Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
กรมทรัพยากรธรณี[1] ได้ดำเนินนโยบายจัดทำแผนที่ทรัพยากรแร่เพื่อแสดงขอบเขตพื้นที่แหล่งแร่ และพื้นที่ศักยภาพแร่[2] ชนิดต่างๆ ในขนาดมาตราส่วน 1:250,000 ทั่วประเทศ พร้อมทั้งประเมินปริมาณสำรองของแร่แต่ละชนิดในพื้นที่ประทานบัตรและพื้นที่แหล่งแร่ต่างๆ ที่ได้เคยสำรวจพบแล้ว โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2540 เป็นต้นมา       
 
การสำรวจและประเมินทรัพยากรแร่ ในแผนที่มาตราส่วน 1:250,000 ระวาง ND 47-6 หรือ ระวางทวาย ตามนโยบายดังกล่าว เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2542 เพื่อกำหนดพื้นที่แหล่งแร่ และพื้นที่ศักยภาพแร่ทุกชนิด พร้อมทั้งประเมินปริมาณแร่สำรองของแร่แต่ละชนิดที่สำรวจพบในพื้นที่นี้ พื้นที่ดำเนินการตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกสุดของจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างเส้นรุ้งที่ 14° 00¢ ถึง 15° 00¢ เหนือ และเส้นแวงที่ 98° 15¢ 99° 00¢ ตะวันออก คลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของอำเภอทองผาภูมิ และพื้นที่บางส่วนของอำเภอไทรโยค อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งหมดประมาณ 5,575 ตารางกิโลเมตร โดยมีอาณาเขตด้านทิศเหนือ อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ และประเทศสหภาพพม่า ทิศตะวันออกอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอศรีสวัสดิ์ และไทรโยค ทิศใต้และตะวันตกอยู่ติดกับประเทศสหภาพพม่า
 
กล่าวเฉพาะแร่ตะกั่ว-สังกะสี เพราะเป็นที่สนใจรับรู้ของสาธารณชน อันเนื่องมาจากมีตะกอนตะกั่วจำนวนมากในลำห้วยคลิตี้จนเป็นสาเหตุให้เกิดการปนเปื้อนเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร โดยแพร่กระจายเข้าไปในสัตว์น้ำ พืชพรรณไม้น้ำ และไม้ริมน้ำ สองฝั่งห้วยคลิตี้ จนเป็นเหตุให้ประชาชนมีสารพิษตะกั่วปนเปื้อนและสะสมอยู่ในร่างกาย จนเจ็บป่วยและพิกลพิการนั้น ส่วนใหญ่จะพบแร่ดังกล่าวในพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของแผนที่ระวางทวาย ระหว่างแม่น้ำแควน้อยกับแม่น้ำแควใหญ่
 
แหล่งแร่นี้มีการผลิตแร่มาเป็นเวลานานมากกว่า 1,500 ปี โดยหลังปี 2500 ที่เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นพิมพ์เขียวในการพัฒนาประเทศ มีเหมืองขนาดใหญ่ที่ทำการผลิตแร่เกิดขึ้นอยู่ 4 เหมือง ด้วยกัน ได้แก่ เหมืองสองท่อ เหมืองบ่อใหญ่ เหมืองบ่องาม และเหมืองบ่อน้อย ปัจจุบันเลิกผลิตหมดแล้ว (เลิกผลิตตั้งแต่ปี 2548) เนื่องจากประทานบัตรหมดอายุ กระแสการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นป่าต่อเนื่องกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่เคยมีการคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน และปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตะกั่วต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับลำห้วยคลิตี้
 
นอกจากพื้นที่แหล่งแร่ที่ปรากฏซ้อนทับอยู่ในพื้นที่การทำเหมืองขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่ง ตามที่ได้กล่าวไว้ในย่อหน้าก่อน การจัดทำแผนที่ทรัพยากรแร่ตามนโยบายดังกล่าวยังได้สำรวจและประเมินทรัพยากรแร่เพื่อกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่ว-สังกะสี เอาไว้ด้วย โดยสามารถกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่ว-สังกะสี เอาไว้ 4 พื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่รวมทั้งหมด 385 ตารางกิโลเมตร หรือราว 240,625 ไร่ (ดูแผนที่ 1 แผนที่แสดงพื้นที่ศักยภาพแร่ในแผนที่ระวาง ND 47-6 ) ดังนี้
 
