Skip to main content
sharethis
ค้านกรมทรัพยากรธรณีปลุกผีเพื่อเปิดดำเนินการทำเหมืองแร่ตะกั่ว ในพื้นที่โดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ้างอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ ศึกษาและผลักดัน โดยไม่ใส่ใจสภาพแวดล้อมและมติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปิดถาวรเหมืองแร่โดยรอบทุ่งใหญ่นเรศวร
 
25 พ.ค. 56 – สืบเนื่องจากกรมทรัพยากรธรณีได้เร่งโครงการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เบื้องต้น เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรณี (แร่ตะกั่ว สังกะสี) บริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี หวังเปิดเหมืองแร่ตะกั่ว อย่างน้อย 3 เหมือง ได้แก่ เหมืองแร่เค็มโก้ เหมืองแร่บ่อใหญ่ และเหมืองแร่เกริงกระเวีย โดยจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม ศึกษาและผลักดัน
 
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า เหมืองแร่บริเวณโดยรอบทุ่งใหญ่นเรศวร เหมือนผีที่ลงโลงไปแล้ว จากกรณีพบการปล่อยของเสียจากการแต่งแร่ลงสู่ธรรมชาติ ทั้งกรณีเหมืองคลิตี้และเหมืองเค็มโก้ โดยในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2541 - 2545 ได้มีมติหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งตกลงร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี, กรมป่าไม้, กรมควบคุมมลพิษ และสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, คณะสมาชิกวุฒิสภา มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เดินทางไปศึกษาสภาพปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อมาสรุปเป็นรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนายเสน่ห์ จามริก ประธานมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยนายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และรัฐมนตรี 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีมติให้ยุติการทำกิจกรรมเหมืองแร่ โดยรอบเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งเหมืองแร่และโรงแต่งแร่อย่างเด็ดขาด และเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ให้รื้อถอนเครื่องจักร อุปกรณ์ บ้านพักคนงาน ออกนอกพื้นที่โดยเร็วที่สุด ตลอดจนดูแลสุขภาพของประชาชนโดยรอบ
 
นอกจากนี้แร่ตะกั่วเป็นสารพิษที่ร่างกายมนุษย์ไม่ต้องการเลย ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี สินแร่นี้อยู่ใต้ดินลงไประดับลึก หากไม่มีการนำขึ้นมาก็จะไม่มีผลกระทบ การทำเหมืองแร่ตะกั่วในบริเวณนี้เป็นการนำสารพิษขึ้นมาทำเหมืองแร่ ซึ่งทำให้พิษตะกั่วเพิ่มขึ้น แล้วปล่อยของเสียจากการทำเหมืองแร่ออกสู่ธรรมชาติ ประกอบกับสภาพดินบริเวณนี้มีหลุมยุบจำนวนมาก ของเสียเหล่านี้จะไหลกับน้ำลงสู่หลุมยุบแล้วไปโผล่ในลำห้วยธรรมชาติ ทำให้มีผลต่อสภาพแวดล้อม
 
เหมืองเค็มโก้และเหมืองบ่อใหญ่ก็มีข้อมูลชัดเจนว่าปล่อยของเสียลงสู่ห้วยดินโส ซึ่งทำให้ลำห้วยมีตะกั่วปนเปื้อน ลำห้วยนี้ไหลลงสู่แควน้อยหรือแม่น้ำไทรโยค ส่วนเหมืองคลิตี้ เหมืองบ่องาม และบางส่วนของเหมืองเค็มโก้ ก็ปล่อยของเสียลงสู่แควใหญ่หรือแม่น้ำศรีสวัสดิ์ แม่น้ำทั้งสองไหลรวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลองที่ตัวจังหวัดกาญจนบุรี
 
น้ำเหล่านี้เมื่อไหลถึงอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีมีการผันน้ำผ่านคลองมหาสวัสดิ์เข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นน้ำประปาให้คนกรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรีใช้
 
"กรมทรัพยากรธรณีควรปรับเปลี่ยนนโยบายจากการส่งเสริมการทำเหมืองแร่เป็นการรักษาทรัพยากรธรณี เล่นงานผู้มีทำให้ทรัพยากรธรณีเสียหายหรือเป็นพิษ ดังเช่นกรมป่าไม้ก็ได้ปรับเปลี่ยนจากการทำไม้เป็นรักษาป่าไม้และจับกุมผู้มาทำไม้ ขณะที่กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องเล่นงาน ผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่บุกรุกยึดครองพื้นที่ป่าไม้อนุรักษ์ โดยไม่ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้เป็นป่าสมบูรณ์ดังเดิม
 
ที่สำคัญคือกรมควบคุมมลพิษต้องเร่งรัดฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษตะกั่วโดยเร็ว เนื่องจากมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2556 ให้กรมควบคุมมลพิษจัดทำแผนการฟื้นฟู ภายใน 90 วัน แต่ปัจจุบันเลยมากว่า 100 วันแล้วก็ยังไม่เห็นแผนการฟื้นฟูตามคำพิพากษาของศาล" นายสุรพงษ์ กล่าวในที่สุด
 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net