Skip to main content
sharethis

บันทึกการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ลงพื้นทีกักกัน 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และตราด มาตั้งแต่เดือนมกราคม

เรื่องราวการจับกุม และการอพยพจากอาระกันของชาวโรฮิงญา ได้รับการรายงานมาอย่างต่อเนื่องและเป็นกระแสข่าวใหญ่บนหน้าสื่อเป็นระยะๆ เมื่อมีกรณีการจับกุมชาวโรฮิงญากลุ่มใหญ่ ต้นปีที่ผ่านมา ข่าวใหญ่เกี่ยวกับการจับกุมชาวโรฮิงญาเป็นเรื่องในหน้าสื่อไทยอีกครั้ง ด้วยจำนวนกว่า 2,000 คนและในครั้งนี้มีเด็ก ผู้หญิง และผู้หญิงที่กำลังตั้งท้องหลายคน

อย่างเป็นทางการ ท่าทีรัฐบาลไทยโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ออกมาให้สัมภาษณ์เองว่า จะไม่รีบผลักดันคนกลุ่มนี้ออกไปและจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในขั้นต้น โดยหน่วยงานที่จะเขามรับผิดชอบในการดูแลผู้ต้องกักคือ สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะทำหน้าที่ดูแลผู้ต้องกักเป็นเวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ระหว่างนี้ ก็จะประสานกับประเทศที่สาม เพื่อส่งต่อพวกเขาไปยังประเทศปลายทางต่อไป

ระหว่างนี้ ประเด็นเรื่องการดูแลความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชาวโรฮิงญาในด่านกัก/บ้านของพม. การแยกกักผู้ต้องกักไปยังจังหวัดต่างๆ รวมถึงลักษณะการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ไทยอาจมีบางประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนเพียงใดหรือไม่ และประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง

ประชาไท เปิดพื้นที่สำหรับนำเสนอบันทึกการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ลงพื้นทีต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นต้นมา โดยลงพื้นที่กัก 6 พื้นที่ ได้แก่ สงขลา กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และตราด โดยจะทยอยลงตามลำดับการลงพื้นที่

000

ห้องกัก ตม.จว.สงขลา (อ.สะเดา อ.ปาดังเบซาร์ และ บ้านแรกรับพม.)

 

วันที่ 15 มกราคม 2556

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประกอบด้วยดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทรและนางสาวเกศริน เตียวสกุล ได้เข้าเยี่ยมสอบถามข้อเท็จจริงและปัญหาข้อขัดข้องที่ห้องกัก ตม.จว.สงขลา(อ.สะเดา)

การจับกุม

พ.ต.อ.กานต์ ธรรมเกษม ผกก.ตม.จว.สงขลาได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 บริเวณใกล้ด่านตชด.ได้ปรากฏชาวมุสลิมสัญชาติพม่ากำลังจะข้ามชายแดน โดยวิธีใช้คีมตัดลวดตัดลูกกรงตรงด่านเพื่อลอดตัวออกไป และยังจับตัวได้ที่สุเหร่าซอย ไทย-จังโหลน 3 เป็นอาคารโกดังร้าง กำลังข้ามรั้วเข้าไปในป่ายางมาเลย์ (ด่านนอก) ทหารจากกอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายเสนาณรงค์ได้สนธิกำลังที่หมู่บ้านชายควน ห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซียไม่เกิน 1 กม. เริ่มจับตัวประมาณ 20.00 น. ขนย้ายตัวมาถึงห้องกักตม.เวลาตีหนึ่งตีสอง จับตัวได้ 307 คน ตรงนี้เป็นการเริ่มจับตัวครั้งแรกแล้วได้แจ้งข่าวไปที่ด่านปาดังเบซาร์ เพราะคาดว่าจะมีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน และพบว่าเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกัน จึงเริ่มจับกุมตัวตั้งแต่เวลา 22.00 น. จนถึงเวลา 17.00 น.ของวันรุ่งขึ้น (10 มกราคม 2556 จับกุมได้ 393 คน เป็นเด็กและผู้หญิงจำนวน 83 คน ส่งต่อบ้านพักพม.สงขลา และส่งต่อไปที่ห้องกักตม.พังงา 150 คนที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอต่างในจังหวัดสงขลา ทั้ง 8 แห่ง รวม 192 คน

วิธีการข้ามผ่านชายแดน ขึ้นอยู่กับลักษณะของด่านกั้น ทำได้ 2 ทางคือ

1.       ใช้คีมตัดลวดเพื่อลอดตัวออกไป เช่นที่ด่านสะเดา ซึ่งเป็นรั้วคอนกรีต มีตาข่ายกึ่งโปร่ง

2.       ใช้การขุดดิน เอาตัวมุดลอดออกไปในกรณีที่เป็นรั้วคอนกรีตทึบ

เหตุผลที่อพยพหลบหนีเข้าเมืองไทย ได้รับคำตอบว่า ที่รัฐยะไข่มีคนพุทธมากกว่า จึงพากันหนีไปประเทศที่ยินดีให้ความช่วยเหลือคนมุสลิม

สภาพของชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่ถูกจับกุมตัว ไม่พบร่อยรอยการถูกทำร้ายแต่อย่างใด ได้คัดแยกจัดทำประวัติ พบว่า มีอาการป่วย ขาดสารอาหาร อ่อนเพลียจากการเดินทาง มีไข้ ท้องเสีย วันที่ 11 มกราคม 2556 มีแพทย์มาทำการตรวจร่างกาย มีพี่น้องมุสลิมจัดหาอาหารมาเลี้ยงดูเป็นอย่างดี แต่หากอยู่นานไป ขอให้บริจาคเป็นอาหารแห้ง เพื่อปรุงเอง จะดีกว่า เพราะขณะนี้ต้องคอยตรวจตราอาหารกล่องที่ส่งเข้ามา อาจบูดเสียได้เพราะอากาศร้อนและปรุงไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง อาหารจำพวกผักสด เช่น แตงกวาจะทำให้ท้องเสียได้ง่าย

ต่อมาพ.ต.อ.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา ได้มาให้ข้อมูลต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(รายงานการประชุมครั้งที่ 4 / 2556 วันที่ 28 มกราคม 2556)ว่า ชุดแรก เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 จับกุมตัวได้307 คน จากนั้นวันที่ 13 ม.ค. มี 156 คน ก็ควบคุมตัวเอาไว้ ตร. ท้องที่ก็ออกหมายจับ รวมแล้ว 856 คน สามวันคือ 9,10 และ 13 ม.ค. เนื่องจากสถานที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สะเดาและปาดังไม่พอ จึงเอาไปฝากที่ตม. พังงา, ปาดัง, สะเดา หน่วยงานที่สอง คนที่เป็นเด็ก สตรี เอาไปฝากที่บ้านพักเด็กและสตรีสงขลา นราธิวาส ปัตตานี สาม สน. ในสงขลา ก็เอาไปฝากไว้เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ดี สามหน่วยนี้ดูแลเป็นหลัก ส่วนบ้านพักเด็กก็มีการจัดแพทย์พยาบาล ไปดูแลรักษา แยกคนป่วยไม่ป่วยออกจากกัน

ส่วนการดำเนินการผลักดันจะเป็นเมื่อไหร่ก็คงต้องให้ส่วนของตม. ดำเนินการ ส่วนของท้องที่ก็ดำเนินการเฉพาะความผิดผู้เกี่ยวข้อง  มีกรณีคนไทย 2 ราย ถูกจับ และแจ้งข้อหาเรื่องการให้ที่พักพิง

เราได้ขออนุญาตขึ้นไปยังห้องกักชั้นสองของอาคาร ขออนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ ขอถ่ายภาพและสัมภาษณ์ผู้ที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้เล็กน้อย คือ Mr Hajih Fawyos Ahaned Ahyab

เขาเล่าว่า ในครอบครัวมีอยู่ 11 คน ถูกคนพม่าฆ่าไป 7 คน เขาได้หนีออกมาพร้อมกับชาวโรฮิงญาอีก 1,255 คน โดยสารเรือลำใหญ่เพียงลำเดียว

เมื่อเข้าเยี่ยมถึงในห้องกัก ชาวโรฮิงญาได้เปิดบาดแผลที่ติดตัวมาให้ดูและบอกให้ถ่ายภาพไว้เพื่อแจ้งหน่วยงานที่ช่วยเหลือได้

ณ วันที่ 28 กพ. 2556 สรุปยอดผู้ต้องกัก ที่รับตัวไว้ตามลำดับ ดังนี้

1.       9 มค. 2556  จำนวน 224 คน

2.       15 มค. 2556 จำนวน  19 คน

3.       16 มค. 2556 จำนวน   1 คน

4.       21 มค. 2556 จำนวน   12 คน

5.       22 มค. 2556 จำนวน   2  คน

6.       29 มค. 2556 จำนวน   1 คน

7.       31 มค. 2556 จำนวน   26 คน

8.       1 กพ. 2556 จำนวน   33 คน

9.       5 กพ. 2556 จำนวน   6  คน  ส่งไปบ้านพักเด็กและครอบครัวพัทลุง 9 คน (เด็กชาย)

10.     6 กพ. 2556 จำนวน   11 คน

11.     7 กพ. 2556 จำนวน   3 คน

  

วันที่ 17 กพ. 2556 ส่งไปห้องกักตม.จว.หนองคาย 105 คน

(*ที่นี่ ด่านนอก อ.สะเดาผู้ต้องกักขาวโรฮิงญาเสียชีวิต เพราะโรคประจำตัว 3 รายแล้ว ได้สอบถามเครือข่ายมุสลิมสงขลาที่ช่วยดูแล ทราบว่ารายแรกเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ และล่าสุดได้เสียชีวิตลงเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม โดยก่อนหน้านี้ แพทย์เสี้ยววงเดือนได้เข้าไปดูแล)

 

บ้านพักเด็กและครอบครัว พม.จ.สงขลา

ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว พม.จ.สงขลา มีผู้หญิงและเด็กชาวโรฮิงญา  รวม 83 คน แยกออกเป็นเด็กหญิง 33 คน เด็กชาย 30 คน และผู้หญิง 20 คน บรรยากาศเคร่งเครียด เพราะมีผู้สื่อข่าวเข้ามาติดตามการสอบสวนของเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประกอบกับเจ้าหน้าที่อาจไม่มีประสบการณ์รับมือกับปัญหาผู้ต้องกักจำนวนมากก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net