(1) พื้นที่เกริงกระเวีย-สองท่อ-บ่อน้อย (Pb-Zn 1) ครอบคลุมพื้นที่แหล่งแร่เกริงกระเวีย สองท่อ บ่อใหญ่ บ่อน้อย และหนานยะ ตั้งอยู่ในเขตตำบลชะแล และตำบลสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ เนื้อที่ประมาณ 286 ตารางกิโลเมตร
 
(2) พื้นที่บ่องาม (Pb-Zn 2) ครอบคลุมพื้นที่แหล่งแร่บ่องาม ตั้งอยู่ในเขตตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ เนื้อที่ประมาณ 92.2 ตารางกิโลเมตร
 
(3) พื้นที่ปิล็อก (Pb-Zn 3) ตั้งอยู่ในเขตตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ เนื้อที่ประมาณ 3.5 ตารางกิโลเมตร
 
(4) พื้นที่เขาตะกั่ว (Pb-Zn 4) ตั้งอยู่ในเขตตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ เนื้อที่ประมาณ 3.7 ตารางกิโลเมตร
 
แผนที่ 1 : แผนที่แสดงพื้นที่ศักยภาพแร่ในแผนที่ระวาง ND 47-6 (ทวาย)
คัดลอกจาก รายงานวิชาการ ฉบับที่ กธท 2/2546 การประเมินทรัพยากรแร่ในแผนที่ระวาง ND 47-6 (ทวาย)
โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลกัมมันตรังสีทางอากาศ กองธรณีเทคนิค กรมทรัพยากรธรณี. หน้า 42
 
 
 

งานศึกษาของ TDRI

 
ต่อมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ศึกษาต่อยอดจากการจัดทำแผนที่ทรัพยากรแร่ตามนโยบายดังกล่าว โดยได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้จัดทำแผนแม่บททางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองเพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรณีในเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี[3] เมื่อปี 2546 โดยกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วเอาไว้ 2 พื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 77 ตารางกิโลเมตร (ดูแผนที่ 2 แผนที่หมู่บ้านบริเวณการทำแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี) ได้แก่
 
(1) พื้นที่สองท่อ-บ่อใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 44 ตารางกิโลเมตร
 
(2) พื้นที่บ่องาม-องข่า-คลิตี้ล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 33 ตารางกิโลเมตร
 
แผนที่ 2: แผนที่หมู่บ้านบริเวณการทำแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี
คัดลอกจาก รายงานฉบับสมบูรณ์ การจัดทำแผนแม่บททางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมือง เพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรณีในเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี. บทสรุปสำหรับผู้บริหาร. เสนอกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดทำโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมษายน 2546. หน้า8
 
งานศึกษาชิ้นนี้มีความแยบยลด้วยการใช้วิธีเปรียบเทียบระหว่าง ‘การประเมินมูลค่าสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจกรรมเหมืองแร่และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง’ กับ ‘มูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้จากการพัฒนากิจกรรมเหมืองแร่ตะกั่ว’ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการสนับสนุนประเด็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้จากการพัฒนากิจกรรมเหมืองแร่ตะกั่ว มากกว่าการคำนึงถึงมูลค่าสิ่งแวดล้อมและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจกรรมเหมืองแร่ตะกั่วที่ผ่านมาและที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างจริงจัง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากข้อเสนอให้กันเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วทั้ง 2 บริเวณข้างต้น พื้นที่ 77 ตารางกิโลเมตร (48,125 ไร่) เป็นเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริงตามธรรมชาติ ซึ่งมีแร่ตะกั่วเกิดปะปนอยู่อย่างสมบูรณ์
 
โดยคำนึงถึงมูลค่าสิ่งแวดล้อมและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจกรรมเหมืองแร่ตะกั่วที่ผ่านมาและที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็เพียงแต่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันและเฝ้าระวังสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตแหล่งแร่ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับตะกั่วจากธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
 
