทอย่างที่สองคือการที่กลุ่มต่างๆ มีอำนาจในการเลือกว่าจะให้เลขาธิการยูเอ็นเข้าร่วมการประชุมด้านการจัดการของกลุ่มตัวแทนผลประโยชน์ด้วยหรือไม่ คณะทำงานของยูเอ็นจะเป้นเสมือนผู้เชี่ยวชาญและผู้ประสานงานกับรัฐบาลและองค์กรยูเอ็นที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม
 
นอกจากนี้ทาง WEF ยังเล็งเห็นว่าในสภาพการทางเศรษฐกิจปัจจุบันการที่ยูเอ้นจะหาเงินทุนในการดำเนินการตามเป้าหมายเป็นไปได้ยาก แต่ขณะเดียวกันเงินในคลังของเหล่าบรรษัทก็อาจจะกลายเป็นแหล่งทุนใหม่ของยูเอ็นได้ โดยที่ผู้บริหารจะมีแรงจูงใจในการให้เงินทุนบางโครงการหากพวกเขารู้สึกว่ามันจะให้ผลประโยชน์ต่อพวกเขาในระยะยาว
 
จากการมีส่วนร่วมของตัวแทนผลประโยชน์หลายแหล่งและการที่บรรษัทจะให้ทุนในโครงการเฉพาะด้าน จะทำให้โครงสร้างของยูเอ็นเปลี่ยนไปจากเดิม WEF ได้เพิ่มข้อความในกฏบัตรของยูเอ็นเรื่องบทบาทขององค์กรเอ็นจีโอในประเด็นการต่างประเทศ ในกฏบัตรระบุว่าเอ็นจีโอสามารถเข้าร่วมกับคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ได้ในฐานะที่ปรึกษา ซึ่งในข้อเสนอของ WEF ระบุว่าฝ่ายตัวแทนผู้ไม่ได้มาจากรัฐที่ได้รับการคัดเลือกจะมีอำนาจในการตัดสินใจระดับเดียวกันหรือมากกว่าตัวแทนจากรัฐบาล และการตัดเลือกจะมาจากสมาชิกรายอื่นๆ ของกลุ่มตัวแทนผลประโยชน์หลายกลุ่ม
 
จากมุมมองของ WEF การถ่วงดุลระหว่างระบบการดูแลจัดหารโดยรัฐและระบบการดูแลจัดการโดยบริษัทหรือกลุ่มผลประโยชน์จะทำให้ระบบทั้งสองแบบทำงานได้ดีขึ้น
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
WEF Proposes a Public-Private United "Nations", Policy Innovations, 18-06-2013

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net