ถือเป็นการศึกษาที่ขาดประเด็นสำคัญอย่างน้อย 2 ประเด็น ดังนี้
 
1.ไม่ตั้งคำถามหรือวิเคราะห์และวิจารณ์ความไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐ-ราชการ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและเฝ้าระวังสุขภาพอนามัยของประชาชนที่เป็นสาเหตุให้เกิดการปนเปื้อนและสะสมสารพิษตะกั่วในร่างกายประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับลำห้วยคลิตี้ เมื่อครั้งเหตุการณ์ที่ผ่านมา
 
แต่กลับเสนอให้เดินหน้าต่อ ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใหม่กลับฝากผีฝากไข้ไว้กับหน่วยงานรัฐ-ราชการที่เคยล้มเหลวมาแล้วจากเหตุการณ์สารพิษตะกั่วปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมธรรมชาติและในชีวิตมนุษย์ที่อาศัยอยู่ใกล้กับลำห้วยคลิตี้ เมื่อครั้งเหตุการณ์ที่ผ่านมา
 
2.ไม่มีข้อเสนอให้แก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และสภาพแวดล้อมใกล้เคียงให้ฟื้นคืนกลับมาใหม่ จากเหตุการณ์สารพิษตะกั่วปนเปื้อน เมื่อครั้งเหตุการณ์ที่ผ่านมา ตามที่ประชาชนในพื้นที่และสาธารณชนร้องขอ
 
ไม่เพียงเท่านั้น งานศึกษาชิ้นนี้ได้พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะผลักดันให้เห็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการทำเหมืองแร่ตะกั่วมากกว่ามูลค่าสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับผลกระทบ โดยอ้างว่าสาเหตุการปนเปื้อนของตะกั่วซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่
 
หนึ่ง – เกิดจากธรรมชาติของพื้นที่ที่มีแร่ตะกั่วเกิดปะปนกับดินและหินสูงผิดปกติ
 
สอง – เกิดจากกิจการทำเหมืองและแต่งแร่ตะกั่วในบริเวณดังกล่าว
 
การอ้างเช่นนี้ก็เพื่อโยนความผิดจากการทำเหมืองและแต่งแร่ตะกั่วที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงขึ้นกับระบบนิเวศลุ่มน้ำลำห้วยคลิตี้ จนส่งผลกระทบต่อมาเป็นลูกโซ่ไปยังประชาชนที่อาศัยลำห้วยคลิตี้เพื่อหาอยู่หากินและเลี้ยงชีพ ไปให้กับธรรมชาติ
 
ความดื่มด่ำศรัทธาใน ‘ธรรมชาติ’ ของงานศึกษาชิ้นนี้ได้ถูก กพร.นำไปขยายผลในทางที่สนับสนุนให้มีเหมืองแร่ตะกั่วในพื้นที่ศักยภาพแร่ 77 ตารางกิโลเมตร มากยิ่งขึ้นไปอีก โดยแม้จะยอมรับความจริงว่าการตรวจวัดระดับการปนเปื้อนของตะกั่วในสิ่งแวดล้อมบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่กระจายของตะกอนหางแร่จากโรงแต่งแร่ พบว่าในปี 2541-2543 น้ำห้วย ตะกอนธารน้ำ และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ รวมทั้งพืชบางชนิดมีปริมาณตะกั่วปนเปื้อนสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย
 
แต่ธรรมชาติ นี่เองที่พบว่า “ในปัจจุบันคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมโดยรวมได้รับการฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพตามธรรมชาติของพื้นที่ ทั้งนี้ โรงแต่งแร่ที่เป็นสาเหตุของการปนเปื้อนถูกให้หยุดดำเนินการตั้งแต่เกิดเหตุทำนบบ่อกักเก็บหางแร่พังทลายในปี 2541 และไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตให้ประกอบกิจการอีกเลย”[4]
 
และ “จากข้อมูลล่าสุดในปี 2545 ผลการตรวจวัดระดับตะกั่วในเลือดของประชาชนในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง และหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำห้วยคลิตี้ หรือไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่ทำเหมืองและแต่งแร่ แต่จัดเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับตะกั่วจากสิ่งแวดล้อม อีก 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านคลิตี้บน ห้วยเสือ ทุ่งนางครวญ เกริงกะเวีย ท่าดินแดง และทิพุเย พบว่าระดับตะกั่วในกลุ่มเด็กจากหมู่บ้านคลิตี้ล่างมีแนวโน้มลดลงจนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (25 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร) แต่มีเด็กบางส่วนจาก 4 หมู่บ้าน มีระดับตะกั่วในเลือดเกินค่ามาตรฐาน ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่มีเพียงคนเดียวที่มีระดับตะกั่วในเลือดเกินมาตรฐาน (40 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร)”[5]
 
เพื่อที่จะตอกย้ำให้เห็นว่าปัญหาสารพิษตะกั่วไม่ได้มีสาเหตุจากกิจกรรมเหมืองแร่และโรงแต่งแร่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความเป็นพิษของตะกั่วในสภาพแวดล้อมธรรมชาติเอง เพราะสามารถตรวจพบระดับตะกั่วเกินค่ามาตรฐานในหมู่บ้านข้างเคียง 4 หมู่บ้าน ที่มิได้อยู่ท้ายน้ำของลำห้วยคลิตี้
 
นอกจากนี้ ยังพบความย้อนแย้งของข้อมูลในงานศึกษาชิ้นนี้เพิ่มเติมอีก ในบทที่ 7 ของรายงานฉบับสมบูรณ์ ซึ่งเป็นบทสรุปและแนวทางการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ เสนอไว้ว่าการดำเนินกิจกรรมการทำแร่ตะกั่วให้ดำเนินกิจกรรมการทำแร่ตะกั่วต่อไปได้ในบริเวณสองท่อ-บ่อใหญ่ เพราะมีการลงทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมการทำเหมืองแร่ต้องเป็นไปตามแนวทางและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบ
 
ในส่วนของพื้นที่บริเวณบ่องาม-องข่า-คลิตี้ล่าง พบว่า มูลค่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่คุ้มค่ากับต้นทุน จึงสมควรชะลอการทำแร่จนกว่าราคาแร่ตะกั่วจะสูงขึ้น หรือมีวิธีการผลิตที่ใช้ต้นทุนต่ำลง แต่ในบทที่ 6 ได้วิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจเพื่อเปิดโอกาสให้มีการทำเหมืองแร่ตะกั่วที่บริเวณบ่องาม-องข่า-คลิตี้ล่าง เอาไว้ว่า
 
“แนวทางหนึ่งของการแก้ไขปัญหาสารตะกั่ว คือการย้ายชุมชนที่อยู่ในบริเวณที่มีกิจกรรมการทำเหมืองแร่ออกจากพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อจำนวนครัวเรือนแตกต่างกัน ดังนั้น จึงคำนวณต้นทุนการอพยพแยกเป็น 2 แหล่ง คือ กลุ่มเหมืองสองท่อ-บ่อใหญ่ และกลุ่มเหมืองบ่องาม-องข่า-คลิตี้ล่าง แยกเป็นพื้นที่ทำกินและพื้นที่อยู่อาศัย โดยนำพื้นที่เฉลี่ย คูณ จำนวนครัวเรือน คูณ มูลค่าที่ดินต่อไร่ ซึ่งอ้างอิงราคาที่ดินของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากการอพยพคนต้องใช้เงินเพื่อชดเชยในราคาสูงจึงจะมีการอพยพออก และเป็นมูลค่าที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน”[6]
 
โดยค่าชดเชยการอพยพประชาชนกรณีการพัฒนาเหมืองแร่บริเวณสองท่อ-บ่อใหญ่ ต้องใช้งบประมาณ 774.26 ล้านบาท ส่วนค่าชดเชยการอพยพประชาชนกรณีการพัฒนาเหมืองแร่บริเวณบ่องาม-องข่า-คลิตี้ล่าง ต้องใช้งบประมาณ 221.78 ล้านบาท
 
 

งานศึกษาของศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 
ในปี 2554 กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ได้ว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เบื้องต้น เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี (แร่ตะกั่ว- สังกะสี) บริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี[7] (ดูแผนที่ 3 แผนที่แหล่งแร่ตะกั่ว สังกะสี บริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี) เพื่อยกระดับในการจัดทำข้อเสนอทางนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนำข้อเสนอที่ได้จากงานศึกษาของ TDRI มาจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นขอบเขตอำเภอทองผาภูมิเป็นหลัก เพื่อสร้างกระบวนการการยอมรับให้เกิดการกันพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วออกจากเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาลงทุนขอสัมปทานทำเหมืองแร่ตะกั่วในพื้นที่ 77 ตารางกิโลเมตร ขึ้นในอนาคต
 
ปัจจุบัน งานศึกษาของศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งจะเสนอผลงานให้กับกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) รับงานและอนุมัติจ่ายงบประมาณงวดสุดท้ายต่อไป
 
แผนที่ 3: แผนที่แหล่งแร่ตะกั่ว สังกะสี บริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
คัดลอกจาก แหล่งแร่ตะกั่ว สังกะสี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. หน้า 5
ข้อมูลโครงการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เบื้องต้น เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี (แร่ตะกั่ว สังกะสี) บริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี.
เริ่มโครงการปี 2554 โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 

บทสรุป

 
ทั้งๆ ที่ผ่านมา การทำเหมืองแร่ตะกั่วและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ลุ่มน้ำลำห้วยคลิตี้ เกิดการปนเปื้อนและแพร่กระจายของตะกอนหางแร่ตะกั่วในลำห้วยดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างรุนแรง จนก่อให้เกิดกระแสต่อต้านการดำเนินกิจกรรมเหมืองแร่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา จนในที่สุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาสั่งกรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 22 ราย คนละ 1.77 แสนบาท พร้อมสั่งให้จัดทำแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และดำเนินการฟื้นฟูตามธรรมชาติ ก็หาได้เป็นบทเรียนแก่รัฐ-ราชการ นักวิชาการ และนักลงทุนแต่อย่างใด ยังคงมีความพยายามผลักดันเดินหน้าเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เอกชนเข้าไปลงทุนขอสัมปทานทำเหมืองแร่ในพื้นที่ลุ่มน้ำลำห้วยคลิตี้และพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ในพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่ว 77 ตารางกิโลเมตร ต่อไป
 
นอกจากการใช้งานศึกษาวิจัยมารองรับและผลักดันให้ทำการกันพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่ว 77 ตารางกิโลเมตร ออกจากพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ป่าอนุรักษ์แล้ว ยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแก้ไขกฎหมายแร่ (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510) เพื่อกันเขตศักยภาพแร่ทุกชนิด ไม่เฉพาะแร่ตะกั่ว ออกจากพื้นที่ป่าไม้ที่มีกฎหมายเฉพาะหวงห้ามการเข้าใช้ประโยชน์ใดๆ นำมาให้เอกชนประมูลเพื่อการสำรวจและทำเหมืองแร่ได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามให้จงได้
 
ดังเช่น ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ฉบับล่าสุดเมื่อปี 2555 ที่ กพร.ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวได้ยกร่างเสร็จแล้ว อยู่ที่ กพร.กำลังดำเนินการแก้ไขปรับปรุงอีกเล็กน้อย ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติรับหลักการเพื่อนำไปสู่การพิจารณาในรัฐสภาเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป
 
 
พระราชบัญญัติแร่
พ.ศ. 2510
ร่างพระราชบัญญัติแร่
พ.ศ. .... (2555)
  มาตรา 6 จัตวา เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดพื้นที่ใดที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมที่ได้ทำการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินในพื้นที่นั้น แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย
  มาตรา 90 เพื่อประโยชน์แก่การบริหารจัดการแร่ด้านเศรษฐกิจของประเทศและการได้มาซึ่งทรัพยากรแร่อันมีค่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ และโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในพื้นที่นั้น โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้ต้องเป็นพื้นที่ดังต่อไปนี้
  (1) มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง
  (2) มิใช่พื้นที่ตามกฎหมายเฉพาะเรื่องห้ามการเข้าใช้ประโยชน์ใดๆ โดยเด็ดขาด รวมถึงพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยเขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ
 
 
 

[1] ภายหลังการปฏิรูประบบราชการตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ มีการแยกภารกิจหลักของกรมทรัพยากรธรณีไปสังกัดอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ตามที่มีการแบ่งโครงสร้างส่วนราชการใหม่ คือ งานด้านการให้สัมปทาน ควบคุม กำกับและดูแลการสำรวจและทำเหมืองแร่ตามกฎหมายแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ขึ้นกับหน่วยงานใหม่ชื่อ ‘กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่’ หรือ กพร.สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม งานด้านสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรณีตามกฎหมายแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ เฉพาะมาตรา ๖ ทวิ และ ๖ จัตวา ขึ้นกับกรมทรัพยากรธรณี ย้ายสังกัดไปอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานด้านน้ำบาดาลขึ้นกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานด้านพลังงานขึ้นกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สังกัดกระทรวงพลังงาน
 
[2] จากรายงานวิชาการ ฉบับที่ สนผ 1/2554 กฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจำแนกเขตทรัพยากรแร่. ดรุณี เจนใจ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี.
กรมทรัพยากรธรณีได้ดำเนินการสำรวจและประเมินศักยภาพแหล่งทรัพยากรแร่ของประเทศ โดยจัดแบ่งพื้นที่ทั่วประเทศออกเป็นพื้นที่ 3 ประเภท ตามนิยาม ดังนี้
                (1) พื้นที่ที่สำรวจแล้วแต่ยังไม่พบศักยภาพทางแร่ หรือพื้นที่ที่ยังไม่มีการสำรวจ (พื้นที่ไม่พบแร่/ยังไม่สำรวจ) หมายถึง พื้นที่ที่ยังไม่มีการสำรวจหรือพื้นที่ที่ยังสำรวจไม่พบศักยภาพทางแร่หรือแหล่งแร่ ซึ่งต้องมีการสำรวจเพิ่มเติมต่อไป
                (2) พื้นที่ศักยภาพแร่ หมายถึง พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่ยังไม่มีการค้นพบทรัพยากรแร่ที่ชัดเจน แต่มีแนวโน้มที่จะมีได้ โดยมีหลักฐานบ่งชี้จากข้อมูลทางธรณีวิทยา ธรณีวิทยาแหล่งแร่ ธรณีเคมี และธรณีฟิสิกส์ ทั้งนี้ หมายรวมถึงพื้นที่ที่มีแร่กระจัดกระจายในหินซึ่งมีนัยสำคัญ หรือมีบริเวณพบแร่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้น ๆ
                (3) พื้นที่แหล่งแร่ หมายถึง พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งมีแหล่งแร่หรือแหล่งสินแร่ชนิดเดียวหรือหลายชนิดเกิดร่วมกันในพื้นที่นั้น ๆ รวมทั้งพื้นที่ที่มีคำขอประทานบัตร และ/หรือประทานบัตร แหล่งหินอุตสาหกรรม ที่ได้ตรวจสอบความถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งในการกำหนดขอบเขตพื้นที่แหล่งแร่จะใช้ข้อมูลวิชาการทางธรณีวิทยาแหล่งแร่เป็นปัจจัยหลักในการกำหนด
[3] รายงานฉบับสมบูรณ์ การจัดทำแผนแม่บททางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองเพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรณีในเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี. เสนอกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดทำโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมษายน 2546
[4] ข้อความในเครื่องหมายคำพูดคัดลอกจากเนื้อหาที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์องค์กร เข้าถึงข้อมูลได้ที่ http://www.dpim.go.th/laws/article?catid=122&articleid=310 คัดลอกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556  ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อ้างมาจากรายงานฉบับสมบูรณ์ การจัดทำแผนแม่บททางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองเพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรณีในเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี. เสนอกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดทำโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมษายน 2546
[5] อ้างอิงเดียวกันกับเชิงอรรถ 4
[6] รายงานฉบับสมบูรณ์ฯ ตามเชิงอรรถ 3. หน้า 136
[7] โครงการศึกษาดังกล่าว มีระยะเวลาศึกษาโครงการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน 2554 (210 วัน) แต่ปัจจุบันพบว่ายังไม่แล้วเสร็จ อาจจะเนื่องด้วยการอนุมัติงบประมาณที่ล่าช้าไปจากแผนงาน/ระยะเวลาศึกษาที่วางไว้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net